|
The Mission
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ชายวัยกลางคนแต่งกายธรรมดาๆ ไม่เน้นให้ต้องดูหรูหรา ใครที่ได้พบจะนึกไม่ถึงว่า คนๆ นี้ เป็นผู้ที่คุมคอนเซ็ปต์การก่อสร้างศูนย์การค้าแทบทุกแห่งของเครือเซ็นทรัล รวมถึงเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ "หิน" ที่สุด
สุทธิเดช จิราธิวัฒน์ เป็น "จิราธิวัฒน์" รุ่นที่ 2 ช่วงกลางๆ ที่มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิด กับทั้งสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ โดยเฉพาะคนหลัง เพราะเขาคือน้องคนถัดมาต่อจากสุทธิธรรม ที่เกิดจากเตียง และบุญศรี จึงมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
"ก็เรียนรู้จากรุ่นพี่ๆ พี่สัมฤทธิ์ ก็ด้านหนึ่ง แต่ถ้าในด้านของเทรดดิ้งนี่พี่วันชัย แต่ถ้าในด้านศูนย์การค้านี่ก็พี่สุทธิธรรม กับพี่สุทธิธรรมนี่จะมากกว่าหน่อย เพราะใกล้ชิดกัน อยู่ด้วยกันมานาน เป็นพี่น้องคลานตามกันมา" สุทธิเดชเล่า
สุทธิเดชเรียนจบปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจาก Prince George College สหรัฐอเมริกา และกลับเข้ามาทำงานกับเครือเซ็นทรัล ช่วงที่เพิ่งเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวได้ใหม่ๆ แต่เขาได้ไปเริ่มงานแรกในเซ็นทรัลเทรดดิ้ง ซึ่งต่อมาภายหลังถูกจัดอยู่ในกลุ่มค้าส่ง โดยมีหน้าที่ดูแลการนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์มาขายในประเทศ
เป็นอีกคนหนึ่งที่กอบชัยให้เครดิตในฐานะผู้ที่มีส่วนในการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการค้าขาย เพราะช่วงที่กอบชัยไปทำงานอยู่ในเซ็นทรัลเทรดดิ้ง 10 ปี ก่อนที่จะมาอยู่ CPN ก็ได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับสุทธิเดช
การที่ต้องรับผิดชอบสินค้าทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ทำให้สุทธิเดชได้มีโอกาสไปฝึกงานอยู่ที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 2 ปี
"ตอนนั้นพี่วันชัยแกบอกว่า เราค้าขายกับญี่ปุ่น ก็น่าจะไปดูอะไรของเขา ก็เลยไปดูว่างานพวกนี้ทำกันยังไง มีอะไรบ้าง ก็ไปดู คือเราทำพวกกล้อง ค้าขายพวกอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไปดูว่าเขาค้าขายอย่างไร"
เขาย้ายมาอยู่ CPN ก่อนกอบชัยประมาณ 2 ปี โดยในช่วงแรกทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย
แต่ความที่ได้กลับมาทำงานใกล้ชิดกับสุทธิธรรม ทำให้ในต่อมาเขาต้องเปลี่ยนงานไปดูแลการวางคอนเซ็ปต์ให้กับศูนย์การค้าที่กำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเดิมเคยเป็นงานของสุทธิธรรม เริ่มจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ปิ่นเกล้า และอีกหลายแห่งตามมาในภายหลัง
"ช่วงนั้นได้ประสบการณ์เยอะ พี่สุทธิธรรมเองก็พาไปพบผู้ลงทุน แล้วก็ไปดูศูนย์การค้าในต่างประเทศเยอะมาก เพราะเราเป็นสมาชิกของสมาคมศูนย์การค้าในต่างประเทศ แล้วก็ไปดูงาน แล้วเวลาไปดูงาน ไม่ใช่ดูอย่างเดียว ได้ไปพบกับเจ้าของบ้าง พบกับผู้ประกอบการบ้าง นอกจากไปพบไปคุยกันแล้ว เขายังให้คำปรึกษา คำถามคำตอบอะไรอย่างนี้ เราก็เรียนรู้ ได้รู้ว่า ถ้าจะทำแบบนี้ จะทำอย่างไรดี คิดแบบนี้จะทำอย่างไร"
หน้าที่วางคอนเซ็ปต์ให้กับศูนย์การค้า มิได้หมายถึงการวางแนวคิดใหญ่ๆ ในพิมพ์เขียวเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการกำหนดรายละเอียด ตั้งแต่เริ่มต้นวางรากฐานการก่อสร้าง การกำหนดพื้นที่ใช้สอย พื้นที่ว่าง การกำหนดระยะความห่าง ความกว้างของหน้าร้าน การจัดวางตำแหน่งบันไดเลื่อน ลิฟต์ ตลอดจนห้องน้ำ ฯลฯ
"เรียกว่าต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ" เขาสรุป
"คุณสุทธิเดชท่านละเอียดลออ การออกแบบตึก อะไรต่างๆ นี่ ท่านเป็นคนรับผิดชอบ ท่านจะดูความสวยงาม ความกลมกลืน ปัจจุบันท่านก็เป็นคนที่วางปรัชญาของแต่ละศูนย์ เริ่มตั้งแต่การใช้งาน ความสะดวกจะทำอย่างไร การจะวางจุดต่อเชื่อมแต่ละจุดจะเป็นอย่างไร บันไดเลื่อนอยู่ตรงไหน เพราะรสนิยมของท่านเป็นคนชอบความสวยงาม ยกตัวอย่างตึกนี้ (The Office) ถ้าจะเดินลงไปข้างล่างมีล็อบบี้ จะเป็นปรัชญาที่แปลกในการเชื่อมต่อ หรือจะไปอีกชั้นที่สลับซับซ้อนออกไปอีก" กอบชัยบรรยาย
ความรับผิดชอบในการวางคอนเซ็ปต์ให้กับศูนย์การค้า ทำให้เขาต้องเรียนรู้งานใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบภายใน วิศวกรรม ตลอดจนการก่อสร้าง
"คือบังเอิญมีลูกชายเรียนสถาปนิก เขาจบปริญญาโท แล้วทำงานอยู่ที่อเมริกามา 2 ปี ลูกก็ให้คำปรึกษา เขาไปรู้อะไรมาก็มาบอกเรา"
ลูกชายของสุทธิเดช ชื่อสรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ ปัจจุบันอายุ 28 ปี กำลังจะกลับมาเมืองไทย และเริ่มงานกับ CPN ในอีกไม่ถึง 2 เดือนข้างหน้า โดยอยู่ในฝ่าย Business Development
แม้สุทธิเดชจะวางคอนเซ็ปต์ให้กับศูนย์การค้ามาแล้วหลายแห่ง แต่ศูนย์การค้าที่เขาเห็นว่าเป็นงานที่ "หิน" ที่สุดยาก และสลับซับซ้อนมากที่สุด รวมถึงเครียดที่สุดด้วย ก็คือโครงการเซ็นทรัลเวิลด์
สาเหตุนอกจากเพราะโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่สุดที่ CPN เคยทำมาแล้ว ยังเป็นการสร้างศูนย์การค้าจากพื้นที่เดิมที่มีการสร้างอาคารไว้ส่วนหนึ่งแล้ว และอาคารดังกล่าวก็มีหลายส่วนที่ไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่ CPN ต้องการ
แต่อุปสรรคที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ อาคารนี้มีผู้ค้าเข้าไปใช้พื้นที่ค้าขายแล้ว ที่สำคัญยังเป็นอาคารที่มีผู้คนเข้าไปเดินจับจ่ายใช้สอยแล้วเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่ CPN จะเข้าไปดำเนินการต่อจากผู้พัฒนารายเดิม
"ที่นี่เครียดกว่ามาก เพราะว่ามันเป็นอะไรที่สลับซับซ้อน อย่างที่พระราม 3 มันเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เลย แต่ที่นี่เราสร้างไปด้วย ทำไปด้วย คนก็อยู่อาศัยไปด้วย คือตอนที่มีคนมาอยู่อาศัยไปด้วยนี่ มันยิ่งยาก เพราะจะทำอย่างไรให้เขาค้าขายได้ ทำอย่างไรให้เขาไม่เสียหายจากงานก่อสร้างของเรา แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะคนที่ค้าขาย ยังมีคนนอกที่มาเดินในศูนย์การค้าอีก"
เขาบอกว่าโครงการอื่นๆ ที่เคยทำมา อย่างมากก็ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นวางคอนเซ็ปต์ ออกแบบ ตลอดจนก่อสร้างเสร็จไม่เกิน 3 ปี แต่สำหรับที่นี่ ใช้เวลาไปแล้ว 4 ปี โดยในช่วง 2 ปีกับ 6 เดือนแรก เป็นเรื่องของการวางคอนเซ็ปต์ให้ลงตัวที่สุดก่อน จึงค่อยเริ่มต้นการก่อสร้าง
หลายครั้งที่เคยมีคนถามว่าถ้ายุ่งยากอย่างนี้แล้ว ทำไมจึงไม่ทุบอาคารเดิมทิ้งแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้คอนเซ็ปต์ตรงกับความต้องการมากที่สุด
"คือเราเคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่มันก็มีความเห็นที่ยากลำบาก หรือว่าความเห็นไม่ตรงกันทั้งหมด บางคนก็บอกว่าผมอยู่ของผมดีๆ จะให้ผมหยุดค้าขายไปเลยปีสองปี แล้วผมจะไปอยู่ที่ไหน คือถ้าธุรกิจบางแห่งเขาเป็นธุรกิจใหญ่ ร้านค้าเยอะแยะ ปิดไปร้านเดียว ไม่เสียหาย แต่บางคนบอกว่าผมมีรายได้อยู่แค่สาขานี้ที่เดียว จะให้ผมปิด แล้วผมจะไปมีอาชีพอะไร คือมันเป็นอะไรที่ต้องมองหลายๆ ด้าน ถ้ามองด้านเดียวมันก็เป็นอะไรที่ยุ่งยาก เพราะมันเป็นอะไรที่ต้องเป็น solution ที่ต้องลงตัวกันให้ได้หลายๆ ฝ่าย ถ้าเราลองปิดหมด คนที่มีร้านอยู่หลายๆ ร้าน เขาไม่เดือดร้อน สมมุติมีอยู่ 20 ร้านค้า ปิดไปร้านเดียว ไม่เดือดร้อน แต่คนที่ร้านค้าอยู่ร้านเดียวนี่เดือดร้อน เขาก็ต้องบอก แล้วลูกเต้าเขาจะมีที่ไหนกิน จะทำอย่างไร ก็ปิดไม่ได้ มันเป็นอะไรที่เราต้องมองคนส่วนใหญ่ ทุกคนนี่จะต้องไม่เดือดร้อน หรือให้คนเดือดร้อนน้อยที่สุด"
โครงการเซ็นทรัลเวิลด์ถือเป็น flagship ของทั้ง CPN และเครือเซ็นทรัลทั้งกลุ่ม ที่สำคัญโครงการนี้มีเป้าประสงค์สำคัญสำหรับการต่อยอดในการออกไปลงทุนในต่างประเทศของเครือเซ็นทรัล จึงถือว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายยิ่งสำหรับการวางคอนเซ็ปต์และควบคุมการก่อสร้างให้ตรงกับคอนเซ็ปต์และเป้าประสงค์ที่ถูกวางเอาไว้
"คือเป็น showcase ของเรา คือเรามองว่าอยากให้ตรงนี้เป็นอะไรที่คิดว่ามันไม่ใช่แค่ทำออกมาแล้วเป็นหน้าเป็นตา แต่ผมว่ามันทำด้วยความยากลำบาก เราจึงมองว่าตรงนี้ถ้าเราสามารถทำได้สำเร็จ ก็เท่ากับคุณเป็นมือหนึ่งแล้ว จะทำอะไรก็ทำได้ง่ายขึ้น คือเราคิดอะไรต่างๆ ที่ยากที่สุดและในเวลาเดียวกันเอาความคิดที่ยากที่สุดมาใช้กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นอะไรที่มันท้าทาย" เขาบอก
"เราต้องการสะท้อนภาพของเรา ว่าเราทำอะไรที่มัน challenge ที่สุด ที่จะ challenge ได้แล้ว อะไรที่สูงสุด แล้วเราเอาชนะได้ ผมคิดว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญที่สุดสำหรับเรามาก ผมคิดว่าถ้าเราทำที่นี่สำเร็จ วันหนึ่งถ้าเราไปต่างประเทศ หรือว่ามีต่างประเทศที่อยากให้เราไปทำ เราก็สนใจที่จะไป คือเรามองว่าถ้าเราสามารถทำอันนี้ได้ เราก็สามารถทำอย่างอื่นได้"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|