ตลาดก่อสร้างปี49เติบโตต่ำสุดรอบ6ปี ปัจจัยอสังหาฯชะลอตัวรุนแรงบวกรัฐบาลสภาพคล่องฝืด


ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

วิจัยกสิกรไทยฯ วิเคราะห์ภาพรวมตลาดการลงทุนก่อสร้าง คาดครึ่งหลังปี49 ตลาดขยายตัวในอัตราคงที่0.7% ถือเป็นอัตราเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

โดยงานก่อสร้างภาคเอกชนลดตามสภาพตลาดอสังหาฯ เผยไตรมาสแรกอัตราการขยายตัว4.1% โตจากปี48ไม่ถึง1% แจงการก่อสร้างภาครัฐฯยังขยายตัวสูงกว่าเอกชนขณะที่เอกชนอัตราการเติบโตส่วนทางปี48 ไตรมาสแรกขยายตัวเพียง2.8%ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงตลาดการลงทุนก่อสร้างครึ่งหลังปี 2549 ว่า จากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2549 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) พบว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมมีการขยายตัว 6.0% แต่การลงทุนด้านการก่อสร้างมีทิศทางชะลอตัวลง โดยมีอัตราการขยายตัว 4.1% ในไตรมาสแรก ลดลงต่อเนื่องจากปี48 ที่ขยายตัวเฉลี่ย 3.9% แต่การลดลงดังกล่าวในปีนี้ เกิดจากการชะลอตัวของภาคเอกชน ในขณะที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2548 การชะลอตัวเกิดจากของภาครัฐ

ทั้งนี้ คาดว่า การชะลอตัวในไตรมาสแรกปี49 เนื่องจากภาคเอกชนมีการลงทุนก่อสร้างขยายตัวเพียง 2.8% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี โดยเฉพาะในไตรมาส4 ปี48 โดยมีสาเหตุของการชะลอตัวจากการพัฒนาอสังหาฯประเภทที่อยู่อาศัยเติบโตช้าลง โดยขยายตัวเพียง3.1% ในไตรมาสแรกปี 2549 ชะลอลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของอัตราการเติบโตในไตรมาส4ปี48 ที่มีการขยายตัว 10.8% เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามกำลังซื้อ และเงินเฟ้อ

ส่วนการก่อสร้างประเภทอื่น แม้ว่าชะลอตัวลงแต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยการก่อสร้างอาคารพาณิชย์กรรมขยายตัว11.4% (จาก 21% ในไตรมาสสี่ปี 2548) ส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาห้างสรรพสินค้าและดิสเคานท์สโตร์ในต่างจังหวัด ขณะที่การก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรมขยายตัว 6.6% จาก10 %ในปี48 ส่วนการก่อสร้างอื่นๆ หดตัวลง 5.4% ขณะที่การก่อสร้างของภาครัฐมีการขยายตัว 5.6% โดยเป็นการก่อสร้างของหน่วยราชการส่วนกลาง และท้องถิ่น รวมทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจมีการก่อสร้างโครงบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ(กคช.) และการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

สำหรับแนวโน้มการลงทุนด้านการก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปี49 ธุรกิจการก่อสร้างอาจยังเผชิญกับภาวะซบเซา เนื่องจากทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยลบ น้ำมัน ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นขณะที่สถานการณ์การเมืองยังไม่คลี่คลาย ได้ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณลงทุนในโครงการก่อสร้างของรัฐบางส่วนล่าช้าออกไป โดยในส่วนภาคเอกชนคาดว่าระยะเวลาที่เหลือของปี 49 นี้ จะมีปัจจัยลบ จากการชะลอตัวของความต้องการที่อยู่อาศัย ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในช่วงไตรมาส 3 และอาจทรงตัวในระดับที่สูงไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อลดลงอีก

นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดภาวะสูญญากาศในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ก็เป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชนไทยและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อนับรวมผลกระทบราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ในตลาดที่อยู่อาศัย คาดว่าถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น 20% (ประมาณ 5 บาทต่อลิตร) จากปีก่อน อาจจะส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ยานพาหนะ ค่าโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยนับเป็นตลาดที่สำคัญอย่างยิ่งต่อปริมาณงานในธุรกิจก่อสร้าง เนื่องจากเป็นตลาดงานก่อสร้างที่มีขนาดตลาดใหญ่ถึง 30% ของกิจกรรมการก่อสร้าง การชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยจึงมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อแนวโน้มธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ดังจะเห็นได้ว่ายอดขายปูนซีเมนต์หดตัว 6.5% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี49 ตามการชะลอตัวอย่างฉับพลันของตลาดก่อสร้างภาคเอกชน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชน อาจจะขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี โดยอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 อาจอยู่ที่ประมาณ 3.4% และขยายตัว 4.6 % ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยการขยายตัวที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ที่ธุรกิจพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรผลิตที่อยู่อาศัยออกสู่ตลาดน้อยลง โดยภาพรวมของการลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนตลอดช่วงปี49 อาจมีอัตราการเติบโต 4 % (ปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าอาจขยายตัว 6-8% จากการที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 357,000 ล้านบาท เทียบกับที่มีมูลค่า 327,395 ล้านบาทในปี 48

ส่วนการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐ อาจจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงในระยะที่เหลือของปี โดยในไตรมาสแรกปี49 การลงทุนยังได้รับอานิสงส์จากการที่รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 12% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีการเบิกจ่ายในส่วนของงบประมาณ 90,000 ล้านบาท แต่ในไตรมาสสองรัฐบาลเผชิญภาวะสภาพคล่องที่ลดลง ขณะที่การจัดเก็บรายได้เริ่มต่ำกว่าเป้าหมายในเดือนพ.ค.49 โดยต่ำกว่าประมาณการ1.3% ซึ่งรายรับที่ต่ำกว่าเป้าอาจเป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมของประเทศอาจมีมูลค่าประมาณ 693,000 ล้านบาทในปี 2549 เทียบกับมูลค่า 657,484 ล้านบาทในปี48 คิดเป็นอัตราการขยายตัว 0.7% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี

สำหรับแนวโน้มในปี 2550 การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่อาจปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจัยบวกอาจมาจากการอ่อนตัวลงของภาวะเงินเฟ้อ ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ซึ่งก็อาจส่งผลดีต่อเนื่องไปสู่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ถ้าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง ก็น่าจะสนับสนุนให้ความมั่นใจของนักลงทุนกลับคืนมา ส่วนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นมาขยายตัว 6% ในปี 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.