|

นวัตกรรมเครื่องดื่มนอกกลุ่มคาร์บอเนตยังเน้นสุขภาพ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงก์ หรือน้ำดื่มยังคงเป็นตลาดที่นักการตลาดถือว่าไปได้สวยในขณะนี้ เพราะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจและยอดการจำหน่ายที่ถือว่าสูงมากธุรกิจหนึ่ง และทำท่าว่าจะยังมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ดี เพราะสามารถเบียดตลาดของเครื่องดื่มหลักในกลุ่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์และไวน์จนหน้าเขียวได้อย่างไม่น่าเชื่อ
นักการตลาดบางคนได้ให้ความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีสัญญาณบางอย่างที่ส่อให้เห็นว่าเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงก์ มีการเคลื่อนไหวที่แสดงถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นตัวคำตอบที่ทำให้อัตราการเติบโตของตลาดกลุ่มนี้ยังออกมาน่าพอใจ การเปลี่ยนแปลงที่ว่า คือ การปรับตัวในด้านโครงสร้างของตลาดเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์ โดยกลุ่มเครื่องดื่มมีคาร์บอเนตยังคงสาละวันเตี้ยลงในด้านของส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดน้ำผลไม้และน้ำดื่มบรรจุขวดแซงหน้าขึ้นมามีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการจงใจปรับพอร์ตธุรกิจของ 2 ยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท โคคา-โคล่า และเป๊ปซี่เองที่หันไปพึ่งพาฐานรายได้จากตลาดของน้ำผลไม้และน้ำดื่มสุขภาพที่ผสมวิตามินและเกลือแร่มากกว่าตลาดเครื่องดื่มมีคาร์บอเนต
อย่างไรก็ตาม การสำรวจตลาดอนาคตของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในจีนเมื่อเร็วๆ นี้ กลับออกมาสวนทางกับเครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงก์ เพราะจากปีนี้ถึงปี 2012 ตลาดเครื่องดื่มมึนเมาในจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20.6% ทำให้จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับเครื่องดื่มประเภทเบียร์ และน่าจะกลายเป็นแหล่งผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในย่านเอเชีย-แปซิฟิก
สิ่งที่น่าสนใจคือ เป้าหมายของตลาดเครื่องดื่มมึนเมาที่นักการตลาดให้ความสนใจมากกว่าเดิมกลายเป็นกลุ่มคนสูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการสำรวจล่าสุดพบว่ามีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นราว 100.5 ล้านดอลลาร์ในยุโรป และราว 82.1 ล้านดอลลาร์ในตลาดสหรัฐฯ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดในส่วนที่เป็นระดับพรีเมียมเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ผู้บริโภคในแถบซีกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ตามบาร์ตามคลับ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ หรือแม้แต่ตามโรงแรมและไนท์คลับน้อยลง แต่กลับพบว่าพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นอกเทศกาล ไม่มีกาลเทศะกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ไม่ใช่เฉพาะพฤติกรรมการดื่มของมึนเมาเท่านั้นที่ทำท่าจะเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อย หากแต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เกี่ยวข้องเครื่องดื่มก็เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเน้นการบริโภคอาหารมื้อหลัก ครบ 3 มื้อ อันเนื่องมาจากความจำกัดและบีบคั้นของเวลาส่วนหนึ่ง
นักการตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่ากิจกรรมทางการตลาดที่จะนำมาใช้ในอนาคตนั้น ควรที่จะให้ความสำคัญปัจจัยทั้ง 3 ประการพร้อมๆ กัน และด้วยน้ำหนักความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นก็คือ สุขภาพ รสชาติ และความหลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค
ดังนั้น กิจกรรมทางการตลาดจำนวนมากที่เคยอาศัยร่มเงาบารมีของคำขลังๆ อย่างเช่น “ออกแกนิก” ไม่ได้เป็นจุดขายหรือคำตอบสุดท้ายอีกต่อไป เหมือนกับที่เริ่มเอามาใช้เมื่อปี 2001 หากแต่มีการนำคำอื่นๆ มาทดแทนในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ อย่างเช่นคำว่า “ธรรมชาติหรือ natural” เป็นต้น ซึ่งพบว่าคำสองคำนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด และล้วนแต่ทำให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพและผลดีต่อสุขภาพของสินค้ามากขึ้นด้วย
นักการตลาดบางคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ในระยะหลังๆ นี้การพัฒนาตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่หวังหลอกล่อเด็กให้เป็นทาสรสชาติ มีแนวโน้มลดลงจากปี 2001 ตามลำดับ อันเนื่องมาจาก ประการแรก เด็กที่เป็นโรคน้ำหนักเกินกำหนดมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องหันมาหาอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพแบบเลิกไม่ได้
ประการที่สอง มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทรงคุณค่าออกมามากมาย แต่หากเทียบกับปี 2001แล้วยังนับว่าลดลงจากจุดที่เคยเฟื่องฟูที่สุดมาแล้ว เพราะปัญหาความกังวลเกี่ยวโรคอ้วนในเด็กของพ่อแม่เพิ่มขึ้น โครงสร้างประชากรเด็กที่ลดลง และทัศนคติของเด็กมีความเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้นมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ การเกาะกระแสของสุขภาพจึงยังเป็นสิ่งที่นักการตลาดในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่อาจะหลีกเลี่ยงได้ การสร้างนวัตกรรมของเครื่องดื่มใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการด้านนี้จึงยังคงเป็นแนวโน้มของตลาดในส่วนนี้ต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|