ภาพอาคารที่พักอาศัยสูง 8 ชั้น 2 อาคารสีขาว ที่ตั้งตะหง่านอยู่ท่ามกลางสลัมคลองเตยในเขตชุมชนเทพประมานนั้น
ใครเห็นก็ล้วนแต่อยากได้จับจองเป็นเจ้าของเพราะที่ดินบริเวณนั้น ถ้าดูกันตามราคาซื้อขาย
แล้วราคาไม่ต่ำกว่าตาราเมตรละ 2 แสนบาท ที่สำคัญมีแต่คนอยากซื้อแต่หาคนขายได้ยาก
ยิ่งได้เดินเข้าไปดูภายในห้องพักโดยฝีมือากรออกแบบของสถาปนิกมือหนึ่งอย่างอาจารย์สุเมธ
ชุมสาย ณ อยุธยา นั้น ซึ่งกำหนดให้พื้นที่กว้างถึง 56 ตารางเมตร ต่อ 1 ยูนิต
โดยแบ่งซอยย่อยเป็น 2 ห้องนอน 1 ห้องรับแขก ห้องน้ำและที่ทำครัวพร้อมระเบียง
ประกอบกับฝีมือการก่อสร้างของไทยด้วยแล้ว บริษัทสหกรุงเทพพัฒนา จำกัด ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเรื่องของบความตั้งใจจริงในการทำงาน
" ต้นทุนต่อยูนิต ไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ถ้าเป้นของเอกชนจะขายกันที่ตารางเมตรละ
3-4 หมื่นบาท ราคาขายต่อยูนิตไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท อยู่แล้ว" แหล่งข่าวรายหนึ่ง
ลองวิเคราะห์ให้ผู้จัดการฟัง
ในขณะที่ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินคิดค่าเช่าในส่วนที่พักอาศัยเพียงเดือนละ
760 บาท คิดค่าดูแลชุมชนส่วนกลางเพียง 240 บาท มันถูกอย่างหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
ถ้าเป็นโครงการของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดราคาค่าเช่าไว้ที่
1 เปอร์เซ็นต์ ของราคาต้นทุน ของแต่ละยูนิต ค่าเช่าจะตกอยู่ประมาณ 5 พันบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ในวันมอบกุญแจ เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2538 ที่ผ่านมานั้น
ทางสำนักงานทรัพย์สินก็ยังไม่ได้ ระบุให้ชัดเจนว่าอัตราค่าเช่าและค่าดูแลส่วนกลางนี้
จะเก็บไปจนถึงเมื่อไหร่ และทรัพย์สินจะยืนราคานี้หรือไม่หากที่ตรงนั้นประเมินกันที่ตารางวาละ
2.5 แสนบาททั้งหมด 17 ไร่ มูลค่าเฉพาะที่ดินสูงถึง 1,700 ล้านบาท
ทรงวุฒิ อุทัยรัตน์ หัวหน้ากองโครงการพิเศษได้ออกมายืนยันในฐานะตัวแทนของทรัพย์สินว่า
" ขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ว่า จะเพิ่มค่าเช่าเป็นเท่าไหร่ซึ่งต้องเพิ่มแน่เพราะราคาได้กำหนดมานานแล้ว
แต่แน่นอนว่า ไม่เกินกำลังของชาวบ้านแน่"
ความต้องการที่จะเป็นเจ้าของห้องพักแห่งนี้จึงมีจำนวนมากผู้ไม่มีสิทธิ์แต่ต้องการเข้ามาเซ้งต่อหรือเช่าที่เกิดขึ้น
ในวันรอบมอบกุญแจห้องนั้น จะเห็นได้ว่ามีรายคนที่เข้ามาสอบถาม ว่าใครจะปล่อยให้เซ้งหรือเช่าต่อบ้าง
ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านเจ้าของกรรมสิทธิ์หลายรายก็ยอมรับว่าใครให้เราดีก็เอา
ว่าการขายสิทธิ์นี้ เกิดขึ้นมานานตั้งแต่เริ่มมีการเข้าสำรวจพื้นที่ใหม่
เมื่อปี 2527 สนนราคาเริ่มกันตั้งแต่ ราคาไม่ร้อยบาท จนกระทั่งขึ้นเป็นเรือนแสนในปัจจุบัน
การขายสิทธิ์ที่ว่านี้ก็คือการทำสัญญาเซ้งต่อกันเอง แต่ไม่มีสิทธิ์ในการเปลี่ยนชื่อ
นางอำคา มณีวรรณ อายุ 40 ปี บ้านเดิมอยู่จังหวัดสุรินทร์ อาศัยอยู่ที่ชุมชนเทพประทานนี้มานานกว่า
20 ปี เปิดเผยกับผู้จัดการ ว่าดีใจมากที่อยู่แห่งใหม่รอมานานแล้ว และจะย้ายขึ้นไปอยู่ตึกพร้อมครอบครัวทั้ง
10 คน แต่เมื่อ " ผู้จัดการ" ถามว่า ถ้ามีคนขอซื้อสิทธิ์จะขายไหม
นางอำคา ตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดเลยว่าเอา จะได้กลับไปบ้านนอก และบอกว่ามีคนมาขอซื้อเหมือนกัน
แต่ราคาเพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น และอยากได้ราคาที่ดีกว่านี้
เช่นเดียวกับ นายเซ่งคิม แซ่โง้ว อายุ 67 ปี อาศัยที่ชุมชนนี้มาประมาณ
30 ปี ก็บอกว่า ถ้ามีคนให้ราดีก็เอา
ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยแห่งใหม่มีใบหน้าที่แสดความดีใจอย่างเห็นได้ชัดในวันนั้น
มันเป็นวันแห่งการรอคอยที่ให้ตัวเองหลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความสกปรก
และกลิ่นน้ำครำเสียที คนพวกนี้จะไม่ยอมขายสิทธิ์เด็ดขาย
เล่ากันว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ตั้งใจจะขายสิทธฺ์แล้วจะอพยพไปสร้างสลัมใหม่บริเวณหลังวัดศรีเอี่ยมบางนา
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าเท่ากับว่านโยบายแลนด์แชริ่ง
ของสำนักทรัพย์สินคงต้องถึงรีเอ็นจิเนียริ่ง เหมือนกันเพราะแทนที่จะได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนกลับเป็นการสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น
และในพิธีสารที่ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นประธานลงนามในปี 25323 เกี่ยวกับความตกลงร่วมกันในโครงการพัฒนาชุมชนพระราม
4 นั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของทุกฝ่ายที่ต้องการให้ราษฏรได้มีที่อยู่อาศัยที่ดี
ใกล้แหล่งงาน และที่ทำกิน และเป็นไปตามนโยบายแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด จึงห้ามโอนสิทธิ์การเช่า
หรือการเช่าซื้อแฟลตให้แก่บุคคลอื่น ยกเว้นกรณีการโอนสิทธิ์ให้แก่บุพการี
บุตร และธิดา เท่านั้น
ดังนั้นเงื่อนไขในการป้องกันการขายสิทธิ์ของทรัพย์สิน คงเป็นประเด็นที่ต้องยกมาพูดคุยกันอย่างเร่งด่วน
เพราะปัจจุบันทรัพย์สินฯ มีหลักการไม่ให้มีการซื้อขายสิทธิ์ แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติแล้วก็มีการทำอยู่โดยป้องกันไม่ได้
อาจมีการปล่อยให้เซ้ง ปล่อยให้เช่า ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะตรวจสอบ
โดยเฉพาะที่ดินของทรัพย์สินฯ แต่ละแปลงอยู่ในทำเลที่ดี ใคร ๆ ล้วนอยากจับจองเป็นเจ้าของทั้งนั้น