"การฟื้นตัวของนครไทยกรุ๊ป"

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2532)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงที่สวัสดิ์ หอรุ่งเรื่อง ประธานครไทยกรุ๊ป แยกตัวออกมาจากพี่ชายเมื่อปี 2525 เขามีหนี้สินติดมา 200 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์มีมูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท เขาต้องบริหารกิจการภายใต้วิกฤติหนี้สิน และอุตสาหกรรมเหล็กเส้นตกต่ำขีดสุด แต่แล้วในที่สุดเพียง 6 ปี เขาก็สามารถบริหารนครไทยกรุ๊ปฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างสวยงาม

นครไทยสตีลเวอร์ค เป็นบริษัทผู้ผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2521 เป็นของตระกูล "หอรุ่งเรือง" ด้วยทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 2.5 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท นครไทยสตีล เป็นบริษัทแห่งแรกของกลุ่มนครไทยในปัจจุบันที่มีบริษัทในเครือข่ายธุรกิจเหล็กเส้น 4 บริษัท คือ เมธัลสตาร์ ไพรมาลี อัลลายด์สตีล เมโทร เมธัล และ เอส ที อินเตอร์เนชั่นแนล รีซอสเซท

นครไทยสตีล เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาของธุรกิจผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำของไทยที่น่าสนใจที่สุดในแง่ของการต่อสู้กับวิกฤติการณ์ตกต่ำที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่จะเจริญเติบโตอย่างขีดสุดในยุคปัจจุบันที่ราคาเหล็กเส้นเพื่อการก่อสร้างพุ่งขีดสุดถึงตันละเฉลี่ยเกือบ 12,000 บาท ซึ่งในวงการธุรกิจก่อสร้างยอมรับว่าเป็นราคาสูงสุดเท่าที่เคยมีมา "ณ สิ้นปี 2531 นครไทยสตีล มีเงินกองทุน 12 ล้านบาท (10,000 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท) และผลกำไรต่อหุ้น 63.97 บาท เทียบกับ 44.19 บาท เมื่อปี 2530 เพิ่มสูงถึง 45%" รายงานงบการเงินของบริษัทที่แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ระบุไว้เช่นนั้น

ความสำเร็จในผลประกอบการของนครไทยสตีลในวันนี้ไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ ความจริงก่อนหน้านี้ 6 ปี นครไทยสตีล เกือบอยู่ในภาวะแทบจะล้มละลาย "มันเป็นความทรงจำที่ผมไม่มีวันลืม วิกฤติการณ์ได้เกิดขึ้นกับบริษัทถึง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน" สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกลุ่มนครไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เทคโนโลยีการผลิตเหล็กรีดซ้ำไม่มีอะไรซับซ้อน สวัสดิ์นำวัตถุดิบที่เรียกว่า COBBLE PLATE มาตัดแบ่งเป็นชิ้นแล้วเข้าเตาหลอมเพื่อทำให้ร้อนแล้วรีดให้เป็นเส้นตามขนาดความต้องการของงานก่อสร้างคือ SR 24 ขนาด 6, 9, 11, 12 และ 15 มม. X 10 ม. ต้นทุนการผลิต 72% เป็นค่าวัตถุดิบแผ่นเหล็ก และค่าพลังงาน

เมื่อวัตถุดิบมีราคาแพงขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ต้นทุนการผลิตแพง ซึ่งในวงการผู้ผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำคำนวณออกมาจะตกประมาณ 6,200 บาท/ตัน ในสถานการณ์งานก่อสร้างขยายตัวต่ำ ราคาเหล็กเส้นตก จึงไม่คุ้มต่อการลงทุนเท่าไรนัก

ปี 2524 กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศควบคุมราคาขายส่งเหล็กเส้นรีดซ้ำไม่เกิน 3% จากราคาโรงงาน ขณะเดียวกัน ปัญหาภายในบริษัทนครไทยสตีลก็เกิดขึ้น วสันต์ พี่ชายของสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการควบคุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ เกิดประสบอุบัติเหตุขาหัก และหนี้สินจากการดำเนินธุรกิจสูงถึง 200 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์ที่มีอยู่เพียงไม่ถึง 50 ล้านบาทด้วยซ้ำไป

หนี้สิน 200 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้จากธนาคารกสิกรไทย และทหารไทยประมาณ 120 ล้านบาท และหนี้จากเอเยนต์ขายเหล็กให้นครไทยสตีลที่สวัสดิ์กับพี่ชายเบิกไปใช้ล่วงหน้าก่อนตามธรรมเนียมขายเหล็กให้เอเยนต์ประมาณ 80 ล้านบาท "เวลานั้นผมตัดสินใจขอแยกตัวออกมาจากพี่ชาย โดยเอากรุงไทยสตีลที่พ่อและพี่ชายรวมทั้งผมร่วมกันทำมาตั้งแต่ปี 2515 และนครไทยสตีล ซึ่งมีโรงงานอยู่เพียง 1 โรงมาให้ผมทำต่อ โดยผมยินดีรับสภาพหนี้เองทั้งหมด สวสัดิ์เล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงจุดเริมต้นของนครไทยกรุ๊ป

การตัดสินในแยกตัวออกมาทำเองของสวัสดิ์เป็นความหล้าหาญมาก ๆ เพราะ หนึ่ง-ราคาเหล็กเส้นยังไม่มีทีท่าดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมทั่วไปโดยเฉพาะงานก่อสร้างยังขยายตัวต่ำมาก เงินล่วงหน้าจากเอเย่นต์ที่สวัสดิ์กับพี่ชายเบิกล่วงหน้าไปใช้ก่อนแล้วค่อยส่งเหล็กทีหลัง มีความเสียหายมาก เนื่องจากราคาวัตถุดิบแผ่นเหล็กแพงขึ้นถึงต้นละ 300 เหรียญ ขณะที่ราคาขายตกต่ำ จึงมีแต่ขาดทุน และสอง-ธุรกิจเริ่มจากหนี้ 200 ล้านบาท ขณะที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จึงมีความเสี่ยงสูง

ปัญหามีอยู่ว่า สวัสดิ์จะก่อรูปทุนขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับหนี้ได้อย่างไร?

สวัสดิ์เริ่มแผนการขายทรัพย์สินที่เป็นตัวโรงงานกรุงไทยสตีลซึ่งมีกำลังผลิตเหล็กเส้นเพียงเดือนละ 1,000 ตันเศษ ออกไปให้ญาติพี่น้องคนหนึ่งของกลุ่ม "ยนตรกิจ" ในราคา 8 ล้านบาท ขอยืมเงินจาก ศิริพร หอรุ่งเรือง ซึ่งเป็นพี่สาว (เวลานั้นเป็นเจ้าของสุกี้ "แคนตัน" ที่สยามสแควร์) 10 ล้านบาท และได้มรดกจากการที่นายตั๊ก แซ่ห่อ ซึ่งเป็นพ่อขายหุ้นโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในกลุ่ม "ไทยรุ่งเรือง" ออกไปมูลค่า 30 ล้านบาท ซึ่งสวัสดิ์ได้มรดกจากส่วนนี้ 10 ล้านบาท

รวมเบ็ดเสร็จ สวัสดิ์มีทุนทำธุรกิจผลิตเหล็กเส้นต่อ 28 ล้านบาท เขาเอาทุนจำนวนนี้ 18 ล้านไปล้างออกจากบัญชีหนี้สินที่เขาติดค้างกับกสิกรไทยจนหมด โดยมีสินทรัพย์สำคัญคือตัวโรงงานนครไทยสตีล ซึ่งมีกำลังผลิตปีละ 1,000 ตันเศษ เป็นตัวที่จะทำรายได้ล้างหนี้สินในส่วนที่เหลือ

การทำธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กเส้นลงทุนสูงและผลตอบแทนกินเวลายาวนาน ความอยู่รอดต้องขึ้นอยู่กับการบริหารงานที่ทันสมัย สวัสดิ์เชื่อในหลักการนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว สมัยก่อนแยกตัวออกมาจากพี่ชาย ความเชื่อเช่นนี้เป็นเหตุหนึ่งของความแตกร้าวขัดแย้งกับพี่ชายมาตลอด

เมื่อเขามีโอกาส จึงไม่รอช้าที่จะดำเนินงานตามความเชื่อทันที!

เบื้องแรกสุด เขาต้องการนักวางแผนการเงินและระบบบัญชี มาวางแผนจัดการหนี้สิน สวัสดิ์ได้ชำนิ จันทร์ฉาย จากบริษัท 3 M (ประเทศไทย) ชำนิจบบัญชีจากธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเงิน-การบัญชีมาก ตอนอยู่ 3 M ทำงานด้าน COSTING รู้จักกับสวัสดิ์ตอนที่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำร่วมกันจัดทำโครงการลงทุนเหล็กสมบูรณ์แบบที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกในนามบริษัททิฟโก้ ซึ่งมีสวัสดิ์เป็นหัวเรือใหญ่ ชำนิทำงาน PART-TIME ให้ทิฟโก้ด้านการเงินในโครงการ แต่เมื่อโครงการล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแบงก์จำนวน 1,200 ล้านบาท ก็พอดีสวัสดิ์แยกตัวออกมาจากพี่ชายเพื่อมาทำนครไทยร่วมกับน้องชาย - ไสว หอรุ่งเรือง ซึ่งคุมงานสายการผลิต

สวัสดิ์ชวนชำนิมาร่วมสร้างนครไทยสตีลเมื่อปลายปี' 25 หนี้เอเยนต์และแบงก์ 200 ล้านบาท เป็นงานเฉพาะหน้าที่ท้าทายของชำนิมาก ภารกิจแรกของการแก้ปัญหาหนี้สินนครไทย ผมกับสวัสดิ์เห็นร่วมกันว่า เจ้าหนี้ด้านเอเยนต์จำนวน 80 ล้านบาท เป็นสิ่งแรกสุดที่ต้องเจรจาก่อนแบงก์ เพราะพูดกันง่าย สวัสดิ์ขอเวลายืดการชำระหนี้ยี่ปั๊วออกไป โดยยอมเสียดอกเบี้ยสูง 25.5% เพื่อให้เขามีเวลาปรับปรุงระบบการจัดการภายในบริษัทให้เรียบร้อย "มีเจ้าหนี้รายหนึ่ง ผมเป็นหนี้เขา 20 กว่าล้าน เอาปืนมาหาผม ตอนแรกผมตกใจนึกว่าเขาจะมายิงผม แต่แท้จริงเขากลัวว่าผมจะหนีหนี้ ถึงกับขู่ผมว่าถ้าผมหนี เขาจะยิงตัวตายต่อหน้าผมเลย" สวัสดิ์เล่าเหตุการณ์ตอนหนึ่งในการเจรจายืดเวลาชำระหนี้เอเยนต์ให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การยืดเวลาออกไป 1 ปี ของสวัสดิ์กับเจ้าหนี้เอเยนต์สำเร็จลงได้ด้วยดีด้วยเหตุผลความสัมพันธ์การค้าที่มีต่อกันยาวนาน และความตั้งใจจริงของสวัสดิ์ที่จะต่อสู้กันต่อไป แม้ลึก ๆ ในหัวใจเอเยนต์ทุกรายก็ไม่แน่ใจกับอนาคตของสวัสดิ์ ซึ่งเวลานั้นเหมือนคนล้มละลายแล้ว

เมื่อจัดการหนี้ด้านเอเยนต์ได้ สวัสดิ์กับชำนิก็เริ่มปรับปรุงปัญหาการบริหารภายในบริษัททันที ช่วงขณะนั้นสถานการณ์ธุรกิจเหล็กเส้นไม่มีอนาคตในสายตาแบงเกอร์ทั้งหลาย เหตุผลเพราะ หนึ่งต้นทุนการผลิตสูงถึงตันละ 6,000 บาทเศษ ขณะที่ราคาภายในตกตันละ 5,700-5,800 บาทเท่านั้น สอง-การลงทุนด้านงานก่อสร้างซบเซา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การลงทุนซบเซาขนาดหนัก

ปัญหาสำคัญที่เผชิญหน้าสวัสดิ์กับชำนิ เวลานั้นมีอยู่ 2 ประการ คือหนึ่ง-จะจัดหาวัตถุดิบเศษเหล็ก COBBLE PLATE มาผลิตเหล็กเส้นได้อย่างไร…? และสอง-จะทำอย่างไรในการเจรจากับแบงก์ทหารไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้เชื่อมั่นในตัวเขา และปล่อยวงเงินให้เขาทำธุรกิจนี้ต่อไป

สวัสดิ์กับชำนิไปพบประยูร จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทยเวลานั้น และอนุตร์ อัศวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อขอเวลาแก้ปัญหาหนี้สิน คำพูดของสวัสดิ์ที่บ่งบอกถึงความตั้งใจจริงของเขาในการต่อสู้ต่อไปเพื่อฟื้นกิจการให้จงได้ที่ว่า "ผมอายุ 40 ปี (ขณะนั้นปี' 26) มีลูก 2 คน ได้เงินจากปันส่วนหุ้นน้ำตาลประมาณ 10 ล้านบาท จากพ่อ ถามว่าสบายไหม? ผมสบาย แต่ผมต้องการนำเงิน 10 ล้านบาทนี้มาชำระหนนี้แบงก์ แล้วขอวงเงินทำธุรกิจต่อ" มีผลทำให้ประยูร และอนุตร์ตัดสินใจเข้าโอบอุ้มสวัสดิ์ต่อไป

ความสำเร็จในการเจรจาผ่อนปรนเวลาชำระหนี้และแถมได้วงเงินทำธุรกิจต่อ มันเป็นเหตุการณ์ที่ทุกวันนี้สวัสดิ์ไม่เคยลืมบุญคุณของแบงก์เกอร์ทั้งสองเลย เขาพูดกับ "ผู้จัดการ" เสมอว่าธุรกิจกลุ่มนครไทยมีมาทุกวันนี้ได้ เหตุผลหนึ่งมาจากการที่แบงก์ทหารไทยสนับสนุนเขามาตลอด

มองในแง่ประวัติศาสตร์ธุรกิจกลุ่มนครไทยแล้ว การสนับสนุนวงเงินของแบงก์ทหารไทยคราวนั้นคือจุดเริ่มต้นให้ออกซิเจนแก่สวัสดิ์มีโอกาสพื้นชีพขึ้น

ทหารไทยอัดฉีดวงเงินเปิด L/C เทอม 180 วัน COBBLE PLATE จากบริษัท สเต็นน่า แห่งสวีเดนมาผลิตเหล็กรีดซ้ำในโรงงานนครไทยสตีล

เวลานั้นราคาวัตถุดิบ COBBLE PATE ตกตันละเกือบ 220 เหรียญสหรัฐ ต้นทุนการผลิตของนครไทยพุ่งสูงถึงตันละ 6,000 บาทเศษ ขณะที่ราคาขายในประเทศ 5,700-5,800 บาท/ตัน ขาดทุนตันละ 300-400 บาท

ถึงขายเข้าเนื้อ สวัสดิ์ก็ต้องเดินหน้าต่อ! เพราะธุรกิจนี้เดิมพันด้วยชีวิตของเขาแล้ว เพราะ หนึ่ง-ผลิตแล้วขาย สามารถเอาเช็คของลูกค้า (เอเยนต์) มา PACKING CREDIT กับแบงก์ทหารไทย ขอวงเงินไปหมุนเวียนใช้ในการผลิตต่อได้ และสอง-สามารถเป็นผลด้านจิตวิทยาให้เอเยนต์ที่เป็นเจ้าหนี้เห็นว่าธุรกิจของสวัสดิ์เดินได้ต่อไป และมีโอกาสชำระหนี้สินได้เสร็จใน 1 ปี

ระหว่างนี้ยังมีคนอยู่ 2 คน ในช่วงเวลานี้ที่สวัสดิ์ไม่เคยลืมว่ามีส่วนช่วยป้อนวัตถุดิบให้เขาผลิตเหล็กต่อได้ คนหนึ่งคือ ถาวร อนันต์คูศรี ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด คูศรีสตีล และบริษัท K.S.S. STEEL ขณะนั้น ถาวรเป็นผู้จัดการทั่วไปอยู่ที่บริษัทไพรมาลีอัลลายด์ สตีล ซึ่งเขาร่วมหุ้นอยู่กับเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อโรงเหล้าชื่อดัง และอีกคนหนึ่งคือ อุดม โลหะชิตพิทักษ์ แห่งบริษัทอุดมอุตสาหกรรม บุคคลทั้ง 2 ร่วมกันขายวัตถุดิบ เศษเหล็ก ราคาตันละ 4,000-5,000 บาท เครดิต 90-100 วัน แก่สวัสดิ์เพื่อเอาผลิตเหล็กเส้นรีดซ้ำ

ที่สวัสดิ์ถือว่าเป็นบุญคุณที่ลืมไม่ได้ เพราะการผลิตที่พึ่งวัตถุดิบจากต่างประเทศเพียงแหล่งเดียวมันเสี่ยงเกินไป การได้แหล่งวัตถุดิบจากภายในประเทศช่วยป้อน จะช่วยกระจายความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนการผลิต และความแน่นอนของปริมาณด้วย

นครไทยสตีลมีกำลังผลิตเดือนละ 1,000 ตันเศษ ผลิตเหล็กเส้นมีขนาดไม่เกิน 15 ม.ม. เท่านั้น ขณะที่ตลาดต้องการคุณภาพสูงกว่านั้น สวัสดิ์เห็นจุดบกพร่องตรงนี้ของการผลิต เขาได้สุนทร ฉายแหลมหลักที่ปลุกปล้ำกับกลุ่มนครไทยมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นโรงกลึงและไสว หอรุ่งเรือง น้องชายที่จบจากเอซีซี แต่มีความรู้งานช่าง ร่วมกันคิดหาหนทาง MODIFY เทคนิคการผลิตจากเดือนละ 1,000 ตันเศษ เป็น 3,000 ตัน และจากเหล็กเส้นขนาดไม่เกิน 15 ม.ม. เป็น 19 ม.ม. "หัวใจสำคัญของการขยายขนาดเหล็กเส้นออกไปเป็น 19 ม.ม. อยู่ที่ต้องได้วัตถุดิบแผ่นเหล็กที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสวัสดิ์สามารถจัดหาวัตถุดิบมาได้จากการนำเข้าต่างประเทศ" ชำนิ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มนครไทยฯ ขุนพลด้านการเงินของสวัสดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

เมื่อสวัสดิ์แก้ปัญหาการผลิตและเจรจายืดชำระหนี้พร้อมขอวงเงินเพิ่มจากแบงก์ได้สำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือเหล็กเส้นที่ผลิตได้จะขายอย่างไร จึงสามารถช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัทมากที่สุด เขาได้บทเรียนมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า ขายเหล็กเส้นเองโดยกระจายให้เอเยนต์หลาย ๆ ราย เป็นเรื่องยุ่งยากมากว่ากันว่าครั้งหนึ่งเขากับชำนิ เคยไปนั่งรอเอยนต์ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อเก็บเงินค่าเหล็กเพียง 300,000 บาท

เมื่อโรงเหล็กนครไทยสตีลมีโอกาสฟื้นชีพขึ้นมาใหม่ เขาไม่ใช้วิธีการระบายขายเหล็กเส้นออกเหมือนแต่ก่อน สวัสดิ์ไปหากิจ มหัทธสกุล อดีตผู้จัดการทั่วไป ไทยเจริญเหล็กเส้น ผู้กว้างขวางด้านการขายเหล็กเส้น เวลานั้นกิจได้ลาออกจากไทยเจริญแล้ว เพื่อมาทำส่วนตัวโดยเป็นยี่ปั๊วให้โรงเหล็กเส้นของฉื่อจิ้นฮั้ว สวัสดิ์ขายแนวคิดให้กิจว่าเขาอยากจะตั้งบริษัทเมโทรเมธัลขึ้นมาเป็นเอเยนต์ผูกขาดรายเดียวในการขายเหล็กเส้นให้นครไทย โดยเขาจะถือหุ้นเพียงแค่ 20%

ความคิดตั้งเมโทรเมธัลของสวัสดิ์ เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะ หนึ่ง - กิจเป็นเอเยนต์ให้ฉื่อจิ้นฮั้ว ถ้าหันมาตั้งเมโทนเมธัลตามสวัสดิ์ แน่นอนเหล็กของฉื่อจิ้นฮั้วย่อมขายสู้เหล็กของนครไทยไม่ได้ สอง - การตั้งเมโทรเมธัลเท่ากับกิจร่วมลงทุนกับสวัสดิ์ ผลประโยชน์ของกิจกับสวัสดิ์จึงแยกกันไม่ออก

เหล็กจากนครไทยสตีลจึงมีหลักประกันด้านการขาย ซึ่งทุกวันนี้เมโทรเมธัลสามารถป้อนกระแสเงินสดในรูปตราสารการเงินทางการค้าให้นครไทยสตีล 3,000 ล้านบาทแล้ว นับตั้งแต่ก่อตั้งปลายปี 26 เป็นต้นมา

การเกิดเมโทรเมธัลในช่วงการฟื้นชีพของนครไทยสตีลนั้น นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การฟื้นตัวของนครไทยสตีลอย่างลึกซึ้ง เพราะเช็คทุกใบที่ผ่านเข้าบัญชีนครไทยสตีลไม่เคยเด้ง และสวัสดิ์ก็เอาเช็คนี้ไปขายต่อให้แบงก์เพื่อเอาวงเงินมาขยายการผลิตต่อจากเดือนละ 3,000 ตันเป็น 5,000 ตัน และส่วนหนึ่งก็นำไปชำระหนี้ที่ค้างชำระกับเอเยนต์จำนวน 80 ล้านบาท

และเพียงปีเดียวนับตั้งแต่เขาแยกทางมาจากพี่ชาย สวัสดิ์สามารถล้างหนี้จากเอเยนต์ได้หมด!

ต้นปี 2527 สวัสดิ์กับชำนิ เห็นลู่ทางการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กเส้น แม้เวลานั้นเงื่อนไขเศรษฐกิจจะยังไม่เป็นใจก็ตาม "เวลานั้นราคาเหล็กเส้นตกไม่ดี ตกตันละ 5,200-5,500 บาท ผมตัดสินใจขยายโรงงานผลิตเป็นโรงที่ 2 และ 3 มีกำลังการผลิตรวมเดือนละประมาณ 12,000 ตัน มีเหล็กคุณภาพขนาด 9 ม.ม. ถึง 25 ม.ม. เลย นักอุตสาหกรรมหลายคนบอกว่าผมบ้า ลงทุนไปได้อย่างไร ราคาเหล็กตกเอา ๆ แต่ผมเห็นอนาคต คนไทยบริโภคเหล็กยังน้อย เทียบกับประเทศอุตสาหกรรมแล้วเขามีถึง 15 ก.ก. / คน แต่ของเรายังต่ำมาก ผมเชื่อในอนาคตเราต้องไปสู่ทิศทางนั้นแน่ แต่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร ผมก็คอยเท่านั้น"

ในระหว่างรอคอยการบูมของธุรกิจก่อสร้าง สวัสดิ์เจอมรสุมลูกที่สองเข้าจังเบ้อเร่อ ปลายปี 2527 กระทรวงการคลังปรับค่าเงินบาทลอยตัวตามตลาด (BASKET CURRENCY SYSTEM) ทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจาก 23 บาทเศษลดค่าเป็น 27 บาท สวัสดิ์ถึงกับเหงื่อตกกลีบเพราะไม่ได้ทำคุ้มครองความเสี่ยงเอาไว้ จึงขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 30 ล้านบาทจากการนำวัตถุดิบเศษเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาผลิต

เขาจะหาทาง RECOVER ขาดทุน 30 ล้านบาทนี้ได้อย่างไร

ขณะนั้นในโกดังสินค้าทัณฑ์บนมีสต็อกเหล็กเส้น 40,000 ตัน เขาต้องหาทางระบายออกให้ได้! สวัสดิ์ไปหาวิทย์ วุฒิพุทธินันท์ จากบริษัทวิทย์คอร์ป เพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยวิทย์อยู่บริษัทการค้าฟิลิป บราเดอร์ ให้วิทย์ช่วยหาตลาดต่างประเทศให้ เพราะราคาเหล็กเส้นภายในประเทศตกต่ำ ตันละ 5,700 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงเกือบตันละ 7,000 บาท เทียบกับราคาต่างประเทศตกตันละ 240-280 เหรียญ

สวัสดิ์ขายล็อตแรก 10,000 ตันให้บริษัทรัฐวิสาหกิจในจีนแดงตันละ 210 เหรียญสำเร็จ โดยนำแผ่นเหล็กที่เป็นวัตถุดิบมาหลอมแล้วผลิตใหม่ตามคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ราคาเหล็กเส้นภายในตกลงเหลือ 5,200 บาท/ตัน เขาวิ่งเข้าหา ร.ม.ต. โกศล ไกรฤกษ์ ซึ่งคุมกระทรวงพาณิชย์อยู่เวลานั้นให้ยกเลิกมาตรการคุมราคาเหล็กเส้นที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2524 ปรากฏว่าสำเร็จ เหล็กเส้นลอยตัวตามตลาด แต่ราคายังไม่ขึ้นมากเท่าไร สวัสดิ์เร่งเร้าให้รัฐบาลช่วยผู้ผลิตเหล็กเส้นด้านค่าไฟฟ้า ค่าคืนภาษี และยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ "ค่าไฟฟ้าเราได้ลด 30 บาท/ตัน แค่คืนภาษีได้เพิ่มจาก 1.9% ของราคา F.O.B. เป็น 4.98%" สวัสดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสวัสดิ์กับชำนิ ได้บทเรียนจากการลดค่าเงินบาทเมื่อปลายปี' 27 ที่ละเลยทำคุ้มครองความเสี่ยงเอาไว้ การส่งออกเหล็กเส้น 40,000 ตัน โดยนำวัตถุดิบเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตใหม่ เขาทำ HEADING ในรูป FORWARD CONTRACT กับแบงก์ทหารไทยไว้หมด ว่ากันว่าเขา CODE ราคาส่งออกที่ 210 เหรียญบนฐานต้นทุนค่าความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท/เหรียญ (ในการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ) ขณะที่ต้นทุนส่วนนี้จริง ๆ ตกแค่ 26.3 บาทต่อเหรียญเท่านั้น ขณะที่ค่าไฟฟ้า ค่าคืนภาษี และค่ายกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบรัฐบาลเข้ามาปลดภาระให้ผู้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งสิ้น "แม้ราคา F.O.B. จะตกลงจาก 240 เหรียญ เหลือ 210 เหรียญ แต่เราก็มีกำไรนิดหน่อย" ชำนิกล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ"

นครไทยส่งเหล็กเส้นออก 58,000 ตัน ระหว่างปี 2528-29 ปรากฏว่า สามารถปลดภาระการขาดทุนจากการลดค่าเงินบาทเมื่อปลายปี' 27 30 ล้านบาทได้เกือบหมด

พอมีการส่งเหล็กเส้นออกต่างประเทศ จิตวิทยาของตลาดก็ดันให้ราคาเหล็กเส้นภายในเขยิบสูงขึ้นไปจนถึงเกือบ 7,000 บาท/ตัน เหล็กในโกดังคลังสินค้าทัณฑ์บน 40,000 ตันที่สวัสดิ์เก็บไว้เหมือนทองคำไปทันที สวัสดิ์เร่งเทขายออกหมด กำไรงดงามหลายล้านบาท ความสำเร็จตรงนี้ผสมกับกำไรจากการส่งออก ปรากฏว่า เพียงต้นเดือนเมษายน 2529 นครไทยของสวัสดิ์สามารถ RECOVERY ผลการขาดทุน 30 ล้านบาทจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปลายปี 2527 ได้หมด

และเหตุการณ์การ RECOVERY ขาดทุน 30 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้ได้สำเร็จลงมันหมายถึงการตอบโต้กระแสวิกฤติการณ์ที่โหมกระหน่ำนครไทยเป็นครั้งที่ 2 ในระยะ 3 ปีนับจากสวัสดิ์เริ่มแยกตัวออกมาสร้างอาณาจักรเอง

ท้องฟ้าเริ่มสดใสแล้ว หลังกลางปี 2529 การรอคอยภาวะการบูมของการลงทุนก่อสร้างในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สาธารณูปโภคและเรียลเอสเตทที่สวัสดิ์รอคอยมาตั้งแต่ปี 2527 เริ่มเป็นจริงขึ้นแล้ว

ถึงตอนนี้เขาประกาศกับสต๊าฟในนครไทยทุกคนว่า นครไทยพร้อมแล้วหลังจากสะสมกำลังมา 3 ปี "เรามีแม่ทัพคือตัวผมที่พร้อมลุยไปข้างหน้า มีขุนพลคือผู้บริหารระดับสูงฝ่ายต่าง ๆ เช่น ชำนิด้านการเงิน สุนทรด้านเทคนิคการผลิต กิจด้านการตลาด (ในบริษัทเมโทรเมธัล) แบงก์ทหารไทยที่พร้อมโอบอุ้มสนับสนุนด้านการเงิน ที่ทุกฝ่ายพร้อมนำนครไทยไปสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่" สวัสดิ์กล่าวต่อหน้าสต๊าฟทุกคนในวันฉลองปีใหม่ 2530

ช่วงปลายปี 2529 นครไทยมีโรงงานผลิตเหล็กรีดซ้ำ 3 แห่ง กำลังผลิตประมาณเดือนละ 12,000 ตัน สวัสดิ์สั่งเครื่องตัดแผ่นเหล็กเข้าเตาหลอมโรงงานนครไทยสตีลได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันก็สามารถป้อนขายให้แก่โรงงานเหล็กรีดซ้ำที่มีอยู่เกือบ 50 โรงได้ด้วย และจุดนี้คือที่มาของบริษัท เมธัลสตาร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2529 เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกนำเข้าวัตถุดิบแผ่นเหล็กจากต่างประเทศเข้ามาตัดแยกป้อนเข้าโรงงานนครไทยและขายให้โรงงานอื่นทุกวันนี้ เป็นศูนย์กำไรป้อนเข้าบริษัทนครไทยกรุ๊ปไปแล้ว (ดูแผนภูมิ) ขณะที่โรงงาน 3 แห่งของนครไทยผลิตเพื่อทั้งส่งออกและขายในประเทศอย่างไม่หยุดยั้งเฉพาะยอดส่งออกอย่างเดียวตกปีละเกือบ 400 ล้านบาท โดยมีชำนิเป็นขุนพลสำคัญในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน "มันไม่มีอะไรซับซ้อน เราได้บทเรียนตอนปี' 27 วัตถุดิบที่เมธัลสตาร์นำเข้าทุกตัน เราทำ HEADING ไว้หมด เนื่องจากค่าดอลลาร์ยังผันผวนต่อไป ราคาที่ขายส่งออก เราคำนวณจากต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท/ดอลลาร์ เวลา L/C ตกมา มันเป็น AT SIGHT สามารถไป PACKING กับแบงก์ทหารไทยเอาเงินออกมาหมุนใช้ต่อได้ทันที เฉพาะ SOREAD ของค่าแลกเปลี่ยนบาทกับดอลลาร์ เรากำไร 3-4 บาททุกครั้งที่ส่งออก ตัวนี้ทำกำไรให้เรามาก" ชำนิอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงจุดเริ่มฟื้นตัวเมื่อปี 2529

ปี 2530 ราคาเหล็กเส้นในประเทศเริ่มผงกหัวขึ้นตามความต้องการในธุรกิจก่อสร้างจากตันละเกือบ 7,000 บาทในปี 2529 ค่อย ๆ เพิ่มเป็น 7,600 บาท

ในกลางปี 2530 สัญญาณราคาเหล็กเส้นที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป เย้ายวนให้สวัสดิ์ขยายฐานการผลิตออกไปอีก เขาซื้อโรงเหล็กรีดซ้ำไพรมาลี อัลลายด์ สตีล จากเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อสุราทิพย์ ในราคา 7 ล้านบาท กำลังผลิต 1,500 ตันต่อเดือนและลงทุนปรับปรุงอีก 1,500 ตันต่อเดือนและลงทุนปรับปรุงอีก 20 ล้านบาท เพื่อยกกำลังผลิตเพิ่มเป็น 3,000 ตัน/เดือน "เขาซื้อเสร็จ โชคดีมากราคาเหล็กเส้นในประเทศขึ้นเป็น 8,600 บาท" คนใกล้ชิดสวัสดิ์ที่ทำธุรกิจในวงการก่อสร้างเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

การลงทุนก่อสร้างขยายตัวตามภาวะเติบโตเศรษฐกิจตกปีละ 11% ทำให้หวั่นวิตกกันมากว่าเหล็กเส้นที่ใช้ในงานก่อสร้างจะขาดแคลน จุดนี้ทำให้ราคาเหล็กเส้นทะยานขึ้นสูงอย่างไม่หยุดยั้งเป็น 10,000 บาท/ตัน เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ 3 เดือนจากปลายปี' 30 ถึงต้นปี' 31

การนำเหล็กเส้นเข้ามาภายในประเทศ เพื่อ DUMPING ราคากับผู้ผลิตภายในเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลให้การคุ้มครองผู้ผลิตเหล็กเส้นในประเทศ โดยตั้งกำแพงภาษีไว้สูงถึง 38%

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สวัสดิ์มีแนวคิดต่อไปว่า อุตสาหกรรมเหล็กเส้นไทยไม่ควรอยู่เพียงแค่นี้ เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตยังต่ำกว่าความต้องการตลาดที่ต้องการเหล็กเส้นคุณภาพสูงเพื่อใช้ในงานก่อสร้างอาคารสูง ๆ แต่โรงงานผลิตเหล็กเส้นทั้งรีดซ้ำและเตาหลอมที่มีอยู่ไม่สามารถผลิตเหล็กที่มีคุณภาพคุณภาพเกิน SD 40 ได้เลย

ตรงนี้เป็นประกายความคิดที่พุ่งวาบขึ้นมาในสมองของสวัสดิ์และกลุ่มขุนพลผู้บริหารในนครไทยทุกคนว่า ถึงเวลาแล้วที่นครไทยต้อง TAKE OFF การผลิตจาก LOW TECH แต่ HIGH COST ในเหล็กเส้นรีดซ้ำเป็น HIGH TECH แต่ LOW COST ในเหล็กเตาหลอม

ชำนิมือขวาสวัสดิ์ด้านการเงินของสวัสดิ์ ปั้นโครงการนี้ขึ้นมาด้วยงบลงทุน 4,600 ล้านบาท โดยใช้ CAPITAL BASE จากบริษัทเอง 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ DEBT/EQUITY RATIO อยู่ระหว่าง 1:3 ถึง 1:4 เท่านั้น ชำนินำโครงการนี้ไปขายให้แบงก์กรุงไทย ซึ่งผู้บริหารทุกคนมีความรู้ในอุตสาหกรรมนี้น้อยมาก เพียง 3 เดือนเท่านั้น (ในปี 2532) กรุงไทยเห็นชอบในหลักการของโครงการและจะเป็นผู้นำในการ SYNDICATED LOANS ด้วย

"ผมติดต่อ ดร. สุธี สิงห์เสน่ห์ ในฐานะผมเคยเป็นลูกศิษย์ที่บัญชีธรรมศาสตร์มาก่อน ชวนท่านมาเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการและงานนี้ IFCT ก็ตกลงในหลักการที่จะถือหุ้นด้วย ซึ่งพอดีกับ ดร. สุธีก็เป็นประธาน IFCT อยู่พอดี" ชำนิกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

โครงการเหล็กเส้นเตาหลอมของนครไทยมีกำลังผลิตปีละ 400,000 ตันมากกว่ากำลังผลิตของเหล็กสยาม 1 เท่าตัว โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งระหว่างกลุ่มแมนจี เอช เอช ซึ่งประกอบด้วยคอนแคสท์จากสวิสเซอร์แลนด์และชโรแมน ซีแมกซ์จากเยอรมันกับกลุ่มของครุ๊ปแห่งเยอรมันและอิตาเลียน เพลนติแห่งอิตาลี

โครงการนี้เป็นจุดสุดยอดในชีวิตการเป็นนักอุตสาหกรรมเหล็กเส้นของสวัสดิ์ที่คลุกคลีล้มคว่ำล้มหงายมาแล้วนับเกือบ 20 ปี เหตุผลเพราะหนึ่งโครงการเหล็กเส้นเตาหลอมนี้ลงทุนด้วยงบสูงที่สุด ในชีวิตการลงทุนของสวัสดิ์เกือบ 5,000 ล้านบาท และสอง - โครงการนี้มีซูมิโตโม เจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กของโลกแห่งญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนด้วยซึ่งมีความหมายถึง สถานภาพของสวัสดิ์และกลุ่มนครไทยได้ก้าวขึ้นสู่ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลที่บริษัทชั้นนำของโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ยอมรับ

วันนี้นครไทยสตีลของสวัสดิ์มีสินทรัพย์ประมาณ 1,257 ล้านบาท พรุ่งนี้เมื่อเหล็กเส้นเตาหลอมเดินเครื่องได้ สินทรัพย์ของนครไทยจะเพิ่มเป็นเกือบ 7,000 ล้านบาท เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 ปีก่อน สวัสดิ์อาจจะไม่เชื่อตัวเองว่าเขามีวันนี้และพรุ่งนี้ได้อย่างไร เมื่อ 6-7 ปีก่อนเขามีสินทรัพย์เพียงไม่ถึง 50 ล้านบาท แถมหนี้สินที่ต้องชดใช้อีก 200 ล้านบาท

บทเรียนกรณีศึกษา การฟื้นตัวของสวัสดิ์และกลุ่มนครไทยนี้จึงมีคุณค่าอย่างมากต่อผู้กำลังประสบชะตากรรมธุรกิจในยามวิกฤติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.