|
"เอเชีย" ตลาดทอง "โมโตโรล่า"พลิกสถานการณ์ผู้ตามเบอร์ 2
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*เอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์ ซีอีโอ โมโตโรล่า อิงก์ลงสำรวจตลาดเอเชียอย่างใกล้ชิด หลังวางกลยุทธ์ดันโมโตฯ คัมแบ็กตามหลังโนเกียชนิดลมหายใจรดต้นคอ
*เจาะจงเลือก "ประเทศไทย" เป็น 1 ใน 4 ประเทศหลักภูมิภาคเอเชียเยี่ยมชมสภาพตลาด
*มองตลาดเมืองไทย ศักยภาพสูง หลังผลประกอบการโตแบบดับเบิ้ล เชื่อ แบรนด์ ดีไซน์ ฟังก์ชั่นปัจจัยหนุน
*ยอมรัมตำแหน่งเบอร์ 2 ขณะที่มองเบอร์ 1 ตาเป็นมัน ไม่ระบุห้วงเวลา แต่เชื่อมีโอกาส
อดีตที่ผ่านมา "โมโตโรล่า" คือ เบอร์หนึ่งของโลกในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมี "เทคโนโลยี" ที่ล้ำหน้ากว่าผู้ผลิตรายอื่นเป็นจุดขายที่โมโตโรล่าเหนือกว่าใคร แต่เมื่อโลกโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าสู่มือถือยุคที่สอง หรือระบบดิจิตอล โมโตโรล่าต้องพบกับคู่แข่งตัวฉกาจ "โนเกีย" ที่มาทั้งเทคโนโลยีและการตลาด ส่งผลให้โมโตโรล่าต้องมีอันตกจากบัลลังก์ผู้นำลงจนถึงทุกวันนี้
สถานการณ์ของโมโตโรล่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของโมโตโรล่าเริ่มดีขึ้น มีความเข็มแข็งขึ้น ซึ่งสามารถดูได้จากผลประกอบการในปี 2548 ที่ผ่านมาของโมโตโรล่าที่ได้รายงานยอดขายโดยรวมว่า อยู่ที่ 36.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 18% มีรายได้ต่อหุ้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.82 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 102%
การกระเตื้องขึ้นของโมโตโรล่าในครั้งนี้ ต้องขอบอกว่า เป็นผลมาจากฝีมือของ "เอ็ดเวิร์ด เจ.. แซนเดอร์" ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร โมโตโรล่า อิงค์ ล้วนๆ โดยเข้ามาบริหารโมโตโรล่า อิงค์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา
เมื่อมองถึงปูมหลังการทำงานของซีอีโอผู้นี้ของโมโตโรล่า จึงไม่แปลกใจที่ทำไม่ถึงสร้างความสำเร็จให้กับโมโตโรล่าได้ถึงเพียงนี้ ก่อนหน้าทำงานกับโมโตโรล่า เอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซิลเวอร์ เลค พาร์ทเนอร์ส กองทุนหุ้นเอกชนที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งประธานและประธานฝ่ายปฏิบัติการ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ในช่วงที่อยู่ซัน ไมโครซิสเต็มส์สามารถทำให้ซันมีรายได้ถึง 1800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นบริษัทอันดับหนึ่งในตลาดเซิร์ฟเวอร์และกลายมาเป็นซัพพลายเยอร์ชั้นยอดด้านเครือข่ายพื้นฐาน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา "เอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์" ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นระยะเวลา 1 วัน เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นระยะเวลา 5 วัน ใน 4 ประเทศภูมิภาคเอเชีย ประกอบไปด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนามเป็นกลุ่มตลาดที่มองว่า มีการเติบโตเป็นรอย่างสูงสำหรับโมโตโรล่า
กำหนดการ 1 วันของเอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์ในประเทศไทยได้เดินทางเข้าพบนายแพทย์สุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ลูกค้าและพันธมิตรรายสำคัญของโมโตโรล่า รวมถึงพนักงานของบริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เข้าร่วมสนทนาด้วย
เอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์เริ่มต้นการสนทนาด้วยการบอกถึงโครงสร้างธุรกิจของโมโตโรล่าที่เพิ่งปรับโครงสร้างบริหารไปเมื่อปีที่แล้วว่า ปัจจุบันโมโตโรล่าได้แบ่งโครงสร้างธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก กลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่โมโตโรล่าเติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกอยู่ 21% กลุ่มที่สอง กลุ่มiระบบความปลอดภัยภาครัฐและเอกชน และกลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจเครือข่ายสื่อสารข้อมูลที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตสูงมาก เมื่อเทียบจำนวนคนใช้โทรศัพท์มือถือกับจำนวนประชากรในประเทศแล้วมีเพียง 50% เท่านั้น ถือว่ายังน้อยอยู่มาก จึงมีโอกาสเติบโตได้อีก ถึงแม้ว่าคู่แข่งขันในเมืองไทยจะมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง แต่ธุรกิจของโมโตโรล่าในประเทศไทยเองก็มีการเติบโตในอัตราที่สูงเช่นกัน เมื่อดูตัวเลขผลประกอบการของโมโตโรล่า ประเทศไทยในปีที่ผ่านมามียอดขายสูงขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 84% แต่เมื่อดูถึงจำนวนเครื่องโทรศัพท์มือถือที่จำหน่ายก็เพิ่มสูงขึ้น 74% นับเป็นแนวโน้มที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับโมโตโรล่า ปี 2548 นับว่า เป็นปีที่โมโตโรล่า ประเทศไทยมีการเติบโตสูงสุด
เมื่อถูกถามถึงเกมสงครามราคาที่ทางโทรศัพท์มือถือจากประเทศจีนมักจะนำมาใช้ในการบุกตลาด ซึ่งจะมีผลต่อโมโตโรล่ามากน้อยเพียงใด ซีอีโอของโมโตโรล่า อิงค์กล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา และเรื่องของราคาไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญเสมอไปสำหรับผู้บริโภค
เมื่อดูจากจำนวนผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในตลาด ปัจจุบัน จะพบว่า มีอยู่ 3 ราย เมื่อรวมส่วนแบ่งตลาดทั้ง 3 รายเข้าด้วยกันจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 75% พิสูจน์ได้กว่า ผู้บริโภคซื้อโทรศัพท์มือถือไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นหลัก ยังปัจจัยอื่นๆ สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจในเรื่องแบรนด์ บริการหลังการขาย คุณภาพของสินค้า
"เราไม่ได้โฟกัสที่มาร์เก็ตแชร์ เรามองแต่ว่า จะทำอย่างไรให้เป็นโปรดักส์ที่ดีทั้งในเรื่องของแบรนด์ ฟังก์ชั่น ดีไซน์" โมโตโรล่าจะมุ่งเป้าหมายไปที่เรื่องของคุณภาพ สินค้า และ บริการเนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการมูลค่าเพิ่มจากสินค้ามากกว่าราคา สิ่งเหล่านี้จะทำให้โมโตโรล่ามียอดขายเพิ่มขึ้นในทุกๆ ไตรมาส จนมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในขณะนี้ส่วนการหวนคืนตำแหน่งอันดับ 1 เหมือนที่โมโตโรล่าทำได้ในอดีตที่ผ่านมา
"อดีตเป็นเรื่องของอดีต ผมไม่รู้เรื่องในอดีต ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2547 แต่สิ่งที่มองไปในอนาคตตนั้น จะให้ความสำคัญในเรื่องของความต้องการของผู้บริโภคว่า มีความต้องการแบบไหนเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะต้องทำให้สำเร็จ ส่วนเรื่องการตลาดจะเป็นส่วนที่ผลักดันเทคโนโลยีเท่านั้น
เอ็ดเวิร์ด แซนเดอร์ยังบอกอีกว่า แม้เบอร์ 1 ในตลาดจะมีความแข็งแกร่งเพียงใด แต่เชื่อว่า โมโตโรล่าทำอยู่ในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละปีที่มีไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการที่เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่ง ตอนนี้ยอดขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเราเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้า โมโตโรล่ารักษาเป้าหมายตรงนี้ได้ไปเรื่อย ๆ อีกไม่นานก็จะเป็นเบอร์ 1 ได้
สำหรับห้วงเวลาในการกลับมาเป็นเบอร์ 1 นั้นเอ็ดเวิร์ด ไม่ได้ระบุว่า จะต้องเป็นเมื่อใด เป็นเรื่องยากที่จะระบุลงไปขนาดนั้นซีอีโอของโมโตโรล่ายังบอกอีกว่า จากการที่ได้พบปะกับผู้ให้บริการมือถือหลายราย ต่างมีมุมมองตรงกันในเรื่องของการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นไวแม็กซ์และ3จี ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผู้บริโภคคนไทยสามารถก้าวสู่โลกของการสื่อสารที่สามมาถเชื่อมต่อ สื่อสารถึงกัน และเพลิดเพลินกับคอนเทนต์ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือสื่อสารหรือเครือข่ายรูปแบบใดแนวคิดดังกล่าวเป็นวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า ซีมเลสโมบิลิตี้หรือการสื่อสารไร้รอยต่อ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|