"ทรูมันนี่" มือถือเบิกเงินโมบายเพย์เมนต์แนวใหม่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- "ทรู มันนี่"สร้างปรากฏการณ์ใหม่ โมบายเพย์เมนต์ไทย ด้วยมือถือ "เติม-จ่าย-โอน-ถอน"
- ผนึก "วีซ่า" พันธมิตรระดับโลกถอนเงินผ่านตู้เอเทีเอ็มทั่วโลก
- สานฝัน "คอนเวอร์เจนซ์ โซลูชั่น" วิชั่นกลุ่มทรู จิกซอร์เครือข่ายบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์
- มั่นใจบริการนี้โตแน่ ตั้งเป้าปีหน้าลูกค้าแตะ 1 ล้านราย หลังผู้ใช้เห็นประโยชน์

ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ของทรู คอร์ปที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำ "คอนเวอร์เจนซ์ โซลูชั่น" ที่พยายามรวบรวมเทคโนโลยีที่แตกย่อยเป็นบริการต่างๆ กันออกไป ให้เกิดการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เข้าหากันและนำเสนอสู่ผู้ใช้เพียงหนึ่งเดียว โดยแบ่งบริการของกลุ่มทรูไว้เป็น 5 เครือข่ายบริการ ประกอบไปด้วย ทรู ออนไลน์ ทรู มูฟ บริการเคเบิลทีวี ทรู ไลฟ์สไตล์และทรู มันนี่ โดยจะทำหน้าที่ให้บริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางด้านการเงินทั้งหมดของกลุ่ม

วันนี้ "ทรู มันนี่" 1 ใน 5 เครือข่ายบริการที่ทางศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วางเป็นจิกซอว์สำคัญในการกล่าวไปสู่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้เริ่มต้นทำหน้าที่แล้ว

"วันนี้ ทรู มันนี่ได้ต่อยอดขีดความสามารถในการให้บริการการเงินภายใต้ชื่อ "บริการทรูมันนี่" จากทรู มันนี่ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นับจากนี้ไป ลูกค้าทรู ทรูมูฟที่เปิดใช้บริการนี้ไม่เพียงแต่จะสามารถเติมเงินและเลือกซื้อบริการต่างๆ จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ "ทรูมูฟ" แบบรายเดือน ค่าบริการ "ยูบีซี" ค่าเครื่องดื่มที่ "ทรู คอฟฟี่" และบริการอื่นๆ ในเครือทรูเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้บริการทรูมันนี่ในการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ อีกมากมาย อย่าง การโอนเงินระหว่างบัญชีทรูมันนี่ โอนเงินจากบัญชีธนาคารมาที่บัญชีทรูมันนี่ และยังใช้ถอนเงินจากบัญชีทรูมันนี่ด้วยบัตรทรูมันนี่ ผ่านตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ" อติรุฒน์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัดบอกถึงพัฒนาการของบริการการเงินของทรูมันนี่เอาไว้"

"ทรูมันนี่" เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการประมาณปลายปี 2548 หลังจากที่บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัททรูได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ดำเนินกิจการธุรกิจบัตรเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ และได้รับอนุญาตจากกรมสรรพากในการเป็นตัวแทนรับชำระเงิน โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรกที่ 200 ล้านบาท ในระยะแรกได้เปิดตัวบัตรเงินสดโมบายมันนี่แคชการ์ดออกมาในช่วงปลายปี 2548 เช่นกัน พอในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ทรูมันนี่ได้เปิดให้บริการการเงินผ่านซิมมือถือ "ทรู มูฟ" ในระยะที่สองของการให้บริการ โดยมีแนวคิดที่จะให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการธุรกรรมการเงินเคลื่อนที่ได้ ด้วยการร่วมมือกับธนาคารชั้นนำในประเทศไทย 7 ธนาคาร ประกอบไปด้วยธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ยูโอบีและธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถซื้อบริการต่างๆ ภายใต้บริการ "ทรู" และ "ทรูมูฟ"อาทิ เติมเงินมือถือทรูมูฟแบบเติมเงิน วีพีซีทีบัดดี้ ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตคิต และซื้อชั่วโมงเกม "ฟันการ์ด"

"วันนี้บริการของทรูมันนี่ได้ให้บริการ "ถอน" เงินจากตู้เอทีเอ็มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ทรูมันนี่กลายเป็นโมบายเพย์เมนต์รายแรกที่สามารถทำธุรกรรรมการเงิน เติม จ่าย โอน และถอนเงินได้" อติรุฒม์กล่าวถึงนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้บริการโมบายเพย์เมนต์อย่าง "ทรู มันนี่" มีความเหนือชั้นกว่าผู้ให้บริการรายอื่นในเวลานี้

บริการ "ถอน" นั้นทางทรู มันนี่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับสากลอย่าง "วีซ่า" โดยเพียงมีบัตรทรูมันนี่ที่ร่วมมือกับวีซ่าพร้อมรหัสกดเงินเหมือนกับเอทีเอ็ม ก็สามารถที่จะถอดเงินตามตู้เอทีเอ็มที่มีเครื่องหมายวีซ่าที่หน้าตู้ได้ทันที

"นอกจากตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยแล้ว ลูกค้าของทรูมันนี่ยังสามารถนำไปถอนเงินในต่างประเทศได้ เพียงแต่ต้องเป็นประเทศที่ทรูมูฟโรมมิ่งเท่านั้น"

สำหรับผู้ที่จะต้องการใช้บริการ "ถอน" จากทรูมันนี่จะต้องติดต่อซื้อบัตรทรูมันนี่ก่อนตามช้อปของทรูมูฟทุกสาขาในราคา 100 บาท แต่ในช่วงนี้ทางทรูมูฟได้จัดโปรโมชั่นพิเศษคิดค่าบัตรเพียง 50 บาท

การใช้บริการ "ทรูมันนี่" นั้น ผู้ใช้เพียงแต่ลงทะเบียนเปิดใช้บริการจากเมนูทรูมันนี่บนมือถือ "ทรูมูฟ" เท่านั้น โดยใส่เลขที่บัตรประชาชนและกำหนดรหัสผ่านของตัวเองขึ้นมาเพื่อเปิดบัญชีทรูมันนี่เพียงเท่านั้นก็สามารถใช้บริการทรูมันนี่ได้แล้ว สำหรับผู้ใช้บริการทรูมูฟที่ยังไม่มีเมนูสามารถดาวน์โหลดได้โดยส่งเอสเอ็มเอส พิมพ์คำว่า TM สำหรับเมนูภาษาไทย และ TMEN สำหรับเมนูภาษาอังกฤษไปที่หมายเลข 9000 จากนั้นทางระบบก็จะส่งเมนูมาให้ พอลงทะเบียนเรียบร้อยผู้ใช้บริการสามารถเติมเงินเข้าบัญชีทรูมันนี่ได้เลย โดยสามารถเลือกวิธีเติมเงินได้การผูกเข้ากับบัญชีธนาคาร ผ่านบัตรเครดิต หรือเติมเงินด้วยทรู มันนี่ แคชการ์ด โดยมีวงเงินสูงสุดที่ 30,000 บาท

กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทรูมันนี่ยังบอกถึงเทคโนโลยีที่ทรูมันนี่ใช้ให้บริการการเงินผ่านซิมมือถือว่า บริษัทไดใช้เทคโนโลยี ซิมทูลคิตซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทรูมูฟเลือกใช้มาตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ จึงทำให้ไม่มีปัญหาที่จะต้องเปลี่ยนซิมแต่ประการใด โดยผู้ใช้ที่มีซิมก่อนหน้านี้ก็เพียงส่งคำสั่งข้อมูลเมนูเท่านั้น แต่ถ้าเป็นผู้ใช้ชิมทรูมูฟตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะมีเมนูทรูมันนี่มาให้เรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมการเงินของทรูมันนี่ อติรุฒม์กล่าวอย่างมั่นใจถึงระบบความปลอดภัยรวมถึงระบบธุรกรรมของทรูมันนี่ที่ทุ่มไปกว่า 100 ล้านบาทว่า ระบบความปลอดภัยในบริการของทรูมันนี่มีการป้องกันถึง 3 ชั้น เริ่มจากการเข้ารหัสที่ส่งออกมากับข้อมูลของผู้ใช้ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถอ่านได้ในระหว่างทาง เมื่อข้อมูลดังกล่าวเข้ามาถึงเซิร์ฟเวอร์ของทรูก็จะมีการถอดรหัสที่ส่งมาเพื่อแปลงเป็นข้อมูล หลังจากนั้นก็จะมีการเข้ารหัสเพื่อส่งเลขหมายโทรศัพท์ไปอีกทาง เท่ากับว่ามีการเข้ารหัสตั้งแต่เครื่องลูกข่ายของผู้ใช้ มีการเข้ารหัสที่ติดตั้งที่เครื่องลูกข่ายที่รับข้อมูล และการเข้ารหัสในการเข้าระบบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการส่งข้อมูลซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้ยากแก่การลักลอบดักจับข้อมูล ถ้าหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็จะมีการตรวจสอบถึงปัญหา โดยทำตามระบบปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ที่ควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ถ้าผลออกมาว่าเป็นความผิดพลาดของทรู บริษัทก็จะรับผิดชอบ

อติรุฒม์ยังบอกอีกว่า บริการทรูมันนี่ยังช่วยให้ลูกค้าสามารถซื้อบริการนอกเครือข่ายทรู เช่น ใช้จ่ายที่ร้านค้าภายใต้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ปไม่ว่าจะเป็นเมเจอร์ โบว์ล เมเจอร์ คาราโอเกะและร้านค้าทีเข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 ร้านค้า

"เวลานี้ ทรูมันนี่สามารถจ่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงได้แล้ว และต่อไปจะเป็นบริการชำระค่าบริการสาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการ คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีร้านค้าเข้าร่วมหลายหมื่นแห่ง"

บริการ "ทรูมันนี่" เป็นบริการที่พัฒนาขึ้นมาให้บริการการเงินแก่ลูกค้าของทรูมูฟ ที่ปัจจุบันมีใช้บริการอยู่เกือบ 5 ล้านเลขหมาย แต่เมื่อมองถึงฐานลูกค้าของกลุ่มทรูไม่ว่าจะเป็นทรู อินเทอร์เน็ตแสนกว่าราย บริการโทรศัพท์พื้นฐาน "ทรู" ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีเกือบ 2 ล้านเลขหมาย บริการวีพีซีที และบริการยูบิซีที่มีอยู่กว่า 486037 รายไตรมาสแรกของปี 25649 ทั่วประเทศ นับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถือว่าเป็นฐานที่ใหญ่และมีโอกาสที่จะหันมาใช้บริการทรูมูฟเพื่อใช้บริการ "ทรูมันนี่" ได้ในอนาคต หากบริการโมบายเพย์เมนต์ได้รับความนิยมมากขึ้น

ส่วนเป้าหมายยอดสมาชิกผู้ใช้บริการ "ทรูมันนี่" นั้น ทางปิยชาติ รัตน์ประสาทพร ผู้จัดการทั่วไปร่วม บริษัท ทรู มนนี่ จำกัดบอกว่า บริษัทตั้งเป้าสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 แสนรายภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นรายหลังเปิดให้บริการโมบายเพย์เมนต์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และคาดว่ายอดผู้ใช้จะเพิ่มเป็นหลักล้านรายภายในปีหน้า โดยเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของทรูมูฟที่มีฐานลูกค้าประมาณ 5 ล้านคน

ส่วนแผนการตลาด ปิยชาติบอกว่า จะเน้นใช้สื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับรูปแบบบริการใหม่ๆ ได้ดีกว่า ใช้งบการตลาดทั้งปีประมาณ 100 ล้านบาทไม่รวมโปรโมชั่นต่างๆ

"บริษัทได้จัดเตรียมภาพยนตร์โฆษณาความยาว 45 วินาทีภายใต้แนวคิด "น้องมือถือ" เพื่อสื่อให้เห็นว่า ต่อไปนี้มือถือทรูมูฟของคุณจะว่าง่ายและขยัน สั่งให้ทำธุรกรรมการเงินสารพัดได้อย่างปลอดภัย ทุกที่ทุกเวลาในพริบตาเดียว"

ปิยชาติยังบอกอีกว่า ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งบริษัทประมาณ 1 หมื่นล้าน แบ่งเป็นสัดส่วน 90% จากยอดจำหน่ายบัตรเงินสด และอีก 10% จากบริการอื่นๆ ปัจจุบันมียอดการใช้งานบัตรเงินสดประมาณ 60% คาดว่าภายในไตรมาสที่ 3 จะมียอดการใช้งานเพิ่มเป็น 90% เพราะผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่าบัตรเติมเงินทั่วไป เนื่องจากซื้อเพียงบัตรเดียวสามารถใช้ในการชำระเงินได้ทุกประเภทบริการ"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.