ค่ายรถยนต์ทวงคืนอาณาเขต"ป้ายแดง""นิสสันลีสซิ่ง"คืนเวทีท้ารบเครือแบงก์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่ายรถยนต์ "นิสสัน"หวนคืนเวที ผลักดัน "นิสสัน ลีสซิ่ง" น้องใหม่หมาดๆ ตีโอบตลาดรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือธุรกิจเช่าซื้อในเครือแบงก์ ขณะที่สายสัมพันธ์กับดีลเลอร์ยังคงเปราะบาง เปิดศึกท้ารบด้วยสงครามออนไลน์อนุมัติด่วนใน 4 ชั่วโมง ถอยรถจากโชว์รูมได้ทันที ตามประกบด้วยการนำระบบให้บริการสินเชื่อครบเครื่อง ทั้งอุปกรณ์ตกแต่ง และประกันภัยดึงดูดความสนใจ ปีนี้จะทวงพื้นที่รถป้ายแดงคิดเป็น 10% ของยอดขาย ก่อนจะขยับเป็น 24 และ 35% ในปีถัดไป ยืนยันคู่แข่งคือเช่าซื้อที่จับตลาดเดียวกับค่ายรถยนต์นิสสันเท่านั้น...

การเปิดตัวสมาชิกใหม่ "นิสสัน ลีสซิ่ง" น้องใหม่ในเครือ สยามนิสสันอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 เม.ย.2549 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 300 ล้านบาท นอกจากจะบอกให้รู้ถึงสถานภาพ "ผู้เล่นหน้าใหม่" ในตลาด ส่วนหนึ่งยังเป็นการถือโอกาสฝากข้อความไปถึงธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือแบงก์ ที่ให้สินเชื่อกับค่ายรถยนต์นิสสันโดยตรง

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่า "นิสสัน ลีสซิ่ง" คือน้องใหม่ในวงการเช่าซื้อรถยนต์รายล่าสุด ในขณะที่ค่ายรถทุกแบรนด์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนเมืองไทยต่างก็มีธุรกิจเช่าซื้อเป็นของตัวเองไปก่อนหน้านี้นานแล้ว

ในอดีต ค่ายรถนิสสันก็เคยมีพอร์ตเช่าซื้อเป็นของตัวเองอยู่พักหนึ่ง ในยุคที่ตระกูล "พรประภา" ถือหุ้นใหญ่ จนกระทั่งถูกขายออกไป จากนั้นดีลเลอร์ค่ายรถนิสสันก็ต้องอาศัยสายสัมพันธ์โดยตรงกับไฟแนนซ์ ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นคนในชายคาเดียวกับแบงก์ จนเกือบจะครบทุกเจ้าแล้ว

กระทั่งในภายหลังนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น เข้ามาเทกโอเวอร์ สยามนิสสันก็เริ่มหันมาทวงคืนอาณาบริเวณที่สูญเสียไป การเปิดตัวนิสสัน ลีสซิ่งในช่วงที่มูลค่าตลาดรถยนต์คาดจะมียอดสูงถึง 7.3-7.5 แสนคันเป็นเดิมพัน จึงถือเสมือนการเตรียมซุ่มโจมตีเพื่อยึดเอาพื้นที่ ที่เคยครอบครองกลับคืน

"นิสสัน ลีสซิ่ง" ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นทั้ง 100% เป็นนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น คล้ายกับค่ายอื่นที่มีบริษัทแม่ถือหุ้นทั้งหมด อาทิ ฟอร์ด มาสด้า จีเอ็ม อีซูซุ บีเอ็มดับเบิลยู เดมเลอร์ไครสเลอร์ ฮอนด้า และโตโยต้าที่มีพันธมิตรเป็นสถาบันการเงินในประเทศร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย

กมลเดช บุนนาค กรรมการผู้จัดการ นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) บอกว่าปีแรกจะมียอดเช่าซื้อ 5,450 สัญญา หรือคิดเป็น 10%ของยอดขายรถยนต์นิสสันทั้งหมดในประเทศ ก่อนจะวิ่งขึ้นไปถึง 24 และ35% ตามลำดับในปีถัดๆไป

เหมือนกำลังจะประกาศทวงคืนพื้นที่ที่เคยยกให้กับเช่าซื้อค่ายอื่นให้กับมาเป็นของตัวเองอีกครั้ง....

การเอาจริงเอาจังกับธุรกิจน้องใหม่ สังเกตุได้จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่จะทยอยเปิดตัวให้ครบ 10 รุ่นในปี 2551 เริ่มจากปีนี้เพียง 2-3 รุ่น รถรุ่นใหม่ๆจึงจำเป็นต้องพึ่งระบบไฟแนนซ์เพื่อให้ตลาดเคลื่อนไปได้คล่องตัว หรือแม้แต่จะระบายรถโมเดลเก่าในสต็อคก็ต้องใช้การไฟแนนซ์เป็นเครื่องมือหลัก

โปรแกรมการทำตลาด เริ่มต้นด้วยความแตกต่าง... "นิสสัน ลีสซิ่ง" เปิดตัวด้วยการให้บริการสินเชื่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ที่ทำการวางระบบซอฟท์แวร์เชื่อมต่อกับผู้แทนจำหน่ายกับบริษัททั่วประเทศ

ผู้จำหน่ายจึงสามารถตรวจสอบสถานะคำขอสินเชื่อด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา และส่งผลการอนุมัติด่วนภายใน 4 ชั่วโมง หลังบริษัทได้รับเอกสารครบถ้วนก็จะส่งคำสั่งอนุมัติผ่านระบบอีเมล์หรือแฟกซ์ วิธีนี้นอกจากจะขยายตลาดได้มากขึ้น ก็ยังช่วยปิดการขายได้เร็วขึ้นด้วย

นอกจากนั้น นิสสันลีสซิ่งยังนำระบบ F&I(Finance & Insurance) ซึ่งนิยมกันในยุโรปมาใช้ เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ที่พ่วงกับการจัดสินเชื่อสำหรับอุปกรณ์ตกแต่งและประกันภัยรถยนต์รวมไว้ในชุดเดียวกัน

กมลบอกว่า สมัยก่อนซื้อประกันภัยหรืออุปกรณ์ตกแต่งต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่รายการนี้ลูกค้าสามารถผ่อนขั้นต่ำของมูลค่ารถได้ รูปแบบนี้จะช่วยทำให้ประกันภัยยอมให้รถเข้าห้างหรือซ่อมกับศูนย์รถยนต์นิสสันได้ บริษัทก็จะได้ยอดขายอะไหล่ พร้อมกับค่าแรงเพิ่ม

" เราได้นำโมเดลในเม็กซิโกมาใช้ในประเทศไทย เพราะลักษณะกฎหมาย ระบบบัญชี และลูกค้าใกล้เคียงกัน เช่น ลูกค้าสามารถเลือกจะชำระเบี้ยได้เอง"

ปัจจุบันกำลังการผลิตรถยนต์นิสสันอยู่ที่ 4.6-4.8 หมื่นคัน ขณะเดียวกันก็ประมาณการว่าจะขยายเป้าหมายจาก 4.8 หมื่นคันเป็น 5.2 หมื่นคัน

" เราจะเข้าไปดูแลลูกค้าเอง ดังนั้นอิมเมจ บริษัทและข้อมูลลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรให้ไปอยู่ในมือธุรกิจคู่แข่งอื่นๆ"

กมล เล่าถึงสภาพแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อ ฟาดฟันกันด้วยสงครามราคาหรือหั่นดอกเบี้ยจนมาร์จิ้นลดเหลือน้อย ขณะเดียวกันดีลเลอร์แต่ละรายก็มีสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจเช่าซื้อมากหน้าหลายตา โดยบริษัทไม่สามารถบีบบังคับให้ทำไฟแนนซ์กับบริษัทได้เพียงเจ้าเดียว

" ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้เขาทำกับเรา เพราะกำลังของเรารองรับได้เต็มที่ เพียงแต่ดีลเลอร์แต่ละแห่งก็จะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับไฟแนนซ์หลายแห่ง"

กมลบอกว่า นิสสันหรือแม้แต่ค่ายรถทุกแห่งที่มีธุรกิจเช่าซื้อเป็นของตัวเอง ต่างก็ไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรง เพราะแต่ละค่ายก็พยายามจะซัพพอร์ตลูกค้าที่ซื้อรถยนต์แบรนด์นั้นๆให้อยู่กับตัวมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ก็จะปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดเพียง 40% ของยอดขายรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่ายรถยนต์ขนาดเล็ก ขณะที่ค่ายใหญ่มักจะไฟแนนซ์ได้ในระดับไม่เกิน30%

ส่วนศัตรูคู่แข่งโดยตรง ก็คือไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับค่ายรถยนต์นิสสันเท่านั้น...

กมลเดช บอกว่า ในสนามแข่งขันยังแข่งหนักเรื่องดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น แต่ถ้าเป็นแคมเปญที่หนักหน่วงก็จะเป็นรุ่นโละสต็อค

การเข้ามาจับธุรกิจเช่าซื้อของค่ายรถ จึงอธิบายได้ว่า แต่ละค่ายพร้อมจะเพิ่มการปิดยอด สนับสนุนการขายในกลุ่มดีลเลอร์ ขณะเดียวกันก็พยายามรุกไล่เพื่อทวงคืนพื้นที่ที่เคยถูกยึดครองโดยธุรกิจเช่าซื้อภายใต้แบรนด์เดียวกับแบงก์

แบงก์ในสมัยนี้อาจจะต่างไปจากอดีต กลุ่มก้อนของแบงก์มีบริษัทในเครือมากมายก่ายกอง รวมถึงเช่าซื้อ ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้อย่างงดงามในแต่ละปี

เจ้าตลาดในปัจจุบันก็ยังคงเป็นบริษัทในเครือแบงก์ ไม่ว่าจะเป็น จีอี มันนี่ แบงก์ธนชาต ทิสโก้ สยามพาณิชย์ลีสซิ่งภายใต้โลโก้ธงสีม่วงของแบงก์ไทยพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ ที่แบงก์ต่างๆตั้งหน้าตั้งตาออกไปกว้านซื้อมาอยู่ใต้อาณัติตัวเองจนนับไม่ถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นนครหลวงไทย ที่ไล่ซื้อราชธานีลีสซิ่ง ไทยธนาคาร ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา เคแบงก์ ที่มีลีสซิ่งเป็นของตัวเอง ยังไม่นับแบงก์ทุนนอกสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ ซิตี้แบงก์และยูโอบี ที่จับจองตลาดอย่างเงียบๆ

ภาพแบงก์ทุกวันนี้จึงผิดแผกไปจากเมื่อก่อน ในอดีตบริษัทเงินทุนอาจจะเบ่งบานด้วยยอดเช่าซื้อที่มีสัดส่วนพอร์ตมหาศาล แต่ตอนจบของเรื่องบริษัทเงินทุนที่เหลือรอดมาได้ ต่างก็ยกฐานะเป็นแบงก์ และยังมีบางส่วนที่ถูกเทคโอเวอร์ จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็น

ดังนั้นเมื่อเอ่ยถึงแบงก์ จึงน่าเกรงขามกว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤตหลายขุม...

ในขณะที่ การเข้ามาถือหุ้นใหญ่แบบเบ็ดเสร็จของบรรดาค่ายรถชั้นนำทั่วโลก ก็ ต่างไปจากสมัยที่ตระกูลใหญ่หลายตระกูลรับหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์

เพราะการเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด 100% ในธุรกิจของผู้เคยเป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย และธุรกิจอื่นที่มีอยู่ ก็น่าจะบอกได้ถึง ความพยายามสานสัมพันธ์กับดีลเลอร์ให้แข็งแกร่ง

เพราะความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งเท่านั้นที่จะทลายกำแพงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างดีลเลอร์และธุรกิจเช่าซื้อที่กระจายอยู่ทุกซอกมุมให้เปราะบางได้....จากนั้น ก็จะเป็นขั้นตอน การบุกเข้ายึดอาณาบริเวณที่เคยหายไปกลับคืนมา....ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.