บ้านไทยไฮเทค เป้าหมายสุดยอดไทยยิบซั่ม


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

จากวิกฤติการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ แม้ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับมนุษยชาติเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างความตื่นตัวในการพัฒนา "บ้านต้านแผ่นดินไหว" ขึ้นมาใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น อานิสงส์จากเรื่องนี้เองทำให้ไทยยิบซั่ม ผู้บุกเบิกการวิจัยด้านนี้ตลอดมา ได้โอกาสที่จะเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ซึ่งคิดค้นมาเป็นแรมปีของตนสู่ทั่วโลก รวมทั้งวางแนวทางให้กับเป้าหมายอันสูงสุดของค่ายไทยยิบซั่มที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นนั้นคือ "ทีจี โมดุลลาร์"

นวัตกรรมใหม่ที่ชื่อว่า ทีจี โมดุลลาร์ ซึ่งเกิดขึ้นพอเหมาะพอเจาะกับเวลาที่เกิดวิกฤติการณ์ที่ญี่ปุ่นนี้ ทางไทยยิบซั่มได้รับการติดต่อจากสมาคมรับเหมาก่อสร้างของญี่ปุ่นซึ่งมีสมาชิกถึง 50 บริษัทให้ผลิตบ้านสำเร็จรูปทีจี โมดุลลาร์นี้เพื่อสนองความต้องการในปี 2538 ด้วยจำนวนออร์เดอร์แรก 1,200 ยูนิต คิดเป็นเม็ดเงินมากถึง 400 ล้านบาท และได้มีการตั้งเป้าว่าภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีการขยายกำลังผลิตขึ้นไปเป็น 3,600 ยูนิต/ปี ซึ่งจะเป็นยอดขายถึง 1,200 ล้านบาท

เหตุที่ทีจี โมดุลลาร์ ของไทยยิบซั่มมีคุณค่ามากในสายตาของชาวญี่ปุ่นนั้น พิริยะเทพ กาญจนดุล ผู้จัดการส่วนการตลาดของไทยยิบซั่มพูดถึงคุณสมบัติอันสำคัญของบ้านสำเร็จรูปประเภทนี้ว่า ด้วยโครงสร้างที่ใช้เหล็ก I-Beam ชนิดพิเศษที่สามารถทนทานต่อการสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี ผนวกกับวัสดุสำเร็จรูปทุกชิ้นของไทยยิบซั่มที่ผลิตมาได้ก่อนหน้า หลังจากผ่านการทดลองด้านความสั่นสะเทือนซึ่งเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวจริงแล้ว ก็ค้นพบว่าบ้านแบบใหม่นี้สามารถทนต่อแรงแผ่นดินไหวได้มากถึงขนาด 7 ตามมาตราริกเตอร์ ซึ่งหากแรงสั่นสะเทือนไม่เกินไปกว่านี้แล้ว ตัวโครงสร้างบ้านสามารถทนทานได้นานเท่านาน

"แต่ของใช้และเครื่องตกแต่งในบ้านก็จะต้องเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บ้านแบบโมดุลลาร์นี้ก็มีข้อจำกัดอยู้บ้างที่ขนาดของแต่ละยูนิตจะถูกจำกัดไว้ไม่ให้เกิน 22.5 ตารางเมตร ทั้งนี้เป็นไปตามการออกแบบร่วมกันของสถาปนิกและวิศวกรของไทยยิบซั่มและญี่ปุ่น นอกจากนั้นยังต้องกำหนดการนำมาวางซ้อนกันของแต่ละยูนิตเป็นชั้นๆ นั้น จะต้องสูงไม่เกินกว่า 6 ชั้น เพื่อให้มีศักยภาพสูงสุดในการป้องกันแผ่นดินไหว

สิ่งที่สามารถบ่งบอกได้อย่างดีว่า ความต้องการในบ้านโมดุลลาร์นี้ยังมีอยู่อย่างมหาศาลนั้นคือ อัตราความต้องการบ้านประเภทนี้ซึ่งหลังจากการสำรวจแล้วพบว่า มีสูงถึงกว่าล้านยูนิตและมีแนวโน้มเพิ่มต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งนอกจากผู้ผลิตภายในประเทศโดยบรรดาสมาชิกของสมาคมก่อสร้างทั้งหลายที่จะผลิตบ้านโมดุลลาร์ป้อนตลาดแล้ว ทางไทยยิบซั่มถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตจากต่างชาติรายเดียวในขณะนี้ที่ญี่ปุ่นสั่งเข้าไปใช้

ความสำเร็จในการเข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่นของบ้านโมดุลลาร์นี้ ถือเป็นเพียงก้าวแรกในการเบิกทางไปสู่ตลาดต่างประเทศอื่น เช่น เกาหลี หรือไต้หวัน ซึ่งมีช่องทางที่จะนำบ้านโมดุลลาร์เข้าไปใช้อีกมากมาย และการนำไปใช้ประกอบกันเป็นบ้านก็ถือเป็นขั้นแรกของตลาดโครงการทั้งหมด เพราะในส่วนของโรงแรมหรืออพาร์ตเมนต์ก็ยังเป็นอีกตลาดใหญ่ที่ไทยยิบซั่มสามารถเจาะเข้าไปได้ในอนาคต

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากที่บ้านโมดุลลาร์ได้ประกาศตัวและเริ่มเดินหน้าโครงการนั้น ก็เป็นการจุดประกายตัวและเริ่มเดินหน้าโครงการนั้น ก็เป็นการจุดประกายให้เป้าหมายหลักของไทยยิบซั่มมีโอกาสเป็นรูปธรรมมากขึ้นนั่นคือ "บ้านไทยไฮเทค" ในความคิดฝันของไทยยิบซั่ม พิริยะเทพได้วาดความคิดความฝันซึ่งจะกลายเป็นจริงอย่างคร่าวๆ ให้ฟังว่า

บ้านไทยไฮเทคในอุดมคติของไทยยิบซั่มซึ่งได้ผ่านกาลเวลาเพื่อเจียระไนในโครงการให้แหลมคม ด้วยการพัฒนาแต่ละส่วนของตัวบ้านจนมาได้ความคิดรวบยอดในครั้งนี้มีแนวความคิดหลักอยู่ 4 ประการคือ ความเป็นสากลโลก (Global), พัฒนาการ (Intergration), สิ่งแวดล้อมอันเขียวขจี (Green), ความคิดแหวกแนว (Innovation)

โดยตัวบ้านนั้นจะต้องมีความเป็นไทยที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน โดยเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีอาณาบริเวณประมาณ 1 ไร่ โดยจะมีวัสดุสำเร็จรูปเป็นตัวหลักในการรังสรรค์บ้านขึ้นมา จะต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อสิ่งแวดล้อมของบ้านและสังคมแวดล้อม ข้อสำคัญก็คือ จะมีการบรรจุรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบอุตสาหกรรมเข้าไปในบ้านแต่ละหลังด้วย เพื่อให้แต่ละบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเอง ตามคอนเซ็ปต์ของบ้านในอนาคตที่ว่า หากแต่ละครอบครัวสามารถอยู่รอดปลอดภัยด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองแล้ว ก็เท่ากับว่าโลกนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นแล้ว

"สิ่งสำคัญที่เราจะบรรจุเข้าไปในบ้านไทยไฮเทคนี้คือ บริเวณที่กันไว้ให้เพื่อเกษตรกรรมทั้งการปลูกพืชสวน หรือพืชไร่ประเภทต่างๆ หรือเป็นบ่อประมงขนาดย่อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะรังสรรค์ขึ้นมาไม่ใช่เพียงเพื่อปากเพื่อท้องของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่จะต้องก้าวไปถึงผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศหรือส่งออกด้วย"

พิริยะเทพกล่าวว่าหากโครงการดังกล่าวนี้เป็นรูปเป็นร่างในเชิงพาณิชย์ขึ้นมาได้จริงแล้ว นั้นย่อมหมายถึงการปฏิบัติคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับบ้านให้เปลี่ยนไปสู่การอุตสาหกรรมมากขึ้น มากกว่าการเป็นเพียงบ้านเพื่อพักอาศัยดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งในระหว่างนี้ทางไทยยิบซั่มกำลังอยู่ในขั้นตอนรวมความคิดรวบยอดทั้งหมด เพื่อจัดสร้างบ้านไทยไฮเทคตัวอย่างขึ้น ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 4 ล้านบาทในขั้นต้นสำหรับบ้านตัวอย่างหลังนี้ ซึ่งบ้านหลังนี้จะนำไปโชว์เพื่อขอความคิดเห็นและแรงสนับสนุนในบูทของไทยยิบซั่มภายในงานเวิลด์เทค 95 หรืองานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลกซึ่งจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสุรนารี จ.นครราชสีมา ในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม พิริยะเทพก็ยอมรับว่าการผลักดันให้บ้านไทยไฮเทคนี้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ได้ จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเริ่มเห็นคุณค่าของบ้านแบบนี้ รวมถึงแหล่งเงินทุนเช่นธนาคารที่พร้อมจะให้เงินกู้สำหรับโครงการเช่นนี้

แต่มาถึงวันนี้ ไทยยิบซั่มก็คงพอใจแล้วว่า ได้ผลักดันเป้าหมายที่วางไว้แต่ต้นให้เป็นจริง ตอนนี้ก็คงต้องรอวันเท่านั้น ที่จะสานฝันให้บ้านไทยไฮเทคไม่เป็นเพียงโมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อดูเล่นเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.