ผ่าแนวคิดธุรกิจกระแสโลกสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ...วิ่งฉิว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- เปิดแนวคิดการทำธุรกิจที่มองไปในอนาคต ‘เอ็มอีเอสกรุ๊ป’ขึ้นแถวหน้า
- ‘สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ’ หัวข้อใหญ่ให้ขบคิด ค้นโอกาส-จับจังหวะมาบอกกล่าว
- ฟันธงประเทศไทย ‘ไซเคิล’ไม่เวิร์ค ‘น้ำมันแพง’ปัจจัยหนุน แจ้งเกิด‘ทางเลือกใหม่’เบียดพลาสติกกับโฟม
- ชี้ช่อง‘บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ด้วยธรรมชาติ’ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ตลาดในประเทศกำลังเริ่มสดใส
- ชี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลง สบช่องรีไซเคิลไม่ได้ผล

แนวคิดในการสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการไม่น้อยต้องการจะทำธุรกิจที่เรียกว่า ธุรกิจอนาคต “เอ็มดีเอสกรุ๊ป” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการที่คิดอย่างนั้น ด้วยการเน้น 4 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจสิ่งแวดล้อม 2.ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 3.ธุรกิจสุขภาพ และ4.ธุรกิจพลังงาน

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีแนวคิดในการทำมาตั้งแต่ราคาน้ำมันยังไม่ปรับตัวขึ้น แนวคิดแรกๆ เกิดจากการที่พบว่ามีขยะจำนวนมาก ประเภทโฟมและพลาสติกซึ่งเข้ามามีบทบาทประมาณ 30-40 ปีมาแล้ว ขณะที่ผลที่เกิดขึ้นคือปัญหาการกำจัดขยะเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าจะมีการพูดถึงปัญหานี้มาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนได้

จากข้อมูลปี 2546 จากกรมควบคุมมลพิษพบว่า ขยะชุมชน ที่เกิดจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ จนถึงตำบลทั่วประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วมีการผลิตขยะ 40 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 14 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น เศษผักอาหารผลไม้หรือขยะเปียก คิดเป็น 50% ส่วนที่เหลือเป็นขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น พลาสติก โฟม มี 22% กระดาษ 13% และแก้ว 3% เมื่อพิจารณาแล้ว ประเภทแก้วสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้และคุ้มที่จะทำ ในขณะที่พลาสติกและโฟมแม้จะบอกว่ารีไซเคิลได้แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครทำเพราะไม่คุ้ม

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากศูนย์วิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า ตัวเลขใกล้เคียงกันคือ 13-14 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น พลาสติก 25% กระดาษเกือบ 10% ซึ่งในนี้มีแค่ 34% ที่รีไซเคิลได้ เมื่อดูในรายละเอียดจะเห็นว่ากล่องยูเอชทีเป็นกระดาษเคลือบพลาสติกซึ่งการกำจัดไม่ใช่เรื่องทำได้สะดวก เพราะระบบแยกขยะของไทยไม่ได้ผล

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการตาวิเศษซึ่งมีมาแล้วประมาณ 20 ปี รณรงค์แค่เรื่องให้คนทิ้งขยะให้ลงถัง หรือแม้แต่กทม.ที่พยายามแยกถังขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ เมื่อระบบการแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือนซึ่งเป็นต้นทางไม่ได้ผล การรีไซเคิลก็ไม่มีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางของธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากหลายประเทศออกกฎหมายกำจัดขยะ เช่น อียู ญี่ปุ่น เกาหลี ทำให้เห็นโอกาสของธุรกิจว่าน่าจะเป็นไปได้ จุดใหญ่ที่ทำเรื่องบรรจุภัณฑ์มาจากพลาสติกและโฟมที่ทิ้งแล้วเกิดผลกระทบเยอะมาก ทำให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ ที่รุนแรง และยังทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง รวมทั้ง ผลเสียต่างๆ ต่อสุขภาพซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของคนสูงมาก เพราะฉะนั้น ต้องหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากธุรกิจนี้มีมากมาย เช่น 1.ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม 2.ลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลหรือแก้ปัญหาสุขภาพ 3.พลาสติกและโฟมเป็นส่วนหนึ่งของปิโตรเลี่ยมเมื่อน้ำมันราคาสูงขึ้นย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย 4.เกษตรกรจะได้มูลค่าเพิ่มจากการปลูกพืชพันธุ์ที่ปลูก 5.ลดงบประมาณต่างๆ ของภาครัฐที่ต้องนำมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

ทั้งนี้ ความพิเศษของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมของเอ็มดีเอสกรุ๊ป อยู่ที่วัตถุดิบ ด้วยการนำพืชล้มลุกต่างๆ มาใช้ เช่น ผักตบชวา ชานอ้อย ข้าวโพด ต้นข้าว ไมยราบยักษ์ และเทคโนโลยีในการผลิต ทำให้บรรจุภัณฑ์นี้สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 45 วัน เมื่อถูกฝังลงในดิน สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ออกมา เป็นรูปแบบต่างๆ เพื่อบรรจุอาหาร เช่น จาน ชาม ถ้วย กล่อง และถาด

ปัจจุบัน โรงงานผลิตที่จังหวัดชัยนาถ ใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 400 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับเฟสแรกได้ประมาณปลายปีนี้ และจะเสร็จสมบูรณ์ 3 เฟสใน 3 ปีข้างหน้า โดยจุดสำคัญอีกส่วนคือการได้พันธมิตรด้านเทคโนโลยีจากจีน

โชว์กึ๋นเถ้าแก่ “Think Global , Act Local”

บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีการพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ในส่วนของรูปธรรมสำหรับประเทศไทย เพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานมานี้ โดยเอ็มดีเอสกรุ๊ป เป็นเสือปืนไว สามารถหาเทคโนโลยีและผลิตออกสู่ตลาดได้ก่อนใครๆ

วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ และสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอม.ดี.เอส.ซินเนอร์ยี จำกัด สองหุ้นส่วน กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”อย่างมั่นใจถึงทิศทางในธุรกิจนี้ และผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในมือว่ามีจุดเด่นชัดเจน เป็นผลิตภัณฑ์จากชีวภาพที่มีคุณสมบัติที่ดีสามารถใช้เป็นจุดขายและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างสบายๆ

สำหรับการนำสินค้าออกสู่ตลาด ก่อนการผลิตจริงมีการสำรวจความต้องการพบว่าตลาดมีความต้องการสูงมาก เช่น โรงงานอาหารแช่แข็งในย่านพระราม 2 ซึ่งนอกจากจะต้องการมากแล้ว ในจังหวะที่ราคาน้ำมันเพิ่ม ทำให้ราคาพลาสติกสูงกว่าราคาของผลิตภัณฑ์จากชีวภาพ หรือราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวขึ้น-ลงมากจนทำให้คำนวณต้นทุนยาก เป็นตัวเร่งให้ตลาดหันมาต้องการเร็วขึ้น เพราะนอกจากแนวโน้มของราคาจะลดลงได้เรื่อยๆ ยังสามารถคำนวณต้นทุนได้ง่ายเพราะราคาไม่อ่อนไหวเปลี่ยนไปมา

ทั้งนี้ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์จากชีวภาพ ยังมีอุปสรรคจากความวิตกกังวลของลูกค้าปลายทางเกี่ยวกับการใช้ และเกรงว่าจะเกิดปัญหา เช่น มีข้อสงสัยลังเลในแง่ของการใช้งานว่าจะทนความร้อน หรือจะแช่แข็งได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ของเดิมใช้ได้เหมาะสมตามต้องการอยู่แล้ว ในช่วงที่ราคาสูสีใกล้เคียงกันลูกค้าจึงไม่คิดจะเสี่ยงเพราะความไม่แน่ใจ ต่อเมื่อราคาต่ำกว่าจึงจะสามารถจูงใจได้

แต่สำหรับบางตลาดมีความจำเป็นเป็นตัวบังคับ เช่น การส่งสินค้าเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีการใช้โฟมส่งเข้าไป ทำให้เกิดความยุ่งยากเพราะต้องเปลี่ยนการบรรจุใหม่ ในขณะที่ต้องเสียภาษีค่ากำจัดขยะที่เป็นโฟมอีกด้วย เพราะฉะนั้น ตลาดญี่ปุ่นจึงยินดีที่จะซื้อในราคาสูงกว่าถึง 2 เท่า เพราะทั้งการถูกกฎหมายบังคับและการเรียกร้องของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นให้เกิดความต้องการมากขึ้น เมื่อสหภาพยุโรปออกประกาศใหม่มากำหนดเช่น มาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่จะนำเข้าไป , ต้องลดขนาดหีบห่อให้ใช้เท่าที่จำเป็น , ต้องนำกลับไปใช้ใหม่ได้ และลูกค้าที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ต้องแจ้งความประสงค์ว่าจะนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยุ่งยากสำหรับผู้ค้า อย่างไรก็ตาม มีข้อได้เปรียบสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ว่าจะได้รับการยอมรับทันที

“คนต่างประเทศอยากจะได้แบบนี้อยู่แล้ว และเมื่อเห็นแพ๊กเกจจิ้งแบบนี้ยิ่งอยากจะได้มากขึ้น นอกจากนี้เรายังสามารถทำได้ตามรูปแบบที่ต้องการ ซึ่งผู้ส่งออกของไทยหันมาสนใจมากขึ้นด้วย เราจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำออกมาตอบสนองความต้องการของตลาด วิธีของเราจะผลิตเมื่อมีความต้องการชัดเจน ซึ่งตอนนี้เรามีลูกค้ารออยู่แล้ว โดยเฉพาะตลาดส่งออก”

“ก่อนหน้านี้เราขายคอนเซ็ปต์ว่าเราทำอะไร แต่บ้านเรากับต่างประเทศต่างกัน ตรงที่ต่างประเทศจะมองเรื่องสิ่งแวดล้อมก่อน ขณะที่บ้านเราให้สิ่งแวดล้อมอยู่ท้ายสุด เพราะมองเรื่องต้นทุนก่อน แล้วจึงตามด้วยสุขภาพและความปลอดภัย แล้วค่อยมามองเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เมื่อต้นทุนใกล้เคียงกัน ผู้ประกอบการจะไม่สนใจเปลี่ยน เพราะการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องใหญ่ ต้องออกแบบสายการผลิตใหม่ทั้งหมด มีเรื่องต้นทุน แหล่งซัพพลายเออร์” สุรศักดิ์ อธิบายสภาพตลาด

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับพลาสติกหรือโฟม มีมาก เช่นที่สำคัญ 1.สามารถนำเข้าสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องเสียภาษีซึ่งมีอัตราแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ เช่น เยอรมนีเรียกเก็บ 2-6 เท่าของราคาบรรจุภัณฑ์ตามที่เขาตีราคาเอาไว้ไม่ใช่ราคาของเรา 2.เป็นของใหม่ เมื่อลูกค้ามากขึ้นต้นทุนเราต่ำลงแน่ 3.การนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น ใช้ไมโครเวฟได้ ทนความร้อน 4.ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ 4.ในกระบวนการผลิตประหยัดพลังงานกว่าเพราะใช้ไอน้ำไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่มีของเสียในระบบการผลิต และ5.ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าและองค์กรที่นำไปใช้ รวมทั้ง สามารถขึ้นแบบได้ตามต้องการเหมือนพลาสติกและโฟม

นำร่องบรรจุภัณฑ์ชีวภาพเปิดแนวรุกโมเดิร์นเทรด

สำหรับในช่วงเริ่มต้นนี้ บริษัทฯ มองตลาดหลักเป็น 4 ส่วน 1.โรงงานอาหารแช่แข็ง 2.ผู้ผลิตอาหารประเภทพร้อมทาน (ready to eat) ซึ่งรวมถึงบริษัทต่างๆ เช่น เอสแอนด์พี, สุรพลฟูดส์, พรายทะเล 3.ผู้ผลิตอาหารประเภทสำเร็จรูป เช่น คัพนูดเดิล คัพโจ๊ก และ4.กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์อาหาร ซึ่งมีการสำรวจตลาดมาแล้วพบว่ามีศักยภาพสูงมาก

สำหรับเป้าหมายหลักต้องการทำตลาดส่งออก 80% ส่วนที่เหลือ 20%จึงเป็นตลาดในประเทศ เพราะตลาดต่างประเทศมีความพร้อมที่จะรองรับมากกว่า

ดังนั้น จุดเริ่มในการทำตลาดอยู่ที่กลุ่มค้าปลีกก่อน เนื่องจากคิดว่าในส่วนของผู้ผลิตต้องใช้เวลาในการทำงานมากในรายละเอียดเพื่อให้เหมาะกับไลน์การผลิตของแต่ละราย ในขณะที่กลุ่มค้าปลีกทำง่ายกว่า โดยการเริ่มเจาะประเภทที่เป็นธุรกิจระดับนานาชาติ อย่าง คาร์ฟูร์ เทสโก้ และท๊อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต

“การที่เรามุ่งตลาดต่างประเทศ แต่เริ่มที่รีเทลซึ่งเป็นอินเตอร์ฯ เพราะเมื่อการจัดหาสินค้าของกลุ่มรีเทลพวกนี้ซึ่งมีธุรกิจระดับโกลบอลจะทำให้สินค้าของเราใช้ช่องทางนี้ออกไปได้ง่าย”

“สำหรับการเข้าไปในรีเทลเข้าไปที่ชั้นวางสินค้าจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งทางรีเทลก็ต้องการอยู่แล้วเพราะสินค้าแบบนี้หายาก และเขาต้องการสร้างแคทิกอรี่ใหม่ ในขณะที่สินค้าของเรามีหลากหลายให้เลือกมาก ตัวที่แตกต่างจากของคนอื่นที่มีอยู่แล้วอย่างชัดเจนคือชาม ซึ่งไม่มีใครทำ”

แต่เลือกเป็นสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ โดยมีแบรนด์ของตัวเองติดอยู่ด้วย เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับแบรนด์ใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก เช่น ถ้าใช้แบรนด์เองต้องต่อรองจ่ายค่าลิสติ้งฟี และอื่นๆ อีก ในที่สุดก็ไม่สามารถทำให้ลูกค้าจดจำได้มากพอ ดังนั้น การใช้เป็นเฮ้าส์แบรนด์ก็เพื่อต้องการสร้างแคทิกอรี่นี้ให้เกิดในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยขณะเดียวกันมีโลโก้ของเจ้าของสินค้าอยู่ด้วย เมื่อผู้บริโภครับรู้ค่อยแยกเป็นแบรนด์ออกมา เพราะการสร้างแคทิกอรี่ใหม่ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่รู้มาก่อนว่ามีสินค้าแบบนี้ขายอยู่ เป็นเรื่องที่ยากกว่าการสร้างแบรนด์ แต่เมื่อเกิดแคทิกอรี่แล้วการสร้างแบรนด์จะใช้เงินน้อยกว่า

“เราไปสร้างอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภค เป็นกลุ่มบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางห้างก็หวังว่าเมื่อเราเป็นผู้นำในกลุ่มนี้แล้ว ก็จะมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ตามมา ทำให้เกิดแคทิกอรี่ใหม่ในห้างเป็นหนทางให้ผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้น สร้างรายได้ใหม่เพิ่มให้รีเทลเลอร์ เช่น อาจจะมีถุงพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย ไม่ใช่แค่ภาชนะบรรจุอาหารอย่างที่เราทำเท่านั้น”

สำหรับตลาดในประเทศในช่วง 4-5 เดือนที่เริ่มต้นมา ได้รับผลตอบรับดีมากเกินกว่าที่คาดไว้ อาจจะเป็นเพราะการรู้จักสินค้านี้มากขึ้น และราคาจูงใจเพราะถูกกว่าภาชนะใส่อาหารพลาสติกประมาณ 10% ส่วนภาชนะโฟมมีเพียงประเภทกล่องที่ได้รับความนิยมมากแต่ราคาของโฟมยังต่ำ 1 เท่าตัว

“ถ้าภาครัฐเข้ามารณรงค์เรื่องความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อทุกคนก็จะช่วยให้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมก้าวไปได้ไกลกว่านี้อีกมาก” ผู้บริหาร เอ็มดีเอสกรุ๊ป กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.