ทศท.เร่งปรับยุทธศาสตร์ คิดนอกกรอบหาธุรกิจใหม่


ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"หมอเลี้ยบ" วางเป้าหมายทศท ต้องเป็น Knowledge Provider ไม่ใช่แค่ Telecom Provider ชี้ 3 ปัจจัยหลักยุทธศาสตร์ชัดเจน การจัดการที่ดีและเทคโนโลยีนำสมัยผลักดันทศท. เป็นผู้นำในภูมิภาค ย้ำโปร่งใสใครอ้างชื่อหาประโยชน์ให้ปฎิเสธทันที พร้อมหยั่งเชิงแก้บทเฉพาะกาลเพิ่มอำนาจออกใบอนุญาต เสริมแก้ปัญหาสุญญากาศโทรคมนาคม และถ่วงดุลอำนาจ กทช. หากเห็นด้วยเตรียมเดินหน้า ด้านประธานสหภาพฯชี้ 2 ประเด็นแปรสัญญาคาใจเรื่องเงินชดเชย ค่าเสียโอกาสกับการโอนทรัพย์สิน

เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น ได้จัดสมัมนาเรื่องยุทธศาสตร์โครงสร้างการบริหารสหภาพแรงงานฯ โดยเชิญน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานเปิดการสัมมนาและเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ หัวข้อกรอบและวิธีคิดของกระทรวงไอซีทีกับการแปรสัญญาและแนวทางการพัฒนาบมจ.ทศท

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาทศท ว่าหากต้องการให้บรรลุถึงเป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นำในภูมิภาคต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน 2.การจัดการที่ดีและ 3. เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า โดยในเรื่องยุทธศาสตร์ต้องกำหนดให้ชัดว่าไม่ได้เป็นบริษัทโทรศัพท์อีกต่อไปแล้ว เพราะการที่บอกว่าเป็นโทรศัพท์ เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงจะทำให้วิชั่นล้าหลัง

"ทศท ต้องเป็นบริษัทสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็ว ไม่ใช่ Telecom Provider แต่ต้องเป็น Knowledge Provider เราไม่ได้ทำแค่ขยายโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์มือถือแต่ต้องทำเรื่องอื่นด้วย"

ยุทธศาสตร์ของทศท ต้องคิดนอกกรอบ สร้างธุรกิจใหม่ๆ มาเสริมธุรกิจหลัก เพื่อให้เป็นแคชคาวในอนาคต อย่างเรื่องอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ทศท. สามารถสร้างอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ ที่เป็นต้น แบบที่ดีเพื่อให้ผู้ปกครองสบายใจที่ลูกหลานมาใช้ บริการ ไม่ใช่เป็นแหล่งมั่วสุม เพื่อใช้เป็นแหล่งหา ความรู้และเป็นที่เชื่อมต่อกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถ้าทำได้ดีก็สามารถขายแฟรนไชส์ได้ ผลที่จะสะท้อนกลับมาหาทศท. คือทำให้รายได้ต่อเลขหมายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาจใช้เป็นที่กระจายสินค้า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล ของบริษัทไปรษณีย์ ไทยต่อไปด้วย หรือการที่ทศท เข้าร่วมโครงการ ศูนย์ศึกษาอิเล็กทรอนิกส์หรืออี-เลิร์นนิ่งเซ็นเตอร์ ที่จะมีห้องสมุดแห่งชาติ องค์กรส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีบริการอินควิเบเตอร์เพื่อสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์รายย่อย มีคอนเวนชั่นฮอลล์

ในเรื่องการจัดการซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการ พัฒนาองค์กร ต้องมีความโปร่งใสเพื่อสร้างความ เชื่อมั่นให้นักลงทุน อย่างการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Procurement ถือเป็น จุดเริ่มต้นที่สำคัญในเรื่องการโปร่งใสและการประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะ1 บาทที่ประหยัดย่อมง่ายกว่า 1 บาทที่หามาใหม่ และดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้นโยบายมาว่าต้องบริหารงานทุกอย่างให้โปร่งใสมากที่สุด

"ผมมานั่งตรงนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ที่ผม คาดหวังเป็นส่วนตัวจากองค์กรนี้ ถ้ามีใครมาอ้าง ว่า ผมให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วต้องมาให้อย่าง โน้นอย่างนี้ ท่านปฏิเสธไปได้เลย ไม่มีคำขอใดๆ ทั้งสิ้นในแง่การเรียกร้องประโยชน์ส่วนตัวจากผม" รมว.ไอซีทีกล่าวย้ำ

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งใน ช่วงที่ผ่านมาทศท มีดร. 20 กว่าคน พนักงานจบ ปริญญาโทเป็นร้อยคน มี TOT Academy เป็น ที่ฝึกอบรม ทศท. ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีให้พาร์ตเนอร์กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ

"ผมเชื่อว่าสิงเทลไม่ได้เก่งกว่าทศท ชาวสิงคโปร์ไม่ได้เก่งกว่าคนไทย แต่สิ่งที่ต่างกันคือวัฒนธรรมองค์กรวัฒนาธรรมประเทศ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดความแตกต่างกัน หากทศท กำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน มีการจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีทันสมัยก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์แน่นอน"

ส่วนเรื่องกรอบการแปรสัญญาสัมปทานนั้นโดยเปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้เป็นภาษีสรรพสามิตนั้นยึดหลัก 1.ผลประโยชน์ที่รัฐได้รับต้องไม่ลดลง 2.ไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค โดยการคิดค่าบริการสูงขึ้นและถ้าลดลงด้วยจะยิ่งดี 3.ต้องทำให้ทศท. ทำสัญญาร่วมการงานกับเอกชนไม่เกิดความเสียหาย ต้องทำธุรกิจต่อไปได้และ 4.ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตคาดว่าจะได้ข้อสรุปภาย ในเดือนนี้ ส่วนสัปดาห์หน้าจะเรียกกรมไปรษณีย์ โทรเลขเข้าพบในเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายหรือ อินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ

น.พ.สุรพงษ์ยังมีแนวคิดที่จะแก้ไขบทเฉพาะกาลในพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ(กทช.) ยังไม่ได้มีการจัดตั้ง ในประเด็นการออกใบอนุญาตเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างกรณีทีโอทีออนไลน์ของทศท แต่หาก กทช.สามารถจัดตั้งได้เร็วภายใน 2-3 เดือนก็ไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขบทเฉพาะกาลดังกล่าว รวมทั้งยังแนวคิดแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ให้อำนาจกทช.ที่เป็นองค์กรอิสระชนิดที่เรียกว่ากทช.ไทยมีอำนาจมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมทั้งในการถอดถอน ก็ทำได้กรณีที่การทุจริตเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงหาก บริหารงานไม่ได้ตามนโยบายที่วางไว้ต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ

"หากสังคมเห็นด้วยต้องการให้ถ่วงดุลอำนาจกทช.ผมก็ยินดีที่จะเดินหน้าต่อ"

นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศท กล่าวว่ากรอบแปรสัญญาที่เปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ให้ส่วนหนึ่งเป็นภาษีสรรพสามิตและส่วหนึ่งเป็นรายได้ของทศท นั้นเป็นสิ่งที่เอกชนเรียกร้องมานาน เพราะกลัวความ เข้มแข็งด้านการเงินของทศท หากต้องมีการแข่งขันเสรี แต่การชดเชยให้ทศทต้องให้อยู่ในระดับที่ทศทอยู่และแข่งขันได้ ไม่ใช่แค่อยากให้ชดเชยแล้วอยู่ในฐานะที่แข่งขันไม่ได้ ทศทไม่ต้องการเป็นเหมือนขสมก.

"แปรหรือไม่ แต่การให้บริการที่ห่างไกลหรือ USO ต้องจ่ายเรามา อย่างโทรศัพท์สาธารณะทาง ไกลชนบท TDMA สคูลเน็ต หรือโทรศัพท์นอกข่ายสาย WLL อย่าง TDMA ต้นทุนเลขหมายละ 1,000 กว่าบาทรายได้เพียง 700 บาทต้องชดเชยให้เรา 300 บาท ซึ่งเป็นสิทธิตามกม.หรือ WLL ที่ค่าเช่า 600 กว่าบาทแต่รายได้แค่ 200-300 บาท ทศทอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขต้นทุนดังกล่าวให้ชัดเจน"

นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพฯ กล่าวว่าการจัดสัมมนาโดยการเชิญน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.ไอซีทีมานั้นเพื่อต้องการให้พนักงานกว่า 2 หมื่นคนเข้าใจแนวทางแปรสัญญา ซึ่ง สหภาพฯยังติดใจอยู่ 2 ประเด็นคือเรื่องเงินชดเชย กับค่าเสียโอกาส รวมทั้งเรื่องทรัพย์สินทั้งโครงข่าย อาคารสถานที่ต่างๆ และการที่เรียก เก็บเป็นภาษีสรรพสามิตที่เป็นภาษีของสินค้าฟุ่มเฟือยจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนไปยังอัตราค่าบริการของผู้บริโภค

ในประเด็นโครงข่ายต้องมีการศึกษาด้านกฎหมายให้ชัดเจนว่าการโอนไปให้หน่วยงานกลาง จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเลิกสัญญาหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจเกิดความเสียหาย

"ส่วนบอร์ดใหม่ทศท. เข้าใจว่าประธานบอร์ดคนใหม่คงนำพาทศท.เจริญรุ่งเรือง เพราะมีทั้งกรรมการบอร์ดที่มีความเชี่ยวชาญการตลาด ระดับโลก คงไม่ทำให้ทศท อ่อนแอลงจนขนาดโดยเอกชนมาฮุบ ซึ่งพนักงานกว่า 2 หมื่นคนของทศท จะคอยสนับสนุน"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.