|
แบงก์ยุติสงครามแย่งชิงเงินฝากเปิดช่องกองทุนวิ่งไล่คว้ารายได้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(19 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลา คือตัวแปรที่บอกให้รู้ว่า แบงก์และธุรกิจจัดการกองทุน ต้องผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ยื้อแย่งเม็ดเงินในกระเป๋าเจ้าของเงินออมให้มากที่สุด... หลังหมอกควันในสมรภูมิช่วงชิงเงินฝากของบรรดาแบงก์ต่างๆเมื่อ 2-3 เดือนค่อยๆเจือจางลง ผสมกับท้องฟ้าเหนือตลาดหุ้นยังอึมครึม ครึ้มฟ้าครึ้มฝน จึงเปิดช่องว่างให้ธุรกิจจัดการกองทุนเริ่มมองหาวิธีแสวงหารายได้ในรูปแบบที่จะเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนให้น่าดึงดูดใจ ในระหว่างรอจังหวะเงินฝากประจำใกล้จะครบดีล ขณะที่แบงก์ทุกแห่งยังไม่เคลื่อนไหวปรับอัตราดอกเบี้ย...
ปี 2548 ผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์ที่ 0.75% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ 1% คือมูลเหตุที่ผลักไสให้เม็ดเงินไหลมาทางฝั่งธุรกิจจัดการกองทุนรวม จนทำให้ยอดขยายใหญ่ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 7.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 59% ในจำนวนนี้มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามาถึง 2.86 แสนล้านบาท และเป็นเงินที่เข้ามากระจุกในพอร์ตกองทุนตราสารหนี้ถึง 2.74 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนใหม่ที่ออกโดยกำหนดระยะเวลาแน่นอน ไม่ยาวมากนัก ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3% รวมเงินที่ไหลทะลักเข้าไปกองในกองทุนตราสารหนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.9 แสนล้านบาท
สาเหตุหลักๆเนื่องมาจากปี 48 มีอัตราเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ทำให้ผู้ฝากเงินเริ่มที่จะมองหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆที่เสี่ยงต่ำและผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน เพราะตามธรรมชาติแล้ว เงิน จะมีคุณสมบัติตรงข้ามกับน้ำ
" น้ำ จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่ เงิน จะไหลจากผลตอบแทนต่ำไปที่มีผลตอบแทนสูง"
แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)ก็ชื่นชมกับตำแหน่งความเป็นพระเอกของตัวเองอยู่ได้ไม่นาน....
เพียงช่วงรอยต่อไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2549 แบงก์ต่างๆ ก็ประกาศสงครามดอกเบี้ยแย่งชิงเงินฝากในรูปเงินฝากประจำพิเศษตั้งแต่ 3 ถึง 9 เดือน ให้ดอกเบี้ยตั้งแต่ 4.25 - 5.25% แต่ละแบงก์ไล่บี้กันชนิดลมหายใจรดต้นคอเฉือนกันแค่ไม่กี่สิบสตางค์เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วถ้าคิดในแง่ของจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ฝากจะได้รับแล้ว แทบจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างด้วยซ้ำ
สมมุติง่ายๆให้ดอกเบี้ยมีความแตกต่างกัน 0.50% ฉะนั้นเงินฝาก 1 ล้านบาทก็จะได้ดอกเบี้ยเหลื่อมกัน 5,000 บาท ตกเดือนละ 416 บาท หรือแค่วันละประมาณ 13 บาทเท่านั้น เอาเวลาไปนั่งคิดอย่างอื่นยังจะได้ผลตอบแทนเยอะกว่านี้
กลยุทธ์ดอกเบี้ยได้ผลอย่างเยี่ยมยอด แม้ว่าจะเป็นทางจิตวิทยามากกว่า แต่มันก็ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์(ธพ.)มีสภาพคล่องสูงถึง 6 แสนล้านบาท และดูเหมือนว่างานนี้ บลจ.จะเป็นเพี่ยงพล้ำ ทั้งในแง่ผลตอบแทนที่ไม่สามารถปรับตามขึ้นได้ทันที, จำนวนสาขาและการเข้าถึงลูกค้า รวมทั้ง ความคุ้นเคยของลูกค้าที่ชอบรูปแบบของการออมซึ่งได้รับความคุ้มครองมากกว่าจะได้ยินประโยคที่ว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"
ปัจจุบันแม้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 4.75 เป็น5.00% ธนาคารพาณิชย์ที่เคยดวลกันขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่รอบที่แล้ว คราวนี้กลับไม่มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามมา
เนื่องจากขณะนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ ประกอบกับยังไม่ครบดีลของเงินฝากประจำจะถึงกำหนด ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นโอกาสของ บลจ.ที่จะกลับมาแย่งชิงเม็ดเงินได้อย่างสบายใจอีกครั้ง
ทั้งนี้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของลูกค้า สำหรับธนาคารพาณิชย์แล้วถือเป็นต้นทุนจ่ายที่เพิ่มขึ้น ถ้าจ่ายมากแต่กำไรลด ก็เสี่ยงจะขาดทุน ด้านบลจ.ไม่ต้องห่วงเรื่องต้นทุน เพราะกองทุนคิดค่าธรรมเนียมการบริหารจากลูกค้าเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ามูลค่าสินทรัพย์มากก็จะได้ค่าบริหารมากเป็นเงาตามตัว ยกเว้นความเสี่ยงจากการบริหารกองทุนเท่านั้น
ในรอบ 1 เดือนหลัง 9 พ.ค. 2549 ดัชนีตลาดขึ้นไปสูงสุดในรอบปีนี้ ที่ 785.38 จุด ก่อนจะไหลรูดลงมาระดับต่ำสุดแตะ 670.41 จุด ติดลบกว่า 12% จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติขณะรอดูทีท่าสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
เมื่อตกจากที่สูงอย่างแรงและเร็วปะทะเข้ากับพื้นอย่างจัง ก็เป็นธรรมดาที่ดัชนีต้องนอนนิ่งจมกองเลือดอยู่พักใหญ่ก่อนมีการเคลื่อนไหว งานนี้ไม่ว่าแมงเม่าหรือเซียน นักลงทุนหรือสถาบันต่างโดนกันถ้วนหน้า หนักเบาแล้วแต่ราย ทำให้กองทุนที่ลงทุนในหุ้นจึงไม่มีการเปิดตัวขึ้นใหม่ในช่วงนี้
ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตร, ตั๋วเงินคลัง, หุ้นกู้ กระแสกำลังมาแรง โดยเฉพาะมิถุนายนเพียงเดือนเดียวมีไม่ต่ำกว่า 4 บลจ.ที่พร้อมใจกันผุดกองทุนประเภทนี้ขึ้นมาใหม่ ไม่ต่างอะไรกับดอกเห็ดที่กำลังแตกสปอร์
เริ่มต้นจาก บลจ.กรุงไทยที่ยื่นขออนุมัติกลต.เพื่อจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้นมากถึง 12 กองมูลค่าโครงการละ 2 พันล้านบาท มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี โดยสำหรับเดือนนี้ได้เปิดขายเริ่มต้น 2 กองคือ กรุงไทยตราสารการเงินคุ้มครองเงินต้น2 (KT3M2)อายุโครงการ 3 เดือน และ กรุงไทยสมาร์ทแพลนคุ้มครองเงินต้น (KSMART) อายุโครงการ 1 ปี
ตามด้วย บลจ.ยูโอบี ซึ่งก็เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ใหม่ในเดือนนี้ 2 กองทุนด้วยกันคือ ยูโอบี ตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้น (UOB SURE 6/9) อายุประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท และ ยูโอบี ตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้น (UOB SURE 12/7) อายุประมาณ 1 ปี มูลค่าโครงการ 5 พันล้านบาท
ขณะที่ บลจ.พรีมาเวสท์ และ บลจ.อยุธยาเอเจเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงศรีฯ ต่างก็ได้มีการเปิดขายกองทุนตราสารหนี้แห่งละกองเช่นกันคือ กองทุนกรุงศรี-พรีมาเวสท์ (KP3M2) ที่มีระยะเวลาการลงทุน 3 เดือน มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท และจะเปิดขายครั้งต่อๆไปทุกๆรอบ 3 เดือน และ กองทุนอยุธยารับรายเดือนคุ้มครองเงินต้น 3 ซึ่งเป็นกองทุนเปิดไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดแต่ก็มีนโยบายคุ้มครองเงินต้นในช่วง 9 เดือนแรกรวมถึงมีการจ่ายคืนเงินอัตโนมัติทุกวันที่ 15 ของเดือนอีกด้วย
....เปรียบเสมือนตลาดแข่งขันสมบูรณ์ โอกาสเป็นของผู้บริโภคที่จะได้เลือกซื้อ....
แต่ภายใต้การแข่งขันก็ย่อมมีโอกาส ดังนั้น บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.วรรณ จึงได้ใช้จังหวะนี้ออก Product ใหม่ซึ่งเป็น Product Differentiation ที่แตกต่างจากในตลาดการแข่งขันปัจจุบัน เพื่อขยายเม็ดเงินในกองทุนตัวเองให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่รายได้ค่าธรรมเนียมของ บลจ.ที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะที่เคยออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมาแล้วถึง4 กอง มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งถือได้ว่ามีประสบการณ์พอตัว จึงได้ฉวยจังหวะนี้ออกกองทุนผสมที่ลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ในต่างประเทศซึ่งเน้นแถบเอเชีย ในชื่อ อินเตอร์เนชั่นแนล สปอท (I-SPOT) เป็นกองทุนปิดประเภทมีเป้าหมาย(Target Fund) กล่าวคือจะคือเงินลงทุนก็ต่อเมื่อมีผลได้รับผลตอบแทนครบ 25%ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือครบกำหนด 3 ปี โดยมูลค่าโครงการนี้มี 800 ล้านบาท
ด้าน บลจ.วรรณ ซึ่งมีกองทุนอยู่แล้ว 10 กอง แต่ละกองก็มีขนาดไม่ใหญ่มากเพียง 40 - 800 ล้านบาท ก็มีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าสุทธิในกองทุนให้มากขึ้นโดยเน้นไปที่กองทุนเก่ามากกว่าการออกกองทุนใหม่ ดังนั้นจึงได้ออกโปรแกรม Automatic Millionaire ขึ้น ให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีเพื่อลงทุนผ่านกองทุนของ บลจ.วรรณอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยชูจุดขายว่าการทยอยลงทุนแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนลงและสามารถนำไปถึงจุดหมายซึ่งเป็นเงินล้านได้
แต่ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ 6.2 %/ปี เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออมในรูปเงินฝากที่ได้ผลตอบแทนมาเป็นดอกเบี้ย หรือ การลงทุนในกองทุนรวมที่ได้ผลตอบแทนมาในรูปมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่สามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อทำให้มีผลตอบแทนเป็นบวกสำเร็จ
ดังนั้นจึงเหลือเพียงทางเลือกเดียวตามทฤษฎีที่ทำให้เรายังคงพอที่จะเชื่อได้ว่า "มีเพียงผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเท่านั้นที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้"
...ในขณะที่ตลาดหุ้นก็เป็นแหล่งทำเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแหล่งไหนๆอีกเหมือนกัน....
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|