Gerald R. Faul Haleer เป็นบุคคลแรกที่ให้ความรู้กับผมว่าตั้งแต่ Alexander
G.Bell ประดิษฐ์โทรศัพท์เครื่องแรกในโลก นอกจาก Bell จะสูญเสียผลประโยชน์จากกฎหมายสิทธิบัตร
(Patent) ที่คุ้มครองโทรศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเขาไม่ได้เท่าที่ควรอันสืบเนื่องมาจากความใหม่ของกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรเวลานั้น
หนังสือชื่อ Telecommunication in Turmoil : Technology and Public Policy
ของ Faulhaleer ยังทำให้ผมได้รับความรู้ว่า โทรศัพท์ของ Bell นี่แหละมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาก
โทรศัพท์ของ Bell เป็นที่มาของคดีฟ้องร้องในศาลกว่า 600คดี อันสืบเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิบัตรของ
Bell โทรศัพท์ของ Bell เป็นที่มาของความขัดแย้ง และต่อสู้กันมายาวนานกว่าศตวรรษระหว่างรัฐสภาอเมริกัน
บริษัทโทรคมนาคมเอกชนอเมริกัน กระทรวงยุติธรรม และศาลมลรัฐต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาว่าด้วยนโยบายสาธารณะ
ผลประโยชน์ทางธุรกิจ การละเมิดและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเมือง
ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับโทรศัพท์ของ Bell
โทรศัพท์ของ Bell อาจจะถูกมองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม จากนักวิทยาศาสตร์ผู้สามารถว่า
โทรศัพท์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประวัติศาสตร์ และพัฒนาการทางเทคโนโลยีล้าหลัง
และช้ากว่าสิ่งประดิษฐ์ทางด้านดทรคมนาคมอื่นๆ อีกมาก แต่ทว่าโทรศัพท์ก็เป็นตำนานของความขัดแย้ง
การแข่งขัน และการต่อสู้ระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ
ล็อบบี้ยิสต์ ผู้ทรงอิทธิพล และบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ ประเทศอภิมหาอำนาจเฉกเช่น
สหรัฐอเมริกา มายาวนานกว่าศตวรรษแล้ว
แปลกแต่จริง โทรศัพท์อุปกรณ์ชนิดหนึ่งของระบบโทรคมนาคมก็เป็นชนวนแห่งตำนานของความขัดแย้ง
การแข่งขันและการต่อสู้ระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ
ล็อบบี้ยิสต์ และบรรษัทข้ามชาติสัญชาติไทยในประเทศไทยเหมือนกัน แม้ว่าความขัดแย้งดังกล่าวเพิ่งจะมีช่วงเวลาไม่ถึง
1 ทศวรรษก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้นโทรศัพท์ในประเทศไทยได้นำพาเอากลุ่มพลังที่มีอำนาจมากเกือบจะที่สุดในสังคมไทย
ให้เข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในกระแสความขัดแย้งอันเชี่ยวกรากนี้นอกเหนือจากทหาร
เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ค่อยมีนักรัฐศาสตร์คนใดทั้งไทยและเทศ ชี้ให้เห็นเลยว่าโทรศัพท์นี่แหละเป็นอะไรที่เคยกำหนดทัศนะทางการเมืองไทยในทศวรรษ
2530 หรือตั้งแต่รัฐบาลชาติชายมาแล้ว แล้วก็ยังขยายอิทธิพลของตนออกไปกำหนดทิศทางการเมืองไทยในทศวรรษ
2540 อีกด้วย
บทบาทในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยของโทรศัพท์เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงใน
3 สิ่งดังต่อไปนี้
1. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระบบโทรคมนาคม จากโทรศัพท์สู่โทรคมนาคมอื่นๆ
คือ เคเบิลทีวี และดาวเทียม
2. การผ่านหรือไม่ผ่านพระราชบัญญัติสื่อสารฉบับใหม่ของรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย
ในกระบวนการพิจารณาทางรัฐสภา
3. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพรรคการเมืองใหญ่ๆ อันได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังธรรม และพรรคความหวังใหม่ เป็นต้น และพรรคเล็กๆ
แต่เกี่ยวโยงกับอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยคือพรรคเสรีธรรม
อย่างไรก็ตาม บทความเรื่อง "ธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย : ภาคการเมือง"
ชิ้นนี้คงทำหน้าที่เพียงให้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์อันใกล้ชิด
ระหว่างการเมืองไทยกับธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความขัดแย้ง
การแข่งขัน และการต่อสู้ระหว่างสภานิติบัญญัติ สถาบันฝ่ายบริหาร สถาบันฝ่ายตุลาการ
ล็อบบี้ยิสต์ ทหารและบรรษัทข้ามชาติสัญชาติไทยไปพร้อมๆ กันด้วย
ธุรกิจโทรคมนาคมกับความขัดแย้งทางการเมือง
คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ธุรกิจโทรคมนาคมที่อยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว
พร้อมๆ กับการเข้ามาของคลื่นเทคโนโลยีจากตะวันตก ที่ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างเป็นระลอก
พร้อมกันนั้นคงต้องยอมรับความเป็นจริงด้วยว่า ธุรกิจโทรคมนาคมโดยโครงสร้างของกฎหมายไทย
รัฐและหน่วยงานของรัฐมีอำนาจผูกขาดเป็นของตน และถึงแม้ว่า จะมีช่องว่างให้เอกชนบางรายสามารถเข้ามาประกอบการแทนรัฐบาลได้
โดยอาศัยระบบสัมปทาน (Consession) อาทิ เอกชน 2 รายได้สัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ
เป็นผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ในช่วงทศวรรษ 2510 แต่ความขัดแย้งในทางการเมืองลักษณะต่างๆ
ในบริบทธุรกิจโทรคมนาคมก็ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเลย
จวบจนกระทั่งโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2533 ธุรกิจโทรคมนาคม
ภาคความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2530 นี่เอง
โครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายอันนี้นี่เอง เป็นส่วนของการเริ่มต้นการประกอบการธุรกิจใหม่ของกลุ่มชินวัตรจากบริษัทขายคอมพิวเตอร์มาเป็นบริษัทประกอบธุรกิจโทรคมนาคม
อันได้แก่โทรศัพท์ไร้สาย เคเบิลทีวี และดาวเทียม เฉกเช่นเดียวกับบริษัทล็อกซเล่ย์
(กรุงเทพ) จำกัด ของกลุ่มล็อกซเล่ย์ ก็ปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจจากบริษัทค้าขายสารพัดเข้าสู่ธุรกิจดทรคมนาคม
อันได้แก่ การจัดตั้งบริษัท ทีทีแอนด์ที (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับสัมปทานโทรศัพท์
1 ล้านเลขหมายต่างจังหวัดในสมัยรัฐบาลอานันท์ 2
ที่จะอดกล่าวไม่ได้คือ การเปลี่ยนฐานทางธุรกิจ (Business Base Transformation)
ชนิดไร้ร่องรอย จากบริษัทเกษตรอุตสาหกรรม (Agro Industry) สู่บริษัทประกอบธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์
หรือซี.พี. เจ้าของสัมปทานดทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายในนามของบริษัทเทเลคอมเอเซีย
จำกัด (มหาชน)
โครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย การประกอบการทางธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
และความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษ 2530 เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กัน
โครงการดทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย พ.ศ.2533 การปฏิวัติโดย รสช. ปีพ.ศ.2534 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง
จปร.5 และ จปร.7 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างหัวแถวของรสช. กับนักการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์สิน
รัฐบาลอานันท์ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 รัฐบาลอานันท์ 2 สัมพันธ์และโยงใยทั้งทางตรงและทางอ้อมกับโครงการโทรศัพท์
3 ล้านเลขหมาย อุปกรณ์โทรคมนาคมชนิดหนึ่งทั้งสิ้น
จวบจนปีพ.ศ.2537 ต่อพ.ศ.2538 ธุรกิจโทรคมนาคมกับความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น
หากแต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อย แต่ยังคงความลุ่มลึกและทรงพลานุภาพเช่นเดิม
ความไม่แน่นอนด้านนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับ 1.1 ล้านเลขหมายใหม่ในเวลานั้น
ซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคพลังธรรม
คือพ.อ.วินัย สมพงษ์ กับดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย (ขุนทอง ลอเสรีวานิช "ประเด็นโทรศัพท์
1.1 ล้านเลขหมาย" ผู้จัดการรายวัน 25 พฤศจิกายน 2538 หน้า 19) สัมพันธ์กับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกของดร.ทักษิณ
ชินวัตร ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การประกาศตัวเข้าสู่สนามการเมืองโดยเปิดเผยเจ้าของกิจการธุรกิจโทรคมนาคมก็ติดตามมา
การที่นายบุญชัย เบญจรงคกุล และเครือญาติ ผู้เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทยูไนเต็ด
คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้า
ในสังกัดพรรคชาติไทย ประชากรไทย และประชาธิปัตย์ ในวันและเวลาเดียวกันกับที่ดร.ทักษิณ
ชินวัตร ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นรูปธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมกับความขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น
ทั้งในแง่ของ 1) ความสืบเนื่องจากทศวรรษ 2530 2) การเผชิญหน้าโดยตรงในระบบพรรคการเมืองและ
3) เพิ่มคู่ความขัดแย้งให้มากขึ้นทั้งสิ้น
นักธุรกิจโทรคมนาคมในคราบนักการเมือง
เมื่อแนวโน้มแห่งการเผชิญหน้าโดยตรงในระบบพรรคการเมือง และการเพิ่มคู่ความขัดแย้งให้มากขึ้น
จะเป็นแนวโน้มใหม่ที่ต่อเนื่องของ "ภาคการเมือง" ในธุรกิจดทรคมนาคม
ประเด็นที่มักจะถูกตั้งคำถามเสมอก็คือ นักธุรกิจโทรคมนาคมในคราบนักการเมือง
จัดเป็นนักการเมือง "น้ำดี" หรือ "น้ำเน่า"
คำถามที่ถูกตั้งขึ้นนี้เป็นคำถามทั่วไปที่มักจะถูกถามกับกรณีนักธุรกิจที่หันไปเล่นการเมืองนั่นเอง
กล่าวคือ เป็นคำถามที่พยายามจะชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Business
Interrest) กับผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interrest) ที่สังคมไทยคาดหวังจากนักธุรกิจที่หันมาเล่นการเมือง
ในความเป็นจริง เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า นักธุรกิจประเภทต่างๆ ทุกประเภท
เช่น นักธุรกิจในภาคเกษตรกรรม ในภาคอุตสาหกรรม ในภาคการเงิน การธนาคาร หรือแม้แต่ในภาคธุรกิจโทรคมนาคม
คงก้าวเข้าสู่สนามการเมืองแบบที่มีความเหมือนและมีความแตกต่างด้วยกันทั้งนั้น
ความเหมือน
อาจกล่าวได้ว่า เราคงต้องยอมรับความเป็นจริงว่าความเป็นนักธุรกิจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง
ที่ตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประโยชน์สาธารณะคงเป็นความเพ้อฝัน นักธุรกิจในภาคเกษตร
ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินการธนาคาร ที่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมือง หาใช่ธุรกิจในอุดมคติในทำนองที่ว่าร่ำรวยแล้ว
คิดจะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติถ่ายเดียว
ในเวลาเดียวกันความจริงอีกอันหนึ่งที่ยอมรับกันก้คือ สังคมไทยขาดความเกี่ยวข้องมากขึ้นของนักธุรกิจในภาคต่างๆ
ไม่ได้เสียแล้ว ความสามารถพิเศษอิทธิพลจากบรรดาผู้ประกอบการ และโดยเฉพาะความมั่งคั่ง
(Wealth) ของนักธุรกิจในภาคต่างๆ เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ และแนวทางหนึ่ง
ที่เป็นช่องทางที่สังคมไทยจะได้รับประโยชน์จากนักธุรกิจแน่ๆ นั้น ก็เพื่อบทบาททางการเมือง
ความแตกต่าง
ในขณะเดียวกัน คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งรวมทั้งนักธุรกิจในภาคต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย ดังนั้นบทบาททางการเมืองของนักธุรกิจในภาคต่างๆ
ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ยกเว้นนักธุรกิจภาคโทรคมนาคม
ณ ที่นี้ น่าจะมีปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
คือ
1. โครงสร้างทางการเมือง (Political Structure)
กล่าวคือมีนักวิชาการและนักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า โครงสร้างการเมืองไทยก่อนและหลังยุค
14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นโครงสร้างทางการเมืองยุคก่อนปี
2516 เป็นโครงสร้างทางการเมืองแบบเผด็จการ-อำนาจนิยม (Totalitarianism) ซึ่งการผูกขาดอำนาจมีอยู่ในกลุ่มทหารและตระกูลทางธุรกิจเพียงไม่กี่ตระกูล
ครั้นหลังปี 2516 และโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันภายใต้กระแสโลกานุวัตร (Globalization)
นักธุรกิจมีความใกล้ชิดทหารหรือศูนย์กลางอำนาจเพียงไม่กี่ศูนย์น้อยลง
นักธุรกิจเหล่านั้นมีประสบการณ์ชีวิตทั้งทางธุรกิจ สังคม และการเมือง ในสังคมที่มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ระบบพรรคการเมืองหลายพรรค
และระบบรัฐสภาที่พัฒนามาสืบเนื่องพอดี ความจำเป็นที่ต้องเกี่ยวข้องและภักดีต่อกลุ่ม
อำนาจในระบบเก่าคือ ทหารก็มีน้อยลง และหันไปสร้างความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองพร้อมๆ
กันหลายพรรค หรือก้าวเข้าสู่สนามการเมืองเองหรือแม้แต่จะก่อสร้างพรรคการเมืองเองก็ทำได้
2. โครงสร้างทางธุรกิจ (Business Structure)
ภายใต้กระแสโลกานุวัตรอีกเช่นกัน โครงสร้างทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในตัวของผู้ประกอบการ
(Entrepreneur) และลักษณะการประกอบการธุรกิจ (Business Characteristic)
ในยุคโลกานุวัตร นักธุรกิจมีระดับการศึกษาสูงขึ้น เป็นเจเนอเรชั่น 2 หรือ
3 ไม่ใช่คนรุ่นที่ 1 ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายในธุรกิจและการเมือง มีอายุน้อยประกอบกับลักษณะการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน
ซึ่งเป็นธุรกิจสมัยใหม่ (Modern Business) ซึ่งมีการแข่งขันสูง มีเทคนิคใหม่ๆ
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งภาคการผลิต (Production) การจำหน่าย (Distribution)
และการแลกเปลี่ยน (Exchange) และโดยภาคธุรกิจที่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจธุรกิจระหว่างประเทศ
ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากเท่าใด การประกอบการทางธุรกิจในลักษณะดังกล่าว
ย่อมส่งผลให้นักธุรกิจรายนั้นๆ มีลักษณะเป็น Professional Manager ซึ่งมีแนวคิดกว้างๆ
คือ ไม่เชื่อมั่นและฝากความหวังทางธุรกิจของตนกับทหาร นักการเมืองแบบเก่ามากขึ้น
โครงสร้างทางธุรกิจเช่นนี้ ทำให้การก้าวเข้าสู่การเมืองของนักธุรกิจ เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองมีมากขึ้น
ทั้งในรูปของผู้สนับสนุนทางการเมือง นักการเมือง รัฐมนตรี และเจ้าของพรรคการเมือง
สรุป
ณ ปัจจุบัน ภาคการเมืองของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย ซึ่งมีคนพูดถึงน้อยมากกำลังเข้มข้น
และเข้มข้นมากขึ้นทุกที
ความขัดแย้งและการต่อสู้อันยาวนานและต่อเนื่องระหว่างและภายในรัฐบาลปัจจุบัน
และในอนาคต ระหว่างภายในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมไทยและพันธมิตจากต่างประเทศ
ระหว่างภายในพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งปัจจุบันและอนาคต
ตลอดจนถึงการพิจารณาเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมก็เล็งหันไปในทิศทางเดียวกันคือรุนแรงมากขึ้น
ความรุนแรงดังกล่าว แปรตามโภคทรัพย์ที่มากมายมหาศาลของธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทยและประเทศต่างๆ
ในภูมิภาคใกล้เคียง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ทุกๆ ปีที่การประกาศผลกำไรของบริษัทโทรคมนาคมว่ามากมายเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท
จะบ่งบอกถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น และรุนแรงขึ้นทุกครั้งไป