ทุนสื่อสาร การเคลื่อนทัพของเงินและอำนาจ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ ทุนสื่อสารได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้ากิจการที่เคยทรงอิทธิพลในอดีตอย่างเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อย่างไม่ติดฝุ่น

ด้วยเหตุผลของกลไกในโลกธุรกิจทุกวันนี้กำลังผ่านพ้นจากคลื่นลูกที่หนึ่งคือ เกษตรกรรม คลื่นลูกที่สอง อุตสาหกรรม มาสู่คลื่นลูกที่สามอันเป็นยุคของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี ที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป

ดังจะเห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

ชินวัตร ภายใต้การนำของดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี จากบริษัทให้เช่าระบบคอมพิวเตอร์ เมนเฟรม และมินิ ให้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ มีพนักงานไม่ถึง 10 คน กลายมาเป็นบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของไทย มีสินทรัพย์นับแสนล้านบาท

ด้วยความสามารถของดร.ทักษิณในการครอบครองธุรกิจสัมปทานสื่อสารเป็นจำนวนมาก อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูล่าร์ 900 วิทยุติดตามตัวโฟฟนลิงค์ ไอบีซีเคเบิลทีวี ดาวเทียมไทยคม ดาต้าเน็ท คือเป็นกลไกสำคัญทำให้ชินวัตรเติบโตพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

แม้ว่ากิจการเหล่านี้ จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากกว่าจะได้รับผลตอบแทนคืนกลับมาต้องใช้เวลานาน และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นก็ตามแต่ในเวลาเดียวกันผูกขาดโดยเอกชนไม่กี่รายและชินวัตรคือหนึ่งในจำนวนเอกชนเหล่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกิจการเหล่านี้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้กลายเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีอัตราเติบโตสูงมาก จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดกลุ่มหนึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งสุงขึ้นตลอดเวลา

บริษัทชินวัตรจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นแห่งแรกในปี 2533 ด้วยทุนจดทะเบียน 210 ล้านบาท มีราคาพาร์ 10 บาท ราคาที่ซื้อกันในตลาดฯ เพิ่งสูงขึ้นไปในระดับ 300 บาท และเคยพุ่งสูงขึ้นถึง 1,000 บาท

ขณะเดียวกันเอไอเอสให้บริการโทรศัพท์มือถือ ไอบีซีเคเบิลทีวี และชินวัตรแซทเทิลไลท์ ยังได้ทยอยกันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอย่างหนึ่งให้กับกลุ่มชินวัตร

จะเห็นได้ว่ารายได้ ผลกำไรสุทธิ และสินทรัพย์ ของชินวัตรที่เพิ่งสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ 2535-2537 เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

โดยแหล่งที่มาของรายได้จะมาจากค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมให้กับหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจอันเป็นธุรกิจดั้งเดิม และการลงทุนในบริษัทในเครือในลักษณณะของโฮลดิ้งคอมปานีอันประกอบไปด้วย โทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียม ธุรกิจวิทยุติดตามตัว

สัดส่วนรายได้ของกลุ่มในปี 2537 จะมาจากธุรกิจบริการ : ธุรกิจขายสินค้า : รายได้อื่นๆ ในสัดส่วน 54 : 32 : 14 กลุ่มชินวัตรคาดหมายว่ารายได้จากธุรกิจบริการจะเพิ่มขึ้นเรื่อย และจะมีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศเป็นตัวเสริมในอนาคต

ยูคอม บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยอีกรายที่กำลังมีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชินวัตร

กลุ่มยูคอมเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมตั้งแต่ 30 กว่าปีมาแล้วในลักษณะของการค้าขายอุปกรณ์สื่อสารให้กับหน่วยงานราชการ และได้สร้างชื่อคู่กับสินค้าของโมโตโรล่าของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด

แต่จุดพลิกผันที่ทำให้ยูคอมเติบโตเช่นทุกวันนี้ คือ การคว้าสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800 และดิจิตอลพีซีเอ็นคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์จากการสื่อสารฯ มีอายุสัมปทาน 15 ปี ในปี 2533 ซึ่งต่อมาได้ขยายอายุสัมปทานเพิ่มเป็น 22 ปี

ต่อจากนั้นยูคอมได้รับสัมปทานหลายชิ้นมาอยู่ในมือ อาทิ สัมปทานวิทยุสื่อสารเฉพาะกลุ่ม (ทรังค์เรดิโอ) โทรศัพท์พกพา (โฟนพ้อยต์) บริการสื่อสารข้อมูลเคลื่อนที่ (โมบายดาต้า) วิทยุติดตามตัวเรื่อยมา แม้ว่ารายได้จากบริการเหล่านี้จะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็เป็นส่วนที่สร้างบทบาทให้กับกลุ่มยูคอมค่อนข้างมาก เพราะมีเอกชนไม่กี่รายที่สามารถครอบครองสัมปทานสื่อสารได้มากเช่นนี้

กลไกการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ มักจะมาในรูปแบบเดียวกัน คือการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

บริษัทยูคอมได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2537 ด้วยราคาพาร์ 10 บาท ราคาที่กระจายให้ประชาชน 230 บาท ด้วยเหตุที่หุ้นในหมวดสื่อสารได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่างชาติ หุ้นของยูคอมจึงอยู่ในระดับราคา 600 และเคยพุ่งขึ้นในระดับ 800 บาทมาแล้ว

รายได้จากการขายและบริการของยูคอมตั้งแต่ปี 2534-2537 คือ 2,763.63 ล้านบาท, 2,876.15 ล้านบาท, 4,519 ล้านบาท, 9,975.1 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิ 76.74 ล้านบาท, 224 ล้านบาท, 600 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าผลประกอบการของกลุ่มยูคอม ทั้งในแง่ของรายได้ ผลกำไรสุทธิ และทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา โดยแหล่งที่มาของรายได้ จะมาจากการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือโมโตโรล่า และการประมูลขายอุปกรณ์ และจากบริษัทย่อย คือบริษัทแทคที่รับสัมปทานบริการโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800 แบนด์ A ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ปรับจากเลขหมาย 7 ตัว เป็นระบบ 01 ทำให้ความเสียเปรียบเอไอเอสในเรื่องของค่าบริการ และข้อจำกัดเลขหมายหมดไป ประกอบกับราคาเครื่องลูกข่ายในระบบถูกกว่าระบบเซลลูลาร์ 900 เป็นส่วนผลักดันยอดขายในปี 2537 ค่อนข้างมาก

ในเวลาเดียวกันจากการที่มีสัมปทานอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสายสัมพันธ์กับโมโตโรล่า ทำให้กลุ่มยูคอมได้เข้าไปร่วมลงทุนในโครงการอีเรเดียม ซึ่งเป็นโครงการเซลลูลาร์ผ่านดาวเทียมของโมโตโรล่าอิงค์ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในราวปี 1997 รวมทั้งการขยายบทบาทการลงทุนในกิจการเคเบิลทีวี และพลังงาน ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต

ซี.พี.หรือเจริญโภคภัณฑ์ยักษ์ใหญ่เจ้าของกิจการค้าพืชผล และสัตว์รายใหญ่ของไทย เป็นอีกรายที่โลดแล่นเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคม เวลาไม่ถึง 5 ปี กลุ่มซี.พี.ถูกจัดเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของธุรกิจทางนี้ไปแล้ว

จุดกำเนิดของซี.พี.ในธุรกิจนี้คือการคว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในกรุงเทพฯ จำนวน 2 ล้านเลขหมายจากองค์การโทรศัพท์ฯ ได้เมื่อปี 2533 ซึ่งมีบริษัทเทเลคอมเอเซียคอร์ปอเรชั่น หรือ ทีเอ บริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ

เพราะการคว้าโครงการโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 2 ล้านเลขหมาย อันเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ ไม่เพียงแค่ทีเอจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่แน่นอนจากอัตราค่าใช้โทรศัพท์ ซึ่งมีความการที่แน่นอนอยู่แล้วเพราะโทรศัพท์ยังเป็นธุรกิจผูกขาดซึ่งมีไม่เพียงพอกับความต้องการเท่านั้น

รายได้จากธุรกิจบริการเสริม ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากยังจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ในอนาคตอีกด้วย เป็นผลให้ทีเอต้องแตกบริษัทลูกคือเทเลคอมโฮลดิ้ง หรือทีเอช ขึ้นมาเพื่อรองรับกับธุรกิจบริการเสริมนี้โดยเฉพาะ

ข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ออพติก) เป็นทางด่วนข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ที่ทีเอเลือกนำมาใช้ในการวางข่ายสายโทรศัพท์ และเป็นตัวแปรที่ให้กำเนิดบริการโทรคมนาคมรูปแบบต่างๆ ไม่รวมบริการเสริมที่เกิดจากการใช้คู่สายโดยตรง

เคเบิลทีวี ธุรกิจบริการยอดนิยมในยุคมัลติมีเดีย เป็นผลิตผลชิ้นแรกที่เกิดขึ้นจากโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ที่มีกำหนดให้บริการในปีนี้ ทำให้ตลาดเคเบิลทีวีมาถึงจุดเปลี่ยน ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและการแข่งขัน

ยังรวมไปถึงการร่วมทุนกับทศท.และเอกชนรายอื่นๆ ตั้งบริษัทวางข่ายเคเบิล จากชุมสายย่อยไปยังบ้านพักอาศัยเพื่อให้บริการเคเบิลทีวี ซึ่งหมายถึงการเป็นเจ้าของข่ายส่วนที่สอง

ในเวลาเดียวกันการมีเอี่ยวในบริการโทรศัพท์ ทีเอจึงเป็นพาร์ตเนอร์ ที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการโทรคมนาคมทั้งหลายอยากดึงมาเป็นพันธมิตรด้วย สังเกตได้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปี ทีเอได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่ง เช่น ถือหุ้นในแทค, คอมลิงค์ วางข่ายเคเบิลใยแก้วตามรางรถไฟเรดิโอโฟน ให้บริการวิทยุติดตามตัวของกลุ่มจัสมิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทีเอยังได้ขยายการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในต่างประเทศ เช่น โครงการดาวเทียมแอปสตาร์ ของจีน, โครงการวางเคเบิลใยแก้วใต้น้ำเชื่อมยังอังกฤษ-ญี่ปุ่น หรือ FLAG

ในปี 2537 ทีเอเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำเงินมาใช้ในการลงทุนในโครงการ ทำให้ทีเอจะได้รับรายได้จากผลต่างของราคาหุ้นนอกเหนือจากค่าบริการตามปกติ

ผลการดำเนินงานของทีเอ ในระหว่างปี 2533 จนถึง 2535 มีประมาณ 31.70 ล้านบาทเท่านั้น เพราะเป็นช่วงของการลงทุนติดตั้งยังไม่เปิดให้บริการ

แต่พอมาในปี 2536 เมื่อการติดตั้งเสร็จ เริ่มทยอยส่งมอบเลขหมายจำนวน 105,000 เลขหมายให้ทศท.นำไปติดตั้งให้กับประชาชน รายได้ของทีเอเริ่มเข้ามา ประกอบกับรายได้จากบริษัทที่ไปร่วมลงทุนเริ่มมีเข้ามา จึงเป็นปีที่ทีเอเริ่มมีรายได้ และเริ่มมีกำไร

โดยเฉพาะในปี 2537 เมื่อทีเอได้รับอนุญาตจากทศท.ให้เป็นผู้ติดตั้ง กำหนดเลขหมาย และรับชำระค่าใช้จ่ายโทรศัพท์จากผู้ใช้ได้เอง คาดกันว่าเมื่อสิ้นปี 2537 ทีเอมีตัวเลขการส่งมอบไม่ต่ำกว่า 8 แสนเลขหมายและมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,822 ล้านบาท

คาดกันว่าในช่วงปีหลังๆ การเติบโตของทีเอจะยิ่งสูงขึ้นเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องเก็บเกี่ยวผลในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนแม่บทระยะสั้น ที่กระทรวงทำออกมา จะทำให้ทีเอมีส่วนในการขยายอีก 600,000 เลขหมาย ตามจำนวนที่กำหนดไว้ 1.9 ล้านเลขหมาย ภายในปี 2539 ทำให้ทีเอมีศักยภาพสูงขึ้นไปอีก

จัสมิน เป็นทุนสื่อสารอีกแห่งที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในธุรกิจนี้ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ดร.อดิศัย โพธารามิก อดีตผู้บริหารขององค์การโทรศัพท์ฯ ได้ก่อตั้งบริษัทจัสมินขึ้นเมื่อ 13 ปีมาแล้ว ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านวิศวกรรมโทรคมนาคม มีพนักงานไม่กี่คน

ถัดจากนั้นมาในปี 2531 ได้ขยายกิจการทางด้านสัมปทานเป็นครั้งแรก ในการสร้างเครือข่ายส่งสัญญาณดิจิตอลผ่านดาวเทียม (ทีดีเอ็มเอ) และให้บริการสื่อสารเพื่อบริการธุรกิจผ่านดาวเทียม (ISBN) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการขยายธุรกิจทางด้านนี้

ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดสร้างโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ มีอายุสัมปทาน 20 ปีจากทศท. และได้รับส่วนแบ่งเป็นรายได้จากการเช่าใช้ข่ายสายและได้ร่วมทุนกับทีเอช ตั้งบริษัทเรดิโอโฟน รับสัมปทานวิทยุเฉพาะกลุ่มจากทศท.

จนกระทั่งในปี 2535 จัสมินได้ร่วมทุนกับกลุ่มล็อกซเล่ย์และกลุ่มทุนอีก 3 แห่ง ชิงรับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 1 ล้านเลขหมายในภูมิภาค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทที่แท้จริงของจัสมิน เพราะเท่ากับโอกาสในการขยายธุรกิจต่อเนื่องของจัสมินได้เปิดขึ้นแล้ว

ในปี 2537 หน้ากระดานหุ้นหมวดสื่อสารในตลาดหลักทรัพย์ มีหุ้นของบริษัทจัสมินให้นักลงทุนได้เลือกซื้ออีก 1 ตัว ซึ่งทำให้จัสมินเริ่มมีรายได้จากส่วนต่างของราคาหุ้นนำมาลงทุนในการขยายกิจการเพิ่มขึ้น

จะเห็นได้ว่ารายได้ของจัสมินตั้งแต่ปี 2535-2537 เพิ่มขึ้นตลอดเวลาจาก 1,324.2 ล้านบาท, 1,934.4 ล้านบาท, 2,841.9 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะการติดตั้งเครือข่ายเสร็จ และเริ่มทยอยส่งมอบให้กับทศท. จึงทำให้มีรายได้ขณะเดียวกันรายได้จากบริษัทลูก คืออคิวเมนท์ ในโครงการทีดีเอ็มเอทำรายได้ปีละ 1,756 ล้านบาทต่อปี และโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ ซึ่งเป็นตัวที่สร้างรายได้ให้กับจัสมินอีกส่วนหนึ่ง

คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2538 จัสมินจะมีรายได้จากการขายและบริการ 4,276.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 50.5% กำไรสุทธิ 1,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 76.7%

ไม่เพียงแค่การลงทุนในประเทศเท่านั้น จัสมินได้มุ่งเน้นการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะมีทั้งการออกแบบระบบแบบครบวงจร และการประมูลสัมปทานให้บริการโทรคมนาคมในประเทศต่างๆ อาทิ ในอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งการสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว จะเริ่มทยอยเข้ามา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.