ธ.ก.ส.-ธอส.เข้าตาจนเฉือนเนื้อเลือดสาดใบสั่ง"โยกเงินฝากรัฐ"อุ้มลูกหนี้"พูดง่ายทำยาก"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อหนทางการโยกเงินฝากของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ 2 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง "ธ.ก.ส."และ"ธอส.จะกลายเป็นภาพเลือนรางลงทุกที แต่ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง แม้เลือดในตายังไม่กระเด็นแต่ก็พอมีแผลให้รู้สึกเจ็บๆ คันๆ เพราะเงินกองทุนที่รัฐหวังว่าจามารถโยกเข้ามาได้นั้นถูกปิดกั้นจากข้อผูกมัดที่มิอาจดึงเงินดังกล่าวมาใช้ได้ง่าย ๆ ทำให้ธนาคารเฉพาะกิจรัฐทั้ง 2 แห่ง ต้องพึ่งพาลมหายใจตัวเองเป็นหนทางสุดท้ายที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อน

ถึงคราเข้าตาจนสำหรับ "ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร"(ธ.ก.ส.) กับ "ธนาคารอาคารสงเคราะห์"(ธอส.)ที่จำเป็นต้องงัดมาตรการเด็ดชีพเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าภาระที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้จะกระทบต่อความเป็นอยู่ของลูกหนี้จนส่งผลให้ไม่สามารถคืนชำระได้ตามกำหนดเวลา และยิ่งทิ้งค้างไว้นานรังแต่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ขึ้นมาได้

ทำให้มีคำสั่งจากภาครัฐที่ให้เข้าไปดูแลกลุ่มลูกหนี้ของ 2 ธนาคารเฉพาะกิจ ธ.ก.ส. กับ ธอส. ด้วยการเอื้อนเอ่ยวาจาว่าจะหาแหล่งทุนถูกๆไปฝากไว้กับธนาคารทั้ง 2 แห่งเพื่อให้สามารถปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ดูจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเกินจริง เหตุเพราะยังไม่มีเงินกองทุนของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจใดสนใจโยกเงินดังกล่าวมาฝากไว้กับธนาคารทั้ง 2 แห่ง

ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เคยมีข่าวว่าจะขอได้ ก็เป็นอันต้องล้มเลิกพับโครงการไปด้วยเหตุผลว่าเงินกองทุนดังกล่าวเป็นเงินฝากประจำที่ไม่สามารถโอนย้ายได้ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับถ้าเทียบกับฝากออมทรัพย์ย่อมได้ตอบแทนที่สูงกว่า หากโยกเงินดังกล่าวไปฝากที่ ธ.ก.ส. และ ธอส. ทั้ง 2 ธนาคารก็ต้องให้อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม จึงคิดว่ารูปแบบดังกล่าวจะสามารถลดต้นทุนและปล่อยกู้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำได้ รังแต่จะเพิ่มภาระเสียอีก

หนำซ้ำเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) ก็เป็นเงินที่ต้องไหลเข้าออกประจำไม่เหมาะที่จะนำมาฝากระยะยาว หรือแม้แต่จะนำเงินจากองค์กรปกครองถ้องถิ่น(อปท.)ก็ไม่ได้มีมากพอที่จะให้ความช่วยเหลือได้ และแม้แต่การขอเงินจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ก็ดูจะไม่สำเร็จเท่าใดนัก เพราะวงเงินดังกล่าวมีไว้ใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามฉุกเฉินเช่นกรณีอย่าง น้ำท่วมใหญ่ หรือ สึนามิเป็นต้น ทำให้มองว่าหากนำเงินดังกล่าวมาใช้จะผิดวัตถุประสงค์

ด้วยเหตุที่ไม่อาจหาแหล่งทุนที่ทำให้ต้นทุนลดลงได้ 2 แบงก์รัฐ จำเป็นต้องหักกระดูกตัวเองเพื่ออุ้มลูกหนี้ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะลำบาก

หนทางและวิธีแห่งการช่วยเหลือของ 2 ธนาคารย่อมแตกต่างกันไปตามแต่สถานะของแต่ละธนาคาร เช่นการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ หรืออาจเป็นมาตรการตรึงดอกเบี้ยไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดเพื่อให้ลูกหนี้มีกำลังชำระคืน

ธีรพงษ์ ตั้งธีรสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า สำหรับ ธ.ก.ส.ยินยอมที่จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้าระดับฐานรากได้ 1% โดยต้องเป็นลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยมีลูกหนี้ที่ได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน

"ลูกค้าที่กู้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาทคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงเมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น ทำให้เราเลือกที่จะช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ส่วนนี้ก่อน ซึ่งคาดว่ามาตรการช่วยเหลือใน 6 เดือน จะทำให้ภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้ลดภาระลงได้ประมาณ 500-600 บาท และวงเงินดังกล่าวสำหรับชาวบ้านก็ถือว่ามากพอเพียงต่อการซื้อข้าว หรือปุ๋ยเพื่อประกอบอาชีพแล้ว"

ถามว่าผลที่ ธ.ก.ส.ได้รับนั้นมีหรือไม่ ? "แน่นอนว่าต้องมีกำไรในปีนี้ที่ตั้งไว้ประมาณ 1.7 พันล้านบาท อาจทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินผลการดำเนินงานด้วย แต่แน่นอนว่าการช่วยเหลือในครั้งนี้จะไม่ทำให้ ธ.ก.ส. ต้องขาดทุนโดยคาดว่าผลจากตรงนี้จะกระทบการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ประมาณ 590 ล้านบาท

ธีรพงษ์ บอกว่า ดูเหมือนธ.ก.ส. จะมีกำไรมากเพราะขูดรีดรากหญ้า แต่แท้จริงต้องดูด้วยว่าเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อทั้งหมด(เอาท์แสตน์ดิ้ง)ที่ธนาคารปล่อยไปสูงถึง 4 แสนล้านบาทนั้น กำไรที่คืนมา เป็นเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ ธนาคารมีทุนจากกระทรวงการคลัง 4หมื่นล้านบาท ณ ตอนนี้ปล่อยไปแล้วถึง 11 เท่าตัวซึ่งถือว่าเยอะมาก ดังนั้นถ้าบอกว่ากำไรมากก็ไม่ถูกนัก

"ส่วนมาตรการช่วยเหลือจนกระทบต่อการประเมินผลการดำเนินงานนั้น เราไม่ห่วง เพราะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้ประเมินผลงานคือ ทริสเรทติ้งได้ว่ามาจากสาเหตุอันใด และทริสเรทติ้งจะต้องประเมินด้วยเหตุผล"

ดังนั้นหาก ธ.ก.ส. นิ่งเฉยไม่ไหวติงเลยคงไม่เป็นการดีต่อลูกหนี้โดยเฉพาะระดับฐานราก สำหรับ ธ.ก.ส. สิ่งใดที่คิดว่าทำได้ก็จะทำไปก่อน เพราะคงไม่หวังรอเงินกองทุนที่รัฐเอ่ยวาจาว่าจะหามาใส่ให้ได้ และ ธ.ก.ส. คงต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น ด้วยการระดมทุนในรูปแบของการออกสลาก ซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าจะเป็นแหล่งระดมทุนที่ทำให้ ธ.ก.ส.มีแหล่งปล่อยกู้โดยที่อัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก และทำให้สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนของลูกหนี้ที่กู้ไม่เกิน 1แสนบาทได้ เป็นเวลา 6 เดือน

เช่นเดียวกับ"ธอส." เมื่อหาแหล่งเงินฝากทุนต่ำไม่ได้ ก็ไม่อาจปล่อยกู้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำได้เช่นกัน อีกทั้ง ธอส.ยังเหลือหนทางที่จะไม่ลดดอกเบี้ยอย่าง ธ.ก.ส. แต่จะใช้นโยบายตรึงดอกเบี้ยแทน รวมถึงการออกมาตรการผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาให้เข้ามาเจราจากับ ธอส.ด่วน ก่อนที่หนี้ดังกล่าวจะกลายเป็นหนี้เสีย

ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรมการผู้จัดการ ธอส.เล่าว่า ธอส.คงลดดอกเบี้ยหรือปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่านี้ไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ก็แทบจะกินเนื้อตัวองแล้ว แม้จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธอส. จะสูงก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายถึงกำไรจะสูงตามด้วย เพราะปีที่ผ่านมา ธอส.กำไรก็ลดลงเยอะ

"อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวของ ธอส.MRR ตอนนี้อยู่ที่ 7.75% มองดูแล้วสูงมากจาดอดีตที่ประมาณ 5%กว่า แต่กระโดดมาเร็วมากจนถูกโจมตีว่าเป็นการขูดรีดประชาชน แต่เหตุผลของธอส. ที่ให้ดอกเบี้ยกู้สูงเช่นนี้เนื่องจาก เรามีต้นทุนการดำเนินงานที่สูง เพราะดอกเบี้ยเงินฝาก ธอส.ก็ให้ไม่น้อยเช่นกัน เรียกได้ว่า กำไรส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (มาร์จิ้น)ของ เราตอนนี้อยู่ที่ 1% เท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้อีกแล้ว"

ที่สำคัญ ธุรกรรมของ ธอส. ยังต่างจากธนาคารแห่งอื่นค่อนข้างมากโดยที่รายได้หลักของธอส.มาจากการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธนาคารแห่งอื่นไม่ว่าจะเป็นเฉพาะกิจของรัฐ หรือว่า พาณิชย์ก็ตาม ยังมีรายได้ในการเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนอื่น ๆ อีกอย่าง ธ.ก.ส. ก็มีรายได้ค่าธรรมเนียมจากเคาท์เตอร์ชำระค่าน้ำค่าไฟ และมีสาขาทั่วประเทศจึงทำให้พอมีรายได้เข้ามา ส่วน ธอส. ไม่สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้เพราะผิดต่อกฎหมาย อีกทั้งจำนวนสาขาที่มีน้อย ดังนั้นรายได้จากส่วนอื่นจึงไม่มี และด้วยเหตุผลเช่นนี้จึงทำให้ ธอส. แบกภาระต้นทุนที่สูง ทางธนาคารก็จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในส่วนที่กู้ไปซื้อบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยใช้วิธีการตรึงดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ปีแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.5% ปีที่2 คงที่ 6.0% ปีที่3คงที่ 6.5% ถึงสิ้นปี 2549 จากเดิมที่ผ่านในอัตราดอกเบี้ยขั้นบันได ปีแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ปีที่2 คงที่ 5% และที่3คงที่ 6%

สำหรับต้นทุนด้านการเงินปัจจุบันของ ธอส. ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25% การตรึงอัตราดอกเบี้ยในโครงการ 5.5% เท่ากับทำให้ธนาคารต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะธนาคารมีต้นทุนการดำเนินงานด้วยประมาณ 1%

อย่างไรก็ตามในแง่ของการผ่อนชำระหนี้ ขรรค์ ยังมั่นใจว่าลูกค้ายังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะลูกค้าเก่า เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้กู้ในอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอย่างเดียว โดยจะกู้เป็นขั้นบันได 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง หรือดอกเบี้ยคงที่บ้าง ผลกระทบจะยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นผู้กู้รายใหม่มากกว่า

แม้ธอส.จะเผยว่าไม่ห่วงเรื่องการชำระเงินของลูกหนี้ก็ตาม แต่ในมุมมองดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความประมาทของ ธอส.ก็ว่าได้ ดังนั้น ขรรค์ จึงได้ออกมาตรการบรรเทาภาระของลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการผ่อนบ้าน 6 แนวทาง ยามเศรษฐกิจผันแปร และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่ามาตรการนี้น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ในระดับหนึ่งก่อนที่ลูกหนี้เหล่านั้นจะแบกรับปัญหาไม่ไหวจนต้องเข้าสู่ระบบหนี้เสีย

"ลูกหนี้ไม่ต้องรอให้หนี้ที่ค้างชำระต้องส่งกลิ่นเหม็นเน่าก่อน แค่รู้สึกว่ามีอาการ หรือเริ่มส่งกลิ่นก็ให้รีบเข้ามาเจรจาเพื่อขอผ่อนผันด้วย 6 มาตรการที่ให้ไว้ได้ทันที ซึ่งก็เหมือนคนเริ่มป่วย มีอาการปวดหัว เจ็บคอก็ต้องรีบรักษาหาหมอทันที อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นหลักแล้วค่อยหา เพราะแบบนั้นจะรักษายาก"

โดย 6 มาตรการที่ออกมา ได้แก่ การขยายระยะเวลากู้เพื่อลดภาระในการผ่อนเงินงวด โดยระยะเวลากู้เพิ่มขึ้นทำให้การผ่อนในแต่ละเดือนลดลง แนวทางที่2 การผ่อนผันลดเงินงวดในการผ่อนชำระเท่ากับดอกเบี้ยรายเดือน จะปรับลดค่างวดในการผ่อนชำระให้ลดลงเหลือเท่ากับดอกเบี้ยรายเดือนเป็นระยะ 1 ปี แนวทางที่ 3 การผ่อนผันในการผ่อนชำระเหลือเพียงครึ่งงวดโดยธนาคารจะปรับลดเงินงวดในการผ่อนชะรำจากปกติให้เหลือไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นระยะเลาไม่เกิน 12 เดือน โดนแนวทางที่ 2 และ3 นั้นเมื่อครบกำหนดต้องชำระหนี้ค้างทั้งหมด

สำหรับแนวทางที่ 4-6สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระมานานและมีดอกเบี้ยค้างชำระสูง ซึ่งแนวทางที่ 4 จะให้การพักชำระดอกเบี้ย เป็นมาตรการประนอมหนี้ โดยจะตั้งพักไว้ 2 ปี ระหว่างนี้ธนาคารจะกำหนดเงินงวดในการผ่อนชำระ ซึ่งจะสามารถลดเงินต้นลงได้ และเมื่อชำระได้ตามเงื่อนไขดอกเบี้ยที่ถูกพักไว้จะกลับเข้ามาในบัญชีเงินกู้ ซึ่งธนาคารจะมอบส่วนลดให้ 25%ของดอกเบี้ยที่ไม่รับรู้รายได้

แนวทางที่5 การใช้มาตรการGHB2U ด้วยการปิดบัญชี หรือด้วยการผ่อนชำระ จำนวนเงินที่ชำระมาแล้ว โดยให้พักดอกเบี้ยไม่เกิน 2ปี และแนวทางสุดท้าย คือการใช้มาตรการสวมสิทธิการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยผู้กู้รายเดิมหากประสงค์ขายหลักประกันให้ผู้กู้รายใหม่ได้รับสิทธิพิเศษในการผ่อนชำระเงินงวดส่งผลให้การซื้อขายหลักประกันจากผู้กู้รายเดิมเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้ง ธ.ก.ส. และ ธอส.ต่างต้องดิ้นรนเพื่อหาทางรอดให้กับตัวเอง แต่ทางรอดนั้นก็ต้องสนองและสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐต้องการด้วย แม้ว่าจะต้องเฉือนเนื้อจนเลือดสาดก็ตาม โดยที่ยังไม่รู้ว่าในอนาคต จะมีเงินกองทุนจากส่วนไหนเข้ามาช่วยลดภาระให้กับ 2 ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแห่งนี้

เพราะไม่ว่าแบงก์ไหนๆ จะเป็นแบงก์รัฐหรือเอกชน ต่างก็ไม่ใช่องค์กรการกุศล แต่การลงทุนต้องทำกำไรเห็นๆ....การโยกเงินฝากภาครัฐจึงไม่ใช่ใบสั่งที่จะทำกันได้ง่ายๆ....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.