|

นิตยสารนอก สุดอั้น เข็นหัวใหม่ลงแผง ฝ่าพิษเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปรากฏการณ์นิตยสารนอกหัวใหม่ที่เคยเปิดตัวกว่า 80 หัว สร้างความตื่นตัวให้กับวงการสื่อสิ่งพิมพ์ในปีที่ผ่านมา กลับมาขยับอีกครั้งในไตรมาส 2 หลังเก็บตัวหลบพิษเศรษฐกิจมาตลอด 3 เดือนแรก แต่คนวงในชี้นัยเป็นภาวะสุดอั้นที่เจ้าของหัวนอกต้องยอมปล่อยหนังสือใหม่เข้าตลาด เพราะสัญญาและแผนงานเปิดตัวถูกดึงรอดูสถานการณ์มาร่วม 3 เดือน แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้น จึงตัดสินใจบุก กลายเป็นภาพการเปิดตัวนิตยสารหัวนอกหน้าใหม่หลากหลายรายในช่วงเวลานี้ แม้รู้ดีว่าอนาคตยังน่าเป็นห่วงก็ตาม
นิตยสารสายพันธุ์ต่างชาติกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งที่ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้แผงหนังสือไม่ได้รับการแจ้งเกิดของหัวนอกหน้าใหม่แม้สักราย เพราะไม่มีผู้ใดกล้าท้าทายกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น แต่ทันทีที่ไตรมาสแรกพ้นผ่านไป สัญญาณความคึกคักก็กลับมาอีกครั้ง เหล่านิตยสารนอกหัวใหม่เริ่มตบเท้าเปิดตัวขึ้นแผงเป็นทิวแถว ราวกับว่าโอกาสทองของนิตยสารหัวนอกจะกลับมาอีกครั้ง หลังไตรมาสแรกของปี 2549 ที่ภาวะความผันผวนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยต้น ๆ ในขณะนั้น ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความเครียดที่จะมีผลต่ออารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลง ภาพรวมของธุรกิจเกิดการชะลอดตัว แต่พอก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ "คาซาวีว่า" นิตยสารแต่งบ้านชั้นสูงชื่อดังจากอิตาลีเข้ามาเปิดตัวขึ้นแผงหนังสือบนไทยเป็นเจ้าแรก โดยบริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท Mondadori ประเทศอิตาลี ให้ทำคาซาวีว่าภาคภาษาไทย เพื่อปลุกตลาดคนรักบ้านให้คึกคักอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นนิตยสารหัวนอกที่มีชื่อเสียงระดับอินเตอร์แล้วก็ตาม แต่คาซาวีว่าก็ไม่พ้นถูกพิษเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวจากเดือนกุมภาพันธ์มาเป็นเดือนเมษายนแทน
"ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทำให้ทั้งผู้บริโภคและลูกค้าขาดความเชื่อมั่น ผู้ลงทุนต้องเลื่อนการเปิดตัวนิตยสารหัวใหม่ ๆ ออกไปก่อน เพราะผู้ลงโฆษณาก็ชะลอดูสถานการณ์ ทำให้ยังไม่ตัดสินใจซื้อโฆษณา แต่ก็ยังมั่นใจว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มในการเปิดหัวนิตยสารใหม่ใกล้เคียงกับปีที่แล้วคือประมาณ 80-90 หัว" วิลักษณ์ โหลทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวกับผู้จัดการรายสัปดาห์ในช่วงงานแกรนด์โอเพ่นนิ่งนิตยสารคาซาวีว่า เดือนเมษายน 2549 ถึงสภาพตลาดในช่วงดังกล่าว
ผุดนิตยสารใหม่ เอาใจ Metro Sexual
การผุดนิตยสารทั้งสายพันธุ์ไทยและต่างชาติกันจนล้นแผงในระยะไม่กี่ปีนี้ ไม่ใช่เรื่องหน้าแปลกแต่อย่างใด เพราะตลาดสื่อนิตยสารในเมืองไทยยังถือว่ามีช่องว่างให้กอบโกยรายได้อยู่ในหลากหลายกลุ่ม หากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมมีการเติบโตสนับสนุน และหนึ่งในช่องว่างของตลาดนิตยสารที่น่าสนใจในเวลานี้ เกิดจากการที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางทั้งหลายได้ออกสินค้าใหม่ๆ เพื่อการดูแลสำหรับชายหนุ่มโดยเฉพาะขึ้นมา รวมถึงสถานฟิตเนสเซนเตอร์และโรงยิมต่าง ๆที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทำให้สะท้อนถึงปรากฏการณ์ Metro sexual มากขึ้น ก่อเกิดเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ชายหันมาให้ความสนใจตนเองมากขึ้นตั้งแต่แฟชั่น เสื้อผ้า หน้าผม ฯลฯ แน่นอนว่านี่คือโอกาสทองของนิตยสารเพื่อผู้ชายที่จะฟันค่าโฆษณาจากสินค้าและบริการดังกล่าว เพราะนิตยสารสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะเป็นช่องทางที่เหมาะที่สุดที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการเพื่อผู้ชาย มากกว่าการไปลงโฆษณาแฝงอยู่ในนิตยสารผู้หญิงล่าสุด บริษัท ทราฟฟิกคอร์เนอร์พลับลิชชิ่ง จำกัด ฮึดสู้ศึกตลาดนิตยสารหัวนอกในไทยอีกครั้ง ด้วยการคลอด "Men's Health" ออกมาดูดเงินจากกระเป๋าลูกค้าชายหนุ่ม ซึ่งได้ใช้งบลงทุนประมาณ 15-16 ล้านบาทในการซื้อลิขสิทธิ์จาก Rodale Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะตีพิมพ์และจำหน่ายนิตยสารรายเดือนสำหรับผู้ชายภายใต้ชื่อ Men's Health
"การร่วมมือกับสำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง Rodale Inc. เพื่อตีพิมพ์และจัดจำหน่ายนิตยสารสำหรับผู้ชายหัวนอกอย่าง Men's Health นี้จะช่วยให้บริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ ก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสิ่งพิมพ์แถวหน้าของเมืองไทยได้ และเสริมศักยภาพการมีสื่อครบทุกประเภทในมือให้ทรงพลังยิ่งขึ้น" สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ พับลิชชิ่ง จำกัด กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการร่วมมือกับสำนักพิมพ์ระดับโลก
ความได้เปรียบของ Men's Health ที่เหนือกว่านิตยสารหัวไทยที่อยู่ในตลาดเดียวกันก็คือ เป็นนิตยสารสำหรับผู้ชายที่ตีพิมพ์เป็น 37 ภาษา ใน 45 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตรงจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลและผลงานวิจัยที่สำคัญยิ่งของนิตยสาร Men's Health ที่ใช้ขับเคี่ยวการทำตลาดกับนิตยสารพันธุ์ไทยเพื่อผู้ชายไม่เพียงแค่ได้ความแข็งแกร่งจากแบรนด์แม่แล้ว การเข้ามาแทรกซึมตลาดนิตยสารที่ยังมีช่องว่างอยู่ ทำให้ Men's Health กลายเป็นอีกหนึ่งหัวนิตยสารที่น่าจับตามองว่าจะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเดียวกับนิตยสาร GM ที่จ้องจับกลุ่มเป้าหมายใกล้เคียงกัน มีความต้องการอ่านนิตยสารคล้าย ๆ กัน และที่สำคัญยังเป็นเงินกระเป๋าเดียวกันกับที่ Men's Health ต้องการความชัดเจนในเรื่องตำแหน่งทางการตลาดของ Men's Health คือต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชายอายุระหว่าง 20-40 ปีและเป็นกลุ่มตั้งแต่ B บวกขึ้นไป มีไลฟ์สไตล์ความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้สูงที่ต้องการจะเห็นตัวเองดูดีและรู้สึกดีอยู่เสมอ ดังนั้นเนื้อหาทั้งหมดจึงแบ่งออกเป็น เรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพ 20% ,ฟิตเนส และกีฬา 20%, เซ็กซ์และความรัก 15% ,โภชนาการและการลดน้ำหนัก 15% ,แฟชั่น สไตล์และการดูแลตัวเอง 15% ,หน้าที่การเงินและความเครียด 10% และปิดท้ายด้วยเรื่องสัพเพเหระอีก 5% เนื้อหาทั้งหมดนี้จะเห็นเป็นภาพชัดเจนบนแผงหนังสือได้ในเดือนตุลาคมนี้
มารส์ ชี้โอกาสอยู่ที่ความแตกต่าง
มาร์ส อีกหนึ่งนิตยสารสำหรับชายหนุ่มหัวไทยที่เข้ามาเล่นในตลาดผู้ชายไม่กี่ปีมานี้ แต่สามารถสร้างจุดคุ้มทุนได้ภายในเวลาไม่กี่ปี และสามารถสร้างฐานคนอ่านและยอดขายหนังสือได้จนติดอันดับ 1 ใน 5 นิตยสารขายดี มั่นใจว่าการเกิดใหม่ของนิตยสารเพื่อผู้ชายที่มี Men's Health เป็นรายล่าสุด จะไม่ส่งผลกระทบต่อตนเองมากนัก
"มาร์สมีจุดแข็งในเรื่องเป็นนิตยสารที่อิงไลฟ์สไตล์ ที่กลุ่มผู้อ่านหลักเป็นผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็สามารถอ่านด้วยเช่นกัน คือมีความเป็นยูนิเซ็กซ์เล็ก ๆ อีกอย่างพฤติกรรมคนอ่านสมัยนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากที่คนหนึ่งจะซื้อนิตยสารที่ออกใหม่ต่อเดือนเพียงเล่มเดียวหรือสองเล่ม แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พวกเขาสามารถซื้อได้สูงสุดไม่เกิด 7-10 เล่ม ถ้าเขาสนใจปกและเนื้อหาของนิตยสาร" พชร สมุทวณิช บรรณาธิการบริหาร นิตยสารมาร์ส กล่าว
ต่อเรื่องโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาด รวมไปถึงช่องว่างที่ยังเหลืออยู่ในตลาดของนิตยสารไทย บรรณาธิการบริหาร นิตยสารมาร์ส มองว่า ช่องว่างตลาดนิตยสารในไทยยังมีอยู่อีกเยอะ เพียงแต่จะมีใครเห็นและสามารถสร้างมันให้แตกต่างด้วยไอเดียที่สร้างสรรค์ได้หรือไม่เท่านั้นเอง หากลองเทียบประเภทนิตยสารที่มีอยู่ในตลาดประเทศไทยกับเมืองนอกจะรู้ได้ทันทีว่า เมืองนอกเขามีนิตยสารแปลก ๆ ใหม่ที่มีเนื้อหาแตกต่างและลึกกว่าเมืองไทย
ชี้เหตุหัวนอกอั้นรอเศรษฐกิจฟื้นไม่ไหว
การเปิดตัวนิตยสารหัวนอกหลายรายในช่วงนี้ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสารรายหนึ่งให้ความเห็นกับผู้จัดการรายสัปดาห์ว่า "พวกเขาคงอั้นการเปิดตัวกันมาหลายรอบแล้ว เพราะสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ผ่านมามันดูไม่เหมาะกับการแกรนด์โอเพ่นนิ่งนิตยสาร แต่ที่ช่วงนี้หลายรายแห่เปิดตัวกันมากเพราะ มันคงเกินสัญญาและเวลาที่ตกลงกันไว้มามากแล้ว อย่างเรื่องการวางซื้อสื่อโฆษณาของเอเจนซี่ทั้งหลายก็วางแผนกันมาเป็นปีสองปี ไม่ใช่เพิ่งจะมาวางกัน ดังนั้นเรื่องการแห่เปิดตัวของนิตยสารหัวนอก พวกเขาคงสุดทน สุดอั้นกันแล้ว ถึงต้องแห่มาเปิดตัวออกมาช่วงเวลานี้ แต่ก็น่าเป็นห่วงว่า จะผลักดันให้นิตยสารใหม่อยู่รอดได้อย่างไรในช่วงเศรษฐกิจไม่สดใสเช่นนี้ "
อย่างไรก็ตามในส่วนช่องว่างตลาดของนิตยสารไทยทั้งชายและหญิง ยังมองว่า ตลาดนิตยสารไทยยังไม่อิ่มตัว มีแนวโน้มการเติบโตไปได้อีกยาวไกล ถ้ามองเห็นช่องว่างตลาดและรู้จักฉวยจังหวะไว้ อาจจะยากหน่อยสำหรับตลาดผู้หญิงที่ค่อนข้างตัน มีคู่แข่งหลายราย ต้องการความแปลกใหม่จากตลาดมาก ๆ แต่หากดูโดยรวม ๆ ตลาดนิตยสารก็ยังมีโอกาสอีกมาก เพียงแต่สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้อาจจะยังไม่เหมาะสมในการเปิดหัวใหม่ ๆ และยังไม่มีใครบอกได้ว่า เมื่อไรเศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|