แบงก์ชาติลั่นคุมเงินไหลเข้า-ออกไม่หวั่นเฟดปรับดอกเบี้ยสิ้นเดือน


ผู้จัดการรายวัน(15 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติมั่นใจจะดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจับตาหากมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าหรือออกมากจนเกินไป ส่วนแนวโน้มที่ตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะปรับขึ้นวันที่ 29 มิถุนายนนี้ เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะธนาคารกลางจะส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้อยู่แล้ว

นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การดูแลนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน(อัตราดอกเบี้ยนโยบาย)ของแต่ละประเทศแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ธปท.จะกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากไม่ได้ เพราะเป็นการไหลเข้า-ออกของเงินทุนเป็นเรื่องเสรี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นสัญญาณ และธปท.จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากจนเกินไป

“แต่ละประเทศจะมีการดูแลนโยบายการเงิน ทำให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนง่าย แต่ก็ต้องดูแลไม่ให้มีปัญหาไหลเข้าเงินทุนมาจำนวนมากเกินไป ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีนี้ก็มีเงินไหลเข้ามาอย่างท้วมท้น ทำให้บาทแข็งค่าขึ้น แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีนักลงทุนเทขายหุ้น 3-4 หมื่นล้านบาท ก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เป็นไปตามกลไกของตลาด”

นางอัจนา กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ธปท.คิดไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารกลางทุกประเทศจะบอกตลาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย เพื่อให้ตลาดปรับตัวได้ เช่นเดียวกับการรายงานเศรษฐกิจหากมีอะไรอ่อนไหวก็มีประกาศให้ตลาดทราบด้วย

“เราคิดอยู่แล้วว่าสหรัฐจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเขาก็บอกตลาดอยู่เสมอ จะไม่ทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย ทุกๆ เดือนก็มีการรายงานว่าเศรษฐกิจมีการอ่อนไหวยังไง”

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่ประเทศสหรัฐยิ่งมีการประกาศว่ามีการขาดดุลการค้าก็ยิ่งมีเงินไหลออกมากขึ้น ซึ่งในแต่ละวันนักลงทุนจะมีการลงทุนในประเภทต่างๆ ประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน นักลงทุนไปลงทุนในประเทศที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้การที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ไม่ได้มีปัญหาอะไรเป็นเพียงกระแสข่าวอย่างเดียวเท่านั้น

“นักลงทุนกลัวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน จึงหนีออกมา เป็นปกติที่ไหนมีรีเทิร์นต่ำก็ย่อมไปหาที่มีรีเทิร์นสูงกว่าในประเทศอื่นแทน อย่างไรก็ตามการทำฟีเทรดย่อมดีกว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ซึ่งเป็นปกติเข้ามาง่ายก็ย่อมออกไปง่าย แบงก์ชาติมีหน้าที่จะทำยังไงไม่ให้ช้างทั้งโขลงเข้ามาเท่านั้น””

ด้านนักค้าเงินของธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทเมื่อวานนี้(14 มิ.ย.) ในช่วงเช้าค่าเงินจะอ่อนค่าลง และกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงบ่าย โดยในช่วงเช้าค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 38.52-32-54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และช่วงเย็นกลับมาปิดตลาดอยู่ที่ 38-35-38.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นกว่า 10 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินในสกุลต่างๆ รวมทั้งค่าเงินในประเทศยุโรปด้วย

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่กลับมาแข็งค่าขึ้นเป็นผลมาจากตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในการประชุมวันที่ 29 มิถุนายนนี้ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนเทขายค่าเงินสกุลดอลลาร์ออกมามาก ประกอบกับการประกาศตัวเลขดุลการค้าที่ขาดดุลของประเทศสหรัฐก็ยิ่งทำให้นักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.