|
กรุงไทยเล็งซื้อ TSEC อภิศักดิ์โต้ยังไม่ชัดเจน
ผู้จัดการรายวัน(21 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้มีกระแสข่าวลือว่าผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ทีเอสอีซีได้มีการหารือกับผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยหรือ KTB ซึ่งธนาคารนั้นต้องการที่จะถือหุ้นในบล.ทีเอสอีซีซึ่งในเบื้องต้นได้กำหนดว่าจะถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โดยทันที
ทั้งนี้การเจรจาถือว่ามีความคืบหน้าไปอย่างมากและมีแนวโน้มว่าจะสามารถสรุปได้ภายในไตรมาส 3 นี้ โดยบล.ทีเอสอีซีนั้นจะดำเนินการเพิ่มทุนในลักษณะขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจงหรือ PP เพื่อเสนอขายให้กับธนาคารกรุงไทย ซึ่งปัจจุบันนี้บล.ทีเอสอีซีมีทุนจดทะเบียน 432 ล้านบาท และเป็นทุนที่ชำระแล้ว 360 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มทุนอีกประมาณเท่าตัว ซึ่งจะทำให้บล.ทีเอสอีซีมีทุนจดทะเบียนอยู่ในระดับ 800 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า สาเหตุที่ธนาคารกรุงไทยสนใจเข้าถือหุ้นในบล.ทีเอสอีซี เนื่องจากมองว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีขนาดเล็กและสามารถบริหารต้นทุนในการดำเนินงานอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงใช้เงินในการลงทุนไม่มากนัก และสามารถถือหุ้นในสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับการที่ธนาคารกรุงไทยเข้าถือหุ้นในบริษัททรีนิตี้ วัฒนา ซึ่งมีบริษัทในเครือคือบล.ทรีนิตี้จะใช้เงินลงทุนที่มากกว่า รวมถึงสัดส่วนการถือหุ้นก็ไม่สูงมากนัก โดยถือหุ้นเพียง 19.44% เท่านั้น
สาเหตุธนาคารกรุงไทยต้องการเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์นั้น เนื่องจากต้องการที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ครบวงจรหรือยูนิเวอร์เซอร์แบงก์ ซึ่งจะให้บริการทางด้านการเงินครบวงจร ขณะเดียวกันในส่วนของบล.ทีเอสอีซีก็จะได้รับประโยชน์เพราะจะได้ฐานลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ที่เป็นผู้ฝากเงินที่อาจจะมีความต้องการเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์กับบล.ทีเอสอีซีในอนาคต ซึ่งจะช่วยทำให้มาร์เกตแชร์ในธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยถือได้ว่าเป็นธนาคารที่มีสาขาอยู่จำนวนมาก รวมถึงธุรกิจด้านวาณิชธนกิจที่ธนาคารอาจจะป้อนลูกค้า ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความสนใจจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจจะให้บล.ทีเอสอีซีเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้เช่นกัน รวมถึงจะทำให้ฐานะการเงินของบล.ทีเอสอีซีมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันนี้โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบล.ทีเอสอีซี 5 อันดับแรกจะเป็นรายบุคคลทั้งหมด ไม่มีนักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นเลยประกอบด้วยนายธวัช มีประเสริฐสกุล ถือหุ้น 11.46% รองลงมาได้แก่นายกรวุฒิ ลีนะบรรจง ถือหุ้น 8.02%, นางเบญจวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ถือหุ้น 7.99%, นายวิบูลย์ องค์วาสิฏฐ์ ถือหุ้น 7.64% และนางสาวอุษณีย์ สุขสันต์ ถือหุ้น 7.44%
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่ธนาคารกรุงไทยถือหุ้นในบริษัททรีนิตี้วัฒนาอยู่นั้น เป็นสิ่งที่จะต้องจับตาว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีกระแสข่าวลือว่าธนาคารกรุงไทยอาจจะตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัททรีนิตี้ วัฒนา ออกไปก็ได้ สาเหตุเนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยในทรีนิตี้ไม่มากนัก ไม่สามารถเข้าไปควบคุมดูแลงานได้มากนัก
นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ทรีนิตี้ จำกัดกล่าวว่า กรณีที่ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจะเข้าไปซื้อหุ้นบล.ทีเอสอีซีนั้น โดยส่วนตัวแล้วไม่ทราบเรื่องดังกล่าว จึงยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นในขณะนี้
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่จะขยายธุรกิจหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ภายในสิ้นไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะจบได้ภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ เนื่องจากภาวะจากปัจจัยต่างๆที่ยังไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ตลาดหุ้นที่มีความผันผวนในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารมีความจำเป็นต้องเลื่อนการตัดสินใจลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ออกไปก่อนและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงทุนในบริษัทใด โดยต้องขอรอดูที่ราคาหุ้นของบริษัทที่จะลงทุนด้วย
"ขณะนี้ยังไม่ลงตัวในเรื่องธุรกิจหลักทรัพย์ ยังไม่รู้ว่าจะเป็นหุ้นตัวใดและราคาหุ้นด้วย และที่ชะลอแผนออกไปว่าจะเอาที่ไหนดีประกอบกับเรื่องเศรษฐกิจและภาวะตลาดหุ้นด้วยทั้งสองด้าน ปีนี้เองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปหรือเปล่า" นายอภิศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมระหว่างการลงทุนเพิ่มในธุรกิจหลักทรัพย์ที่ธนาคารถืออยู่กับการซื้อใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ในส่วนของการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ก็คงจะพยายามถือให้มากกว่า 40% แต่คงไม่เกิน 50% เพราะหากถือเกิน 50 % จะทำให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งจะส่งผลให้การทำงานอาจมีความไม่คล่องตัวมากนัก
ทั้งนี้บริษัท ทรีนิตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ทรีนิตี้ เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ธนาคารมีนโยบายเข้าไปลงทุน แต่ปัจจุบันราคาหุ้น TNITY อยู่ระดับสูง จึงชะลอการลงทุนออกไป เพื่อรอจังหวะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง ปัจจุบันธนาคารถือหุ้นอยู่ในทรีนิตี้ วัฒนาในสัดส่วน 19.6% ขณะที่ทรินิตี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบล.ทรีนิตี้
“ทรีนีตี้ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ดูอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้หากใครได้เป็นพันธมิตรกับธนาคารจะได้ประโยชน์จากเครือข่ายของธนาคารที่มี เงินกองทุนจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์สามารถออกบอนด์ให้กับภาคเอกชนได้มากขึ้น แต่ราคาที่ธนาคารจะเข้าไปซื้อจะต้องไม่แพงเกินไป เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แผนการซื้อหุ้นบล.คงต้องเลื่อนออกไปก่อนเพื่อรอให้ราคาลง ซึ่งคาดว่าภาวะการเมืองจะส่งผลให้ตลาดซบเซา” นายอภิศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|