|
ปรับขึ้นอาร์/พี 0.25% "อุ๋ย"สวนทางรัฐบาล
ผู้จัดการรายวัน(8 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เมินใบสั่งการเมือง แบงก์ชาติเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอาร์พี อีก 0.25% ส่งผลอาร์พีล่าสุดอยู่ที่ 5.00% แย้มจะไม่ปรับขึ้นอีกนาน ยกเว้นราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด พร้อมดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ยอมเลื่อนเป้าหมายทำดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวกออกไปก่อน
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีขึ้นเมื่อวานนี้ (7 มิ.ย.) ได้มีมติให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) เพิ่มอีก 0.25% ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่อยู่ในระดับ 4.75%ต่อปี ปรับมาอยู่ที่ระดับ 5.00%ต่อปี ซึ่งสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่เร่งตัวสูงกว่าที่ กนง.คาดไว้และเป็นผลกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นตาม โดยเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00% เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจดีที่สุดแล้ว และจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
“เราไม่ได้ให้น้ำหนักเงินทุนเคลื่อนย้ายมาก สิ่งที่เราดูคือวัดจากความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อจะสูงมากกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่จะชะลอลง หากอย่างไหนมากกว่าจะดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางนั้น อย่างไรก็ตามเราไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งให้น้ำหนักในสัดส่วน 40% ขณะที่เหลืออีก 60% จะเป็นอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหน้าที่หลักของธนาคารกลาง คือ รักษาเสถียรภาพไม่ใช่การเจริญเติบโต"
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการส่งออกที่มีการขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ภาวะอุปสงค์ภาคเอกชนล่าสุดมีสัญญาณของการอ่อนตัว ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐอาจล่าช้าไปบางส่วน ทำให้ กนง.มองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจอาจจะชะลอลงในระยะต่อไปได้
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้มาก จากเดิมที่คาดว่าราคาน้ำมันจะสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน แต่อัตราเงินเฟ้อขณะนี้สูงกว่าในระดับที่เราคาดไว้แล้ว ซึ่งในระยะต่อไปจะมีผลกระทบต่ออัตราค่าจ้าง และต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินในแนวทางเดิม คือปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยครั้งนี้กนง.วิเคราะห์ราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งคาดว่าไตรมาส2น้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 65เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และไตรมาสที่เหลือราคาน้ำมันน่าจะแตะอยู่ที่ระดับ 66 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
“ราคาน้ำมันในโลกสูงขณะนี้ เพราะมีดีมานด์มากเมื่อเทียบกับซัพพลายที่มีอยู่ ซึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ดี ทั้งจีน อินเดีย และสหรัฐที่แข่งแกร่ง จะดึงราคาน้ำมันสูงขึ้น เราดูผลกระทบโครงสร้างของต้นทุนภาคการผลิต ผลกระทบของดอกเบี้ยต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน หากดู Real MLR ในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 5.25% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว 4-5% เป็นไปตามวัฎจักรของเศรษฐกิจอยู่แล้วที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงบ้างต่ำบ้าง”นางอัจนากล่าวและว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่ง ธปท.ตั้งเป้าจะเป็นบวกในช่วงกลางปี อาจจะล่าช้าออกไป โดยปัจจุบันติดลบ 0.6%
สำหรับปัจจุบันภาคธุรกิจยังมีรายได้ต่อดอกเบี้ยจ่ายประมาณ 9 เท่า จากก่อนหน้านี้ที่มีอยู่ 2-3 เท่า และการลงทุนจะชะลอลงบ้างในขณะนี้ ในขณะที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ เอื้ออำนวย เพราะผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในเรื่องการลงทุน ยังมีปัจจัยหลักในส่วนอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ รวมไปถึงความมีเสถียรภาพในระยะยาวมากกว่า
**ลุ้นระทึกก่อน"อุ๋ย"เมินใบสั่งการเมือง
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้าที่ กนง.จะมีการประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยวานนี้ (7 มิ.ย.) เอกชนและนักวิชาการต่างจับตามองว่า ธปท. โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้หรือไม่ เนื่องจากมีกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ต้องการเอาใจประชาชน เหตุผลที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลังไม่ต้องการให้มีการปรับดอกเบี้ยขึ้น เพราะเกรงว่าจะเพิ่มภาระผู้ประกอบการและลูกค้าเงินกู้ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน การแทรกแซงครั้งนี้ ไม่เพียงแต่การให้สัมภาษณ์ของนายทนง พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง เท่านั้น ยังมีนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.คลัง ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กนง.ไม่ควรปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือแม้แต่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นกรรมการ กนง. ก็ยังออกมาตีกัน ทว่าในที่สุด ธปท.ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรก็ทำให้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยจนได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|