หนุ่มใหญ่ชาวไต้หวันวัยสี่สิบต้นๆ ริชาร์ด เค. ชาง ผู้สามารถพูดภาษาไทยคละเคล้าภาษาอังกฤษ
ผนวกกับสำเนียงชาวจีนแมนดาริน เพิ่งจะร่วมงานกับวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล
ได้เพียง 10 เดือน โดยประจำที่สิงคโปร์เป็นหลัก แต่มีภารกิจที่ต้องดูแลรับผิดชอบในฐานะผู้จัดการภูมิภาคในสิงคโปร์
สำนักงานในประเทศไทย และตลาดอินโดจีน
ใครจะเชื่อว่าวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ยักษ์ใหญ่ด้านระบบการชำระเงินเพื่อผู้บริโภคที่มีธนาคาร
22,000 แห่ง ใน 227 ประเทศเป็นเครือข่ายสมาชิกทั่วโลก มีร้านค้ารับบัตรวีซ่าถึง
12 ล้านแห่ง เพิ่งจะเปิดสำนักงานสาขาที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หลังจากทิ้งเวลาเนิ่นนานให้คู่แข่งอย่างอเมริกาเอ็กซ์เพรสหรือเอเม็กซ์ทำไปก่อน
ทั้งๆ ที่วีซ่าทำมาหากินร่วมกับแบงก์ไทยเทศ 14 แบงก์ เช่น กสิกรไทย มานานถึง
16 ปี นับตั้งแต่บัตรวีซ่าใบแรกเกิดขึ้นในปี 2522 และใช้กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และบริการรุกตลาดไทยสำเร็จ
จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิตระหว่างประเทศถึง 60%
"การจัดตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ นี้ถือเป็นพันธกรณีที่มุ่งสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดและธนาคารสมาชิกในไทย
พร้อมทั้งพัฒนาระบบการชำระเงินเพื่อผู้บริโภคไทยให้ดีขึ้น เพราะตลาดไทยโตเร็วมาก
กว่า 30% ในปี 2536 ที่ผ่านมา มียอดชำระเงินผ่านบัตรไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
(ประมาณ 36,000 ล้านบาท) จากจำนวนผู้ถือบัตรถึง 640,000 ราย ถือว่าเป็นตลาดใหญ่
และโตเร็วที่สุดในโลก" ลินด์เซย์ ซี.ไพน์ ประธานประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งมีฐานบัญชาการใหญ่ที่กรุงโตเกียว
ญี่ปุ่นเล่าให้ฟังถึงไทยที่ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นตลาดระดับพันล้านเหรียญสหรัฐอีกแห่งหนึ่ง
และไทยจะเป็นประตูสู่อินโดจีน โดยเฉพาะเวียดนามในอนาคตมีศักยภาพเติบโต
การแข่งขันเพื่อรักษาความเป็นผู้นำ ทำให้แบงก์กสิกรไทยซึ่งมีลูกค้ามากที่สุดกับแบงก์ทหารไทยจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
โดยอาศัยโนว์ฮาวและเทคโนโลยีของวีซ่าที่เรียกว่า 'ระบบอินเตอร์ลิงค์' ที่คุยว่าใช้รหัสลับ
(พินเบส) ที่ปลอดภัยสูงสุดในการทำธุรกรรมการเงินในยุคโลกาภิวัตน์มาออกผลิตภัณฑ์ใหม่
ภายใต้คอนเซ็ปต์รีเลชั่นการ์ดบัตรเดียวใช้คุ้ม เป็นทั้ง "บัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มที่สามารถหักบัญชี
ณ จุดขาย (พีโอเอส)" ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการซื้อ
ระบบอินเตอร์ลิงค์เป็นระบบของบัตรวีซ่าเดบิตระบบเดียวที่ออนไลน์เชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรฐานพีไอเอ็น
100% สามารถตรวจสอบรหัสลับก่อนทำรายการ ณ จุดขาย แต่แบงก์จะต้องลงทุนสูงมากที่จะติดตั้งเครื่องเทอร์มินอลเอง
เช่นเดียวกับสมัยก่อนที่แต่ละแบงก์ต้องลงทุนตู้เอทีเอ็ม แต่ภายหลังที่มีการทำเอทีเอ็มพูลก็สามารถลดค่าใช้จ่ายแต่เพิ่มจุดบริการได้
และเป็นที่คาดหวังว่าถ้าแบงก์กสิกรไทยทำตลาดสำเร็จ อาจจะมีแบงก์อื่นๆ ที่เหลือร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายด้วย
โดยวันแรกที่เปิดใช้กสิกรไทยตั้งเป้าว่าจะมีร้านค้าไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่งให้บริการ
จากจำนวนร้านค้าปัจจุบันที่รับบัตรวีซ่าในไทยรวม 65,000 แห่ง
"ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้ใช้ระบบอินเตอร์ลิงค์
เพราะมีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใหญ่มาก ผมเคยอยู่เมืองไทย รู้จักวัฒนธรรมไทย
คนไทยชอบเป็นที่หนึ่ง ในอีกหกเดือนข้างหน้าหรือเร็วกว่านั้นเราจะได้เห็น"
ชางเล่าให้ฟังหลังจากที่เพิ่งอยู่ไทยได้ 3 วันเพื่อแถลงข่าวและพิธีการเปิดสำนักงานวีซ่าในกรุงเทพฯ
โดยตลอดเวลาที่อยู่กรุงเทพฯ นาฬิกาเรือนงามบนข้อมือเขายังคงเป็นเวลาในประเทศสิงคโปร์
ความเหมาะสมที่วีซ่าเลือกริชาร์ด ชาง เข้ามาร่วมงานด้วย เพราะเมื่อครั้งวัยเยาว์
ตั้งแต่อายุ 13 ชางเคยอยู่เมืองไทยและเมื่อเรียนจบไฮสกูลจากโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพฯ
ก็บินไปต่อปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจด้านสถิติและวิจัย จากมหาวิทยาลัยเท็กศัสที่ออสติน
ชางทำงานกับบริษัทแทนเดม ยักษ์ใหญ่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ถึง 18 ปี มีประสบการณ์ช่ำชองในตลาดสหรัฐฯ
ตระเวนไปอยู่หลายเมือง เช่น เท็กซัส แมสซาชูเซตต์ โอกลาโฮมา จนกระทั่งปีที่แล้วชางจึงเปลี่ยนเส้นทางชีวิตมาทำงานกับวีซ่าและประจำอยู่สิงคโปร์
ในฐานะผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ริชาร์ด ชาง ตั้งเป้าหมายรุกให้ตลาดวีซ่าในไทยขยายส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ครองอยู่
60% โดยทีมงานคนไทยที่มาจากแบงก์กสิกรไทยและบริษัทฟิลิปส์ ดิจิตอล จะสามารถให้บริการความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกลูกค้าที่เป็นแบงก์
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้บัตรวีซ่ามากขึ้นเพราะยิ่งผู้ถือบัตรวีซ่ารุดไปซื้อสินค้าบริการมากเท่าใด
วีซ่าก็ยิ่งจะได้รับ
ค่าธรรมเนียมจากปริมาณทรานแซกชั่นมากขึ้นเท่านั้น
แต่ผู้ถือบัตวีซ่าทั่วไปอย่าเข้าใจผิด โทรไปถามปัญหาข้องใจส่วนตัวกับคนในสำนักงานวีซ่าที่อาคารสินธรเชียว
เพราะที่นี่เขาไม่รู้ มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของแต่ละแบงก์เอง ฉะนั้นวีซ่า
อินเตอร์เนชั่นแนลจึงทำหน้าที่เป็นองค์กรคล้ายๆ บริษัทเอทีเอ็มพูลบ้านเรา
ที่คอยลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและเก็บค่าต๋งจากสมาชิกที่เป็นแบงก์เท่านั้น
ที่สำคัญเวลาไปตกทุกข์ได้ยากเกี่ยวกับบัตรหายในต่างประเทศ อย่ามัวเสียเวลาค้นหาเบอร์โทรศัพท์วีซ่าอินเตอร์เนชั่นแนลในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองเด็ดขาด
เพราะมันไม่เคยมี นี่คือคำเตือนสุดท้ายกันหน้าแตกจากริชาร์ด ชาง...จะบอกให้