ทีโอทีแสดงจุดยืนค่าเชื่อมโครงข่ายส่งให้กทช.พิจารณา


ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอที แสดงจุดยืนหลังเคาะค่าเชื่อมโครงข่ายลงตัว พร้อมยื่นเสนอ กทช. 4 เงื่อนไขให้ กทช. พิจารณา ตีกันผลประโยชน์ ส่วนแบ่งรายได้และสัมปทาน ใช้ได้แค่รายใหม่ ส่วนรายเก่าหมดสิทธิ ยันราคานี้ทำได้สุดๆ แล้ว คาดนำส่งได้ 28 มิ.ย.นี้ จะเคาะหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กทช.

นายจำรัส ตันตรีสุคนธ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด เปิดเผยว่า อัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือไอซี (อินเตอร์คอนเน็กชัน ชาร์จ) ได้ข้อสรุปแล้ว คือ อัตราเก็บแบบต้นทาง (Originate) 3 บาทต่อนาที อัตราเก็บปลายทาง (Terminate) 1.25บาทต่อนาที และแบบเชื่อมต่อผ่าน (Transit) 0.50 บาท พร้อมเงื่อนไข 4 ข้อในการนำอัตราดังกล่าวมาใช้งาน โดย ทีโอที จะสามารถนำเสนอให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ก่อนในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

สำหรับเงื่อนไข 4 ข้อ ของ ทีโอที ที่จะยื่นประกอบการพิจารณาการกำหนดใช้ ต่อ กทช. ประกอบด้วย

1. รูปแบบการจัดเก็บส่วนของบริการโทร.พื้นฐาน จะใช้วิธีการจัดเก็บในอัตราใช้งานต่อครั้ง ไม่คิดแบบค่าเชื่อมต่อแบบต่อนาที โดยจะใช้ในส่วนของพื้นที่เดียวกัน หากโทร.ข้ามพื้นที่ก็จะใช้รูปแบบอัตราตามสัดส่วนระยะทางหรือโทร.ทางไกล ตามอัตราใช้งานในปัจจุบัน

2.อัตราค่าไอซีดังกล่าว จะใช้เฉพาะผู้ที่ได้รับใบอนุญาตรายใหม่ จาก กทช. ซึ่งได้แก่ ทีโอที บริษัท กสท โทรคมนาคม และ บริษัท ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ โดยไม่ใช่ผู้ให้บริการรายเก่า หรือรายเดิมในตลาด

3. สัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมการงาน ในส่วนของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท ทีทีแอนด์ที และ สัญญาเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็คแซ็ส ชาร์จ) จำนวน 200 บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน ส่วนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค บริษัท ทรู มูฟ ที่ทำร่วมกับกับ กสท ขอให้คงสัญญาเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

4. เมื่อมีการนำมาบังคับใช้ ทีโอที ขอสงวนสิทธิ หากมีผลกระทบจากผลบังคับใช้ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หากค่าไอซี ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ลดลง ทีโอที มีสิทธิ เรียกร้อง หรือ หาข้อชดเชย จากสิ่งที่เกิดขึ้น การ ขอยกเลิก การขอเปลี่ยนแปลงอัตราตัวเลข

“ตัวเลข และเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อ ที่เสนอไป ทั้งหมดคือ จุดยืนของ ทีโอที จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ กทช. จะพิจารณา”

อย่างไรก็ตาม สูตรคำนวณค่าไอซีที่นำมาใช้ จะเป็นรูปแบบการคำนวณจากต้นทุนบัญชีต้นทุนโดยรวมทั้งหมด (FDC) ซึ่งหากคำนวณในรูปแบบ คำนวณจากส่วนเพิ่มระยะยาวหรือ LRIC ทีโอที จะยังไม่สามารถนำส่ง กทช. ได้ เพราะจะต้องใช้ระยะเวลานาน หาก กทช. ต้องการให้คิดในสูตรดังกล่าว จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะขอให้ใช้ตัวเลขเบื้องต้นนี้ชั่วคราวไปก่อน

นายจำรัส กล่าวอีกว่า อัตราค่าบริการในระหว่างนี้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับแต่อย่างใด เพราะอัตราค่าบริการดังกล่าวยังสามารถแบกรับภาระค่าไอซีได้ ส่วนเรื่องการแข่งขันด้านราคาของเอกชน อัตราราคาถูกจะหมดไป เพราะผู้ประกอบการรายใหม่ จะไม่ยินยอมให้ผลดำเนินงานที่ขาดทุน

ส่วนกรณีการใช้งานภายใต้สัญญา ทีโอที จะยังคงใช้กรอบการหักทางบัญชีเดิม ทั้งในรูปแบบ 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน และส่วนแบ่งรายได้ แต่หากมีการนำไปใช้เชื่อมต่อผ่านโครงข่ายรายใหม่ ก็จะใช้อัตราไอซีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทิศทางในอนาคต ของ ทีโอที หลังจากมีการนำค่าไอซี มาใช้ ระหว่างนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลอย่างไร ทั้งในแง่บวกหรือแง่ลบ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ ถึงแม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายถึงการสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เสรีที่เป็นธรรม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.