|

ตลาดหุ้นลดเป้าบจ.เหลือ40แห่ง
ผู้จัดการรายวัน(22 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหลักทรัพย์ฯ หั่นเป้าบริษัทเข้าจดทะเบียนปีนี้เหลือ 40 บริษัทจากเดิม 100 บริษัท เหตุภาวะตลาดไม่ดีทำให้ได้เม็ดเงินระดมทุนไม่เป็นไปตามความต้องการ “โสภาวดี” แนะบริษัทที่ต้องการเข้าระดมทุนเดินหน้าแต่งตัวรอจังหวะให้พร้อม เผยขณะนี้มีบริษัทเตรียมยื่นไฟลิ่งต่อก.ล.ต.ปีหน้าแล้ว 40 บริษัท ขณะที่วงการวาณิชธนกิจมองจะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ระบุถ้าภาวะหุ้นยังซบเซาต่อเนื่องก็เป็นไปได้ลำบาก
นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการปรับเป้าบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอหรือ mai เหลือ 40 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในSET 30 บริษัทmai 10 บริษัท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 100 บริษัท คือ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือSETจำนวน 60 บริษัทและในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอหรือ maiจำนวน 40 บริษัท เนื่องจากภาวะตลาดไม่ดีซึ่งมีผลให้ค่าพี/อี เรโช หรือP/Eตลาดปรับตัวลดลงเช่นกัน ทำให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนมีการชะลอแผนการเข้าจดทะเบียนออกไป ซึ่งหากยังเข้าจดทะเบียนอยู่ก็จะทำให้ได้เม็ดเงินระดมทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นจะให้ส่วนลดกับนักลงทุน 15-20% จากค่าP/Eตลาด รวมถึง บริษัทบางแห่งก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจ
“จากการหารือกันภายในศูนย์ระดมทุนคาดว่าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนในปีนี้รวม 40 บริษัท จาก เดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 100 บริษัท เพราะ ภาวะตลาดไม่ดีซึ่งทำให้ค่าP/E ตลาดปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอ จะให้ส่วนลดลง 15-20 % จากค่าP/Eตลาดทำให้ได้เงินที่น้อย ดังนั้นบริษัทจึงมีการชะลอการเข้าจดทะเบียนออกไป ”นางสาวโสภาวดีกล่าว
ทั้งนี้การปรับลดเป้าหมาบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าระดมทุนเหลือ 40 บริษัท ลดลงไม่มากจากปีที่ผ่านมาที่มีบริษัทเข้าจดทะเบียนรวม 50 บริษัท และคาดว่าบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 30 บริษัท จะเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจาก ทั้ง 30 บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ได้มีการยื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อปลายปี2548 ที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเข้าจดทะเบียนภายในปีนี้ โดยเชื่อว่ามีหลายบริษัทที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะได้เป็นระยะเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตามบริษัทจะเข้าจดทะเบียนจะเริ่มมีจำนวนมากขึ้นในช่วงปลายปี เพราะปกติแล้วที่บริษัทจะเลือกเข้าในช่วงปลายปีจากที่ภาวะตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเป็นช่วงที่จะต้องรีบเข้าจดทะเบียนเพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
นางสาวโสภาวดี กล่าวว่า บริษัทที่ต้องการที่จะเข้าระดมทุนก็อยากให้มีการดำเนินการอนุมัติให้เรียบร้อย ถึงแม้ภาวะตลาดไม่เอื้อก็ชะลอไปก่อน เพราะ มีระยะเวลา 1 ปีในการเข้าจดทะเบียนหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)อนุมัติ ซึ่งหากภาวะตลาดที่ดีก็เป็นโอกาสที่จะเข้าจดทะเบียน ซึ่งหากบริษัทใดมีความพร้อมก็จะได้เปรียบในการเข้าจดทะเบียน
ขณะนี้มีบริษัทที่มีความต้องการที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแล้วจำนวน 50 บริษัท ซึ่งจะเตรียมที่จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง) ต่อ ก.ล.ต.ในปีหน้าแล้วจำนวน 40 บริษัท
“ในช่วงภาวะตลาดไม่เอื้อในการเข้าจดทะเบียนก็อยากให้บริษัทที่มีความต้องการเข้าระดมทุนมีการดำเนินการขออนุมัติจากก.ล.ต.ให้เรียบร้อย เพราะกระบวนการอนุมัตินั้นจะใช้เวลาที่นาน ซึ่งหากภาวะตลาดเอื้อก็จะทำให้สามารถเข้าจดทะเบียนได้ทันที โดยขณะนี้มีบริษัทที่มีความต้องการที่จะเข้าจดทะเบียน โดยขณะนี้มีบริษัทที่มีที่ปรึกษาทางการเงินแล้วจำนวน 50 บริษัท และจะยื่นไฟลิ่งในปีหน้า จำนวน 40 บริษัท ”นางสาวโสภาวดี กล่าว
นายพรทัต อมตวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัดเปิดเผยว่า เป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้ 40 บริษัทจะสามารถทำได้ตามเป้าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าภาวะตลาดหุ้นยังซบเซาต่อเนื่อง โอกาสที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายใหม่ 40 บริษัทก็อาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าภาวะตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวและมีการซื้อขายคึกคักก็เชื่อว่ามีโอกาสที่จะทำได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน
"จากสภาพตลาดหุ้นที่ซบเซาในขณะนี้เชื่อว่าภายในเดือนมิถุนายนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม คงจะยังไม่มีหุ้นไอพีโอหรือหุ้นใหม่ออกมาเสนอขาย เพราะส่วนใหญ่คงจะเลื่อนออกไปเพื่อรอให้ภาวะตลาดหุ้นกลับมาดีเสียก่อน ซึ่งถ้ามองว่ามีหุ้นไอพีโอเริ่มออกมาเสนอขายภายในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ก็อาจจะมีหุ้นเสนอขายเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น เพราะในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศหยุดพักการซื้อขายและมีวันหยุดมาก ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยมีการซื้อขาย ดังนั้นจึงต้องดูว่าในช่วง 4 เดือนที่เสนอขายหุ้นนั้นจะมีจำนวนบริษัทที่ทำไอพีโอมากน้อยเพียงใด"นายพรทัตกล่าว
ในส่วนของบล.กรุงศรีอยุธยานั้นภายในปีนี้คงจะไม่มีการนำหุ้นเข้ามาจดทะเบียนแล้ว เพราะมองว่าสภาพตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย คงจะเลื่อนไปขายในปีหน้าแทน ซึ่งที่ผ่านมาบล.กรุงศรีอยุธยาเป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายนำหุ้นบริษัทไทยออพติคอล กรุ๊ปหรือ TOG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
นายแมนพงษ์ เสนาณรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า การที่จะมีบริษัทใหม่เข้ามาจดทะเบียนตามเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ด้านในด้านแรกเกี่ยวกับความพร้อมของข้อมูลของบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน รวมถึงความน่าสนใจของบริษัท ส่วนประการที่สองได้แก่ภาวะตลาดหุ้นจะเอื้ออำนวยหรือไม่ ซึ่งถ้าภาวะตลาดหุ้นยังซบเซาต่อเนื่อง ก็อาจจะทำให้หลายบริษัทชะลอแผนการเข้ามาจดทะเบียน
อย่างไรก็ตามจำนวนเป้าหมายที่กำหนดไว้ 40 บริษัทก็ถือว่าใกล้เคียงกับจำนวนบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในปีก่อน ซึ่งถ้าในช่วงที่ภาวะ ตลาดหุ้นปกติ เชื่อว่าไอพีโอก็จะมีจำนวนมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา โดยในเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงที่นักลงทุนต่างประเทศหยุดพักร้อน ดังนั้นการขายไอพีโออาจจะมีไม่มากนัก
สำหรับในครึ่งปีแรกที่มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนแล้วจำนวนไม่มาก ก็เพราะภาวะตลาดหุ้นซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เพราะได้รับปัจจัยลบจากปัญหาด้านการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง รวมถึงปัจจัยภายนอก เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ
นายแมนพงษ์กล่าวว่า ภายในครึ่งปีหลังบล.ภัทรจะนำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนอีกหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาในด้านต่างๆ รวมถึงภาวะตลาดหุ้นโดยรวม และบริษัทก็ไม่ได้มีการตั้งเป้าว่าในแต่ละปีจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนกี่บริษัท แต่จะตั้งเป้าในแง่ของรายได้ว่าจะอยู่ในระดับใด ซึ่งถ้าไอพีโอซบเซาก็จะหารายได้จากการเป็นที่ปรึกษาด้านอื่นเข้ามาเสริมแทน
นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)หรือ KESTเปิดเผยว่า ขณะนี้ประเมินได้ยากว่าจะมีจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียนได้ตามเป้าที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับสภาพตลาดหุ้นโดยรวมว่าเป็นอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าบริษัทหลายแห่งที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียน บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินก็ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ถ้าภาวะตลาดหุ้นกลับมาฟื้นตัวก็จะได้เสนอขายหุ้นได้ทันที
สำหรับในส่วนของลูกค้าของบล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ในปีนี้นั้นจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กี่บริษัทยังไม่สามารถตอบได้เช่นเดียวกัน เพราะจะต้องรอประเมินสถาการณ์ภาวะตลาดหุ้นว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
นายสรรเสริญ นิลรัตน์ รองการการผู้จัดการ บริษัท กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีการปรับเป้าบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เนื่องจาก ภาวะตลาดไม่ดีจึงทำให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนมีการชะลอแผนการออกไป เพราะ หากยังคงเข้าจดทะเบียนในช่วงภาวะตลาดไม่มี มีค่าP/E ต่ำ ก็จะทำให้เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนไม่ได้จำนวนที่ต้องการ จากการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น บริษัทจะต้องมีการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าค่าP/E ตลาด
ทั้งนี้ที่ผ่านมาหุ้นที่เข้าจดทะเบียนแล้ว มีไม่กี่บริษัทที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาจอง ทำให้นักลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น โดยหุ้นบริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)หรือ RRC ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้น แต่ราคาหุ้นขณะนี้ก็มีการปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาจองแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|