"โรงเรียน-โรงงาน" ของทีพีไอ เสริมทัพอุตสาหกรรมของประชัย เลี่ยวไพรัตน์


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เพราะการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมไทยด้านปิโตรเคมี, ปูนซีเมนต์, โรงกลั่นน้ำมัน ไปจนถึงโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้เราหนีไม่พ้นปัญหาขาดแคลนบุคลากรเหมือนดั่งได้เกิดกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคมมาแล้วอย่างวิกฤติ แม้ในระยะสั้นจะแก้ปัญหาได้บ้างโดยใช้แรงงานสาขาใกล้เคียง และแรงงานนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ระยะยาวยังถือว่าน่าเป็นห่วง

"TPI Institute of Technology = TPIT" หรือในชื่อภาษาไทยว่า โรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ (ทีพีไอเทค) สถาบันที่ทีพีไอกรุ๊ป รังสรรค์มาเป็นยาบรรเทาอาการด้านพลังงานในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า และเตรียมการวางรากฐานหลักสูตร เพื่อเสริมทัพสู้ศึกวิกฤติการณ์แรงงานด้านนี้อีกในอนาคต ซึ่งไม่เพียงจะป้อนให้เฉพาะค่ายตัวเองเท่านั้น ค่ายอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทีพีไอก็ยังวาดหวังไว้อย่างไม่ลำเอียง

พลเอกสืบ อักษรานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหารทีพีไอเทค ซึ่งเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่กับวงการการศึกษามานาน กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งโรงเรียนในเขตอุตสาหกรรมระยองนี้ว่า "ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยคนในท้องถิ่นให้ได้มาทำงานใกล้บ้านเป็นการลดการอพยพ ลดการย้ายถิ่นฐานด้วย โดยโรงเรียนมีโครงการที่จะสร้างหอพักให้เด็กนอกพื้นที่ด้วย และในโอกาสข้างหน้า เรามีแผนเปิดในระดับปริญญา แต่ทั้งนี้ต้องดูในชั้นต้นก่อนว่าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน"

ส่วนปัญหาที่ว่า ทำไมทีพีไอถึงไม่ร่วมทำโครงการโรงเรียน-โรงงานกับโรงเรียนช่างที่มีอยู่แล้วในจังหวัด กรรมการโรงเรียนท่านหนึ่งแจงว่านี่เป็นปัญหาในทางการจัดการที่ยุ่งยากลำบาก ควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถกำหนดนโยบายอะไรได้ อีกทั้งตัวบทกฎหมายก็ยังไม่มีรองรับ ที่สำคัญรัฐก็ไม่สามารถนำเงินมาลงทุนได้เพียงพอ เพราะขณะที่เงิน 100 บาทที่รัฐเก็บจากนักเรียนขณะนี้ คิดแล้วเป็นค่าเงินเดือนครูตั้ง 80 กว่าบาท ไม่สามารถทำโรงเรียนเช่นเราได้ได้แน่ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนได้ลงทุนจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (มหาชน) หรือทีพีไอ เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า "ทีพีไอเทคเกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ขณะนี้มีโรงงานถึง 8,000 กว่าแห่ง แรงงานกว่า 300,000 คน ทว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ต้องนำมาฝึกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีสถาบันใดผลิตแรงงานด้านพลังงานหรือปิโตรเคมีได้โดยตรง ทีพีไอเทคจึงถือเป็นการสนองความต้องการแรงงานเฉพาะด้านได้ตรงจุดที่สุด โดยเป็นไปในลักษณะการเรียนการสอนแบบโรงเรียน-โรงงาน"

ชั้นต้นกว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างทั้งหลักสูตร อาคารโรงเรียน ครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็เล่นเอาคณะกรรมการโรงเรียนหลายท่านต้องแก้เกมประชาสัมพันธ์กันมากกว่าปกติ เพราะผู้ปกครองหลายท่านยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การเรียนไปและฝึกงานปฏิบัติจริงในโรงงานของทีพีไอกรุ๊ปจะสอนสู้โรงเรียนในภาคปกติไม่ได้

"แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คนที่เรียนในภาคปกติ ผมว่าจะสู้คนที่เรียนในระบบโรงเรียน-โรงงานไม่ได้ เพราะการฝึกงานในสถานที่จริงกับการฝึกงานในห้องทดลองที่โรงเรียนทั่วไปปฏิบัติอยู่ย่อมแตกต่างกันมาก"

วรเทพ ติยะเจริญศรี ผู้จัดการโรงงานทีพีไอหนึ่งในคณะกรรมการโรงเรียนทีพีไอเทค บอกเล่ากับ "ผู้จัดการ" และพูดถึงหลักสูตรที่สอนว่า ในแต่ละห้องแต่ละชั้นยังจะแบ่งแยกย่อยเป็นสาขาแต่ละแขนงอีก การจะให้คนคนเดียวรู้ทั้งหมดทุกส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องทีพีไอคงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะหนักเกินไป เราจึงแบ่งกลุ่มศึกษาแต่ละแขนงไปอีกครั้งหรือพูดง่ายๆ คือ จะแบ่งเป็นรายวิชาอาชีพให้เด็กเลือกอีกทีนั่นเอง

ซึ่งหลักสูตรที่เปิดมี 2 ระดับคือ ปวช.และปวส. ในส่วนของปวช.เปิดสอน 4 สาขา คือช่างยนต์, ช่างกลโรงงาน, ช่างไฟฟ้า, ช่างอิเล็กทรนิกส์

ส่วนปวส.จะเปิดเช่นเดียวกับปวช.แต่จะเพิ่มช่างเทคนิคอุตสาหกรรมอีกสาขาหนึ่ง ซึ่งในทุกช่างยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะฝึกด้านปิโตรเคมี, ปูนซีเมนต์, โรงกลั่นน้ำมัน หรือโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า

โดยความแตกต่างกับโรงเรียนช่างทั่วไปนั้น พลเอกสืบสรุปว่า "ไม่แตกต่างกันนัก หลักสูตรก็ใช้ของสถาบันราชมงคลที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตแล้ว ทั้งนี้เพื่อที่ว่าเมื่อเด็กจบไปแล้ว รัฐจะได้รับรอง และสามารถเข้างานที่ไหนแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วไป มักจะต้องผ่านทฤษฎีประมาณ 4-5 เทอม ก่อนถึงจะได้ฝึกจริง ทำให้เด็กต่อภาพภาคทฤษฎี และปฏิบัติลำบาก จำไม่ค่อยได้แต่ทีพีไอเทค จะสอนทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริงในโรงงานเลย

เมื่อเรียนถึงเรื่อง หรือขั้นตอนไหนจะมีการจัดบุคลากรพิเศษ ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมาช่วยอธิบายหลังจากอาจารย์ประจำให้ความรู้ทางทฤษฎีเสร็จแล้ว ซึ่งก็คือทีมงานของทีพีไอกรุ๊ปตามสายงานการทำงานต่างๆ นั่นเอง

"เราจะไม่รอให้เด็กเรียนทฤษฎีจบไปนานแล้วค่อยมาฝึกจริง โรงเรียน-โรงงานของเราจะช่วยให้เด็กได้หลอมรวมระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างกลมกลืน" อาจารย์วิเชียร พันธ์เครือบุตร รองอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการกล่าว

ทั้งนี้ปีการศึกษาแรกที่จะเริ่มเดือนมิถุนายน 2538 เป็นการรับในระดับปวช.480 คนน และระดับปวส. 400 คน ซึ่งจำนวนนักเรียนทั้งหมดกับครูจะอยู่ในอัตราประมาณ 12 ต่อ 1 โดยหลักจากที่ผู้ปกครองและเด็กในจังหวัดเข้าใจนโยบายทีพีไอเทคแล้ว ปรากฏว่ายอดสมัครสอบคัดเลือกมีเขามามากถึง 3 เท่าของจำนวนรับทั้งสองระดับ

"ที่รับจำนวนจำกัด เพราะความสามารถเรามีเท่านี้ เรามิได้เปิดมาเพื่อหวังว่าจะค้ากำไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยประเทศชาติได้เท่านั้น โดยเฉพาะช่วยลดปัญหาบุคลากรด้านนี้มากกว่าที่จะเป็นผลกำไรตอบสนองกลับมาเป็นการตอบแทนให้แก่สังคม" พลเอกสืบกล่าว

ในระยะแรกเริ่ม แน่นอนน่าจะเป็นการป้อนให้แก่กลุ่มทีพีไอกรุ๊ปได้อย่างดีเพราะดูโครงการต่างๆ มีมากเหลือเกินตั้งแต่ โรงกลั่นระยองที่จะเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า มูลค่าประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ (37,500 ล้านบาท) โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีพ็อพพีลีน (พีพี) ในอินเดีย, โครงการในระหว่างการดำเนินการที่ประเทศฟิลิปปินส์คือโครงการผลิตเม็ดพลาสติกพีพี พีวีซี พีอี วีซีเอ็ม และก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์, โรงปูนซีเมนต์ในประเทศลาว

แต่ในอนาคตเป็นที่คาดว่าทีพีไอเทคนี้จะสามารถลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี, ปูนซีเมนต์, โรงกลั่นน้ำมันหรือโรงผลิตกระแสไฟฟ้า ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นได้แน่นอน แต่แม้จะมีทีพีไอเทคเกิดขึ้นอีกสัก 3 หรือ 4 แห่งก็คงไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานนี้ได้อย่างเพียงพอ ฉะนั้นทีพีไอเทคจึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.