สยามพาณิชย์ลิสซิ่ง บุกเบิกกู้ BIBF ภายใต้กฎหมายไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้วที่มีการเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งไทย และต่างประเทศ เปิดสำนักงานวิเทศธนกิจ หรือ BIBF ขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาค และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาได้เกิดธุรกรรมการกู้เงินตราต่างประเทศผ่านสำนักงานวิเทศธนกิจในประเทศเกือบ 100 สัญญา แต่ไม่แม้แต่สัญญาเดียวที่ลงบัญชีภายใต้กฎหมาย เงื่อนไขการโอนและชำระภาษีของไทย ทั้งนี้ส่วนธนาคารผู้จัดการเงินกู้จะอยู่ในประเทศก็จริง และสัญญาอยู่ภายใต้กฎหมายของสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเงื่อนไขภาษีที่ไทยเก็บในอัตราสุงกว่า ทำให้ต้นทุนการเงินสูงตามเมื่อเทียบกับการกู้ในฮ่องกงและสิงคโปร์

ดังนั้นการกู้เงินของบริษัทสยามพาณิชย์ลิสซิ่ง (SPL) ผ่านสัญญาเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) จาก 13 ธนาคารนำทีมโดย 4 สำนัก งานวิเทศธนกิจ ประกอบด้วย เดรสเนอร์แบงก์ ธนาคารไทยพาณิชย์ แบงก์ ออฟ โนวาสโกเทีย และ ลองเทอมเครดิตแบงก์ญี่ปุ่น ในวงเงิน32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจึงเสมือนหนึ่งการเริ่มต้นที่แท้จริงของไทยที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์การเงินแห่งใหม่ เนื่องจากเป็นการกู้ครั้งแรกที่เกิดภายใต้กฎหมายไทย ที่เสียภาษีและโอนเงินในประเทศไทย

"การทำ Syndicated Loan ของสยามพาณิชย์ลิสซิ่งในครั้งนี้เป็นกุญแจสำคัญของกิจการวิเทศธนกิจ หรือ BIBF ในการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการการเงินในอนาคต" ธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการเซ็นสัญญากู้ยืมระหว่างสยามพาณิชย์ลิสซิ่ง กับ 13 ธนาคารผู้ปล่อยกู้ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

แต่สำหรับบริษัทสยามพาณิชย์ลิสซิ่งเป็นการบุกเบิกที่พ่วงมาด้วยต้นทุนการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบชื่อเสียงและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้ว ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ และในฐานะประธานกรรมการบริษัทเชื่อมั่นว่างานนี้คุ้ม

"นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเงินไทย ที่สามารถนำธนาคารต่างประเทศเข้าปล่อยกู้ในไทยได้ภายใต้กฎหมายไทย แม้ว่าต้นทุนภาษีการลงบัญชีจะสูงกว่าแต่บริษัทสามารถที่จะรับได้ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล" ดร.โอฬารกล่าว

สำหรับรายละเอียดต้นทุนการเงินของสยามพาณิชย์ลิส ซิ่งถือว่าบริษัทได้รับเครดิตที่ดีมากบริษัทหนึ่งที่สามารถกู้ได้อัตราค่อนข้างต่ำคือ LIBOR บวก 0.90% สามารถลดต้นทุนได้ถึง 5% เมื่อเทียบกับการกู้ยืมในประเทศ แต่เนื่องจากเป็นการกู้ผ่าน BIBF ภายใต้กฎหมายในประเทศไทย บริษัทจึงมีภาระต้องจ่ายภาษีหั ณ ที่จ่าย สำหรับการกู้เงินตราต่างประเทศ (Outing) อีก 10% จากวงเงินกู้คิดเป็นยอดเงินทั้งสิ้น 3.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งหากเป็นการกู้และโอนเงินในสิงคโปร์หรือฮ่องกงบริษัทจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานวิเทศธนกิจแห่งหนึ่ง กล่าวว่าการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือ Witholding Tax สำหรับการกู้ out-in นั้นเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถแข่งกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นโดยเฉพาะที่สิงคโปร์ได้ ทั้งๆ ที่มีปัจจัยเอื้ออื่นๆ ดีกว่าทั้งในเรื่อง time zone และระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาระดับสูงรองรับอยู่ ซึ่งในเรื่องกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข

ในส่วนของกระทรวงและธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาลดเงื่อนไขภาษี ทั้งนี้แหล่งข่าวระดับสูงระบุว่าขณะนี้กำลังเตรียมการลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายการกู้ยืม และภาษีธุรกิจใน BIBF อื่นๆ ทั้งนี้จะดำเนินการพร้อมกันทั้งระบบ

ปัจจุบันการกู้ผ่าน BIBF แบบ out-in มีสัดส่วนสูงถึง 96% เมื่อเทียบกับการทำธุรกิจ BIBF แบบ out-out หรือการนำเงินสกุลอื่นจากประเทศอื่นมาปล่อยกู้ให้อีกประเทศหนึ่งซึ่งมีอยู่เพียง 4% อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม 2537 จนถึงมีนาคม 2538 การทำธุรกิจ BIBF แบบ out-out เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 20% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินซึ่งควรจะมีสัดส่วนการทำธุรกิจ BIBF แบบ out-in กับ out-out ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม การปรับเงื่อนไขภาษีใช่ว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นเป็นศูนย์กลางการเงินได้ หากสถาบันการเงินในประเทศไม่สามารถที่จะเพิ่มบทบาทการดำเนินงานได้มากกว่านี้ วิชัย พันธุ์โภคา ผู้จัดการทั่วไปสำนักงานเดรสเนอร์แบงก์วิเทศธนกิจกล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จะต้องเพิ่มบทบาทในการเข้ามาเป็นผู้จัดการในการจัดหาแหล่งเงินกู้ในลักษณะนี้มากขึ้นเพราะจริงๆ แล้วแบงก์ไทยมีโนว์ฮาวมากที่จะทำได้และนั่นจึงจะมีส่วนสำคัญให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินอย่างแท้จริง

"ในส่วนตัวผมจะช่วยดึงลูกค้าที่จะลงบัญชีที่สิงคโปร์กลับเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งผมเคยช่วยเดรสเนอร์แบงก์ดึงลูกค้าจากฮ่องกงมาสิงคโปร์ เมื่อตอนที่ผมทำงานที่แฟรงก์เฟิร์ต" วิชัยกล่าวในที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.