|
นักลงทุนทิ้งหุ้นไอทีวี 1เดือนมาร์เกตแคปสูญหาย7พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(14 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ไอทีวี" เจอมรสุมระลอกใหญ่ ระยะเวลา 1 เดือน ราคาหุ้นร่วงไปแล้วกว่า 61% จากเดิมอยู่ที่หุ้นละ 9.35 บาท เหลือ 3.62 บาท หลังศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำตัดสินคณะอนุญาโตตุลาการ ทำให้ไอทีวีต้องปฏิบัติตามสัมปทานเดิม ขณะที่มาร์เกตแคปหายไปเกือบ 7,000 ล้านบาท เหลือเพียงกว่า 4,000ล้านบาท ด้านนักวิเคราะห์ มั่นใจศาลปกครองสูงสุดยืนคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ไอทีวีต้องชดเชยค่าสัมปทานและแบกภาระขาดทุนสุทธิยาวนานกว่า 7 ปี
หลังจากศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนคำตัดสินคณะอนุญาโตตุลาการ กรณีพิจารณาค่าสัมปทานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV ว่าเกินขอบเขตของกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญาเดิมที่ปีละ 1,000 ล้านบาท หรือ 44% ของรายได้ และให้มีการเสนอข่าวและรายการที่มีสาระประโยชน์คิดเป็น 70%ของเวลาออกอากาศทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ กำหนดให้ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานเพียงปีละ 230 ล้านบาท หรือ 6.5% และการออกเสนอข่าวและรายการที่มีสาระประโยชน์ 50% ของเวลาออกอากาศทั้งหมด
จากประเด็นดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบทำราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนวิตกว่าการกลับไปปฏิบัติตามสัมปทานเดิมจะส่งผลต่อฐานะการดำเนินงานของไอทีวี จึงได้ขายทิ้งหุ้นที่ถืออยู่ออกมา แม้ว่าผู้บริหารจะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด นักลงทุนยังคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง
ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาหุ้นไอทีวี ก่อนวันที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง (8 พ.ค.) ที่มีราคาปิดอยู่ที่ระดับหุ้นละ 9.35 บาท และปรับตัวลงทันทีในวันต่อมาที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคือปิดที่ 6.55 บาท ลดลง 2.80 บาท หรือคิดเป็น 29.95% และหากเทียบกับราคาหุ้นณ วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ครบรอบ 1 เดือน หุ้นไอทีวี ปิดที่ 3.62 บาท ลดลง 5.73 บาท หรือคิดเป็น 61.28%
หากพิจารณาในแง่ของมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) นั้น ได้ปรับตัวลดลงอย่างมากเช่นกัน จากมูลค่าตามราคาตลาดรวมที่เคยอยู่สูงถึง 11,828.62 ล้านบาท (8 พ.ค. 49) มาอยู่ที่ระดับ 4,368.24 ล้านบาท (8 มิ.ย.) คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาดรวมลดลงสูงถึง 6,914.38 ล้านบาท
นางสาวอรุณรัตน์ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทีเอสอีซี จำกัด เปิดเผยว่า ราคาหุ้น บมจ.ไอทีวี ยังสามารถแก่วงตัวได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่นักลงทุนเก็งกำไรจะเข้ามาลงทุนได้ เนื่องจากยังคงต้องรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่จะชี้ขาดเรื่องการจ่ายค่าสัมปทาน หลังจากที่บริษัทได้มีการอุทธรณ์คำตัดสินศาลปกครองได้เคยมีคำพิพากษาให้ไอทีวีจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญาเดิม ทำให้บริษัทต้องรับภาวะจ่ายค่าชดเชยสัมปทานย้อนหลัง
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปีนี้จะต้องปรับตัวลดลงอย่างแน่นอน เนื่องจากสัดส่วนรายได้ของบริษัทจากค่าโฆษณาที่จะต้องปรับลดลง เพราะสัดส่วนรายการที่ปรับลดลง รวมถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ชะลอตัว สำหรับราคาพื้นฐานนั้นของบริษัท แนวรับที่ 3.60 บาท และแนวต้านที่ 3.80 บาท
แบกขาดทุนสุทธิยาวกว่า 7 ปี
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) พัฒนสิน จำกัด (CNS) ประเมินว่า ในที่สุดแล้วไอทีวีมีแนวโน้มจะแพ้คดีในที่สุด แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และถือเป็นเพียงเรื่องของการซื้อเวลาออกไปเท่านั้น โดยศาลปกครองสูงสุดจะมีการพิจารณาในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือ การจ่ายค่าชดเชยที่จะมีการจ่ายทันทีหรือไม่ ดังนั้นแม้ไอทีวีจะยังคงไม่ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สิน มูลค่าเงินชดเชยย้อนหลังรวมดอกเบี้ยอีก 2,000 ล้านบาท ณ ขณะนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าแพ้คดีไอทีวีจะต้องทำการตั้งสำรองทั้งจำนวนอยู่ดีภายในปี 2549
"กรณีที่ไอทีวีแพ้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด จะส่งผลทางลบทันทีต่อรายได้ช่วง prime time ให้ลดลงในอนาคต รวมถึงการกลับไปจ่ายต้นทุนสัมปทานเท่าเดิม ทำให้ไอทีวีต้องแบกรับผลขาดทุนสุทธิในอีก 7 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงยังคงแนะนำให้ขาย มูลค่าพื้นฐานอยู่ที่หุ้นละ 2.50"
มั่นใจศาลสูงสุดยืนคำพิพากษา
ด้านบล.นครหลวงไทย ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีประมาณ 3 - 6 เดือน หากไอทีวีต้องกลับไปใช้สัมปทานเดิมจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของไอทีวีอย่างมาก
สำหรับแนวโน้มของผลการดำเนินหลังจากที่มีคำตัดสินแล้ว จะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของไอทีวี ว่าจะสามารถทำรายการข่าวและสารประโยชน์ที่โดดเด่นกว่าอสมท หรือไม่ แต่คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงแนะนำให้ "ขาย" มูลค่าที่เหมาะสมอยู่ที่ 3.28 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|