|

ต่างชาติทิ้งหุ้นทั่วภูมิภาค-ตลาดไทยดัชนีหลุด700จุด
ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วนนักลงทุนยังกระหน่ำเทขายต่อเนื่อง ตลาดหุ้นจีนวูบวันเดียว 5.33% สูงที่สุดในรอบ 4ปี ขณะที่ตลาดหุ้นไทยร่วงหลุด 700 จุดแล้วต่ำที่สุดในรอบปี ขณะที่หากเทียบกับจุดสูงสุดของปีร่วงแล้วกว่า 12% ต่างชาติทิ้งไม่หยุดล่าสุดเพิ่มอีกเกือบ 4 พันล้าน โบรกฯลุ้นรีบาวน์ที่ 680 จุด ระบุยังหาจุดต่ำสุดรอบนี้ไม่ได้ "พิชิย อัคราทิตย์"ชี้เป็นจุดต่ำสุดแล้ว เชื่อเป็นจังหวะดีที่กองทุนเข้าลงทุน
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (7 มิ.ย.)ดัชนียังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นต่างประเทศประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาตลอดทั้งวันและปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 700 จุด ซึ่งดัชนีมาปิดที่ 688.22 จุดลดลง 13.82จุด หรือ 1.97% โดยดัชนีต่ำสุดของวันอยู่ที่ 685.80 จุด และจุดสูงสุดอยู่ที่ 697.90 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,241.07 ล้านบาท
การซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่มปรากฏว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,935.55 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 766.97 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 3,168.58 ล้านบาท
ด้านดัชนีตลาดหุ้นเมื่อเทียบกับราคาปิดช่วงสิ้นปี 2548 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ 713.73จุด ลดลงแล้ว 25.51จุด หรือ 3.57% ขณะที่เมื่อเทียบช่วงที่ดัชนีปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบปีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 785.38 จุด ซึ่งลดลงแล้ว 97.16 จุดหรือ 12.37%
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณเรื่องการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐของเฟดว่าจะมีทิศทางใดหลังจากนี้
ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของดัชนี ณ ขณะนี้ยังมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงได้อีก เพราะหากพิจารณาการปรับขึ้นของดัชนีก่อนหน้านี้ยังถือว่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงยังไม่เท่าระดับที่เคยปรับขึ้น โดยในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 18% แต่การปรับลดลงในรอบนี้ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 12-13%
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากดัชนีปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 680 จุดน่าจะเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาเหมือนช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 700 จุดเนื่องจากระดับพี/อีเรโชของตลาดหุ้นไทยถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
"เรายังคงหาจุดต่ำสุดในรอบนี้ไม่ได้ เพราะแรงกดดันที่เกิดขึ้นจะสามารถคลี่คลายความกังวลได้ก็ต้องรอสัญญาณจากประธานเฟดเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยก่อน"นายสุกิจกล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุน นักลงทุนระยะสั้นที่ติดหุ้นในราคาที่สูงควรจะยอมขายขาดทุนเพื่อถือเงินสดก่อนจะเข้าไปซื้อเฉลี่ยเพื่อเก็งกำไร ขณะที่นักลงทุนระยะ 3-6 เดือนไม่น่าจะมีปัญหาเพราะราคาหุ้นน่าจะเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติได้ในอีกไม่นาน
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้ (7มิ.ย.)ปรับตัวลดลง
เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศทั้งภูมิภาคเอซียและสหรัฐอเมริกามีการขายหุ้นออกมา ในกลุ่มธนาคาร ซึ่งปกติแล้วตลาดหุ้นจีนจะมีการปรับตัวลดลงไม่มาก แต่วานนี้มีการปรับตัวลดลงถึง 5.33% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 4 ปี จากนักลงทุนมีความกังวลในเรื่องการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ของสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนลักษณะเก็งกำไรมีการขายหุ้นออกมาเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จึงส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง ส่วนการที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.)มีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% นั้นมีผลกระทบน้อยมากต่อดัชนีฯตลาดหุ้นไทย เนื่องจาก ตลาดมีการปรับรู้แล้วไปก่อนหน้านี้
“ภาวะตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 700 จุด ประเด็นหลักมาจากเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศมีการไหลออกทั้งภูมิภาคเอเซีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่มีการปรับตัวลดลง 5.33% ซึ่งมากที่สุดในรอบ 4 ปีของตลาดหุ้นจีน ซึ่งปกติแล้วดัชนีตลาดหุ้นจีนจะมีการปรับตัวลดลงน้อยที่สุดในภูมิภาคโดยมีแรงขายออกมาในหุ้นกลุ่มธนาคาร”นายแสงธรรมกล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (8 มิ.ย.)คาดว่าหากดัชนีมีการปรับตัวลดลงจากอยู่ที่ 682จุด ก็คาดว่าดัชนีฯจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยมีแนวรับที่ระดับ 680 จุด แนวต้านที่ระดับ 700 จุด
นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า การที่ตลาดปรับลดลงถือว่าปรับตัวลดลงเกินคาดหลังกนง.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 5.00%
ทั้งนี้ปัจจัยที่เกิดขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวของตลาดมากกว่าจะมาจากปัจจัยพื้นฐาน แต่เชื่อว่าในช่วงสั้นจะกลับไปยืนเหนือระดับ 700 จุดได้อย่างไรก็าม ช่วงสั้นแนะนำให้นักลงทุนที่ชอบเก็งกำไรหลีกเลี่ยงการลงทุนและนักลงทุนระยะยาวควรรอจังหวะที่จะเข้าไปเก็บซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแต่ราคาปรับลดลง เช่น พลังงาน แบงก์ และวัสดุก่อสร้าง
**กองทุนเชื่อถึงจุดต่ำสุดแล้ว
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าแรงกดดันในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปคงลดลงแล้วหลังจาก ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี อีก 0.25% เป็น 5% ซึ่งการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 700จุดมาอยู่ที่ระดับ 680-700 จุด น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้วและถือเป็นโอกาสดีที่นักลงทุนน่าจะเข้าไปลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
“ในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะปรับลงไปกว่านี้แล้วโดยในช่วงที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 700-710 จุดเอ็มเอฟซีก็ได้เข้าไปลงทุนแล้ว ”นายพิชัยกล่าว
สำหรับปัจจัยทางด้านการเมืองส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทางอ้อมอยู่แล้วเนื่องจากความไม่ชัดเจนดังกล่าวส่งผลต่อตัวเลขการลงทุนของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและหากไม่มีข้อสรุปโดยเร็วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้
ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยลดลงต่ำกว่าแนวรับ 700 จุดเป็นเรื่องของเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลออกอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุด นายเบน เบอร์นานกี ผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ออกมาให้สัญญาณว่ามีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในระยะต่อไปส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกซึ่งไม่ใช่เฉพาะตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกด้วย
ทั้งนี้ มองว่าดัชนีที่ระดับปัจจุบันถือว่าหุ้นไทยมีราคาถูกแล้วอย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลงได้อีกเนื่องจากอาจจะมีบางกองทุนที่ยังคงโยกย้ายเงินออกไปจากตลาดหุ้นไทยโดยมองแนวรับในระยะต่อไปน่าจะอยู่ที่ 680 จุด ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการของบริษัทช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังมองดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงสิ้นปีนี้ที่ 780 จุดโดยที่ไม่มีการปรับขึ้นหรือลงแต่อย่างใด ส่วนในระยะต่อไปจะปรับเป้าดัชนีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ยังคงอยู่ในภูมิภาคโดยการขายหุ้นแล้วโยกไปลงทุนในพันธบัตรหรือตลาดเงินเพื่อรอจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยเฟดนิ่งแล้วก็จะกลับมาลงทุนอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|