วิสิฐ ตันติสุนทร แห่งเอไอเอดาวรุ่งบริหารพอร์ตหมื่นล้าน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ตำแหน่งรองประธานภูมิภาคฝ่ายการลงทุนของวิสิฐ ตันติสุนทร ที่นั่งอยู่บนชั้น 12 ของตึกเอไอเอในประเทศไทย มีภารกิจดูแลครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญๆ ที่บริษัทแม่ "เอไอจี" หว่านเม็ดเงินมหาศาลลงไปในธุรกิจดั้งเดิมด้านประกันชีวิตและประกันภัย รวมถึงธุรกิจใหม่ขณะนี้ที่กำลังเฟื่องฟู คือการบริหารกองทุนซึ่งเป็นธุรกิจการให้บริการทางการเงิน (Financial Services)

ปัจจุบันวิสิฐทำงานหนักให้กับเอไอจีที่มีสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเอเชียอยู่ที่ฮ่องกง ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นสำนักงานที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาก็ไต้หวัน อันดับสามคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่อนาคตรอใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐบาลเวียดนาม และวิสิฐเริ่มเข้าไปดูการทำธุรกิจจัดการกองทุนที่อินเดียอยู่

วิสิฐเป็นนักบริหารการเงินมืออาชีพหนุ่มที่เพิ่งเข้ามาร่วมทำงานให้เอไอเอได้เพียง 3 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาทมิฬในปี 2535 ก่อนหน้านี้วิสิฐทำงานกับทิสโก้มานานมากถึง 9 ปี ฝึกวิทยายุทธ์จนกลายเป็นมืออาชีพครองตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อก่อนลาออกมาทำกับเอไอเอ

นามสกุล "ตันติสุนทร" คุ้นหูเพราะอาของวิสิฐเป็นนักการเมือง แต่วิถีทางของวิสิฐไม่ต้องการเป็นผู้แทนราษฎร เขาเลือกที่จะบริหารเงินๆ ทองๆ มากกว่า โดยเรียนจบปริญญาตรีบัญชีและพาณิชยศาสตร์ สาขาสถิติจากจุฬาฯ และบินไปเรียนต่ออีกสองปีก็คืนรังด้วยดีกรีเอ็มบีเอ-ปริญญาโท สาขาการเงินจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

หนุ่มเอ็มบีเอจากวิสคอนซินคนนี้ได้สั่งสมประสบการณ์เพียง 12 ปีก็ก้าวขึ้นมาสู่ระดับรองประธานภูมิภาคของสถาบันยักษ์ใหญ่ประกันชีวิตอย่างเอไอเอได้ด้วยฝีมืออันโดดเด่น จากการบริหารพอร์ตลงทุนของเอไอเอประเทศไทยในปีที่แล้ว ที่สร้างตัวเลขผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่ตลาดการเงินผันผวน เป็นผลงานที่เปรียบเหมือนสปริงบอร์ดที่ส่งเสริมให้ฐานะตำแหน่งการงานของวิสิฐสูงขึ้นทันตา จากรองประธานฝ่ายการลงทุนของเอไอเอ ประเทศไทย พุ่งเป็นดาวรุ่งในฐานะรองประธานภูมิภาคฝ่ายการลงทุน

"นโยบายการลงทุนของเอไอเอ คือ หนึ่ง-ลงทุนในประเภทเสี่ยงน้อยที่สุด เช่น ฝากแบงก์ สอง-ลงทุนระยะยาวที่สุดเพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตถือเป็นภาระหนี้สินระยะยาวและคงที่ ทำให้เราต้องลงทุนในตราสารหรือเครื่องมือการเงินที่มีระยะยาว และสาม-ผลตอบแทนสูงที่สุด" นี่คือหลักการบริหารเม็ดเงินของเอไอเอที่วิสิฐเล่าให้ฟัง

ขณะนี้พอร์ตลงทุนของเอไอเอในประเทศไทย 80% ของสินทรัพย์รวม 45,000 ล้านบาท จะถูกนำไปลงทุนในส่วนที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (Fix Income Securities) แยกเป็นฝากธนาคาร 45% พันธบัตรรัฐบาลอีก 13% และลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเอไอเอแค่หลักร้อยล้านเท่านั้นเอง

ส่วนอีก 21% ของสินทรัพย์รวมได้นำไปลงทุนในตลาดทุน (Equity Market) เป็นการลงทุนโดยตรงด้วยการถือหุ้นในธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น ลงทุนนับ 500-600 ล้านในเทเลคอมเอเซีย ถือหุ้น 5% ในชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ถือ 8% ชินวัตรแซทเทลไลท์ 12% ของหุ้นควอลิตี้ เฮ้าส์ ถือหุ้นในบลจ.ไทยพาณิชย์ 20% ถือหุ้น 20% ของโรงแรมฮิลตัน ณ ปาร์คนายเลิศ ถือหุ้นในแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และถือหุ้น 13% ในบริษัทศรีอู่ทอง

"หลังจากผมร่วมงานกับเอไอเอเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมได้จัดพอร์ตโฟลิโอใหม่ โดยโยกเงินลงทุนระยะสั้นที่มีอยู่นับหนึ่งหมื่นล้านไปอยู่ในรูปการลงทุนระยะยาว เพื่อให้ภาระหนี้สินกับทรัพย์สินมีระยะเวลา ทำให้เราได้สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เช่น ฝากแบงก์ และสามารถขยายระยะเวลาสินทรัพย์ลงทุนมากขึ้นจาก 2-3 ปีเป็น 6-7 ปีและเราพอใจในผลตอบแทนที่ดี" ในแต่ละปีเม็ดเงินใหม่ แคชโฟลที่นำมาลงทุนจำนวนไม่ต่กว่า 13,000 ล้านบาทที่วิสิฐบริหาร

การเลือกเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจ เช่น ชินวัตรกรุ๊ปและแกรมมี่ในมิติความคิดของนักลงทุนอย่างวิสิฐ ตันติสุนทร หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องมองให้ทะลุเห็นศักยภาพเติบโตและมูลค่าเพิ่มอันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"ทุกครั้งที่ผมตัดสินใจจะลงทุนเช่นในธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งผมเข้าไปลงทุนทุกตัว ผมมองลึกลงไปกว่านั้นว่า แค่รายได้จากการเก็บค่าใช้โทรศัพท์สามบาทต่อครั้งนั้นไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอันดับแรก แต่ "มูลค่าเพิ่ม" ที่เดินมาตามสายโทรศัพท์ใยแก้วมีมหาศาล เช่น เคเบิลทีวี ที่เชื่อมโยงธุรกิจโทรคมนาคมกับที่เราลงทุนในบริษัทแกรมมี่ เอนเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นธุรกิจบันเทิงที่ผมไม่ได้มองแค่แกรมมี่มีแต่เพลวเท่านั้น แต่ทำอย่างไรจึงจะผลิตซอฟต์แวร์โปรแกรมผ่านสื่อทีวีเข้าถึงบ้านโดยตรงหรือทำรีเทลเอาต์เล็ตซึ่งแกรมมี่ขยายตลาดไป" เบื้องหลังการลงทุนแต่ละกิจการที่วิสิฐมองเป็นทัศนะที่ต้องกว้างไกล

ความเป็นหนุ่มเนื้อหอมที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่น้อยต่างรุมจีบอย่างเอไอเอ เป็นเพราะแหล่งเงินทุนระยะยาวที่คิดดอกเบี้ยต่ำ ดังเช่น กรณีบริษัทการบินไทยที่กู้เอไอเอซื้อเครื่องบินแอร์บัส หรือการปล่อยสินเชื่อเคหะให้แก่บริษัทพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

"ผมคิดว่าพอร์ตโฟลิโอของเราพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงในส่วนที่เสี่ยงน้อยที่สุด กรณีบริษัทการบินไทยก็มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เหมือนประเทศไทยค้ำประกันเงินกู้นี้ และมันเป็นการซินเนอยี่ระหว่างเอไอจีกรุ๊ปด้วยกัน คือการปล่อยเป็นเงินบาท แล้วบริษัทเอไอจี ไฟแนนเชียล โปรดักส์ ในเครือเอไอจีทำการสวอปเงินบาทเป็นดอลลาร์ให้กับการบินไทย โดยมี Arranger เป็นบริษัทเอไอเอแคปิตอล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของเอไอเอทำ" ธุรกิจบริการการเงินที่วิสิฐเล่าให้ฟังคือทิศทางใหม่ที่จะเพิ่มบทบาทเอไอเอในยุทธจักรนี้ นอกเหนือจากความเป็นยักษ์ใหญ่ด้านประกันชีวิต

นี่คือจุดสำคัญที่ทำให้เอไอเอประสบความสำเร็จคือ เป็นนักลงทุนระยะยาวซึ่งไม่เหมือนกองทุนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นส่วนทางการเงินระยะยาวที่มีเครดิตเรตติ้งระดับ AAA ที่สามารถเสริมบริษัทที่เอไอเอเข้าไปถือได้ รวมทั้งให้บริการด้านการเงินครบวงจรที่จุใจ ต้นทุนต่ำในขณะนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.