"เนวิน"ออกโรงป้อง"ไอทีวี"จี้สปน.ถกอัยการสูงสุดใหม่


ผู้จัดการรายวัน(23 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กรณีค่าปรับ "ไอทีวี" มูลค่าเกือบ 7.6 หมื่นล้านบาทบานปลาย "เนวิน" ออกโรงปกป้องเอกชน ให้สปน.หารืออัยการสูงสุดอีกรอบ อ้างกลัวศาลปกครองสูงสุดพลิกคำพิพากษาศาลปกครองกลาง พร้อมเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการพิจารณาใหม่เพื่อหาทางไกล่เกลี่ย ด้าน "นิวัฒน์ธำรง" โต้ค่าปรับที่สมเหตุสมผลอยู่แค่ 2 พันล้านบาท ขณะที่ "ชินคอร์ป" โบ้ยไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับค่าปรับ พร้อมรับผิดชอบตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น ส่วนราคาหุ้นขยับขึ้นเล็กน้อย จากการเก็งกำไรระยะสั้น

หลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีมติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เรียกร้องค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ที่ค้างชำระตั้งแต่ปี 2547 ตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ข้อ 5 และเรียกร้องค่าปรับที่ไม่ได้ดำเนินการตามผังรายการตามเงื่อนไขสัญญา ข้อ 11 มูลค่ารวมกว่า 75,960 ล้านบาทโดยทันทีนั้น

วานนี้ (22 มิ.ย.) นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายรองพล เจริญพันธุ์ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าพบเพื่อรายงานความคืบหน้ากรณีเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากไอทีวี จำนวน 75,960 ล้านบาท โดยนายรองพล ชี้แจงว่า จะส่งหนังสือให้ไอทีวีในวันนี้ (23 มิ.ย.) เพื่อยืนยันว่าไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับตามวงเงินดังกล่าว

นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อพิพาทค่าสัมปทานระหว่างสปน. และไอทีวี อาจจะต้องนำเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีความเห็นแตกต่างกันเรื่องของค่าปรับมูลค่ามหาศาลที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับสปน.

"ขณะนี้ ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามสัญญาก่อนในส่วนกรณีที่ค่าปรับต่างกันต้องดูขั้นตอนกระบวนการวินิจฉัย แต่หากยังมีข้อพิพาทที่ไม่สามารถหารือร่วมกันได้ จะต้องนำกลับเข้าไปสู่กระบวนการอนุญาโตตุลากรเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาตามสัญญาต่อไป ขณะเดียวกันได้กำชับให้สปน. หารือกับอัยการสูงสุดอีกรอบในกรณีที่สปน. ดำเนินการปรับไอทีวีไปแล้ว แต่หากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยออกมาไปเป็นไปตามศาลปกครองกลาง ทางออกของสปน.จะทำอย่างไรต่อไป"

นายเนวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ไอทีวีคงไม่สามารถจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 75,960 ล้านบาท ตามที่ สปน. เรียกเก็บได้ เนื่องจากมูลค่าสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่ไอทีวีมีอยู่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไอทีวีมีสินทรัพย์เพียง 3 พันล้านบาทเท่านั้น หากผลสรุปไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับทั้ง 75,960 ล้านบาท ทางบริษัทคงจะยอมให้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดแทน แล้วยกเลิกสัมปทานดังกล่าว

"เรื่องนี้ได้ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในการไต่สวนความผิดของระบบอนุตุลาการของรัฐบาล เพราะระบบนี้เป็นที่ยอมรับและใช้กันทั่วโลก ดังนั้นนับจากนี้ไป รัฐบาลจะต้องเข้มงวดในเรื่องความชอบธรรมและความถูกต้องของการใช้ระบบอนุญาโตตุลาการมากขึ้น เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต"

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นหลัก ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังไม่มีผลบังคับจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาให้คดีเป็นที่สุด ตามมาตรา 70 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น สปน. จึงยังไม่สามารถเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าปรับดังกล่าวได้ในขณะนี้

ประเด็นที่ 2 ความแตกของการคำนวณค่าปรับนั้น ไอทีวี ได้ยืนยันว่า ค่าปรับมูลค่ากว่า 75,960 ล้านบาท ไม่สมเหตุสมผล และเป็นมุลค่าสูงกว่าค่าสัมปทานตลอดอายุสัญญา 30 ปี ถึง 3 เท่า ขณะที่ค่าปรับที่ได้จากการคำนวณของไอทีวีเองอยู่ที่ประมาณ 208 ล้านบาทเท่านั้น

ประเด็นที่ 3 ค่าปรับจากการปรับผังรายการ บริษัทไม่ได้เปลี่ยนผังรายการโดยพละการ แต่กระทำโดยสุจริตตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งตามเงื่อนไขสัญญาข้อ 15 ถือเป็นที่สุดและผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นศาลปกครองกลางยังพิพากษาว่าสัญญาข้อ 15 ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับใช้ในสัญญา ดังนั้น บริษัทจึงไม่ควรเสียค่าปรับใดๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นสุดท้าย การชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ค้างชำระตั้งแต่ปี 2547 พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี โดยคิดคำนวณเป็นรายวัน รวมค่าผลตอบแทนค้างชำระและดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,709,749,314 บาท บริษัทจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป

ด้านนางศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ กรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไอทีวี ชี้แจงกรณีที่เทมาเส็กจะฟ้องร้องให้ร่วมรับผิดชอบค่าปรับจำนวนดังกล่าว ว่า บริษัทเป็นเพียงผุ้ถือหุ้นไอทีวีรายหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นทุกรายจะต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินของไอทีวีตามสัดส่วนการถือหุ้นของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

"ขณะนี้ SHIN เป็นเพียงผู้ถือหุ้นไอทีวี และไม่มีข้อตกลงระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใดๆ เป็นกรณีพิเศษ ทำให้ SHIN ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทในกรณีของไอทีวี"

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นวานนี้ (22 มิ.ย.) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดหุ้นโดยรวม ราคาต่ำสุดที่ 2.62 บาท ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ราคาสูงสุดที่ 2.94 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 0.34 บาท หรือ 13.08% มูลค่าการซื้อขายรวม 158.17 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS กล่าวว่า การที่ราคาหุ้นไอทีวี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นลักษณะการเก็งกำไร จากที่ผ่านมาราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมามาก แต่มองว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะยาวแล้วสุดท้ายไอทีวี จะต้องกลับไปใช้ผังรายการเดิม

นอกจากนี้ จากกรณีที่ผู้บริหารไอทีวี ได้มีการออกมาชี้แจงข่าวในเรื่องการจ่ายปรับนั้น จะต้องให้กระบวนการศาลเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายแล้วไอทีวีจะมีการจ่ายค่าสัมปทานอย่างไร และอยู่จ่ายเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม ไอทีวีมีโอกาสที่จะแพ้คดีได้ โดยประเมินราคาหุ้นไอทีวีปีนี้ที่ 2.50 บาท

"หากนักลงทุนจะเข้ามาเก็งกำไรหุ้นไอทีวี ควรที่จะเข้าเร็วออกเร็วเท่านั้น เพราะถือว่าหุ้นยังมีความไม่แน่นอน จึงมีความเสี่ยงในการลงทุน" นายประสิทธิ์ กล่าว

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า การที่หุ้นไอทีวี มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นมี 2 ปัจจัย คือ จากการที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงประมาณ 70% ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นปกติที่จะมีการเข้ามาเก็งกำไร และเป็นจิตวิทยาที่ผู้บริหารมีการออกมาชี้แจงในเรื่องค่าปรับ ที่มีช่องทางที่จะมีการจ่ายค่าสัปทานที่น้อยกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท แต่ในสุดท้ายแล้วไอทีวีจะจ่ายจำนวนเท่าไรนั้นคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.