มิติความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า

โดย สุทธิดา มะลิแก้ว นุศรา สวัสดิ์สว่าง
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ระหว่างการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ของนายหลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 26-28 ธันวาคม ที่ผ่านมา นายหลี่ เผิง ได้เน้นย้ำทั้งในแถลงการณ์ที่มีขึ้นที่นั่น และการพบปะสื่อ มวลชนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับพม่า นั้นเป็นมิตรภาพ แบบ "เปาโป" (phaukphaw) มาช้านาน ซึ่งคำว่า เปาโป ( BAO-BO) ในภาษาจีนมีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าคำว่า 'มิตรภาพ' แบบธรรมดาทั่วไปมากนัก

สำหรับชาวจีน ที่เขตการปกครองตนเองเต๋อหงและเมืองในบริวารซึ่งอยู่ติดชายแดนพม่า ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมก็ด้วยถนนสาย Burma Road ที่เชื่อมระหว่างเมืองหวั่นติง-เมืองชายแดนของจีน กับเมืองเกียวกก หรือจิวกู่ ในภาษาจีนของพม่า และทอดต่อมายังเมืองลาโช ออกสู่มัณฑะเลย์

ถนนสายนี้มีความสำคัญยิ่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากกองกำลังของรัฐบาลจีนคณะชาติซึ่งมีอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนในขณะนั้น ได้ใช้ถนนสายนี้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ในภูมิภาคนี้ จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อสงครามในที่สุด

ปี 2499 อูบาฉ่วย นายกรัฐมนตรีพม่าได้เดินทางมาเยือนจีน เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี กับโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับ ปัญหาพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ อันเกิดจากการที่กองทหารจีนคณะชาติไม่ยอมถอนตัวออกไปจากดินแดนพม่า หากแต่กลับอ้างเอาดินแดนส่วนนั้นเป็นของตน ก่อให้เกิดการปะทะทางการทหารอยู่เนือง ๆ และต่อเนื่องจนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจปกครองประเทศในเวลาต่อมา และปัญหาได้รับการแก้ไขในปี พ.ศ. 2505

ความสัมพันธฺ์ระหว่างรัฐบาลจีน ทั้ง 2 ประเทศ ตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง เมื่อนายพลเนวิน ทำการรัฐประหารในพม่าในปี เดียวกันนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เริ่มให้ความช่วยเหลือแก่พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ตั้งแต่การให้ที่พักพิงในจีนและการฝึกอบรมทางการเมืองที่มณฑลเสฉวน

ราวปี พ.ศ. 2506-2512 มีการสู้รบกันอย่างหนักหน่วง กองกำลังรัฐบาลกลางกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ตามรอยตะเข็บบริเวณชายแดนจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยจีนมีส่วนให้การสนับสนุนทั้งกำลังอาวุธ และความช่วยเหลืออื่น ๆ กล่าวกันว่าร้อยละ 25 ของงบประมาณ ประจำปีในราวปีละ ประมาณ 56 ล้านจั๊ต ของ CPB นั้นมาจากจีน

มิติความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่า ได้พลิกผันมาเป็นในทางบวกเมื่อนายพล เนวิน ได้เดินทางมาเยือนกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2520 แน่นอน ว่าผู้อยู่เบื้องหลังของการเยือนนี้ย่อมเป็นจีน ซึ่งให้การสนับสนุนเขมรแดงในขณะนั้นและหวังจะให้เขมรแดงเลิกถูกประชาคมโลกโดดเดี่ยวทางการเมือง ในทางกลับกันนายพลเนวิน ก็ปรากรถนาที่จะให้รัฐบาลกรุงปักกิ่ง ยุติการให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็นการตอบแทน

จีนไม่ได้ทำให้พม่าผิดหวังเท่าใด นักในปีถัดมาสำนักงานกลางในจีนของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ถูกผลักดันกลับประเทศและอาสาสมัครจีนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนถูกเรียกกลับฐานเช่นกัน

การสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลกลางพม่ามีขึ้นพร้อม ๆ กับการค่อย ๆ ตัดความช่วยเหลือแก่ CPB ลงเป็นอันดับ มาตราหนึ่งที่จีนนำมาใช้ได้แก่ การประกาศนโยบายเปิดทางการค้าและอนุมัติจัดตั้งเมืองเปิดทางการค้าตามแนวชายแดนจีนในราวปี 2526 ซึ่งนั้นหมายความว่านอกจากความช่วยเหลือที่ CPBเคยได้รับจากจีนจะหมดไป รายได้ที่มาจากการเก็บภาษีเถื่อนของสินค้าที่ผ่านเขตการควบคุมของตนเองโดยเฉพาะที่
เกียวกกซึ่งเป็นจุดผ่านของการค้าชายแดนที่สำคัญและทำรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของ CPB ก็ย่อมจะหดหายตามไปด้วย เนื่องจากชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน รวมทั้งรัฐบาลตามแนวชายแดน รวมทั้งรัฐบาลกลางย่อมจะสามารถทำการค้ากับจีนได้โดยตรงการดำรงอยู่ของ CPB จึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก

ปี 2532 รัฐบาลจีน ได้ลงนามในสัญญาการค้ากับรัฐบาล พม่าอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันจีนก็กดดันให้ CPB ทบทวนนโยบาย และเสนอที่ลี้ภัยแก่ผู้นำระดับสูง CPB จนนำไปสู่การล่มสลายขอวพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้แก่กลุ่ม ว้าแดง และโกแกง ก้ลงนามในสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลกลาง

จีนเป็นประเทศแรก ที่ให้การรับรองสภาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยและกฏหมายแห่งรัฐ หรือสลอร์ก อย่างเป็นทางการหลังจากทีสลอร์ก มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่ปี พศ.2531 เป็นต้นมา เฉียน ฉี เฉิน รัฐมนตรี
ต่างประเทศจีน นับเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสของทางการ จีนคนแรกที่เดินทางเยือนพม่า ในเดือนมกราคม 2536 ทางด้านพม่ามีพลโท ขิ่น ยุ้นต์ เลขาธิการ1 ของสลอร์ก ซึ่งได้เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนกันยายน 25387 ไม่นับการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีเป็นระยะๆ

ในห้วงเวลานี้ จีนได้ประกาศนโยบายลงใต้อย่างเด่นชัดเพื่อเป็นการหาทางออกสู่ทะเลให้กับมณฑลอูนนาน แน่นอนพม่าเป็นประเทศที่จะได้รับผลจากนโยบายดังกล่าว การพัฒนาปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทางบก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งงระบายสินค้า ปลายผี 2535 จีนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำรุ่ยลี ( sweli river) เชื่อมระหว่งเมืองลุ่ยลี่ ของจีน กับ มูเซ ของพม่า ขณะเดียวกัน ถนนสาย Burma Road ถูกนำกลับมมาให้ความสำคัญอีกครั้งเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยจีนได้ซ่อมแซม และปรับปรุงถนนสายดังกล่าวระยะทาง 22 กิโลเมตรในดินแดนพม่า

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในการพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางคมนาคม 2 สายเชื่อมระหว่างจีน และพม่า ได้แก่ เส้นทางต้าล่อ-เชียงตุง ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร กับเส้นทางมูเซ-ลาโซ ระยะทาง 165 กิโลเมตร ซึ่งการสำรวจเชิงวิศวกรรมได้เสร็จลงไปแล้ว และคาดว่าจะเริ่มสร้างภายในเดือนมีนาคม ของปี 2538 นี้

ความสัมพันธ์ในมิติของ 'เปาโป' ระหว่างจีนกับพม่านี้ นอกจากจะมี การแผ่ขยายแสนยานุภาพของจีน ในทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดแล้วยังมีข้อมูลบางอย่างที่เนื่องมาจากความสัมพันธฺ์นี้ และได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่ประเทศ ในภูมิภาคว่าจะเป็นการคุกคามความมั่นคงในภูมิภาคหรือไม่ ข้อมุลดังกล่าวนั้น มีว่า จีนได้เข้าไปตั้งฐานทัพเรือในดินแดนพม่าที่เกาะไฮจี ปากแม่น้ำพะสิม และตั้งสถานีเรดาร์ที่หมู่เกาะเกรท โคโคห่างออกไปประมาณ 100 กิโลเมตร

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ข้อกังขาก็มีตามมาว่า พม่ามีเหตุผลอะไรที่ยอมเป็นฝ่ายตั้งรับและปล่อยให้จีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนของตนขนดานั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศวิเคราะห์ว่า ' นั่นนอาจจะเป็นทางเลือกในความไม่มีทางเลือกสำหรับพม่า 'เพราะจีนเป็นฝ่ายพันธมิตรเพียงประเทศเดียวที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือพม่าอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็ยังมีความจำเป็นที่พม่าจะต้องให้อาวุธจากจีนเพื่อนำมาปราบปรามชนกลุ่มน้อย แม้บ่งทีสิ่งนั้นอาจจะทำให้พม่าได้ไม่เท่าเสียก็ตาม

หรือพม่าอาจจะยอมรับความสัมพันธ์แบบ "เปาโป. ในลักษณะพิเศษเช่นนี้ก็ว่าได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.