|
Customer Firstกลยุทธ์ซื้อใจผู้บริโภค "ฟูจิ ซีร็อกซ์"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ฟูจิ ซีร็อกซ์ เปิดกลยุทธ์ Xpect more & Customer First เน้นความพอใจลูกค้าเป้าหมาย เดินเครื่องสร้างแบรนด์ "ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์" เข้าหาผู้บริโภคทั่วภูมิภาค หวังปรับภาพเครื่องถ่ายเอกสารที่เน้นขายตรง โฟกัสช่องทางจัดจำหน่ายเป็นหลัก เดินโปรแกรมซีอาร์เอ็มมั่นใจต่อ คาดเลเซอร์พรินแตอร์ปีนี้ 1.8 หมื่นเครื่อง ขอมาร์เก็ตแชร์ 10% ก่อนก้าวขึ้นอันดับ 2 ตลาดพรินเตอร์ไทย
กว่า 3 ปีที่บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ จำกัดได้แตกแผนกธุรกิจพรินเตอร์ออกมาต่างหากจากธุรกิจหลัก "เครื่องถ่ายเอกสาร" จากข้อมูลยอดขายของกลุ่มธุรกิจพรินเตอร์ที่รายงานออกมาพบว่า ปีที่ผ่านมา ฟูจิ ซีร็อกซ์สามารถทำยอดขายเลเซอร์พรินเตอร์ในประเทศไทยได้ถึง 15,510 เครื่อง คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 59.4% เมื่อเทียบกับปี 2547 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดเลเซอร์ขาวดำอยู่ที่ 7% แต่ถ้าเป็นตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สีจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5.3%
"การที่ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์มีเทคโนโลยีการพิมพ์เป็นของตัวเองถึง 4 เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านเลเซอร์ที่เป็นแบบการพิมพ์ฟอร์พาส แบบวันพาส แอลอีดีและโซลิด อิงก์เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายพรินเตอร์ของฟูจิ ซีร็อกซืถึงมียอดขายเติบโต แม้ว่า สภาพตลาดจะมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีก็ตาม" วินเซนต์ ซิม ผู้จัดการฝ่ายการตลาดฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนเริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ฟูจิ ซีร็อกซืประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
สวนทางกับสภาพตลาดที่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่า ตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ขาวดำในประเทศไทยมีการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากตลาดเลเซอร์พรินเตอร์เริ่มอิ่มตัว มีการแข่งขันที่สูง แต่ขีดความสามารถในการทำงานกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการต่อเชื่อมในเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นฟังก์ชั่นที่เข้ามามีบทบาทมากๆ ไม่ใช่เป็นการใช้งานแบบสแตนอโลนเหมือนเช่นแต่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาที่มีการปรับตัวลดลงของเลเซอร์พรินเตอร์ขาวดำที่เมื่อหลายปีก่อนมีราคาอยู่ระดับ 2-3 หมื่นบาทเหลือ 3-4 พันบาท
"มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาด 3-4 รายที่โดดเข้ามาทำตลาดเพิ่ม เฉพาะตลาดเลเซอร์พรินเตอร์มีถึง 10 แบรนด์ในตลาด แต่เชื่อว่า ภายใน 2-3 ปีนี้จะลดเหลือไม่เกิน 5 แบรนด์ซึ่งเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการ หรือการซื้อกิจการระหว่างกัน"
วินเซนต์ ซิมได้อธิบายถึงตลาดที่มาแรงในเวลานี้ว่า ตลาดที่น่าจับตาก็คือตลาดเลเซอร์พรินเตอร์สีที่อัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้จากฟอร์พาสมาเป็นวันพาสมากขึ้น รวมถึงราคาที่ลดลงมามาก เมื่อเทียบต้นทุนต่อแผ่นสำหรับการพิมพ์งานขาว-ดำบนเลเซอร์พรินเตอร์สีแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็วในตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนตลาดพรินเตอร์มัลติฟังก์ชั่นเป็นอีกตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเป้าหมายในปีนี้ของฟูจิ ซีร็อกซ์ ทางวินเซนต์ ซิมบอกว่า คาดว่าจะมียอดขายเลเซอร์ พรินเตอร์ประมาณ 18,000 เครื่อง คิดเป็นการเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 15% ที่มียอดขาย 15,510 เครื่อง ซึ่งจะทำให้ฟูจิ ซีร็อกซ์ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ในตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ ขณะที่ตลาดโดยรวมของเลเซอร์พรินเตอร์จะมีจำนวนประมาณ 170,000-180,000 เครื่อง
"ปีที่แล้ว ฟูจิ ซีร็อกซ์มีส่วนแบ่งตลาดเลเซอร์พรินเตอร์ขาวดำในประเทศไทยอยู่ที่ 7% เป็นอันดับที่ 3 ขณะที่เลเซอร์พรินเตอร์สีมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5.3% เป็นอันดับที่ 4 หากรววมทั้ง 2 ตลาดแล้วมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 3 เมื่อมองถึงส่วนแบ่งตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกจะอยู่ในอันดับที่ 2 ปีนี้ หวังว่า จะสามารถเป็นอันดับ 2 ในเมืองไทยด้วยเช่นกัน แต่ในปีนี้ฟูจิ ซีร็อกซ์คาดว่า จะสามารถมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10%
กลยุทธ์ที่ฟูจิ ซีร็อกซ์จะใช้สร้างตลาดดังกล่าวขึ้นมาตามที่ตั้งไว้ วินเซนต์ ซิมบอกว่า ฟูจิ ซีร็อกซ์จะกลยุทธ์ "Xpect more & Customer First" เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายและตลาดให้มากขึ้นโดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายออกเป็น 5 กลุ่มหลักประกอบไปด้วยกลุ่มโซโหและธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนประมาณ 60-65% กลุ่มกราฟิกอาร์ตเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5% กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ที่รวมถึงบริษัทข้ามชาติ และกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจที่รวมกันประมาณ 30%
วินเซนต์ ซิมได้เล่าให้ฟังถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ฟูจิ ซีร็อกซ์ว่า จากผลสำรวจพบว่า ชื่อของฟูจิ ซีร็อกซ์ทางด้านพรินเตอร์นั้น ติดอยู่ในอันดับ 4 ของผู้จัดจำหน่ายพรินเตอร์ ทั้งๆ ที่บริษัทไม่มีอิงก์เจ็ตพรินเตอร์ โดย 3 แบรนด์แรกเป็นแบรด์ที่มีทั้งอิงก์เจ็ตพรินเตอร์และเลเซอร์พรินเตอร์
"แบรนด์ของเรายังมีภาพลักษณ์เก่าอยู่ ภาพของบริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร และเป็นบริษัทที่ขายตรงไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้ใช้ทั่วไปเท่าไรนัก แต่วันนี้ ธุรกิจพรินเตอร์ของฟูจิ ซีร็อกซ์ขายผ่านช่องทางรีเทลเป็นหลักถึง 60% จึงทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องการสื่อสารแมสเซสใหม่ไปยังผู้ใช้ เพื่อให้แบรนด์ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์มีความใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้น เพราะวันนี้การซื้อสินค้าของฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ของผู้บริโภคเกิดจาการเดินเข้ามาหาซื้อสินค้ามากกว่ารูปแบบการขายเดิมที่ซีร็อกซ์ทำมาที่เป็นการเดินไปหาผู้บริโภค
ฟูจิ ซีร็อกซ์เตรียมใช้งบทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ในประเทศไทยไว้ประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับแบรนด์ฟูจิ ซีร็อกซ์ พรินเตอร์ทั้ง Above และ Below the Line ทั่วภูมิภาคนี้
"เราจะมีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายขายปลีกให้ถึงลูกค้ามากขึ้น โดยเวลานี้เรามีตัวแทนจำหน่ายหลักอยู่ 3 ราย ประกอบไปด้วยบริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัท คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์ คอนเน็กชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด"
นอกจากนี้ ทางฟูจิ ซีร็อกซ์ยังมีแนวคิดที่จะเริ่มโปรแกรมลูกค้าสัมพันธ์หรือซีอาร์เอ็มที่อยู่ในรูปของการเปิดศูนย์บริการลูกค้า (Customer Care Center) และสายด่วนให้คำปรึกษาการใช้งานหรือ Help line สำหรับลูกค้าในกลุ่มโซโฮ เอสเอ็มอีที่ไม่มีบุคลากรด้านไอทีโดยเฉพาะ เพื่อคอยให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการและให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคมศกนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|