|

วงการภาพยนตร์ดิ้นแก้กฎเหล็กให้เอกชนเป็นบอร์ดดันตั้งหน่วยเอกเทศ
ผู้จัดการรายวัน(7 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ดิ้นสู้ แก้ไขร่างพรบ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ... หลังถูกนำไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ระบุ ควรให้ภาคเอกชน ภาคส่งเสริมการลงทุน และการเจรจาธุรกิจ เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดได้ด้วย ชี้ถ้ามีเพียงตัวแทนจากหน่วยงานด้านศิลปและวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลกิจการภาพยนตร์สะดุด ทำยอดรายได้เข้าประเทศวูบ ขณะเดียวกันได้เสนอตั้งกิจการภาพยนตร์เป็นหน่วยงานเอกเทศ รับมือสู้ศึกการแข่งขัน
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในวงการอยู่ระหว่างการช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ... เพื่อให้มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมการทำงานทั้งระบบของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อันที่จะเอื้อต่อการสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศไทย โดยไม่ผิดต่อข้อกฎหมายและศีลธรรมควบคู่กันไปด้วย
จากการที่ได้มีการร้องของให้แก้ไข พรบ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 และ พรบ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 โดยให้นำมารวมอยู่ภายใต้พรบ.เดียวกัน คือ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ... ที่กำลังอยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาจัดทำรายละเอียดที่จะบรรจุในร่างพรบ.ดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุง พรบ. ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 เพื่อให้มีความทันสมัยและ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนั้นกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการด้านกิจการภาพยนตร์
โดยในปี 2543 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ ให้มีการแก้ไขพรบ.ดังกล่าวได้ แต่เมื่อมีการจัดแบ่งกระทรวงใหม่ เมื่อปี 2547 พรบ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 และ พรบ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ได้ถูกนำมาสังกัดอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม และยังได้รวมถึงธุรกิจการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ที่ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมด้วย ซึ่งตรงนี้ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าอาจไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจภาพยนตร์ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านรายได้จากกิจการภาพยนตร์ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างรายได้เข้าประเทศ ให้ได้รับความเสียหายอีกด้วย
อย่างไรก็ตามในการจัดทำรายละเอียดของกฎหมาย ได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีการ(คณะที่5) เพื่อตรวจพิจารณาเรื่องปรับปรุง พรบ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 พรบ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทํสน์ พ.ศ.2530 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้เรียกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำร่าง พรบ.ฉบับใหม่ โดยผู้ที่เข้าร่วมชี้แจง ซึ่งได้แก่ สมาคมผู้สนับสนุนภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) กระทรวงวัฒนธรรม สำนักเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เป็นต้น
** เสนอตั้งบอร์ดแบบถ่วงดุล**
โดยในส่วนของภาคเอกชน ด้านธุรกิจภาพยนตร์ รวมถึง สพท. ได้มีข้อเสนอแนะว่า ในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ให้มีกรรมการ ที่มาจากภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในกิจการภาพยนตร์บ้าง เพื่อให้การทำงานเป็นมุมมองแบบ 360 องศาอย่างแท้จริง เช่น ตัวแทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ,ตัวแทนจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ,สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ , กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น เพราะจากร่างเดิมที่มีอยู่ คณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก อาทิเช่น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมศิลปากร เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
“เรามองว่าจากตำแหน่งและหน่วยงานของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จะทำให้การมองทุกอย่างที่เกี่ยวกับกิจการภาพยนตร์เป็นมิติเดียว คือเป็นวัฒนธรรม แต่ความจริงแล้ว สื่อภาพยนตร์ หรือเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะถูกรวมอยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้ พรบ.ฉบับใหม่นี้ จะมองเป็นมิติเดียวไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นสื่อสื่อทางวัฒนธรรม และสื่อที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ทั้งหมด ฉะนั้นถ้ามองเป็นมิติเดียวจะเกิดการปิดกั้น ส่งผลให้การทำงานไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกิดความล้าช้า และถึงที่สุดอาจทำให้เราสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขัน”
ทั้งนี้เพราะบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรม จะต้องคำถึงถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงเหมาะกับเรื่องการเซ็นเซอร์ แต่บางครั้งการใช้สถานที่เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จุดเด่นตรงนี้มากนัก อีกทั้งการทำงานในเชิงธุรกิจ จะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการให้อินเซนทีฟ เป็นกลยุทธ์ในการช่วงชิงกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศให้เลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ในการถ่ายทำ ส่งผลให้เกิดรายได้เข้าประเทศ
ดังนั้นอีกข้อหนึ่งที่นำเสนอต่อกฤษฎีการ คือ หากเป็นไปได้ ต้องการให้ รัฐบาลตั้งกิจการภาพยนตร์ ให้เป็นหน่วยงานอิสระ หรือองค์การมหาชน ที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว ซึ่งในประเทศกัมพูชา เขาก็มีกรมภาพยนตร์ เป็นเอกเทศ ส่วน ประเทศเกาหลีก็มีองค์กรส่งเสริมธุรกิจภาพยนตร์โดยเฉพาะ ขณะที่ประเทศไทย หน่วยงานด้านกิจการภาพยนตร์ ยังเป็นกองงานเล็กๆ หรือหน่วยงานระดับรอง ทำให้การส่งเสริม หรือการขอใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนยังติดขัดเพราะถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับรอง
“หากเป็นไปได้ เราอยากเสนอครม.ขอยกเลิกมติครม.เดิม แล้วมายกร่างแก้ไข พรบ.ใหม่ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการ เราไม่สามารถทำได้ ดังนั้นดีที่สุด คือ การแก้ไขให้คณะกรรมการฯที่จะตั้งขึ้นมีการถ่วงดุลอำนาจมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.)ได้รายงานตัวเลขรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 5 เดือนแรก สร้างรายได้เป็นเงินรวม 745.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.28% โดยมี จำนวนภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำทั้งสิ้น 230 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็น ภาพยนตร์โฆษณา ,มิวสิควิดีโอ, ภาพยนตร์ทีวี และ มินิซีรี่ย์ เป็นต้น โดยภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่จากฮอลีวู๊ดส์ ไม่ค่อยมาเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ เนื่องจาก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่าง เวียดนาม ออสเตรีย นิวซีแลนด์ และเกาะฟิจิ ล้วนให้อินเซนทีฟแก่กองถ่ายทำภาพยนตร์มากกว่าประเทศไทย โดยการขอคืนภาษี และ ฟรีVAT เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|