|
เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ยิ่งช้ายิ่งเละ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
2526 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เปิดให้เอกชนเสนอเงื่อนไขเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินของทรัพย์สินฯ เนื้อที่ 75 ไร่ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งแต่เดิมเป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
บริษัทวังเพชรบูรณ์เป็นบริษัทในเครือของเตชะไพบูลย์เป็นผู้ประมูลได้ โดยบริษัทจะทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าและศูนย์พาณิชยกรรมเป็นเวลา 30 ปี นับจากวันที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นลง และจะต้องก่อสร้างให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 5 ปีนับจากวันที่ระบุในสัญญา (คือวันที่ 22 สิงหาคม 2526) บริษัทจะต้องจ่ายค่าตอบแทนจำนวน 390 ล้านบาท และเมื่อครบกำหนด 5 ปีนับแต่วันทำสัญญา บริษัทจะต้องจ่ายค่าเช่ารายปีให้แก่ทรัพย์สินฯ อีกดังนี้ ปีที่ 1-10 ค่าเช่าปีละ 240 ล้านบาท ปีที่ 11-20 ค่าเช่าปีละ 600 ล้านบาท ปีที่ 21-30 ค่าเช่าปีละ 1,500 ล้านบาท เมื่ออายุสัญญาเช่าสิ้นสุดลง บริษัทมีสิทธิ์ที่จะต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้งครั้งละ 10 ปี
บริษัทวังเพชรบูรณ์มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัทนพกิจรวมทุน ธนาคารศรีนคร บริษัทไทยรวมทุน ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจของเตชะไพบูลย์ทั้งสิ้น ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในนามส่วนบุคคลที่สำคัญคือ วิรุฬ เตชะไพบูลย์
โครงการเวิลด์เทรดเป็นโครงการที่บริษัทวังเพชรบูรณ์ จะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าว โดยถือเป็นเวิลด์เทรดสาขาที่ 108 จากสมาชิกบริษัทซึ่งมีอยู่ 203 แห่งทั่วโลก
โครงการเวิลด์เทรดจะประกอบด้วยอาคารสำนักงานสูง 63 ชั้น โรงแรมชั้นหนึ่งขนาด 800 ห้อง อาคารพาณิชย์สำหรับห้างสรรพสินค้า 2 ห้าง นอกจากนั้นยังมีภัตตาคารจำหน่ายอาหารนานาชาติ อาคารอเนกประสงค์สำหรับประชุมระดับนานาชาติ ศูนย์พฤกษชาติ ศูนย์กีฬา พร้อมด้วยลานจอดรถจุถึง 5,000 คัน
แต่ ณ วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2533 ล่วงเลยมาเกือบ 7 ปี เวิลด์เทรดเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปได้เพียงเฟสที่หนึ่งคืออาคารห้างสรรพสินค้าเพียง 1 ห้าง คือห้างเซ็นทรัลเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นโครงการแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระยะต้นๆ แต่ล่าช้ากว่าคนอื่นแบบหายห่วง!
สาเหตุแห่งความล่าช้านั้นเกิดขึ้นสองประการคือ เรื่องเงินกับเรื่องของตัววิรุฬเอง เรื่องเงินนั้น แม้เวิลด์เทรดจะมีธนาคารศรีนครหนุน แต่เมื่อสภาวะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก ผนวกกับปัญหาเรื่อง บงล.มหานครทรัสต์ และผลประกอบการของธนาคารที่ตกต่ำ ประกอบกับในช่วงปี 2526-2529 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เฟื่องฟูขนาดนี้ การขายพื้นที่จึงเป็นไปได้เชื่องช้า เวิลด์เทรดจึงขาดสภาพคล่องพอสมควร
ครั้งหนึ่งไจก้าทำการศึกษาเรื่องเวิลด์เทรด เกี่ยวกับเงื่อนไขที่จะให้เวิลด์เทรดกู้ ข้อเสนอของไจก้าคือ หากเวิลด์เทรดจะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินญี่ปุ่น โครงการเวิลด์เทรดจะต้อง หนึ่ง-ลดบทบาทในการบริหารงานของคนในตระกูลเตชะไพบูลย์ลง สอง-จะไม่ปล่อยกู้โดยตรง จะให้กู้ผ่านสถาบันการเงินแห่งอื่นที่น่าเชื่อถือในประเทศไทย
ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เวิลด์เทรดจึงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ก่อสร้างไปเรื่อยๆ
วิเชียรกล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า แม้โครงการเวิลด์เทรดจะโฆษณาตัวเองว่าลงทุนหมื่นล้าน แต่ก็คงไม่มีโครงการที่ไหนลงทุนรวดเดียวขนาดนั้น วิเชียรให้ตัวเลขเงินกู้ที่เวิลด์เทรดเอาไปจากศรีนครว่าอยู่ในระดับไม่กี่ร้อยล้าน
เมื่อเฟสแรกก่อสร้างเสร็จสิ้น หลังจากใช้เวลาถึง 7 ปี เฟสนี้ก็สามารถขายได้หมด ลูกค้ารายใหญ่คือเซ็นทรัล ประจวบกับภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คึกคักเป็นอย่างมาก จนไม่มีใครเป็นห่วงว่า เวิลด์เทรดจะมีปัญหาในเรื่องการขายอีกต่อไป เพียงแต่ว่าจะทำกำไรเท่าไรเท่านั้น
"ตอนนี้ในส่วนอาคารสูง 63 ชั้นนั้น เขายังไม่ขาย มันก็กำไรแน่ๆ เพียงแต่เขายังไม่กล้ากำหนดราคาขายที่ชัดเจน เพราะวัสดุก่อสร้างมันขึ้นไปสูงมาก" แหล่งข่าวยืนยัน
ที่คนเป็นห่วงก็คือยิ่งช้า อายุสัญญาเช่ามันก็หดสั้นลง ซึ่งจะทำให้กำไรลดน้อยลงไป ก็เท่านั้นเอง
นอกจากเรื่องเงิน ซึ่งดูจะบรรเทาเบาบางลงไป ปัญหาที่หลายคนเห็นพ้องต้องกัน วิธีการทำงานแบบธุรกิจครอบครัวที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเวิลด์เทรด ซึ่งก็หนีไม่พ้นคนในตระกูลเตชะไพบูลย์!
อุเทนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการบริษัท ส่วนอำนาจการจัดการส่วนใหญ่อยู่ที่วิรุฬ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ หลายคนที่เคยทำงานกับวิรุฬต้องลาออกจากไปในเวลาอันสั้น เพราะทำงานกับวิรุฬไม่ได้!!!
คนที่มาทำงานร่วมกับวิรุฬเริ่มตั้งแต่ ผศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่เป็นกุนซือด้านการวางแผนช่วงชิงที่ดินตรงนี้มาจนได้และเป็นสถาปนิกออกแบบโครงการ แต่ทำกันได้ไม่นาน วิรุฬก็เปลี่ยนใจไม่เอารังสรรค์ ไปเอาบริษัทยามาซากิจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ออกแบบเวิลด์เทรดที่นิวยอร์ก แล้วให้รังสรรค์เป็นซับคอนแทรค รังสรรค์ไม่ยอมและกลายเป็นการจุดประเด็นต่อต้านสถาปนิกต่างชาติมาหากินในเมืองไทยพักหนึ่ง และที่สุดรังสรรค์ฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัทวังเพชรบูรณ์เป็นเงิน 210 ล้านบาท ฐานผิดสัญญาว่าจ้าง คดีนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2528 ปัจจุบันยังอยู่ในชั้นศาล
ต่อมาวิมล ผู้น้องมาช่วยด้านการตลาดให้กับพี่ชาย ปรากฏว่าทำได้พักเดียว วิมลก็ออกไปอีก
"วิรุฬต้องการให้เปิดตัวเร็วเพราะมาบุญครองกำลังจะขึ้นมาแล้ว แต่วิมลไม่เห็นด้วยเพราะอาคารโดยส่วนใหญ่ยังไม่เสร็จ และทั้งคู่ออกจะใจน้อยไปหน่อย เมื่อไม่เชื่อกัน วิมลก็เลยออก" แหล่งข่าวกล่าว
วิรุฬไปได้วีระชัย วรรณึกกุล มาเป็นที่ปรึกษา และสุเทพ ชวนะวิรัช นักการตลาดมือดีมาช่วย แต่ในที่สุดวีระชัยก็ไปเป็นที่ปรึกษาให้วิเชียรที่ศรีนคร สุเทพลาไปอยู่บางปูคันทรีคลับกับจิตรา ซึ่งก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องระเห็จไปอยู่ซาฟารีเวิลด์อีก
ทวีศักดิ์ ปานะนนท์ เป็นนักการตลาดจากโอเรียนเต็ลพลาซ่า เป็นอีกคนที่มาแทน และวิเชียรก็ส่งสมบูรณ์ วรปัญญาสกุล น้องภรรยามาเป็นผู้จัดการทั่วไปคู่กับทวีศักดิ์ แต่พักเดียวทวีศักดิ์ก็ออก กลับไปอยู่ที่เดิม สมบูรณ์กลับไปทำด้านพัฒนาที่ดินให้กับวิเชียร
ดร.จิราวุธ วรรณศุภ ฉายา "ดร.เจ" รองผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง เพื่อนร่วมรุ่นสมัยโรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนกับวิรุฬก็ประกาศลาออก
"ผมอยู่มา 3 ปีครึ่ง โบนัสไม่เคยมี ความดีไม่ปรากฏขืนอยู่ต่อมันก็นานเกินไปที่ผมจะอุทิศมันสมองและแรงกายให้สี่สิบคนมาแล้วที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันออกไปตั้งแต่เปิดโครงการมา ไม่ว่าจะเป็นเสมียนหรือคนทำงานระดับสูง" ดร.เจเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
แหล่งข่าวกล่าวว่าสาเหตุที่ ดร.เจไม่พอใจเรื่องหนึ่งคืออัตราเงินเดือน ทั้งที่ ดร.เจต้องรับผิดชอบโครงการมูลค่าหมื่นล้าน แต่เงินเดือนไม่ถึงแสนบาท
"ความเป็นเพื่อนมันกินกันไม่ได้หรอก" เขากล่าว
นอกจากนั้นวิเชียรยังมีมือไฟแนนซ์ที่ชื่อวงศ์ภูมิ วนาสิน มาร่วมทีมด้วย แต่ก็อยู่ไม่นานนัก และในที่สุดวิรุฬก็ไปได้สัตยาพร ตันเต็มทรัพย์ ซึ่งอยู่ฝ่ายต่างประเทศที่ศรีนครมาทำด้านต่างประเทศให้เวิลด์เทรด ซึ่งต่อมาสัตยาพรก็เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไป ซึ่งล่าสุดสัตยาพรก็ลาออกไปอยู่กับวงศ์ภูมิที่บริษัทราชธานีบ้านและที่ดินไปแล้ว
เรียกได้ว่า เวิลด์เทรดแห่งนี้เป็นสนามปราบเซียนจริงๆ!
"วิรุฬเป็นคนโผงผาง ตัดสินใจเร็ว แต่ก็ขี้ลืม บางทีสั่งลูกน้องแล้วลูกน้องไปทำตามแล้วมันเสียหาย แกกลับบอกว่าไม่ได้สั่ง" แหล่งข่าวกล่าว
"เขาก็ทำงานตามใจเขา บางทีนัดประชุมกรรมการทุกคนก็งานแยะแต่ก็มาคอยแก แล้วแกก็โทรมาบอกว่าไม่มาเฉยๆ แบบนี้บ่อย และตอนเปิดโครงการเฟสแรก เชิญนายกฯ ชาติชายมาเปิด ก็เกี่ยงกันเรื่องทำสไลด์มัลติวิชั่นราคา 3 แสน 5 หมื่นบาท คุณวิรุฬต่อเหลือ 3 แสน ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยไม่มี" แหล่งข่าวอีกคนกล่าว
ความผันผวนของเวิลด์เทรดเกิดจากการตัดสินใจที่ไม่แน่นอนของวิรุฬ วิรุฬไม่ค่อยยอมรับเงื่อนไขของคนอื่นง่ายๆ ทั้งเรื่องสถาบันการเงินที่จะมาร่วมทุนก็ไม่ชัดเจนแน่นอนว่าจะเป็นใคร บริษัทผู้รับเหมาในหลายๆ ส่วนก็เปลี่ยนไปแล้วหลายเจ้า โรงแรมต่างประเทศที่จะมาลงที่เวิลด์เทรดก็เปลี่ยนได้เสมอ เช่น สวิสโฮเต็ลก็เพิ่งโบกมือลาไปหมาดๆ
"การตัดสินใจเพื่อลงทุนเพิ่มเติมล่าช้ามาก บางเรื่องที่คุณอุเทนต้องตัดสินใจก็ปล่อยไปก่อน ไม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรแน่ แกคงคิดแบบนายแบงก์ว่ายิ่งช้ายิ่งได้ดอกเบี้ย ท่านคงลืมไปว่าเป็นเงินของธนาคารท่านเอง" แหล่งข่าวคนหนึ่งหยอก
"เรื่องเวิลด์เทรดก็เป็นเรื่องของคนอีกนั่นแหละ ความล่าช้ามีหลายปัจจัยและมีไอเดียหลายอย่าง คุณก็อยากจะทำให้มันดีที่สุด ถ้าทำแบบเผด็จการมันก็ง่ายแต่ประชาธิปไตยมันก็หลายความคิด สไตล์การบริหารแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน" วิเชียรพยายามให้เหตุผลของความล่าช้า
บทเรียนจากนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่ว่า "ยิ่งช้ายิ่งได้กำไร" อาจจะยังเป็นคำปลอบใจของคนในเตชะไพบูลย์ก็ได้ เพียงแต่ว่าครั้งนี้พวกเขาอาจจะลืมไปว่า สินค้าที่จะขายนั้นมันต่างกันและสาเหตุของความล่าช้านั้นก็ไม่เหมือนกัน บางทีเผลอๆ ที่ว่ายิ่งช้ายิ่งได้กำไร อาจจะเป็น "กำไร" ที่อยู่บนก้อนเมฆเหนืออาคาร 63 ชั้นที่ไม่รู้จะสร้างเสร็จเมื่อไร!!!
หมายเหตุ : เรื่องนี้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2533
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|