|
นักค้าที่ดินสุวรรณภูมิติดหล่ม
ผู้จัดการรายวัน(27 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นักค้าที่ดินรอบสุวรรณภูมิติดกับดักรัฐบาล ขายที่ดินไม่ออกหลังนโยบายรัฐเปลี่ยนรายวัน-เศรษฐกิจซบราคาที่ดินตก แนะเร่งขายก่อนดอกเบี้ยท่วม ระบุยอดขายบ้านลดฮวบจาก 20-30 ยูนิต/เดือนเหลือแค่ 3-5 ยูนิตต่อเดือน เตือนผู้ประกอบการงัดกลยุทธ์ระบายสต๊อก รีบสร้างรีบโอน ปีหน้าทรุดหนัก เหตุยังไม่เห็นวี่แววปัจจัยบวก “บรรหาร” ค้าน ครม.ตั้งสุวรรณภูมิมหานคร ชี้พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเกินไป “สมศักดิ์” อัดรัฐบาลรักษาการไร้จริยธรรมตั้ง จว.ขายชาติ
ผลจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร โดยระยะแรกเมืองที่ตัดเขตลาดกระบัง ประเวศ และอำเภอบางพลี บางเสาธง จ.สมุทรปราการ พื้นที่รวม 522 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3.26 แสนไร่ ออกมาเป็นสุวรรณภูมิ โดยกำหนดเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย และจะใช้เวลา 4 ปี ปรับเปลี่ยนเป็นเขตปกครองพิเศษต่อไป
แม้ว่าจะเป็นการคลายข้อสงสัยของหลายฝ่าย ที่รอดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจให้สุวรรณภูมิมีการปกครอง การบริหารแบบใด แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์ในย่านนั้นมีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิถูกปั่นราคาขึ้นไปอย่างมากบางแปลงสูงถึง 50-80% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากที่ดินจะอยู่ในมือแลนด์ลอด กลุ่มทุนนักการเมือง ผู้ประกอบการแล้ว ยังมีนักเกร็งกำไรเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อปั่นราคาอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งรายเล็กรายน้อย
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทนิรันด์ เรสซิเด้นท์ เปิดเผยว่า ที่ดินโดยรอบสนามบินส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา เนื่องจากอยู่ในมือของกลุ่มเจ้าของที่ดินเดิม กลุ่มของผู้ที่เข้าไปกว้านซื้อในช่วง 7-8 ปีที่แล้ว ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังไม่นำที่ดินออกมาพัฒนาเนื่องจากรอโอกาสเหมาะสม
นอกจากนี้ที่ดินบางส่วนยังอยู่ในมือของนักค้าที่ดินหรือพวกเกร็งกำไรจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้ไม่สามารถขายที่ดินออกไปได้ เนื่องจากติดปัญหาของราคาที่ดินที่ถูกปั่นขึ้นไปสูงมาก ประกอบการสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเลื่อนเปิดใช้สนามบิน ทำให้ไม่มีใครกล้าซื้อมาลงทุน ซึ่งกลุ่มนี้จะประสบปัญหาก่อนกลุ่มนักลงทุนอื่น เนื่องจากบางรายได้ใช้เงินกู้ทั้งจากในและนอกระบบมาซื้อที่ดิน เพื่อหวังได้ผลกำไรและขายออกในระยะเวลาอันสั้น
“ตอนนี้ที่ดินในมือของพวกเกร็งกำไรมีมาก กลุ่มนี้บางส่วนกู้เงินมาซื้อแล้วขายไม่ออกเพราะปั่นกันมาหลายทอด ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องดอกเบี้ยเข้าไปอีกยิ่งไปกันใหญ่ พวกนี้จะโดนน้ำร้อนลวกก่อนเพื่อน ก็ต้องมาเร่ขายกันซึ่งได้เห็นในเร็วนี้แน่ พวกนี้ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเพราะผู้ประกอบการไม่ได้ซื้อจากเจ้าของที่ดินโดยตรงผ่านมือมา 2-3 รอบ ทำให้ต้องพัฒนาบ้านแพงขึ้น คนซื้อก็ต้องซื้อบ้านแพงตาม” นายธำรงกล่าว
**ยอดขายลดฮวบจาก 30 ยูนิตเหลือ 3 ยูนิต
ในส่วนของผู้ประกอบการในปัจจุบัน แม้ว่าจะติดปัญหายอดขายชะลอตัว แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะย่านสุวรรณภูมิแต่เป็นทั้งตลาด เพราะปัจจัยลบหลายประการทั้ง ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย การเมือง ล่าสุดตลาดหุ้น ทำให้ประชาชนชะลอการตัดสินใจซื้อเนื่องจากไม่มั่นใจรายได้ในอนาคตของตนเอง จึงต้องการเก็บเงินสดไว้ในมือแทนที่จะต้องมาเป็นหนี้ ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 20-30 ยูนิต แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3-5 ยูนิตเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหากลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และทำการปิดการขายได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาสต๊อกล้นมืออย่างแน่นอน เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้ประกอบการจะใช้การขายเป็นตัวชี้นำการผลิตสินค้า และไม่ผลิตก่อนล่วงหน้าทำให้ยอดผลิตบ้าน(ซัปพลาย)จะขึ้นอยู่กับยอดขายเป็นหลัก ต่างจากในอดีตที่ผลิตตามความคาดหมายไม่ได้วัดผลจากยอดขายจริง
นายธำรง กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของธุรกิจอสังหาฯในขณะนี้คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจัยลบต่างๆยังไม่มีทิศทางที่คลีคลายลงไปได้ ปัญหาของภาคอสังหาฯ อยู่ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคหากผู้บริโภคไม่มั่นใจในรายได้ในอนาคตก็ไม่ซื้อ นอกจากนี้บ้านไม่ใช่สินค้าสิ้นเปลืองเมื่อซื้อแล้วอีกกว่า 10-20- ปี หรือมากกว่านั้นจึงจะซื้อใหม่ และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีการซื้ออสังหาฯไปเป็นจำนวนมากทำให้ความต้องการในตลาดได้ถูกดูดซับออกไปแล้วทำให้ยอดขายในช่วงนี้ลดลงเป็นธรรมดา
“ ปีหน้ายิ่งหนักกว่านี้ เพราะเท่าที่มองดูไม่มีวี่แววของปัจจัยบวกเข้ามาช่วยเลย ที่ผ่านมาวัฏฏจักรของอสังหาฯ จะมีรอบดี 2-3 ปี และรอบตกต่ำอีกประมาณ 2-3 ปี ซึ่งปีที่แล้วก็ถือเป็นรอบเริ่มตกต่ำจนกระทั่งปัจจุบัน สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำตอนนี้คือ กลุ่มที่สายป่านไม่ยาวก็ไม่ควรไปเพิ่มหนี้เพิ่มสิน เพราะบางช่วงที่ไม่ดีมันขายไม่ได้เลย ไม่มีรายได้เข้ามาแถมต้องเตรียมเงินไว้อีกต่างหาก เพราะจะต้องมีลูกค้าบางรายเข้ามาขอเงินคืน ดังนั้นควรสร้างบ้านให้เร็วรีบโอนแล้วเก็บเงินสดไว้ หาสภาพคล่องธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีสิ่งยั่วยวนเยอะ มีรายได้เข้ามาทำให้เกิดกิเลส ต้องสร้างเพิ่มเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้นพอขายไม่ได้ก็ติดมือ” นายธำรงกล่าว
อนึ่ง ร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้ง หาก ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ต้องรอครม.ชุดใหม่ยืนยันว่า เห็นชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 กำหนดแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ว่าถ้าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้สามารถเสนอได้ โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ครม.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ต้องรอ ครม.ชุดใหม่เห็นชอบและนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
ส่วนรูปแบบการปกครองแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก กำหนดให้สุวรรณภูมิมหานครมีฐานะเป็นจังหวัด อำนาจหน้าที่ของสุวรรณภูมิมหานคร ให้สามารถตอบสนองการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ในด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้ทั่วถึง ซึ่งเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่แตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบปกติโดยทั่วไป และได้รวมอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบมาเป็นอำนาจหน้าที่ของสุวรรณภูมิมหานคร
โครงสร้างของสุวรรณภูมิมหานครกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสุวรรณภูมิมหานครจำนวน 30 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 20 คนผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานแต่งตั้งจำนวน 5 คน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประธานแต่งตั้ง จำนวน 4 คน โดยมีระยะเวลาการบริหาร 4 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กรณีมีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 4 ปี มีผู้ว่าการสุวรรณภูมิฯหนึ่งคน ซึ่งคณะกรรมการบริหารแต่งตั้ง
ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ กำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอนุมัติแผนงาน โครงการ งบประมาณ กำหนดระเบียบการบริหารงานของสุวรรณภูมิมหานครและกำกับดูแลการบริหารงานของสุวรรณภูมิมหานคร กำหนดให้การคลัง งบประมาณ การเงิน การพัสดุ การตรวจสอบภายใน การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สิน การวางแผนพัฒนา ฯลฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่เทศบาลนครปฏิบัติ หรือตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
**"บรรหาร"ค้านสร้างเมืองรอบสนามบิน
นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร ว่า ในความคิดของตนสนามบินแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้น เท่าที่ดูเราพยายามหนีความแออัดจากในเมือง โดยออกไปให้ไกล เพื่อให้พ้นมลภาวะทุกด้าน โดยเฉพาะทางเสียง ซึ่งตนเห็นด้วยว่าควรให้ไปอยู่ในที่จุดนั้น โดยรอบเป็นพื้นที่ทำไร่ไถนาของชาวบ้าน ไม่มีอาคารบ้านเรือนก็เหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำทั้งหมดที่มาจากด้านตะวันออกของกทม. ดังนั้น การทำการป้องกันน้ำท่วมได้ทำเฉพาะในสนามบินพื้นที่หมื่นกว่าไร่เท่านั้น แต่โดยรอบไม่ได้ทำ อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศเป็นจังหวัดที่ 77 ตนไม่มีข้อมูลที่แท้จริง แต่ในความรู้สึกที่มีโอกาสได้สัมผัสนั้น คิดว่าไม่น่าจะมีชุมชนหรือเมืองไปเกิดขึ้นแถวนั้นเด็ดขาด ควรจะปล่อยให้มีสนามบินเพียงโดดๆ
"โดยลึกๆแล้วไม่เห็นด้วยที่จะเอาเมืองไปล้อมรอบสนามบิน เพราะในอนาคตจะต้องมีปัญหา เรานึกหรือว่าจะไม่เกิดปัญหาธรรมชาติ อาทิ พายุ ไต้ฝุ่น ขนาดหนักเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2533 สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยลงพื้นที่ที่สุวรรณภูมิ และเคยให้กรมโยธาธิการออกแบบบ้านเอาไว้ว่า หากใครจะสร้างบ้านในบริเวณดังกล่าว ควรจะเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง เพื่อให้น้ำไหลผ่าน ส่วนส้วมก็ให้ต่อถังรองรับ ซึ่งตนจำได้ว่า ยังมีแบบแปลนอยู่ที่กรมโยธาธิการ"นายบรรหาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านครม.นั้น เป็นเพียงหลักการเท่านั้น แต่ก็ยังต้องรอรัฐบาลชุดหน้ามาพิจารณา ดังนั้นเมื่อมีครม.ชุดใหม่เข้ามาก็ต้องให้ครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และไม่ว่าการจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้ารัฐบาลฟังความเห็นหลายฝ่ายได้ก็จะเกิดประโยชน์
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรีบร้อนเกินไปหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนก็ไม่ทราบ และวัตถุประสงค์ของรัฐบาลมีอย่างไรก็ไม่ทราบ ตอบไม่ได้ เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าเกี่ยวเนื่องกับเรื่องผลประโยชน์การเก็งกำไรที่ดิน นายบรรหาร กล่าวว่า ต่างคนต่างคิด
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กรณีที่รัฐบาลรักษาการได้ดำเนินการเรื่องสุวรรณภูมิมหานครขึ้นมา และมีความเหมาะสมหรือไม่บนกระบวนการระบอบประชาธิปไตย โดยใช้สูตรสำเร็จของรัฐบาลทำเองทั้งหมด เคยมีความรู้สึกถึงหัวอกของคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเขตนั้นบ้างหรือไม่ว่าเขามีความรู้สึกและมีความต้องการอย่างไร
ถึงวันนี้อยากให้มองดูอารยะประเทศด้วยว่า ชุมชนกับสนามบินนั้นควรจะอยู่ร่วมกันหรือไม่ มีแต่เขาจะหนีความแออัดแล้วไปสร้างสนามบิน แต่เราสร้างสนามบินเสร็จแล้วจึงนำชุมชนและความแออัดเข้าไป มันสวนทางกัน จึงอยากให้รัฐบาลคิดและใคร่ครวญถึงความเหมาะสม
"ที่สำคัญควรคิดถึงจริยธรรมของรัฐบาลในฐานะรัฐบาลรักษาการ ว่าเรื่องอย่างนี้สมควรหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นการอนุมัติในหลักการยังไม่ได้มีการปฏิบัติก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือการตั้งจังหวัดใหม่ขึ้นมาอีกจังหวัดหนึ่ง ตั้งเขตการปกครองพิเศษขึ้นมาอีกเขตหนึ่ง อย่างนี้รัฐบาลรักษาการสมควรที่จะทำหรือไม่ และประชาชนในฐานะที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้หรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักให้มาก" นายสมศักดิ์ กล่าว
**บิ๊กสามารถยันระบบ AIMS พร้อม
นายสงวน ตรีเจริญวิวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจงานรัฐ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับสิทธิ์ในการติดตั้งระบบไอทีเกี่ยวกับการบริหารจัดการสนามบินหรือโครงการแอร์พอร์ต อินฟอร์เมชัน แมเนจเมนต์ ซิสเต็ม (AIMS) ในสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า การติดตั้งระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการส่งมอบไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบร่วมกับทีมปฏิบัติการ AIMS ในทุกระบบไม่ว่าจะเป็นระบบเช็คอิน, กระเป๋า เป็นต้น
จากการทดสอบระบบต่างๆ ยังไม่พบปัญหาอะไรในเชิงเทคนิค มีเพียงปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น สายไฟขาด หรือคอมพิวเตอร์ถูกขโมย ก็ต้องซื้อมาใช้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากเป็นไซส์งานขนาดใหญ่
“ระบบเราพร้อมเปิดให้บริการตามกำหนดตั้งแต่การที่จะให้สายการบินราคาต่ำหรือโลว์คอสต์มาลงในวันที่ 28 ก.ค.นี้”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|