จักรทิพย์ นิติพน รบแบบกองโจร


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์อินโดสุเอซของฝรั่งเศสทำมาหากินเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ในบ้านเรานานมากๆ ถึง 98 ปี นับว่าเป็นกิจการธนาคารต่างประเทศที่เก่าแก่เป็นอันดับสาม รองจากแบงก์ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ และแบงก์สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แต่เพิ่งจะมี "จักรทิพย์ นิติพน" เป็นผู้จัดการใหญ่คนไทยคนแรกเมื่อปี 2532 นี้เอง

ด้วยอัธยาศัยคุยเก่ง บุคลิกคล่องฉับไว มีอารมณ์ขันแบบเสียดสี และที่สำคัญมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับคนแบงก์ชาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้จัดการใหญ่แบงก์อินโดสุเอซคนนี้ถูกหมายตาให้เป็นพีอาร์ประจำกลุ่ม

"หลายแบงก์มาติดต่อขอให้ผมเป็นผู้ประสานเรื่อง แต่ผมไม่สนใจ เพราะผมคิดว่าประธานสมาคมแบงก์ต่างประเทศควรเป็นหน้าตาฝรั่ง ไม่ใช่คนไทย และผมไม่ต้องการไปล็อบบี้ให้ซิตี้แบงก์หรือฮ่องกงแบงก์ที่สนใจเข้าไปเชื่อมกับเอทีเอ็มของไทย เพราะเราไม่สนใจรีเทลแบงก์ เราคิดว่าธุรกิจด้านคอร์ปอเรท และอินเวสเมนต์แบงกิ้ง แค่นี้ก็กำไรอื้อซ่าแล้ว กิเลสเราไม่หนา" จักรทิพย์เล่าให้ฟังพลางหัวเราะ

การเกาะกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่เห็นชัดเจนในกลุ่มนายแบงก์ต่างประเทศ ด้วยการพบปะสังสรรค์ร่วมกันทุกๆ สองเดือน ถูกบรรจุไว้ในตารางเวลาของจักรทิพย์ นิติพนด้วย นอกเหนือจากการประชุมพิเศษภายในแบงก์บ่อยๆ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วจากนโยบายของแบงก์ชาติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ทีมงานจะเช็กรายละเอียดและคิดว่ามีช่องทางโอกาสทำอะไรบ้าง

"สำหรับเรื่องตราสารหนี้ เราจะประชุมภายในทีมงานเราอาทิตย์ละครั้ง ไม่เช่นนั้นเราตามไม่ทัน บางทีผมต้องไปฟังเองในเรื่องสำคัญสองเรื่องที่เราสนใจคือกลุ่มไพรเวทแบงกิ้ง และกลุ่มแอสเซทแมเนจเมนท์ที่รับบริหารเงินคนอื่น (โอพีเอ็ม) ที่มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในฐานะที่ผมเป็นผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ผมต้องติดตามเป็นหูเป็นตาให้เขา" ใครว่าเป็นนายแบงก์สบาย ฟังจักรทิพย์เล่าแล้วก็เหนื่อยแบบคนใส่สูทเหมือนกัน

ในวันหยุด จักรทิพย์ก็ยังออกบริหารสายสัมพันธ์ด้วยการเล่นกอล์ฟกับก๊วนเพื่อนเก่าแบงก์ชาติที่ตีกันสิบกว่าคน แบ่งกันสองทีมระหว่าง "ทีมสิงห์" กับ "ทีมหมา" ถ้าเป็นมือเก่าตีกันมานานแล้วก็อยู่ทีมสิงห์ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ก็เป็นทีมหมา ซึ่งยังแบ่งซอยเป็น "ทีมหมาชั้นดี" (เพดดีกรี) กับ "หมาขี้เรื้อน"

"ผมคิดว่าแบงก์ชาติได้เปิดโอกาสให้ทุกคนติดต่อข้อมูลหรือเข้าไปให้ความเห็น ตราบใดที่เรายังมีผู้ว่าแบงก์ชาติอย่างคุณวิจิตร มีกลุ่มบริหารที่ดีที่แบงก์ชาติ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำผ่านกลุ่มแบงก์ต่างประเทศเลย แต่โดยมารยาทเราต้องเข้า" จักรทิพย์เล่าให้ฟัง

ความเป็นคนไทยที่หัวเดียวกระเทียมลีบท่ามกลางนายแบงก์ต่างประเทศ มิใช่เรื่องน่าวิตกกังวลของจักรทิพย์เลย เพราะเคยผ่านงานต่างประเทศมาหลังจากจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ล่าสุดเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป สายบริหารการเงินของบรรษัทเงินทุน (ไอเอฟซีที) ก็ฝากฝีไม้ลายมือด้วยการออกตราสารระยะสั้น "ไอเอฟซีทีโน้ต" ประเภท 2 เดือนออกมา ท่ามกลางคู่แข่งอย่างซิตี้โน้ตที่เป็นประเภทหนึ่งเดือนและเชสโน้ตที่เป็นสามเดือน ทำให้ตลาดตราสารระยะสั้นตอนนั้นมี benchmark เปรียบเทียบได้ตั้งแต่ประเภท 1-2-3 เดือน

"ปรากฏว่าไอเอฟซีทีโน้ตไม่เป็นที่นิยมเพราะคนเขาอยากผูกกับตราสารระยะสั้นหนึ่งเดือนมากกว่าหรือไม่เขาก็ทำเป็น 3 เดือนไปเลย ขณะที่ของไอเอฟซีทียุ่งยากเวลาจะคิดจ่ายดอกเบี้ย จึงทำให้คนนิยมซิตี้โน้ตมากกว่า แต่ก็มีแบงก์อื่นไม่นิยม เพราะถือว่าราคาซิตี้โน้ตไม่สะท้อนตลาดแท้จริง ลูกค้าที่ใช้ซิตี้โน้ตจึงเป็นลูกค้าซิตี้แบงก์เอง แบงก์ไทยไม่ค่อยใช้" แม้จะกลัวถูกซิตี้แบงก์เคือง แต่จักรทิพย์ก็อดจะเล่าให้ฟังมิได้เมื่อถูกถาม

สไตล์การทำงานของจักรทิพย์ถือว่าถ้าหาทนายความที่เก่งที่สุดและนักบัญชีที่เก่งที่สุดร่วมงานได้ แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับการดำรงอยู่ของสถานภาพนายแบงก์ใหญ่อินโดสุเอซ

"อินโดสุเอซไม่ต้องวิ่งเต้นเรื่องอะไรแม้แต่เรื่องเดียว อาจจะแตกต่างกว่าแบงก์อื่น เราเพียงเช็กข้อเท็จจริงและอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีธุรกิจอะไรบ้างที่เราจะทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด"

ปัจจุบันพอร์ตของแบงก์อินโดสุเอซถือตราสารหนี้ระยะสั้นสามพันกว่าล้าน มีสภาพคล่องที่จักรทิพย์บอกว่า หากเกิดวิกฤติการณ์แบบเม็กซิโกโฟเบียกลางเดือนมกราคม เท่ากับอินโดสุเอซมีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้แบงก์ชาติ และรอคอยโอกาสในอนาคตที่แบงก์ชาติจะเปลี่ยนแปลงให้แบงก์พาณิชย์ยอมรับ ระยะสั้นประเภทบี/อีที่ทำระบบขายช่วงซื้อลดได้แล้ว

"ตอนนี้ตราสารหนี้ระยะสั้นมีเยอะมากในตลาดอินโดสุเอซแบงก์เดียวปีหนึ่งเราซื้อขายกันปีละ 3 แสนกว่าล้านบาท และถ้าแบงกืชาติยอมให้ตราสารหนี้ประเภทบี/อี จะทำให้เรามีตราสารระยะสั้น 1-3 อาทิตย์เล่นได้ แทนที่จะจำกัดแค่โอเวอร์ไนท์และสามเดือน เช่น ขณะที่อินเตอร์แบงก์เรตขึ้น 14-15% ผมก็ให้ลูกค้าออกตั๋วบี/อี จากนั้นเอาไปขายไพรเวทแบงกิ้ง เพราะผู้ซื้อมีสองกลุ่มคือนักลงทุนประเภทสถาบันและบุคคลธรรมดา ที่มองตลาดไม่เหมือนกัน นักลงทุนสถาบันจะไวเรื่องดอกเบี้ยแทนที่จะกู้อินเตอร์แบงก์เรต 14.5% แล้วปล่อย 15% ผมถือว่าผมได้ 25 เบสิทพอยท์ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย เราเป็นแก๊งโจรสลัดที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง" จักรทิพย์หัวเราะชอบใจกับนิยามโจรสลัดที่เป็นกลยุทธ์ที่อินโดสุเอซใช้

อินโดสุเอซภายใต้การบริหารงานของจักรทิพย์ ภายใต้ภาวะผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนและคู่แข่งยักษ์ใหญ่ระดับโลก กลยุทธ์แบบกองโจรที่รุกเข้าไปแสวงหาขุมทรัพย์สุดขอบฟ้านั้นก็ยังคงบทบาทเข้มข้นน่าจับตา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.