|
ITVอ่วมต้องจ่ายค่าปรับ 7 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(20 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“ไอทีวี” ผวาเจ๊ง ดิ้นหนีค่าปรับ 75,000 ล้าน ดันสูตรเหมาจ่ายสู้ สปน.กรณีปรับผังรายการผิดสัญญา "นิวัฒน์ธำรง" ลั่นค่าปรับจริงไม่น่าเกินปีละ 100 ล้าน ดื้อขอรอฟังคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ล่าสุดกรณีการชำระค่าตอบแทน 230 ล้าน วันที่ 3 ก.ค. 49 ขึ้นอยู่กับผลการประชุมกับคณะกรรมการประสานงานเช้าวันนี้ ชี้ สปน.ต้องยื่นหนังสือให้บริษัทฯ ก่อน ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทฯ เผยการลงทุนเป็นไปตามเป้า ส่วนผังรายการยังไม่มีการปรับ ยกเว้นปรับเพื่อความเหมาะสม ย้ำไม่เคยคิดคืนสัมปทาน
วานนี้ (19 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายรองพล เจริญพันธ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดแถลงข่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ ถึงการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2547 ทั้งหมดในกรณีของบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน)
ภายหลังที่นายรองพล ได้ขอเลื่อนการแถลงมาจากวันที่ 9 มิ.ย. โดยอ้างว่า สำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ตอบคำถามมาชัดเจนโดยเฉพาะในมาตรา 70 (2) ของพ.ร.บ.การตั้งศาลปกครองกลาง ปี 2542 ที่ไอทีวี อ้างว่าคำบังคับของคำพิพากษาขอให้ชะลอไว้ก่อน จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
นายรองพลกล่าวว่า ในวันนี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้สรุปคำตอบชัดเจนแล้วว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2547 ทั้งหมดโดยทันที โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แม้บริษัทไอทีวี จะขออุทธรณ์ก็ตาม ซึ่ง สปน.จะต้องเรียกผลตอบแทนที่ไอทีวีค้างอยู่ทั้งหมด และข้อกฎหมายเหล่านี้จะส่งให้ ไอทีวีพิจารณาเพื่อตอบกลับมาอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยค่าตอบแทนนั้นไอทีวีจะต้องเริ่มชำระในวันที่ 3 ก.ค. 49
ฝ่ายเลขานุการของที่ประชุม ได้คำนวณค่าสัมปทานที่ไอทีวีจะต้องชำระให้รัฐ ตามสัญญาที่เขียนไว้ใน ปีที่ 11 ถึงปีที่ 30 รวม 20 ปี เป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไอทีวีค้างชำระ ซึ่งจำนวนค่าปรับ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ไอทีวีค้างชำระและดอกเบี้ย จะต้องชำระรวม 2,709,749,314 บาท
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างสัญญาต้องการให้ไอทีวีชำระเป็นรายปี คือจะต้องชำระรายปี ๆละ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากคิดรวม 20 ปีๆ ละ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น สปน. จะเริ่มเรียกเก็บค่าชำระจากไอทีวี ในวันที่ 3 ก.ค.49 ปีละๆ 1,000 ล้านบาท โดยจะจัดส่งหนังสือไปยังบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ให้รับรู้
นายรองพล กล่าวว่า ในส่วนของค่าปรับผังรายการ 10% ของรายได้หรือค่าตอบแทนที่คิดเป็นรายวัน จากการที่ไอทีวีไปปรับผังรายการผิดจากสัญญา ในสัญญาข้อ 11 ที่ระบุไว้ ซึ่ง สปน.คิดค่าปรับจนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2549 ได้ทั้งสิ้นจำนวน 75,960 ล้านบาท โดยเฉลี่ยในปีที่ 9 คิดค่าปรับได้ 8,460 ล้านบาท ปีที่ 10 คิดค่าปรับได้ 36,500 ล้านบาท ปีที่ 11 คิดค่าปรับได้ 31,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากขยายต่อไปก็จะยิ่งคิดค่าปรับเพิ่มขึ้นอีก
“การเริ่มจ่ายค่าปรับ ผมจะต้องยื่นฟ้องไอทีวีภายใน 1 ปี คือสำนักงานอัยการสูงสุดตอบมาเช่นนี้ โดยอายุความในการเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าปรับ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 49 เป็นต้นไป ผมก็ยังพอมีเวลาในการเจรจากับไอทีวีอยู่ มีเวลาที่เรียกเก็บจากไอทีวี ไม่ใช่เจรจา และผมก็จะมีหนังสือไปถึงไอทีวี และไอทีวีก็จะต้องมีหนังสือแจ้งกลับมาน่าจะไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้” นายรองพลกล่าว
**ไอทีวียังดื้องัดสูตรใหม่สู้
วานนี้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับฟังการแถลงข่าวด้วยได้กล่าวชี้แจงในห้องประชุมว่า มติดังกล่าวบริษัทฯ ได้ขอชี้แจงเป็น 3 ประเด็นจะเป็นแนวทางที่บริษัทฯได้เคยคิดไว้ คือ 1.คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ทางไอทีวีได้ยึดมาตรา 70 ของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง 2.ไอทีวีมีมุมมองในเรื่องของค่าปรับที่ต่างจาก สปน. คือถ้ามีค่าปรับก็จะปรับโดยยึดเอาสัญญาข้อ 11 (2) ที่ระบุว่า หากผู้เข้าร่วมงานมิได้ดำเนินการตามผังรายการ ตามที่ระบุไว้ในวรรคแรก ผู้เข้าร่วมงานยินยอมชำระค่าปรับในอัตรา 10% ของค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับในปีนั้น ๆโดยคิดเป็นรายวัน และ สปน.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งระบุอยู่ในวรรคท้ายของสัญญาในข้อ 11
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ไอทีวีเห็นต่างข้อที่ 3 คือ การที่บริษัทฯดำเนินเปลี่ยนผังรายการเป็น 50:50 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ไม่ได้ดำเนินการตามพลการ ไอทีวีดำเนินการตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นที่ตั้ง ดังนั้นจึงเป็นข้อสังเกตว่า หากมีการปรับหรือไม่อย่างไร เพราะในสัญญาระบุว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ถือเป็นที่สุด ซึ่งตนได้ชี้แจงกับที่ประชุมแล้ว
อย่างไรก็ตามในช่วงเย็น นายนิวัฒน์ธำรงได้เปิดแถลงข่าวอีก โดยกล่าวว่า ในวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีทางสปน.ได้แจ้งค่าปรับผิดสัญญาผังรายการกว่า 7 หมื่นล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางบริษัทฯได้ยื่นคำร้องโดยยึดตามมติของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งบริษัทฯจะจ่ายค่าปรับเพียงปีละ 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น ณ เวลานี้ บริษัทฯจึงยังจะไม่ทำอะไร จนกว่าคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดจะออกมา ซึ่งไม่ว่าผลคำตัดสินจะออกเป็นเช่นไร บริษัทฯก็เตรียมพร้อมไว้ทั้ง 2 กรณี โดยจะสรรหาเงินมาชดใช้ต่อไป และในส่วนของบริษัทฯเองก็จะต้องปรับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าปรับกว่า 7 หมื่นกว่าล้านบาทที่ทางฝ่ายเลขาฯ สปน.อ้างนั้นจะคิดจาก ค่าปรับ 10 % ของค่าสัมปทานทั้งหมด และคูณด้วย 365 วัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติค่าสัมปทาน 1,000 ล้านบาท ทางฝ่ายเลขาฯ สปน.จะคำนวณในลักษณะนี้คือ (1,000 ลบ.x ค่าปรับ10% )x 365 วัน = 36,500 ล้านบาท ในขณะที่ทางบริษัทฯจะคิดจากค่าสัมปทาน 1,000 ล้านบาท เฉลี่ยต่อวันโดยวิธี (1,000ลบ./ 365วัน)x ค่าปรับ10% = 0.273 ล้านบาท แล้วนำเอาผลลัพธ์นี้มาคูณกับผังรายการที่ไม่ตรงกับสัญญา เช่น ผลลัพธ์ที่ได้คือ 3 แสน x 365 วัน = 109.5 ล้านบาท เท่านั้น จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะต่างกันมาก จึงทำให้บริษัทฯได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้นเอง
ส่วนความคืบหน้า กรณีที่ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินงานตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินงาน สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยู เอช เอฟ เมื่อเช้าของวานนี้ (19 มิ.ย.) ประธานในที่ประชุมได้มีมติให้ทาง สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ส่งหนังสือมายังบริษัทฯก่อน แล้วทางบริษัทฯจะมีการตอบกลับไปว่ามีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยคาดว่าไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็น่าจะทราบผลได้ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าหนังสือจะถูกส่งมาถึงวันใด
ดังนั้นกรณีในวันที่ 3 ก.ค.ที่ทางบริษัทฯจะต้องมีการชำระค่าตอบแทนปีที่ 10 ซึ่งเป็นงวดที่ 8 นับจากเดือน ก.ค. 2548-ก.ค. 2549 ที่จะต้องชำระ 1,000 ล้านบาท แต่ทางไอทีวีขอจ่าย 230 ล้านบาทนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับหนังสือจากทาง สปน.ด้วยว่ามีใจความสำคัญเป็นเช่นไร
อย่างไรก็ตามทางสถานีโรทัศน์ช่องไอทีวีขณะนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด การลงโฆษณาก็ยังคงปกติ เนื่องจากรายการต่างๆยังคงดำเนินอยู่ และยังคงมีเรตติ้งที่ดี และสำหรับพนักงานแล้ว บริษัทฯได้มีการประชุมชี้แจงให้ทราบถึงปัญหากันไปบ้างแล้ว ส่วนมาตรการที่จะมีการลดพนักงานหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคิดดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ทราบผลออกมาว่าจะเป็นอย่างไร
“บริษัทฯจะต้องมีการเรียกความมั่นใจจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก จากกรณีดังกล่าว โดยอาจจะมาจาก เรื่องของ ผลประกอบการ รายการที่ยังดำเนินอยู่และ การที่มีเรตติ้งที่ดี ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีความมั่นใจต่อตัวบริษัทฯต่อไป”
ส่วนเรื่องของการลงทุนในครึ่งปีหลัง นอกจากการที่เปิดตัวบริษัท มีเดีย คอนเน็กซ์ ที่ดำเนินธุรกิจด้านโมบายแอดเวอร์ไทซิ่ง แล้ว การลงทุนใหม่ๆก็ยังคงจะมีอยู่เรื่อยๆ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และสถานการณ์ในขณะนั้นว่าสมควรลงทุนหรือไม่ เพราะการลงทุนทางธุรกิจนั้นไม่จำเป็นว่าจะทำให้บริษัทฯแย่ลง แต่อาจจะส่งผลต่อธุรกิจให้ดีขึ้นก็ได้
สำหรับเรื่องของการปรับผังรายการใหม่นั้น ล่าสุดที่ได้มีการปรับไปเมื่อเดือนก.พ. ที่ผ่านมา นับจากนี้ก็อาจจะมีการปรับอีกบ้างเล็กน้อย ตามความเหมาะสม มิได้จะปรับเพื่อเป็นไปตามที่สัญญาเดิมที่ต้องมีสารคดีและสาระประโยชน์ 70% และบังเทิง30% แต่อย่างใด อีกทั้งในขณะนี้ผังรายการของบริษัทฯจะเป็นสารคดีและสาระประโยชน์ 65% และบังเทิง35% มิใช่ 50% เท่าๆกันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามบริษัทฯไม่มีความคิดที่จะคืนสัมปทานนี้แต่อย่างใด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรบริษัทฯก็จะปฏิบัติตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|