ชื่อของเครื่องเสียง "Bose" เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักนิยมเครื่องเสียงชั้นดี
แต่ชื่อของอัศวโสภณ" อาจไม่เป็นที่คุ้นหูนัก ทั้งๆ ที่ชื่อนี้อยู่คู่กับ
"Bose" มากว่า 26 ปี
บริษัทอัศวโสภณ จำกัด เป็นบริษัทผู้แทนจำหน่ายเครื่องเสียง Bose มีสำนักงานเก่าแก่อยู่ที่สี่พระยา
พวกเขาอยู่กันเงียบๆ แต่ไม่ช้าไม่นาน "อัศวโสภณ" จะทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น
ทวี อัศวโสภณ เป็นผู้บุกเบิก "อัศวโสภณ" เขาเกิดเมื่อวันที่
3 เมษายน 2455 จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนเผยอิง เริ่มทำงานครั้งแรกด้วยการช่วยครอบครัวขายของเก่า
ต่อมาเริ่มงานนายหน้าติดต่อกับหน่วยราชการ จึงได้รู้จักกับพ่อค้านักธุรกิจและข้าราชการจำนวนมาก
ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะมีกิจการเป็นของตนเอง ประกอบกับความเป็นคนสนุกสนาน
ชอบท่องเที่ยวและรักเสียงดนตรี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการนำเครื่องเสียงไฮ-ไฟ
เข้ามาตลาดเมืองไทย และในปี 2499 จึงได้เปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเสียง
โดยใช้ชื่อว่า "สถานบริการเสียงไฮ-ไฟ"
ต่อมาทวีได้รับมอบหมายให้จัดระบบเสียงในภัตตาคารห้อยเทียนเหลา ซึ่งเป็นภัตตาคารชื่อดังสมัยนั้น
ทำให้สถานบริการเสียงไฮ-ไฟ เริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
สถานบริการเสียงไฮ-ไฟ ขยับขึ้นมาเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องเสียงและลำโพง
Sherwood และอุปกรณ์เครื่องเสียงอื่นๆ เช่น AR และ Marantz
จุดเปลี่ยนของสถานบริการเสียงไฮ-ไฟ แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อทวีได้เป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพง
Bose จากสหรัฐอเมริกา และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอัศวโสภณ ในปี 2512 แต่ที่ทำการยังอยู่ที่สี่พระยาจนปัจจุบัน
ลำโพงเป็นประดิษฐกรรมของ Dr.Amar G. Bose นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันลูกครึ่งอินเดีย
ซึ่งปัจจุบันยังคงสร้างผลงานใหม่ให้กับ Bose รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ที่
MIT ปัจจุบันอายุ 65 ปี
หลังยุคของทวี บุตรชายของเขาขึ้นมาบริหารงานแทน "ไพศาล อัศวโสภณ"
สำเร็จการศึกษาจาก Chicago Technical College สาขาอิเล็กทรอนิกส์ ฝึกงานที่
Sherwood Electronics Laboratories เป็นเวลา 3 ปี และได้รับอบรมจาก Bose
Corporation เกือบทุกปี
ไพศาลเป็นคนเงียบๆ และด้วยความสนใจในเรื่องงานเทคนิคมากกว่ากาตลาดทำให้อัศวโสภณเป็นบริษัทการตลาดที่เงียบๆ
บริษัทหนึ่ง โดยเน้นไปที่การให้บริการและความยมอรับเชื่อถือจากลูกค้าที่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสำคัญ
ประกอบกับความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยืนยาวกับ Bose ทำให้ไพศาลกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า
ทั้งคู่ไม่มีทางทอดทิ้งกัน
งานของอัศวโสภณขยายมากขึ้นตามความต้องการของตลาด อัศวโสภณจึงเริ่มขยายงานตาม
และนายแพทย์ธานี เทพวัลย์ ก็เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และไพศาลก็ขึ้นไปเป็นประธานบริษัท
นพ.ธานีเรียนจบจากอัสสัมชัญและคณะแพทยศาสตร์ อดีตเป็นกุมารแพทย์ประจำศิริราช
รวมทั้งสอนหนังสือและเป็นผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ต่อมาลาออกจากวิชาชีพแพทย์เมื่อ
4 ปีที่แล้วและหันมาอยู่ในวงการธุรกิจเต็มตัว โดยเป็นผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนาบริษัทนิกส์
(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายกล้องนิคอน และเมื่อมาพบกับไพศาลซึ่งเป็นเพื่อนเก่าจึงย้ายมาช่วยงานที่อัศวโสภณในที่สุด
ตลาดของอัศวดสภณนั้นมาจาก 2 สายใหญ่ คือตลาดในบ้าน หรือลูกค้าทั่วไปที่ซื้อลำโพง
Bose ไปเพิ่มคุณภาพของเสียง และตลาดให้บริการจัดระบบเสียงโครงการ
ในส่วนของตลาดในบ้านนั้น ยังเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของอัศวโสภณ โดยลำโพง Bose
ที่ขายได้ส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับราคา 30,000-58,000 บาท ซึ่งอยู่ในตลาดบน
"คนไทยยังซื้อเครื่องมากกว่าซื้อเสียง" คุณหมอธานีอธิบายถึงพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย
หมายถึงว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังยึดติดว่าเครื่องเสียงขนาดใหญ่น่าจะมีเสียงที่ไพเราะ
และยิ่งเครื่องเสียงแบบมินิคอมโปที่มีองค์ประกอบมากมายคนไทยยิ่งชอบ
แต่ลำโพงของ Bose มีหลากหลายขนาดยิ่งพัฒนาไปขนาดก็ยิ่งเล็กๆ เรื่อยๆ แต่พลังเสียงนั้นกลับยิ่งใหญ่และทรงพลังมากขึ้นทุกที
ตลาดของ Bose จึงไม่หดหายไปกับเครื่องเสียงประเภทอื่น แต่กลับขยายมากขึ้นตามอำนาจซื้อและรสนิยมของผู้บริโภคที่ต้องการสิ่งที่ดีขึ้นไม่หยุดยั้ง
ในส่วนตลาดจัดระบบเสียงนั้น อัสวโสภณ ถือเป็นรายใหญ่รายหนึ่งในตลาดนี้โครงการใหญ่ๆ
ที่อัศวโสภณรับจัดระบบให้มาแล้ว เช่น ระบบเสียงที่สถานีรถไฟหัวลำโพง, โรงยิมนิมิบุตร,
พระที่นั่งวิมานเมฆ, ห้องประชุมดรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์, โบสถ์อัสสัมชัญ
เป็นต้น
อีกโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้คือ วัดธรรมกาย
"ปัจจุบันเราไปจัดระบบเสียงให้ทางวัด ในระหว่างเทศน์อยู่แล้ว เพราะในอดีตมีเครื่องขยายเสียงก็จริง
แต่เสียงมันดังกันไปหมด และหลวงพ่อท่านก็เทศน์ไปก็ได้ยินเสียงสะท้อนจนตัวท่านเองเทศน์ได้ลำบาก
เราก็เข้าไปแก้ไขจนดีขึ้น แต่ทางวัดกำลังมีโครงการจัดงานใหญ่ในวันวิสาขบูชา
คาดว่าจะมีคนมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน จะทำอย่างไรให้คนทั้ง 3 หมื่นได้ยินเสียงหลวงพ่อเทศน์ในที่กลางแจ้ง
และฟังได้อย่างซาบซึ้งด้วย ไม่ใช่ดังจนคนที่ใกล้ลำโพงหูหนวกไปเลย และคนที่อยู่ไกลได้ยินแค่เสียงแว่วๆ"
ไพศาลเล่าให้ฟัง
ระบบเสียงที่อัศวโสภณเสนอไปนั้น เป็นระบบที่ใช้เสาในการแขวนลำโพงน้อยมาก
จากเดิมอาจจะต้องใช้ถึง 100 ต้น ซึ่งจะเกะกะมากก็เหลือเพียง 27 ต้น แต่รับประกันได้ว่าทุกที่นั่งจะซาบซึ้งกับรสพระธรรมแน่นอน
แต่เฉพาะค่าเสาก็ต้นละ 4 แสนบาทเข้าไปแล้ว !
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ เพราะการลงทุนอาจจะคุ้มค่า ความสำคัญอยู่ที่ทางบริษัทและวัดธรรมกายกำลังศึกษาคือ
การลงทุนครั้งนี้จะสามารถนำไปใช้งานอื่นๆ ต่อเนื่องได้มากน้อยแค่ไหน หรือแค่ปีละครั้ง
?
39 ปีที่ผ่านมาของ "อัศวโสภณ" ก้าวหน้ามาอย่างราบเรียบ ด้วยอาศัยพลังการสนับสนุนจาก
Bose มาวันนี้อัศวโสภณกำลังจะเน้นการตลาดเชิงรุกมากขึ้น
อย่างน้อยๆ ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เปลี่ยนทัศนคติมาซื้อ "เสียง"
มากกว่าซื้อเครื่องก็เป็นได้