กำลังเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมค้าปลีก

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้นเดือนเมษายน ธุรกิจค้าปลีกที่กรุงเทพฯ ตื่นขึ้นมารับข่าวการควบกิจการ cash-carry wholesale store ของสองยักษ์ใหญ่เซ็นทรัลกับโรบินสันด้วยเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท โดยผ่านการสวอปหุ้นบริษัทในเครือของทั้งสอง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมค้าปลีกของเมืองไทย ที่กำลังถูกดูดซับเข้าไปอยู่ในวงจรของข้อตกลงของแกตต์

เมื่อ "ไทยอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด" บริษัทลูกของกลุ่มเซ็นทรัลที่ลงทุนทำธุรกิจค้าส่งเครื่องหมาย "บิ๊กซี" มาเกือบ 2 ปี ประกาศขายหุ้นเกือบทั้งหมดให ้เอส.เค.การ์เม้นท์ของกลุ่มโรบินสันมูลค่าประมาณ 523 ล้านบาท (หุ้นละ 116 บาท) โดยผ่านธุรกรรมสวอป หุ้นส่วนที่เพิ่มทุนประมาณ 40% เอส.เค.การ์เม้นท์ เพื่อสอดรับกับจุดมุ่งหมายควบกิจการเข้าด้วยกันของห้าง "บิ๊กซี" กับห้าง "เซฟวัน" ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะใช้เครื่องหมายการค้าของ "บิ๊กซี"

ห้าง "เซฟวัน" เป็นเครื่องหมายการค้าของกลุ่มเอส.เค.การ์เม้นท์ โฮลดิ้งคอมปะนีของโรบินสัน ที่มีอนันต์ อัศวโภคิน แห่งบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และสหพัฒนฯ ซัปพลายเออร์สินค้าอุปโภค-บริโภค รายใหญ่ที่สุดของไทยเป็นพันธมิตรร่วมถือหุ้น

ส่วนห้าง "บิ๊กซี" เป็นเครื่องหมายการค้าของไทยอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด บริษัทลูกของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นเป็นครอบครัวของ "จิราธิวัฒน์" ล้วนๆ

ห้าง "บิ๊กซี" มีจุดขาย 3 แห่งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ คือ ที่ถนนแจ้งวัฒนะ วงศ์สว่าง และราษฎร์บูรณะ ขณะที่ห้าง "เซฟวัน" มีจุดขายเพียงแห่งเดียวที่รังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงเทพฯ

การควบกิจการของกลุ่มยักษ์ใหญ่ค้าปลีกทั้งสอง เป็นสัญญาณที่กำลังสะท้อนออกมาว่า แนวโน้มการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้กำลังรุนแรงขึ้น และกดดันความสามารถในการสร้างกำไรจากยอดขาย

ขณะเดียวกัน มันก็กำลังชี้แนวโน้มอีกด้านหนึ่งออกมาเช่นกันว่าการ pool resource เพื่อเร่งสร้างเครือข่ายจำหน่าย (distribution network) ให้กระจายไปทั่วประเทศเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในการเตรียมตัวรองรับการเปิดตลาดเสรีอุตสาหกรรมค้าปลีก 5 ปี ข้างหน้าตามข้อตกลงของแกตต์

ทำไมผมกล่าวเช่นนี้ ?

ข้อแรก-ผมอยากให้พิจารณาตัวเลขการเติบโตของอำนาจซื้อ 25 ปีข้างหน้าของคนไทยทั่วประเทศ จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า 25 ปีข้างหน้า คนไทยจะมีอำนาจซื้อสูง (purchasing power parity) เป็นอันดับ 8 ของโลกจากรองเกาหลีใต้ คือตกประมาณ 22% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในชาติ

อำนาจซื้อสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมฯ เป็นปฏิสัมพันธ์ที่บอกว่า เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยทั่วประเทศ ในอีก 25 ปีข้างหน้ากระจายอยู่เต็มไปหมด รอการไล่เก็บของพ่อค้านักธุรกิจ

ใครจะมีพลังเก็บเกี่ยวได้มากกว่า ขึ้นอยู่กับการจัดการทรัพยากรในเครือข่ายเป็นสำคัญ

ข้อสอง-การเติบโตในความนิยม Private Label ในสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้บริโภคทั่วโลกขณะนี้ เป็นสัญญาณที่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การจับจ่ายใช้สอย ไม่ติดยึดกับยี่ห้อดังๆ อีกต่อไป

ข้อเท็จจริงตรงนี้ เห็นได้ชัดเจนจากผลสำเร็จในการลงทุนสร้างเครื่องหมายการค้าสินค้าที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของตัวเองของกลุ่มเซ็นทรัลภายใต้ยี่ห้อ "เซ็นทรัล" ยี่ห้อ "เอสแฟร์" ในเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโรบินสัน และไส้กรอกยี่ห้อ "ซีพี" ของกลุ่มซีพี

ข้อสาม-การเติบโตในยอดขายและเครือข่ายการวางจำหน่ายสินค้าของกลุ่มซีพี เป็นตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาของอุตสาหกรรมค้าปลีกกล่าวคือ ภายในไม่ถึง 10 ปี อุตสาหกรรมค้าปลีกของซีพีที่ประกอบด้วยเครือข่ายสยามแม็คโคร 7 แห่งและร้าน 7-Eleven อีกประมาณเกือบ 600 แห่งทั่วประเทศ สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 30,000 ล้านบาท มากกว่ายอดขายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลซึ่งมีเครือข่ายจำหน่ายประมาณ 15 แห่งทั่วประเทศ ที่ทำได้ 25,000 ล้านบาทตลอด 47 ปีที่ผ่านมา

การเติบโตที่แตกต่างกันนี้ แสดงชัดเจนถึงกลยุทธ์การสร้างการเติบโตของกลุ่มซีพีที่ใช้วิธีผูกกับพันธมิตรคู่ค้า แล้ว pool resources ในการเร่งการขยายตัว ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลและโรบินสันเพิ่งจะเริ่มเดินไปบนยุทธศาสตร์นี้ได้ 2 ปีเท่านั้นเอง

ข้อสี่-จากนี้ไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมค้าปลีกของไทยกำลังอยู่ในช่วงการเตรียมตัวเพื่อรับการเปิดตลาดเสรีของอุตสาหกรรมนี้คู่แข่งขันที่สำคัญคือ บริษัทค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่จากสหรัฐฯ และอังกฤษ ที่มีความแข็งแกร่งด้านทรัพยกรเงินทุน เทคโนโลยีการจัดการด้านสินค้าคงคลัง และความได้เปรียบในเครือข่ายจัดหาสินค้าจากซัปพลายเออร์ทุกมุมโลก

ดังนั้น การแข่งขันค้าปลีกในตลาดเสรีที่กำลังเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงไม่ใช่การสร้างประสิทธิภาพในการทำกำไรจากยอดขายด้วยวิธีใช้อำนาจต่อรองบีบซัปพลายเออร์ท้องถิ่นเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หากอยู่ที่ความกว้างขวางของเครือข่ายจำหน่าย ที่สามารถตอบสนองเป้าหมายความสามารถในการเพิ่มยอดขาย และสภาพคล่องทางการเงิน

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซีพี เคยกล่าวว่าการมีเครือข่ายจำหน่ายที่กว้างขวาง หมายถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสำเร็จของอุตสาหกรรมการผลิตในเครือข่ายของซี.พี. "ไม่ใช่เทคโนโลยีการผลิต ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงหรือจัดหามาได้อย่างรวดเร็วเท่าเทียมกัน โดยวิธีการเช่า โดยวิธีการเช่าหรือซื้อมาจากเจ้าของสิทธิบัตรการผลิต" ซึ่งนั่นหมายถึง ไม่ใช่ทุกคน ที่จะเท่าเทียมกันได้ในการเข้าถึงหรือจัดหาให้ได้มาอย่างรวดเร็วซึ่งเครือข่ายจำหน่ายที่กว้างขวาง

เช่นนี้แล้ว โดยสรุปก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในการควบกิจการข่ายการจำหน่ายของเซ็นทรัลกับโรบินสันเมื่อต้นเดือนเมษายน เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งสัญญาณให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีกท้องถิ่นทุกระดับ ได้รับรู้ว่าจะอยู่รอดและโตต่อไปได้ในยุคแกตต์ ถึงเวลาต้องปรับตัวโดยการแสวงหาพันธมิตร เพื่อเร่งสร้างข่ายการจำหน่ายให้กว้างขวางได้แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.