บริการสื่อสารโทรคมนาคมของไทย จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงคมนาคม
ซึ่งมีหน่วยงานรัฐภายใต้สังกัด 3 แห่ง คือ กรมไปรษณีย์โทรเลข องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ทำหน้าที่ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมประเภทต่างๆ
แก่ประชาชน รวมทั้งออกใบอนุญาตให้กับเอกชนเข้ามาลงทุนขยายบริการในลักษณะของสัมปทานในบางโครงการ
ด้วยความเชื่อว่าเรื่องของโทรคมนาคมเป็นเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ"
ทหารจึงเข้ามามีบทบาทในกระทรวงนี้เป็นอย่างมาก
ทศท.ซึ่งต้องรับผิดชอบโทรศัพท์พื้นฐานในประเทศ ประธานคณะกรรมการ ตลอดจนกรรมการ
ล้วนแต่เป็นนายทหารจากกองทัพบกทั้งสิ้น
ในปี 2529 มีพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นั่งเป็นประธานทศท. และมีคณะกรรมการเกือบครึ่งเป็นทหารจากกองทัพ
คือ พล.อ.ภักดิ์ มีนะกนิษฐ์ พล.ร.อ.ศิริ ศิริรังษี พล.อ.ท.วิชัย กาญนาภา
พลตรีประทีป ชัยปรานี
ปี 2530 พล.อ.ภักดิ์ มีนะกนิษฐ์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ดจนกระทั่งในปี 2532
ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยศรีภูมิ ศุขเนตร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้นั่งเป็นประธานบอร์ดทศท.
แต่คณะกรรมการยังคงเป็นทหารจากกองทัพเช่นเคย และเมื่อรสช.ยึดอำนาจ พล.อ.อิสรพงศ์
หนุนภักดี ได้นั่งเป็นประธานบอร์ดทศท.
แม้ว่าในยุคเริ่ม ประธานบอร์ดจะมาจากข้าราชการประจำคือ ศรีภูมิ ศุขเนตร
อดีตปลัดกระทรวงแต่กรรมการในบอร์ดยังคงต้องเป็นทหาร โดยเฉพาะในสมัยที่ รสช.ยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาลของพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ และได้แต่งตั้งให้พล.อ.อ.อนันต์ กลินทะ นั่งเป็นประธานบอร์ดและกรรมการ
2 ใน 7 คนก็เป็นทหาร คือ พล.อ.อ.ประชุม ฉายศิริ และพลโททศพร ทรงสุวรรณ กสท.จึงถูกปกคลุมไว้ด้วยทหารอย่างเต็มตัว
เช่นเดียวกับทศท. และมีบรรดาเหล่านายทหารนั่งเป็นกรรมการ
ด้วยกลไกกิจการโทรคมนาคมที่ถูกตรึงไว้ด้วยอำนาจทหารนี้เอง ทำให้ต้องผูกขาดโดยเอกชนเพียงไม่กี่กลุ่มเพราะหาก
"เข้าถึง" ขั้วอำนาจได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรักษาหรือขยายอาณาจักรเพิ่มขึ้นได้
ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน หรือ "อานันท์ 2" จะด้วยเจตนาใดก็ตามแต่
นายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยุคนั้นได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการในทศท.และกสท.ครั้งใหญ่
มีผลให้บรรดาบอร์ดที่มาจากกองทัพบกพ้นตำแหน่งเกือบหมด หลายคนเชื่อว่าต่อไปนี้จะเป็นยุคใหม่ของสองงานนี้ที่จะถึงยุคแห่งความโปร่งใสเสียที
นุกูลได้ดึงชวลิต ธนะชานันท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานบอร์ด
กสท. และตั้งให้รุ่งโรจน์ ศรีประเสริฐสุข อธิบดีกรมการบินพาณิชย์ รับตำแหน่งปรานบอร์ดทศท.
แต่แล้วบอร์ดกสท.ที่มีชวลิต ธนะชานันท์ เป็นประธานต้องถูกเด้งไป พร้อมๆ
กับการจากไปของรัฐบาลอานันท์ 2 อันเป็นผลพวงจากอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เข้ามาแทนที่
หลังจากหมดยุคอิทธิพลทางทหาร
กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นหน่วยงานเก่าแก่ทำหน้าที่ให้บริการด้านบริหารความถี่เป็นหลัก
ส่วนบริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมนั้นได้ถูกแบ่งแยกให้ทศท.และกสท.เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วกรมไปรษณีย์ได้ให้สัมปทานวีแซทซึ่งเป็นบริการสื่อสารข้อมูลผ่านสถานีดาวเทียมขนาดเล็ก
(วีแซท) แก่เอกชนไป 2 ราย คือ บริษัทสามารถเทลคอม และคอมพิวเน็ท ซึ่งหลังจากนั้นกรมไปรษณีย์ฯ
ไม่ได้ให้สัมปทานกับเอกชนรายใดอีก
จนกระทั่งมาในยุคของพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน
ได้เห็นชอบให้เปิดประมูลวิทยุติตดามตัว สำหรับกลุ่มลูกค้าราชการและรัฐวิสาหกิจขึ้น
ท่ามกลางกระแสการคัดค้านจากเอกชนบางรายที่ระบุว่ากรมไปรษณีย์ฯ เป็นเพียงผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่
ไม่มีอำนาจที่จะให้สัมปทานสื่อสาร แต่โครงการดังกล่าวยังคงเปิดประมูลต่อไป
และกลุ่มสามารถคว้าสัมปทานไปตามคาดหมาย
สำหรับองค์การโทรศัพท์ฯ ซึ่งแยกมาจากกรมไปรษณีย์ฯ เมื่อ 41 ปีที่แล้ว มีหน้าที่ให้บริการโทรศัพท์ภายในประเทศเป็นหลัก
เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น มีบริการโทรคมนาคมประเภทใหม่ๆ เผยโฉมออกมา
ทศท.จึงเปิดโอกาสให้สัมปทานแก่เอกชนมาลงทุนมากขึ้น
ทศท.ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนมีส่วนร่วมในการขยายเลขหมายจำนวน 3 ล้านเลขหมาย
และได้เปิดให้สัมปทานแก่เอกชนเข้ามาทำบริการเสริมประเภทต่างๆ อาทิ วิทยุติดตามตัว
โทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการสื่อสารข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ผ่านคู่สายโทรศัพท์
(ดาต้าเน็ท) บริการวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (ทรังค์โมบาย)
ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานนี้ เริ่มตั้งแต่โครงการโทรศัพท์
3 ล้านเลขหมาย ซึ่งเปิดประมูลขึ้นในสมัยรัฐบาลของชาติชาย ชุณหะวัณ และมีมนตรี
พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยกลุ่มซี.พี.เป็นผู้ชนะประมูลไป
และอยู่ระหว่างรอกรมอัยการตรวจร่างสัญญา
จนกระทั่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มรสช.ปฏิวัติยึดอำนาจ และฟอร์มรัฐบาลขึ้นใหม่
โดยมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี และนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
สั่งให้มีการทบทวนโครงการใหม่ และมีมติให้กลุ่มซี.พี. รับสัมปทานติดตั้งเฉพาะ
2 ล้านเลขหมายในกรุงเทพฯ พร้อมกับเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทน ส่วนอีก 1 ล้านเลขหมายในภูมิภาค
ให้เปิดประมูลใหม่ ซึ่งทีทีแอนด์ทีได้รับคัดเลือกไปในที่สุด
เมื่อมาถึงโครงการขยายเลขหมายเพิ่มขึ้นอีก 1.1 ล้านเลขหมาย ที่พันเอกวินัย
สมพงษ์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคมได้หยิบยกเรื่องขึ้นมาดำเนินการ โดยต้องการให้เอกชน
2 รายเดิมเป็นผู้ติดตั้งเองเพราะมีศักยภาพที่จะทำได้อยู่แล้ว พันเอกวินัยจึงเตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมครม.เพื่อชี้ขาด
แต่เมื่อมีการปรับครม.พันเอกวินัยต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งทำให้เรื่องดังกล่าวถูกจำลอง
ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ถอนเรื่องออกจากที่ประชุมครม. จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ
นี้เอง วิชิตได้นำเรื่องดังกล่าวดังกล่าวรวมอยู่ในแผนแม่บทโทรคมนาคมในส่วนของแผนระยะสั้น
ซึ่งได้เพิ่มเป็น 1.9 ล้านเลขหมาย แบ่งสรรกันระหว่างทีเอ ทีทีแอนด์ที และทศท.
เช่นเดียวกับโครงการประมูลคัดเลือกผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ (ไดเร็กทอรี่ส์)
ในคราวแรก เนื่องจากสัมปทานเดิมที่ทศท.ให้ไว้กับชินวัตรกำลังจะหมดอายุลงในปี
2538 ซึ่งกลุ่มทีพีพี ของชาติชาย เย็นบำรุง อดีตลูกน้องเก่าของดร.ทักษิณ
ร่วมมือกับกลุ่มนิวซีแลนด์เทเลคอม อาจหาญท้าชนกับกลุ่มชินวัตรด้วยการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด
มากกว่า 80% ชนะไปอย่างขาดลอย แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อพันเอกวินัย
สั่งล้มการประมูลโดยให้เหตุผลเพียงว่า ทศท.ไม่จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับเอกชน
เพราะเป็นโครงการที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และในวันนี้กลุ่มชินวัตรสามารถคว่าโครงการไปครองในการประมูลรอบที่สอง
ท่ามกลางกระแสข่าวการฮั้วประมูล
หากย้อนไปถึงการได้สัมปทานวิทยุติดตามตัว และโทรศัพท์มือถือระบบเซลลูลาร์
900 ที่ทำให้กลุ่มชินวัตรผงาดขึ้นมาได้ในทุกวันนี้นั้นเป็นที่รู้กันดีในวงการว่าล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากสายสัมพันธ์อันดีที่ดร.ทักษิณ
ชินวัตร มีต่ออดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ ท่านหนึ่งและทุกวันนี้นั่งเป็นใหญ่ในชินวัตร
ด้านการสื่อสารฯ จะรับผิดชอบบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศบริการไปรษณีย์
ตลอดจนบริการโทรคมนาคมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมากสท.ได้เปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานบริการเสริมประเภทต่างๆ
อาทิ วิทยุติดตามตัว โทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการสื่อสารข้อมูลภาพและเสียง
(วีแซท) บริการวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (ทรังค์โมบาย) จะเปิดให้เอกชนมารับสัมปทาน
แต่เป้าหมายของเอกชนต้องการกลับไปอยู่ที่บริการหลักหรือโทรศัพท์ต่างประเทศ
ซึ่งดร.ทักษิณได้เคยยื่นเสนอขอทำโครงการโทรศัพท์ทางไกล 10,000 วงจร ต่อสมัคร
สุนทรเวช ที่เข้ามารับตำแหน่งรมต.คมนาคมช่วงสั้นๆ แทนมนตรี พงษ์พานิช ในสมัยรัฐบาลของชาติชาย
ชุณหะวัณ แต่เรื่องก็เงียบไปพร้อมกับการยึดอำนาจของรสช.
จนกระทั่งสมศักดิ์ เทพสุทิน รมช.คมนาคม สังกัดกิจสังคม ในยุคที่พันเอกวินัย
สมพงษ์ เป็นรมต.คมนาคม ได้นำเรื่องดังกล่าวพิจารณาใหม่ และมีนโยบายจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
โดยได้รับการคัดค้านจากพนักงานกสท.อย่างหนัก แต่แล้วเมื่อมีการปรับครม. พินิจ
จารุสมบัติ ส.ส.จากพรรคเสรีธรรม มานั่งเก้าอี้รมช.แทนสมศักดิ์ และมีมติให้กสท.เป็นผู้ดำเนินการเองเช่นเดิม
เพื่อลดกระแสความขัดแย้ง
หากสมศักดิ์ไม่พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้ กสท.คงจะพลิกโฉมหน้าไปกว่านี้อย่างแน่นอน
และเขาคือรมช.ที่อนุมัติให้แทคต่อายุสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800
จาก 15 ปี เป็น 22 ปี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอร์ดกสท.ในสมัยของชวลิต ธนะชานันท์
เคยปฏิเสธมาแล้ว ซึ่งว่ากันว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ถูกปลดในที่สุด
การเข้ามาของพินิจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกสท.อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของรัฐในลักษณะของการร่วมลงทุน
ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากพันเอกวินัยเต็มที่
ผลงานของพินิจที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปิดเสรีบริการวีแซทแลกกับการต่ออายุสัมปทานให้กับไทยสกายคอม
เป็นผลให้เกิดมีเอกชนหน้าใหม่อย่างสหวิริยาในธุรกิจนี้
รวมทั้งการเปิดให้มีโทรศัพท์มือถือรายที่ 3 ตามที่รมช.พินิจเคยดำริไว้ในสมัยที่รับตำแหน่งใหม่ๆ
ตามนโยบายที่ต้องการเปิดโอกาสเสรีให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการของรัฐ
จนกระทั่งมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาแต่หลังจากนั้นรมช.พินิจกลับออกมากล่าวแย้งว่าไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้
พร้อมๆ กับเรื่องที่เงียบหายไป ท่ามกลางกระแสข่าวความสัมพันธ์อันดีระหว่างรมช.พินิจกับกลุ่มยูคอม
ตลอดปีที่ผ่านมา กสท.ได้ร่วมลงทุนให้บริการโทรคมนาคมเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่การอนุมัติให้กลุ่มชินวัตร
ร่วมลงทุนกับกสท.เพื่อให้บริการอัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์ ซึ่งเป็นบริการต่อเนื่องจากดาวเทียมไทยคม
และได้อนุมัติให้กสท.ร่วมลงทุนกับล็อกซเล่ย์ในบริการเดียวกัน พร้อมกับได้อนุมัติให้กสท.ร่วมลงทุนกับล็อกซเล่ย์ให้บริการจัดทำข้อมูลระหว่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต
ในเวลาเดียวกันได้อนุมัติให้กสท.ร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยเอแบคให้บริการอินเตอร์เน็ตเชิงพาณิชย์
และยังไปร่วมลงทุนกับทศท.และเนคเทคในบริการเดียวกัน
พร้อมกับอนุมัติสหวิริยาร่วมลงทุนกับกสท. ให้บริการวิทยุสื่อสารย่านความถี่ยูเอชเอฟ
และวีเอชเอฟ ซึ่งจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้
จากนโยบายของรมช.พินิจในครั้งนี้เอง ทำให้ตลาดโทรคมนาคมคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เพราะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กับเอกชนที่เคยจดจ้องกับตลาดนี้มานาน
โครงการทั้งหมดข้างต้น หากไม่ได้รับไฟเขียวจากรมต.ต้นสังกัดคงจะเกิดไม่ได้
ดังนั้นการพ้นจากตำแหน่งของพันเอกวินัยทำให้โครงการที่เอกชนยื่นเสนอมาต้องหยุดชะงักไป
พร้อมกับการออกมาโวยของรมช.พินิจว่าถูกวิชิต สุรพงษ์ชัย รมต.คมนาคมคนใหม่ดึงงานที่เคยรับผิดชอบไปทำเองทั้งหมด
ทำให้โครงการที่เอกชนเคยเสนอมาอย่างคึกคักในอดีตต้องเงียบเหงาไปเพราะมีการอนุมัติออกมาน้อยมาก
ผิดกับก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด
ด้านกระทรวงคมนาคมเองมีดาวเทียมไทยคม เป็นสัมปทานชิ้นโบแดงที่บริษัทชินวัตรคว้าไปครองในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ และมีมนตรี พงษ์พานิช เป็นรมต.คมนาคม ซึ่งได้เซ็นอนุมัติโครงการไปก่อนที่จะมีการปรับครม.เพียงวันเดียว
ต่อมาเมื่อรสช.ทำการปฏิบัติ รัฐบาลภายใต้การนำของอานันท์ได้นำเรื่องมาพิจารณาใหม่
โดยลดอายุการคุ้มครองจาก 30 ปี เหลือ 8 ปี พร้อมกับเพิ่มผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้น
การเติบโตของธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมที่ผ่านมา จึงถูกผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะมีนโยบายเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด
มีผลให้กลไกของธุรกิจประเภทนี้ต้องอิงอยู่กับการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง