ความหมายยุคพันธมิตร


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงเดือนที่แล้ว บริษัทแกรมมี่ และกรุงเทพโทรทัศน์ (ช่อง 7 สี) ได้เข้าซื้อหุ้นไอบีซีจากชินวัตรประมาณ 18% และจากนอมินิของชินวัตรอีกประมาณ 15% หลังจากบริษัททั้งสองได้เสนอแผนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ต่อก.ล.ต.ในอีก 2 เดือนข้างหน้า

จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาชินวัตรระบุว่าการเสนอขายหุ้นไอบีซีจำนวนประมาณ 33% (จำนวนประมาณ 22 ล้านหุ้น) ครั้งนี้จะมีมูลค่าประมาณ 1,474 ล้านบาทหรือตกประมาณหุ้นละ 67 บาท

แกรมมี่ และช่อง 7 สีจะเข้าลงทุนซื้อหุ้นกันคนละส่วนในไอบีซี คือ ฝ่ายละกว่า 700 ล้านบาท เงินลงทุนที่สูงเช่นนี้ กล่าวสำหรับช่อง 7 สี ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทีวีมากว่า 25 ปี และเป็นบริษัท "ร่ำรวยเงินสด" คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับแกรมมี่ที่เพิ่งมีอายุเพียง 10 ปี ต้องถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดของบริษัท

ไอบีซีเป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจข่าวสารและบันเทิงโดยผ่านข่ายดาวเทียมไทยคม ดำเนินธุรกิจมากกว่า 5 ปีแล้ว ในทางเปิดเผยแม้ไอบีซีจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้แต่อนุมานคาดเดาเอาเองว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 150,000 รายและไม่น่าจะเกิน 200,000 ราย

การที่แกรมมี่ ช่อง 7ส ีและชินวัตรอยู่ร่วมกันในไอบีซีโดยผ่านการซื้อขายหุ้นถือว่าเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมทีวีของบ้านเรา ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรของทั้ง 3 ราย

ประเด็นที่น่าสนใจต่อปรากฏการณ์ข่าวนี้ก็คือ สิ่งนี้น่าจะเป็นสัญญาณที่กำลังบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายเพื่อยึดกุมจำนวนผู้ชมในตลาดเมืองไทยได้เกิดขึ้นแล้ว ขณะเดียวกันธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมทีวี ก็กำลังเผชิญหน้ากับตลาดแข่งขันที่เปิดกว้างขึ้นจากความก้าวหน้าเทคโนโลยีข่ายสื่อสาร และการล่มสลายของระบบผูกขาดในการเช่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายการทีวี

แล้วเช่นนี้ ความหมายของการสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมทีวีโดยผ่านข่ายดาวเทียมคืออะไร ?

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงของผม พบว่าพันธมิตรทั้ง 3 คือชินวัตร แกรมมี่ และช่อง 7 สี ต่างมีจุดอ่อนและจุดแข็งในการทำธุรกิจนี้ แหล่งข่าวของผมคนหนึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมหนักเคยเล่าให้ผมฟังว่า การแข่งขันอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องสามารถใช้ต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ยุทธศาสตร์การบรรลุถึงสิ่งนี้ มีได้หลายหนทาง แต่ที่ให้ผลที่คุ้มค่ารวดเร็ว และประหยัด มีหนทางเดียวคือ การสร้างพลังผนึกกับพันธมิตรที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ชินวัตรเป็นเจ้าของเน็ตเวิร์กดาวเทียมไทยคมในฐานะผู้ลงทุน แต่ชินวัตรไม่มีสินทรัพย์ ในฐานะเจ้าของรายการข่าว และบันเทิงใดๆ ต่างจากช่อง 7 สี ที่ 25 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนผลิตข่าวสาร ภาพยนตร์ สารคดี และรายการบันเทิงที่หลากหลายจนปัจจุบันถือว่าเป็นเจ้าของห้องสมุดรายการบันเทิงและสารคดีภาษาไทยที่ใหญ่ที่สุด ช่อง 7 สีกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในการดำเนินงานทีวีช่อง 7 ต้นปีหน้า การประมูลครั้งใหม่ช่อง 7 สีจะเข้ามาร่วมประมูลใหม่ และคงจะได้สัมปทานต่อ

ส่วนแกรมมี่เป็นเจ้าของห้องสมุดเพลงไทย และจำนวนนักร้อง ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จที่ใหญ๋ที่สุดของประเทศ

สินทรัพย์ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เมื่อนำมารวมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นพันธมิตร ทำให้ชินวัตร แกรมมี่ และช่อง 7 สี สามารถใช้เป็นจุดในการแข่งขันช่วงชิงคนดูด้วยรายการหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

ผมมองว่าความหมายของพันธมิตรที่เกิดขึ้นในไอบีซีไม่มีข้อสงสัยเลยว่า จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านรายการสำหรับภาคภาษาไทยให้ไอบีซี

และขณะเดียวกันมองในแง่ภาพรวมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในไอบีซี กำลังเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับการแสวงหาคำตอบเพื่อความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีในอนาคตอันใกล้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.