|
คลังขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันอีก2เดือนหลังส่วนราชการล่าช้าส่งแผนไม่ทัน
ผู้จัดการรายวัน(23 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
คลังขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการอีก 2 เดือน หวังให้โครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วไม่สะดุด ขีดเส้นล่าช้าสุดได้ไม่เกิน 31 สิงหาคม 49 ยันเร่งเบิกจ่ายงบปี 49 ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้93% แน่นอน ขณะที่รัฐบาลแปลงสภาพโครงการ จีเอฟเอ็มไอเอส เป็นเอสดียู อ้างเพื่อเบิกจ่ายรูปแบบพิเศษ ลั่นไม่เกี่ยวเบิกจ่ายล่าช้าเชื่อโอนย้ายไปกระทรวงการคลัง 1 ต.ค.50
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณว่าต้องการให้การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีผลกระทบมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาจากผลกระทบของความล่าช้าของงบประมาณประจำปี2550 ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศค.) ได้ดูแลเรื่องดังกล่าว
โดยที่ประชุมได้มีมติให้มีการผ่อนผัน โดยให้ขยายเวลาการก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการออกไปอีก2 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2549 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ซึ่งการขยายเวลาดังกล่าวเพื่อให้หน่วยราชการที่ยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันในขณะนี้ได้ มีเวลาการดำเนินการเพิ่ม ซึ่งการก่อหนี้ผูกพันจะทำให้โครงการที่มีการดำเนินการไปบ้างแล้วทั้งในเรื่องของการประกวดราคา กำหนดวันประมูลโครงการไว้แล้วนั้น สามารถมีเวลาในการก่อหนี้ผูกพันได้มากขึ้น
“งบประมาณลงทุนของปี 2549 มี 379,500 ล้านบาท แต่ตอนนี้ หน่วยงานราชการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 179,000 ล้านบาท หรือประมาณ 47.21% และยังไม่ได้เบิกจ่ายประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะไม่น่าเบิกงบประมาณผูกพันได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้เดิมประมาณ 80,000 ล้านบาท จึงพิจารณาให้มีการขยายเวลาการก่อหนี้ผูกพันดังกล่าวให้หน่วยราชการมีเวลาในการก่อหนี้ผูกพันมากขึ้น”นายวราเทพ กล่าว
ซึ่งในการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2549 ขณะนี้ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 894,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65.74% จากงบประมาณ 1,360,000 ล้านบาท ซึ่งเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนเนื่องจากงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรวมในปี 2549 ให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 93% ของงบประมาณทั้งหมด และในส่วนของงบลงทุนให้ได้ถึง 73% โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างแน่นอน
ทั้งนี้มติในที่ประชุมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาในวันที่ 27 มิถุนายน 2549 นี้
แปลงจีเอฟเอ็มไอเอส เป็น เอสดียู
นายนิพัทธ พุกกะณะสุต รองประธานคณะกรรมการกำกับการบริหารการเงิน การคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) กล่าวภายหลังการประชุม ซึ่งมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการทำงานโดยเฉพาะส่วนขยายโครงการใหม่ เช่น ระบบเบิกจ่าย ทั้งนี้โครงการใหม่มีหลักการในขั้นต้นจะสังกัดอยู่กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะโอนไปยังกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการต่อไป โดยโครงการใหม่จะใช้ชื่อว่า หน่วยงานกำกับระบบคอมพิวเตอร์ ในเรื่องการเบิกจ่ายพิเศษรูปแบบ Service Delivery Unit หรือ SDU และจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้เบื้องต้น SDU จะมีคณะกรรมการเข้ามากำกับในสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นต้นเดือนตุลาคม ก็จะมีการโอนไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากงานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นงานเกี่ยวกับงบประมาณ อย่างไรก็ตามในส่วนของทุกกระทรวงก็จะต้องเข้ามาร่วมบริหารกำกับร่วมกันซึ่งมีกว่า 2,000 เทอร์มินอล จากเดิมที่ให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามากำกับในลักษณะเอาท์ซอร์ท และจากนั้นก็จะมีการว่าจ้างผู้บริหาระดับอินเตอร์ และโอนงานจากธนาคารกรุงไทยมากำกับดูแลเอง โดยใช้งบประมาณต่อปีกว่า 400 ล้านบาท
นายนิพัฒน์ กล่าวอีกว่า การปรับเป็นโครงการใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยราชการที่ล่าช้า แต่จะเป็นโครงการใหม่ที่สามารถติดตามได้ง่าย เพราะที่ผ่านมาระบบนี้เป็นระบบใหม่ที่เจ้าหน้าที่ยังไม่คุ้นเคย และที่ผ่านมาก็ใช้เต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ระบบ SDU มีอำนาจหน้าที่ดูแลการดำเนินงานของระบบ GFMIS ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพรองรับหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น จัดทำรายงาน MIS ได้ถูกต้องและครบถ้วนได้เป็นมาตรฐานทั้งนี้จะเป็นหน่วยงานราชการรูปแบบพิเศษ กำกับบริหารจัดซื้อ และพัฒนาระบบให้รองรับความต้องการของรัฐ อย่างครบวงจร ซึ่งการถ่ายโอนจะกำหนดไว้ประมาณวันที่ 1 ต.ค.2550
วิษณุแจงงบประมาณล่าช้ามีทางออก อ้างรัฐบาลชุดอานันท์ก็ใช้วิธีเดียวกัน
“วิษณุ เครืองาม” แจงงบล่าช้าไม่มีปัญหาใช้รัฐธรรมนูญหรือพรบ.งบประมาณแก้ไขได้ ระบุยึดกรอบปี 49 ไปก่อน ชี้กระทรวงใดเคยได้รับเท่าไรก็ให้ใช้เท่าเดิมไปก่อน อ้างสมัยรัฐบาลอานันท์ 2 ก็ใช้วิธีเดียวกัน
นายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความล่าช้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พรบ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ว่า สำหรับการพิจารณาขั้นตอน เมื่อร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ยังไม่ออก หรือออกไม่ทัน เรื่องนี้มีทางแก้ อยู่ในกฎหมาย 2 ฉบับคือในรัฐธรรมนูญและในพรบ.วิธีการงบประมาณหรือ ภายในฉบับใด ฉบับหนึ่งก็ได้ แต่เนื่องจากความรอบคอบของผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าหากมีการขอแก้หรือเลิกระเบียบวิธีการงบประมาณก็จะสูญหายไป
ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้เขียนวิธีแก้ไว้เหมือนกันคือหากงบประมาณปีเก่าออกไม่ทัน และมีการเลิกปีงบประมาณไปแล้ว ให้ใช้งบประมาณปีเก่าไปพลางก่อน ซึ่งหมายความว่าหากกระทรวงหนึ่งปีที่ผ่านมาเคยได้งบประมาณไปแล้วเท่าใด ตามหลักแล้วหากกฎหมายงบประมาณออกทันในปีต่อไปก็จะมีการตั้งงบประมาณใหม่ขึ้นมา เช่น หากงบประมาณปีเก่าได้ทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท และปีต่อไปก็อาจจะตั้งไว้ที่ 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากงบประมาณใหม่ไม่สามารถออกมาได้ทัน ก็จะต้องยึดในกรอบ 1 พันล้านบาทอยู่เช่นเดิม
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้งบประมาณที่จะนำมาใช้จ่าย จะประกอบไปด้วยเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งจะไม่มีปัญหา รวมทั้งการขึ้นเงินเดือนข้าราชการก็จะสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้เช่นกัน ส่วนโครงการใดที่ดำเนินการค้างอยู่และมีงบประมาณค้างก็ยังสามารถใช้กรอบนั้นต่อไปได้ แต่หากโครงการใดดำเนินการแล้วเสร็จ จะคิดโครงการใหม่ต่อเนื่องและหวังว่าจะนำเงินที่เหลือในกรอบเดิมมาใช้ในโครงการใหม่นั้น ไม่สามารถปฏิบัติได้ เป็นต้น
เนื่องจากโครงการใหม่นั้นไม่ได้ปรากฎอยู่ในเอกสารงบประมาณ แต่ในส่วนของงบกลางปีมีจำนวนเท่าใด ก็สามารถโอนมาใช้สำหรับในปีงบประมาณหน้าซึ่งเป็นตัวเลขเดิมและรัฐก็จะรู้ว่างบกลางปีที่หมุนเวียนนำไปใช้ในโครงการใดที่มีปัญหาได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าหากมีภัยพิบัติ เช่น สึนามิ เกิดขึ้น ในปีหน้าจะไม่มีงบประมาณใช้ดำเนินการซึ่งก็จะสามารถดึงเงินจากงบกลางมาใช้ เพราะงบกลางไม่ได้ระบุว่าจะต้องนำไปใช้กับเหตุอะไร หรือในปีใด ๆ เพราะหากเกิดเหตุกรณีฉุกเฉินก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในอดีตแล้วสาเหตุที่งบประมาณไม่สามารถออกทันและจะต้องนำงบประมาณเดิมมาใช้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เช่น สมัยนายอานันท์ ปันยารชุณ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้เข้ามาในเดือนพฤษภาคม และเกิดการยุบสภาและกว่าจะเลือกตั้งก็ไปถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ว่างบประมาณไม่สามารถออกได้ทันในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ในส่วนของงบประมาณปี 2550 ถือว่ามีความพิเศษตรง งบประมาณจะออกล่าช้า นานมาก หลายเดือน เพราะร่างงบประมาณที่ผ่านมาแม้จะมีความล่าช้า 2-3 เดือน แต่งบประมาณปี 2550 คาดว่าจะล่าช้าครึ่งปีถึง1 ปี และคาดว่าจะล้าไปถึงเดือนพฤษภาคา มิถุนายน หรือกรกฎาคม 2550
“อย่างไรก็ตามงบประมาณในวันที่ 1 ต.ค.2550 ก็กำลังจะออกมา ลักษณะนี้จึงจะกลายเป็นการนำงบประมาณเข้าไปพิจารณาถึง 2 ฉบับ ใกล้เคียงกัน เพราะในร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณได้ระบุไว้ว่างบประมาณปีใหม่ออกไม่ทัน ก็ให้ใช้งบประมาณปีเก่าไปพลางๆ ก่อน โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นผู้อนุมัติตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” นายวิษณุกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|