ละคร "น้ำนิ่ง" ที่อยู่ยงคงกระพันมากกว่า 30 ปี หลายคนหลงใหลไปกับยอดกำไรปีละกว่า
200 ล้านบาท แต่แท้ที่จริง เป็นกำไรที่ อ.ส.ม.ท.ได้มาอย่างคนง่อยเปลี้ยเสียขา
เพราะทำอะไรเองไม่เป็น มีแต่คนคอยมาประเคนให้ในฐานะที่ตนเองเป็นเจ้าของมีเดียสำคัญแห่งหนึ่งเท่านั้น
อาการง่อยที่เกิดขึ้นจะด้วยสาเหตุจาก "คนนอก" ที่ใช้การเมืองเข้ากอบโกยอำนาจและผลประโยชน์
หรือ "คนใน" ที่มัวแต่ฟัดกันเอง หรือไม่ก็ชักศึกเข้าบ้าน แต่สิ่งที่เหลือไว้สำหรับ
อ.ส.ม.ท.วันนี้ก็คือ ซากเศษแก้วที่แตกละเอียดไม่เหลือชิ้นดี ไม่มีวันที่จะประสานกันได้อีกเลย...
ราชันย์ ฮูเซ็น ก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
ได้ไม่เกิน 5 เดือน แต่น้ำหนักของเขาลดไป 5 กิโลกรัม โรคเก่ากำเริบ และแลดูเครียดเอาการ
เขาหัวเราะอย่างเซ็งๆ เมื่อบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ตำแหน่งอย่างเขาต้องดูแลเรื่องการอนุมัติแม้แต่น้ำยาลบหมึกขวดละ
40 บาท และงานเอกสารอีกกองพะเรอ
หลายคนมองภาพเขาอย่างแยกไม่ออกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้คุมเข้มองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการ
ความอื้ออึงที่เกิดขึ้นในอ.ส.ม.ท.โดย รมต.เฉลิม จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ราชันย์ไม่สามารถปฎิเสธได้ถึงภาพลบที่ผุดขึ้นในใจของประชาชน
แต่ถ้าศึกษาและติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในอ.ส.ม.ท.อย่างใกล้ชิด "คลื่นใต้น้ำ"
ที่ทำให้ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.คนล่าสุดกระอักกระอ่วนยิ่งกว่า อาจไม่ใช่ภาพพจน์ที่เกิดขึ้นในสายตาขณะนี้
เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถก่อผลสะเทือนอะไรมาก แต่สิ่งที่คนอย่างราชันย์
ฮูเซ็นกังวลอาจเป็นเรื่องภายในและ "จุดยืน" ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงที่อาจแปรเปลี่ยนไปเสียมากกว่า!
วัฏจักรแดนสนธยา
แนวความคิดที่จะให้มีบริการโทรทัศน์เกิดขึ้นในเมืองไทย เริ่มจากสมัยจอมพล
ป. พิบูลสงคราม นำเรื่องการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
12 พฤศจิกายน 2494 และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการ และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่า
คณะกรรมการหาเครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์ มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธาน
ต่อมา 1 ตุลาคม 2495 คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่ากิจการวิทยุโทรทัศน์ควรจะดำเนินการโดยประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
และน่าจะเป็นหน่วยงานที่สามารถหารายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการได้
จึงลงมติให้จัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน
2495 มีทุนปรเดิม 20 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วยกรมประชาสัมพันธ์ 11 ล้านบาท
โรงงานยาสูบ 2 ล้านบาท กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมตำรวจ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
กรมโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลไทย รายละ 1 ล้านบาท โดยมี ประสงค์ หงสนันท์
รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เริ่มดำเนินงานขั้นแรกด้านการออกอากาศวิทยุ ท.ท.ท.
เมื่อมกราคม 2497 และมาเริ่มกิจการโทรทัศน์อย่างจริงจังเมื่อ 24 มิถุนายน
2498 โดยแพร่ภาพทางช่อง 4 นอกจากจะถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกในเอเชียอีกด้วย
เมื่อตอนที่แพร่ภาพทางช่อง 4 นั้นยังเป็นขาว-ดำ มาเปลี่ยนเป็น ไทยทีวีสี
ช่อง 9 โดยสมบูรณ์ในปี 2517
เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งนั้น รัฐบาลได้ช่วยเหลือบริษัทโดยการออกพระราชบัญญติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
พ.ศ. 2498 เปิดโอกาสให้บริษัท ไทยโทรทัศน์เป็นผู้ค้าเครื่องรับโทรทัศน์แต่เพียงผู้เดียว
เพื่อเป็นรายได้ในการดำเนินงาน เพราะลำพังรายได้จากค่าโฆษณานั้นไม่เพียงพอ
เพราะเครื่องรับโทรทัศน์ในช่วงนั้นยังไม่แพร่หลาย ค่าโฆษณาจึงยังต่ำมาก ในปีแรกของการดำเนินงานมีเครื่องรับโทรทัศน์อยู่เพียง
500 เครื่อง ในปีที่ 2 มี 2,000 เครื่อง จนถึงปีที่ 10 คือ ปี 2508 มีเครื่องรับโทรทัศน์ทั้งสิ้น
200,000 เครื่อง
แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีแรก จำนวนเครื่องรับโทรทัศน์ยังมีน้อยมาก แต่ถ้าพิจารณาอัตราเพิ่มก็จะเห็นได้ว่าเป็นอัตราเพิ่มที่สูงมากตรงนี้เอง
พระราชบัญญัติที่เกื้อหนุนให้บริษัทไทยโทรทัศน์เป็นผู้ผูกขาดการขายโทรทัศน์จึงถูกแก้ไขในปี
2502 ให้มีการค้าโดยเสรี
จากเอกสารประวัติขององค์การสื่อสารมวลชนอ้างว่า ด้วยเหตุนี้เอง "จึงเป็นเหตุให้
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ต้องประสบกับปัญหาในเรื่องการหารายได้มาจุนเจือค่าใช้จ่ายในการจัดรายการ"
จากจุดเริ่มต้นที่กรมประชาสัมพันธ์ถือหุ้นใหญ่และหน่วยราชการอื่นถือหุ้นประกอบกันเป็นพรวนนี่เอง
ระบบราชการจึงได้ฝังติดยึดแน่นอยู่กับบริษัท ไทยโทรทัศน์ ตลอดมา แม้ว่าโดยความเป็นจริงสถาบันข้าราชการเป็นสถาบันที่เอื้ออำนวยในการก่อตั้งมากที่สุด
แต่โดยเจตจำนงที่จัดตั้งเป็นบริษัทก็เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวในการหารายได้และดำเนินกิจการ
แต่ระบบราชการก็ได้ก่อให้เกิดรากเหล้าแห่งปัญหาที่สะสมจนปะทุในเวลาต่อมา
ประการแรก คณะกรรมการของบริษัทเป็นตัวแทนจากหน่วยราชการผู้ถือหุ้น ตัวกรรมการผู้จัดการก็มาจากอธิบดีหรือรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
เช่น ประสงค์ หงสนันท์ ซึ่งเป็นรองอธิบดีที่มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ยาวนานที่สุดจนเกษียณ
และในสมัยต่อมาก็เป็นสมัยของกำจัด กีพานิช รักศักดิ์ วัฒนพานิช สองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ในส่วนของพนักงานนั้น ในระยะเริ่มต้นบริษัท ไทยโทรทัศน์ต้องพึ่งพาพนักงานของกรมประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนมาก
แม้ในสมัยหลังๆ ปี 2517-18 ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ก็ยังมีอยู่ไม่น้อยและยังคงบทบาทอยู่อย่างเหนียวแน่น
พนักงานของบริษัทจึงอยู่ในลักษณะเยียบเรือสองแคม ข้างหนึ่งเป็นข้าราชการ
ส่วนอีกข้างมาช่วยงานที่บริษัท ไทยโทรทัศน์
โดยลักษณะเช่นนี้ บริษัท ไทยโทรทัศน์จึงแยกแทบจะไม่ออกไปจากหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่ง
ที่นอกจากจะทำงานไปตามระบบระเบียบราชการแล้ว ก็ยังเป็นข้าราชการที่ไม่สามารถให้เวลากับบริษัทได้อย่างเต็มที่
บางคนเวลากลางวันก็นั่งทำงานกินเงินเดือนที่กรมประชาสัมพันธ์ กลางคืนมาเบิกเงินค่าล่วงเวลาที่บริษัท
โอกาสที่จะพัฒนาบุคลากรและองค์กรจึงเป็นไปไม่ได้อย่างเต็มที่
ประการที่สอง แม้ทีวีช่อง 4 จะเป็นสถานีบุกเบิกในวงการโทรทัศน์ แต่กลับกลายเป็นสถานีที่หยุดนิ่งเป็นเวลาช้านาน
พันธนาการที่ฉุดรั้งก็คือ กระบวนการตัดสินใจตามขั้นตอนระบบราชการ และอำนาจของผู้ตัดสินใจล้วนแต่เป็นข้าราชการที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้
และสะสมประสบการณ์ทางธุรกิจรูปลักษณ์ของปัญหาบ่งชี้ชัด เมื่อบริษัทไทยโทรทัศน์ต้องพบกับคู่แข่งที่เกิดขึ้นภายหลังคือ
ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ซึ่งทั้งสองสถานีบริหารโดยเอกชนเต็มรูป
มีความชาญฉลาดในการตัดสินใจเลือกและผลิตรายการที่มีผู้ชื่นชอบและเรียกร้องความนิยมจากประชาชนได้ดีกว่า
ประการที่สาม ในส่วนพนักงานของบริษัทเองกลับกลายเป็นผู้ฉุดรั้งการพัฒนาที่สำคัญสาเหตุหนึ่ง
เนื่องจากไม่ได้รับการดูแลและตรวจสอบจากผู้บริหาร ในบริษัทไทยโทรทัศน์จึงมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกแสวงหาผลประโยชน์จากกิจการของสถานี
และกลายเป็นจุดบอดที่ทำให้บริษัทสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล
ประการที่สี่ เมื่อแรกเปิดสถานี หลายคนมองโทรทัศน์เป็นเพียงสื่อแขนงหนึ่งที่จะเผยแพร่ข่าวสาร
ความรู้ ความบันเทิงแก่ประชาชน แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทหารและนักการเมืองก็เริ่มตระหนักถึงอิทธิพลของโทรทัศน์ที่จะโน้มน้าวจิตใจและความเชื่อของประชาชน
โทรทัศน์ได้ถูกใช้เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของรัฐบาลและนักการเมืองบางคนในเวลาอันรวดเร็วหลังจากเปิดสถานีไม่นานนัก
บริษัทไทยโทรทัศน์จึงกลายเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขาดอิสระที่จะกำหนดทิศทางในการพัฒนาตนเอง
และกลายเป็นความขัดแย้งในวิถีทางการทำงาน ที่จะต้องประสานเสียงสอดรับนักการเมืองที่มีอำนาจในขณะนั้นกับการดำเนินธุรกิจเพื่อหารายได้
เรื่องทั้งหลายทั้งปวงถูกสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ขาดการสะสาง และถูกปิดกั้นการรับรู้จากบุคคลภายนอก
จนบริษัทไทยโทรทัศน์ได้รับการขนานนามที่เป็นที่รู้จักกันดีจนทุกวันนี้ว่า
"แดนสนธยา"
สรรพสิริ วิรยศิริ กลายเป็นเหยื่อของความเน่าเฟะของบริษัทไทยโทรทัศน์เข้าเต็มเปา!
สรรพสิริได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานรุ่นบุกเบิกของบริษัทไทยโทรทัศน์
เขาเป็นหนึ่งในข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ที่ถูกยืมตัวมาช่วยงานที่บริษัทในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข่าวตั้งแต่เปิดสถานี
ปี 2498 สรรพสิริเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ข่าวคือ เกียรติและศักดิ์ศรีของสื่อมวลชน
และจะต้องมีอิสระในการนำเสนอต่อประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นบวกความเป็นคนหนุ่มไฟแรง
ชั่วไม่ถึง 2 ปี เขาก็ถูกคำสั่งปลดในกลางดึกของคืนหนึ่ง
"เริ่มตั้งใหม่ๆ พล.ต.อ.เผ่า ท่านคุมโทรทัศน์ พอหลัง 2500 จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติท่านก็ดึงโทรทัศน์ไป
ผมก็เลยถูกมองว่าเป็นคนของ พล.ต.อ.เผ่า ทั้งที่ผมเป็นผม ผมก็เลยเด้ง นายทหารยศพลเอกท่านหนึ่ง
เป็นกุนซือของจอมพลสฤษดิ์นี่แหละ แล้วก็เป็นประธานกรรมการบริษัทไทยโทรทัศน์ด้วย
ท่านก็ไม่ค่อยพอใจผม เห็นว่าผมไปแย้ง ไปเสนอข่าวที่ไม่ควรเสนอ พอดีท่านนายพลคนนี้ท่านมีคดีฟ้องหนังสือพิมพ์
ท่านก็เห็นว่าควรเสนอข่าวของท่านยาวๆ แต่ผมก็ออกโทรทัศน์ไปไม่กี่นาที ขณะเดียวกันก็มีข่าว
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชฟ้องพวกอเมริกันเรื่องหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ
ผมก็เสนอไปยาว ท่านนายพลก็โมโห เห็นหม่อมคึกฤทธิ์ดีกว่าผมหรือไง มันมีเรื่องอะไรในใจอยู่แล้ว
วันหลังท่านเมา ท่านก็ยกหูโทรศัพท์ตอนเที่ยงคืนบอกให้กรรมการผู้จัดการประสงค์
หงสนันท์ให้มาบอกผมว่า ประธานท่านปลดผมแล้ว" สรรพสิริฟื้นความหลังให้
"ผู้จัดการ" ฟังอย่างขมขื่น
สรรพสิริเร่ร่อนไปทำโทรทัศน์วงจรปิดที่ดอนเมือง ไปทำภาพยนตร์โฆษณา แล้วก็ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวให้กับทีวีสีช่อง
3 รุ่นบุกเบิก แต่อยู่ได้ไม่นานก็ต้องออกมาอีก เพราะนโยบายการทำข่าวไม่ลงรอยกันเช่นเดิม
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2546 สถานการณ์ทางการเมืองได้แปรเปลี่ยนโฉมหน้าไปสถาบันดั้งเดิมที่เคยทรงอำนาจ
เช่น สถาบันทหาร สถาบันข้าราชการถูกลดบทบาทไปชั่วระยะหนึ่ง มีการแยกบทบาทข้าราชการกับพนักงานรัฐวิสาหกิจออกอย่างชัดเจน
ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ที่มาช่วยงานที่บริษัทไทยโทรทัศน์จึงต้องกลับกรมกองเดิม
ตำแหน่งผู้บริหารจึงต้องควานหาจากคนนอก อาศัยที่สรรพสิริเคยมีชื่อเสียงในวงการโทรทัศน์
สรรพสิริจึงได้รับโอกาสเข้ามานั่งบริหารองค์กรที่ตนเองเคยถูกไล่ออกมาแล้วอย่างไม่คาดฝันเมื่อต้นปี
2518
แต่ปัญหาที่สะสมมานานกว่า 18 ปีมันเกินกว่า "คนข่าวธรรมดาๆ"
คนหนึ่งอย่างสรรพสิริจะแบกรับไหว สิ่งที่กดดันสรรพสิริมากๆ มีด้วยกัน 3 ประเด็นดังที่กล่าวมาแล้ว
คือ หนึ่ง-พนักงาน สอง-ระบบ สาม-การเมือง
"พนักงานเขาก็มีความตั้งใจจริง แล้วส่วนมากก็เป็นคนที่บุกเบิกงานมาตั้งแต่ต้น
แต่คุณก็รู้ว่ากาลเวลาเปลี่ยนแปลงคนได้ เมื่อตอนที่ทำงานกันแรกๆ เขาก็รู้ว่าแค่นี้อยู่ด้วยกันได้
แต่ต่อมา โทรทัศน์มันมีคู่แข่ง หาโฆษณามีผลประโยชน์ มีเปอร์เซ็นต์ ค่าเช่าเวลา
พนักงานเขาก็เอาเวลาออกรายการนี่ไปขายต่อเอากำไร มันเป็นจุดใหญ่ของวิธีการหากินของพนักงานเลย
แล้วตอนเอาไปขายเขาก็อาจจะได้เงินสดมา แต่พอมาส่งเรา เขากลับส่งเป็นเงินเชื่อ
เงินติดเงินผ่อน มีหนี้สินอีรุงตุงนัง รัฐบาลเขาก็ให้ผมมาเคลียร์เรื่องพวกนี้
บางคนก็ประนีประนอม หักเงินเดือน บางคนถูกหักเงินเดือนไม่เหลือเลย"
สรรพสิริเล่าว่า ปัญหาหนี้สินที่พอกเป็นหางหมูนี้ ได้มีการพยายามแก้ไขกันหลายวิธี
เพราะเป็นปัญหาใหญ่ รายได้ของสถานีก็คือ การให้เช่าเวลาไปทำรายการ แต่รายได้เหล่านี้กลับไม่เข้าเลย
สถานะทางการเงินของบริษัทจึงค่อนข้างแย่
วิธีการสะสางวิธีหนึ่งคือ จัดระบบใหม่ให้มีการประชุมระดับผู้บริหารทุกอาทิตย์เพื่อมาพิจารณาปัญหาเหล่านี้เป็นรายๆ
ไป แต่ก็ไม่ประสบผลเพราะบรรดาคนที่เข้าร่วมประชุมต่างก็มีชนักติดหลังกันทั้งนั้น
สรรพสิริถึงกับบ่นว่า "นี่เขาให้เรามาทำอะไร ให้ทาสีบ้านด้วยแล้วให้ล้างขี้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ผมไม่ถนัดเลยเรื่องล้างขี้ ผมแทบไม่มีเวบาไปทาสีบ้านให้สวยงาม นี่วันๆ ผมต้องมาประชุมเรื่องการล้างขี้เสียค่อนวัน"
ส่วนเรื่องการบริหารตามแบบราชการก็ไม่พ้นเรื่องการตัดสินลงมือปฏิบัติอะไรสักอย่างที่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย
ครั้งหนึ่งสรรพสิริเดินทางไปดูงานที่ไต้หวัน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของช่อง
3 เมื่อไปถึงทางช่อง 3 สามารถตัดสินใจซื้อภาพยนตร์ที่ตนเองต้องการได้ทันที
ขณะที่สรรพสิริทำได้แค่จดชื่อภาพยนตร์ที่น่าสนใจ แล้วกลับมาขออนุมัติคณะกรรมการที่กรุงเทพฯ
กว่าเรื่องจะผ่านก็โยกโย้อยู่นาน จนเมื่อย้อนไปติดต่อขอซื้ออีกที ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็ขายไปตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว
สรรพสิริเป็นตัวอย่างของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ที่ถูกมรสุมทางการเมืองเล่นงานหนักหน่วงรุนแรงที่สุด
ในช่วงปี 2518-19 การกล่าวหา สาดโคลน เรื่อง "คอมมิวนิสต์" เป็นคำกล่าวหาที่ง่ายมาก
แต่มีผลในทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถให้คุณให้โทษได้ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมเช่นนั้น
จึงไม่พ้นที่จะต้องถูกเล่นงาน แล้วยิ่งกับสรรพสิริซึ่งเป็นคนตรง ไม่เข้าใครออกใคร
ข่าวต้องเป็นข่าว พยายามเสนอข่าวของทั้งฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย ผลก็คือ สรรพสิริแทบกระอักเลือด
หนังสือพิมพ์ "ดาวสยาม" พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกล่าวหาสรรพสิริว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเวลาหลายวัน
รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สั่งตั้งกรรมการสอบสวน แต่สรรพสิริก็พ้นข้อกล่าวหา
วันที่ 6 ตุลาคม 2519 สรรพสิริก็ต้องทำข่าวที่กลายเป็นข่าวชิ้นสุดท้ายในชีวิตการเป็นผู้บริหารไทยโทรทัศน์
"วันที่ 6 ตุลา ผมรู้แล้วว่าถึงวาระสุดท้ายของผมแน่ๆ ผมตัดสินใจเอารถประจำตำแหน่งที่มีวิทยุสื่อสาร
จอดที่อนุเสาวรีย์ทหารอาสา วางเครือข่ายระหว่างวิทยุ ท.ท.ท. กับทีวีช่อง
9 ให้วิทยุ ท.ท.ท. คอยรายงานเป็นระยะ พอมีการยิงกันตาย เหตุการณ์ลุกลาม แต่ไม่มีใครระงับเหตุการณ์
ผมตัดสินใจสั่งเปิดโทรทัศน์ ตอนนั้นผมมีอำนาจสั่งการได้ วิ่งเข้าไปบันทึกเทปในเหตุการณ์ทำออกมาทุกอย่างจนออกโทรทัศน์
แล้วผมก็กลับมานอนรอคำสั่งปลดหรือจับตัว" สรรพสิริเล่าถึงความหลังที่ผ่านพ้นด้วยรอยเลือด
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น สรรพสิริถูกปลด พร้อมลูกน้องอีกหลายคน เขาหลบไปบวชที่ระยองและทำไร่เกือบ
6 ปี กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตในเมือง
ส่วนบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัดก็ถูกขุดหลุมฝังเพื่อกลบความเน่าเฟะในเวลา
6 เดือนต่อมา ก่อนถูกฝังเป็นช่วงที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและรัฐบาลธานินทร์
กรัยวิเชียร ขึ้นมามีอำนาจ รัฐบาลชุดดังกล่าวมีดุสิต ศิริวรรณเป็นรัฐมนตรีสำนักนายก
รัฐมนตรีดูแลบริษัท ไทยโทรทัศน์ ดุสิตดึงประมุท สูตะบุตรมาเป็นผู้จัดการบริษัทช่วงสั้นๆ
6 เดือนก่อนแปรเป็น อ.ส.ม.ท.
แดนสนธยาภาคสอง
ดุสิต ศิริวรรณ เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา
ซึ่งมีกระแสการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง ดุสินเป็นผู้จัดและดำเนินรายกา
"สนทนาประชาธิปไตย" ทางช่อง 9
เป็นที่รู้กันว่ารายการ "สนทนาประชาธิปไตย" เป็นรายการโฆษณาความคิดทางการเมืองของฝ่ายขวาอย่างโจ่งแจ้ง
นักการเมืองเอียงขวาตกขอบหลายคนมีโอกาสออกหน้าจอทีวีก็เพราะรายการนี้ ก่อนการเลือกตั้ง
2518 รายการนี้ถูกระงับโดยคำสั่งของสรรพสิริ เพราะสรรพสิริอ้างว่า รายการนี้ให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
ซึ่งทำให้ฝ่ายขวาค่อนข้างไม่พอใจมาก
แต่ดุสิต ศิริวรรณเอง ด้วยความที่เป็นพิธีกรรายการที่มีผลสะเทือนยิ่งต่อสังคมไทยเวลานั้น
ด้วยมาดและบุคลิกที่น่าเชื่อถือ พูดจาฉะฉานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อีกทั้งความสนิทสนมกับผู้มีอำนาจซึ่งแวะเวียนมาร่วมออกรายการ
"สนทนาประชาธิปไตย" ดุสิตจึงมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
แน่นอนที่รัฐบาลและตัวดุสิตเองจะต้องตระหนักถึงอานุภาพของสื่อมวลชนประเภทโทรทัศน์
อีกทั้งจะต้องเข้าไปควบคุมอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้เป็นกระบอกเสียง และเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย
12 ปี ตามที่รัฐบาลชุดนั้นกล่าวอ้าง
ดุสิตกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมเข้าไปรับงานรัฐมนตรีประจำสำนักนายก
ดูแลกิจการบริษัทไทยโทรทัศน์ในปี 2519 ผมพบว่าบริษัทไทยโทรทัศน์ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
เหตุที่ขาดทุนส่วนหนึ่ง เพราะหน่วยราชการไปใช้แล้วไม่จ่ายสตางค์ด้วย เพราะถือเป็นของราชการ
พอมีปัญหารัฐบาลจะเอาเงินไปช่วย ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะเป็นบริษัทจำกัด
และท่านนายกรัฐมนตรีท่านเห็นว่ากิจการสื่อสารมวลชนเป็นกิจการที่มีความสำคัญที่จะพัฒนาระบอบประชาธิบไตย
ทานให้ผมมาพิจารณาว่าน่าจะมีการจัดตั้งองค์กรที่มีประสิทธิภาพ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจโดยสมบูรณ์
แต่ขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า"
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยุบบริษัทไทยโทรทัศน์และจัดตั้ง "องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย"
ขึ้นแทน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน
กล่าวกันว่า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเบื้องลึกอย่างไร แต่การตัดสินใจของรัฐบาลชุดธานินทร์
กรัยวิเชียร ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เหมาะสมและสามารถแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานับสิบปี
เพราะนั่นคือ อ.ส.ม.ท.เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่บนกระดาษขาวสะอาด มีทรัพย์สินที่รับโอนมาจากไทยโทรทัศน์
23 ล้านบาท และทุนประเดิมจากรัฐบาลอีก 10 ล้านบาท ส่วนหนี้สินโดยเฉพาะหนี้สินที่เกิดจากพนักงานนั้นก็ตั้งคณะกรรมการชำระบัญชีขึ้น
อีกทั้งมีการคัดเลือกพนังงานเพื่อเข้าทำงานอีกด้วย พนักงานที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินก็ไม่ได้รับโอน
หรือพนักงานที่ไม่ลงรอยทางด้านความคิดก็ถูกปลดได้สบายๆ เพราะพระราชกฤษฎีการะบุไว้อย่างกว้างขวางมากว่า
"ในการนี้ให้ อ.ส.ม.ท. พิจารณาและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของบริษัทไทยโทรทัศน์
ตามที่เห็นสมควร"
ยิ่งกว่านั้นที่มาของคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการก้กำหนดไว้อย่างกว้างขวางมากคือ
เพียงแค่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องไม่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือคล้ายคลึงกับการดำเนินงานของ
อ.ส.ม.ท. เท่านั้น โดยเฉพาะตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ" ก็ไม่ได้กำหนดวาระ
การถอดถอนเป็นไปโดยมติคณะกรรมการบริหาร และอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี
แหล่งข่าวในวงการสื่อสารมวลชนให้ความเห็นว่า แม้ อ.ส.ม.ท. จะเป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจแห่งอื่น
แต่ อ.ส.ม.ท.ก็เกิดขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างและมีความจำเป็นเฉพาะออกไป
ขณะที่รัฐวิสาหกิจแห่งอื่นมีกลุ่มอำนาจอื่นดูแล เช่น ทหารอากาศคุมการบินไทย
ทหารบกคุมองค์การโทรศัพท์ แต่รัฐบาลธานินทร์ในขณะนั้นต้องการเข้าควบคุมดูแล
อ.ส.ม.ท. อย่างใกล้ชิด
"ตำแหน่งต่างๆ มันเลยมากันง่ายไปกันง่าย โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการมันแทบจะไม่มีหลักประกันเลย
เพราะทางรัฐบาลตอนนั้นเขาก็ระแวงคนที่จะมาคุมอยู่ไม่น้อย" แหล่งข่าวกล่าวเสริม
แต่ถึงอย่างไร คณะกรรมการบริหาร อ.ส.ม.ท.ทั้ง 10 คน มีวาระ 2 ปี ก็ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยราชการต่างๆ
เช่น ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา
ผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้แทนองค์การโทรศัพท์ ผู้แทนกรมอัยการ โดยมีรัฐมนตรีสำนักนายกฯ
เป็นประธาน ซึ่งขณะนั้นคือ ดุสิต ศิริวรรณ เหตุที่คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนหน่วยราชการเกือบทั้งหมด
ทั้งที่ไม่มีข้อกำหนดระบุชัดเจน อาจเป็นเพราะโดยธรรมเนียมการตั้งรัฐวิสาหกิจที่มักจะเป็นเช่นนี้อยู่เสมอ
และด้วยเหตุว่าคนเหล่านี้มีส่วนสำคัญตั้งแต่การคลี่คลายและก่อตั้ง อ.ส.ม.ท.
ทั้งในแง่กฎหมาย การเงิน มาแต่ต้น จึงเป็นผลพวงที่ตามมาจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆ
มาที่หน่วยงานเหล่านี้จะมีผู้แทนนั่งอยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการตลอดมา
ด้านหนึ่งดูไปแล้วก็ยุติธรรมดีในแง่เป็น "เครื่องมือ" ของรัฐที่จะต้องประสานความคิดขององค์กรของรัฐเข้าด้วยกัน
และส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น แต่อีกด้านหนึ่งมันได้กลายเป็นหน่ออ่อนของวัฏจักรแห่งความเสื่อมที่หมุนกลับมาอีกครั้งในกาลต่อมา
โดยโครงสร้างของคณะกรรมการก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสมัยบริษัทไทยโทรทัศน์เลยแม้แต่น้อย
และในช่วงต่อมาก็ยังมีผู้แทนจากกองทัพบกเข้ามาเป็นกรรมการอีกด้วย ดังนั้นโดยประเพณีกรรมการ
อ.ส.ม.ท. ในจำนวน 10 คนจะเป็นข้าราชการระดับสูงเสีย 6-7 คนเป็นธรรมดาที่เหลือคือ
รัฐมนตรีสำนักรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ที่เหลือ 1-2 คนก็เป็นการเลือกสรรโดยรัฐมนตรี
ซึ่งก็ไม่พ้นข้าราชการ เช่น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คือ สุธี อากาศฤกษ์ ซึ่งมาเป็นหลายสมัย
ในช่วงปีต่อๆ มามีความพยายามจากรัฐมนตรีบางคนที่จะเอาคนที่ตนเองไว้วางใจเข้าไปนั่งเป็นกรรมการแทนที่จะยึดติดแบบราชการมากเกินไป
เช่น สมัย ดร.สมศักดิ์ ชูโต ผลักดันอดีตรองอธิการบดีนิด้า คือ ดร.บุญเสริม
วีสกุล เข้าไปและเป็นกำลังสำคัญในคณะกรรมการตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2529 ซึ่งจัดว่ายาวนานที่สุด
หรือในสมัยจิรายุ อิศรางกูร มาคุม อ.ส.ม.ท. ก็เริ่มมีการผสมผสานส่วนเอกชนเข้าไปบ้าง
คือ ดึงจุลจิตต์ บุณยเกต ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทไทยออยล์ กับวิพรรธ์ เริงพิทยาร
- ลูกเขยหมอชัยยุทธ กรรณสูต ซึ่งทั้งคู่จัดว่าเป็น "มืออาชีพ"
ในวงธุรกิจ แต่พอในสมัย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คุม อ.ส.ม.ท. โครงสร้างคณะกรรมการซึ่งหมดวาระพอดีก็เปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิงคงเหลือแต่ผู้แทนกระทรวงการคลังกับผู้แทนกองทัพบกเท่านั้น
นอกนั้นเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้กันว่าเป็นเพื่อนพ้องของท่านรัฐมนตรีเกือบทั้งนั้น
คณะกรรมการบริหาร อ.ส.ม.ท. ประชุมกันเดือนละครั้ง แต่ละคนมีภาระยุ่งกับหน่วยงานของตนมาแล้วทั้งสิ้น
ซึ่งก็คงเป็นเรื่องปกติกรรมการรัฐวิสาหกิจทั่วไป จึงเป็นเรื่องปกติที่หลายครั้งกรรมการรับแต่เรื่องที่
"ชง" มาเสร็จเรียบร้อยเพื่ออนุมัติไปตามน้ำเท่านั้น บางเรื่องโดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง
ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารมากถึงกับอุทาน เมื่อเช็คราคาขายพบว่าน่าจะซื้อได้ถูกกว่าครึ่งหนึ่งว่า
"โอ้โฮ ผมไม่เคยซื้อได้ถูกแบบนี้มาก่อนเลย"
ตำนานเรื่องการจัดซื้อเป็นเรื่อง "น้ำเน่า" ที่เป็นคำครหาด้านหนึ่งของผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. คนแรกที่อยู่ในเก้าอี้นานถึง 8 ปี เขาคือ ประมุท สูตะบุตร
ประมุท สูตะบุตร เป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. คนแรก เขาเป็นศิษย์เก่าเทพศิรินทร์
และสิงห์ดำรุ่น 10 ประมุทเดินทางไปศึกษาต่อสหรัฐฯ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์กลับมารับราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงปี
2504-2512 จนได้เป็นชั้นเอก ตำแหน่งหัวหน้ากองโรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี
ระหว่างนั้นเกิดคดีกระดาษของโรงพิมพ์อันตรธานหายไป ประมุทในฐานะหัวหน้ากองถูกฟ้องคดีแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย
แต่ประมุทก็ชนะคดีในที่สุด
ช่วงที่เกิดเรื่อง ประมุทลาออกจากข้าราชการและไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2518 แต่สอบตก ประมุทจึงหันเหไปอยู่ธนาคารกรุงเทพ
ตำแหน่งล่าสุดเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อนครหลวงแล้วลาออกมาเป็นผู้จัดการบริษัทไทยโทรทัศน์ก่อนเป็น
อ.ส.ม.ท. ไม่กี่เดือน
เหตุที่เขาได้มาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. คนแรกนั้น มีการกล่าว่าเป็นเพราะช่วงนั้นรัฐศาสตร์รุ่นเดียวกับเขาได้ดิบได้ดีหลายคน
เช่น ยรรยง คุโรวาท ซึ่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
ดุสิต ศิริวรรณกล่าวว่าสาเหตุที่เลือกประมุทเพราะเขาเป็นคน "กล้าตัดสินใจ"
"การเข้ามาในช่วงนั้นมันเสี่ยงพอสมควร เพราะที่ยอมรับว่าที่ทำมาแต่เดิมมันอาจจะมีผลประโยชน์แอบแฝง
ดังนั้นในระยะแรกจะต้องเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ" ดุสิตย้ำกับ "ผู้จัดการ"
ถึงเหตุผลที่เลือประมุท
กล่าวกันว่าประมุทเป็นคนกล้าตัดสินใจจริงๆ เพราะในช่วง 8 ปีที่ดำรงตำแหน่ง
เขากล้าตัดสินใจทั้งในเรื่องที่บุกเบิก และท้าทายเพื่อสร้างสรรค์ อ.ส.ม.ท.
และเรื่องลึกลับดำมืดเต็มไปด้วยข้อครหามากมายจนกลายเป็นปมเงื่อนให้คนรุ่นหลังสางกันพัลวันไปหมด
เชื่อกันว่าประมุทเป็นคนเก่ง เป็นนักธุรกิจมากกว่าเป็นข้าราชการ เข้มแข็ง
เต็มไปด้วยไฟแห่งความทะเยอทะยาน มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบอธิบาย โน้มน้าวใจคนด้วยข้อมูลที่มักจะเก็บรักษาไว้อย่างดีแทบทุกเรื่อง
อย่างน้อยความเก่งของเขาก็พิสูจน์ได้ โดยความเป็นหลักเป็นฐานของ อ.ส.ม.ท.ทุกวันนี้
ถ้าดูกันง่ายๆ จากงบการเงินตลอด 11 ปี อ.ส.ม.ท. มีกำไรมาตลอด โดยเฉพาะในปี
2525 มีกำไร 6.772 ล้านบาท พอปี 2526 กำไรขึ้นไปถึง 43.441 ล้านบาท ในปี
2528 เป็น 87.447 ล้านบาท พอในปี 2529 หลังจากช่วงที่ประมุทตัดสินใจให้บริษัทแปซิฟิค
อินเตอร์คอมมูนิเคชั่นเข้ามาช่วยเรื่องข่าว กำไรสูงขึ้นถึงเกือบเท่าตัวคือ
156.992 ล้านบาท
"เรื่องนี้ต้องชมคุณประมุทแกว่าเขาเป็นคนเก่ง มองการณ์ไกล ถ้าจะมองในแง่ธุรกิจ
ต้องชมว่าคุณประมุทตัดสินใจดี เพราะทำให้เกิดกำไรมหาศาลแก่องค์การ และรายการข่าวก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาแก่
อ.ส.ม.ท. ด้วย" แหล่งข่าวให้ความเห็น
ในปี 2531 ซึ่ง อ.ส.ม.ท. ยังพอมีหนี้สินจากการลงทุนในช่วง 5 ปีแรกอีกประมาณ
100 กว่าล้านบาทได้รับการชำระจนหมดสิ้นซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากการตัดสินใจในครั้งนั้นของประมุท
ในเรื่องการขยายเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ทั่วประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ
700 ล้านบาท ประมุทเป็นคนวิ่งผลักดันอย่างเต็มที่ เพราะในช่วงนั้นปี 2525-26
อ.ส.ม.ท. ยังไม่มีเงินพอสำหรับการขยายเครือข่ายที่ต้องลงทุนมหาศาล แต่ทางช่อง
7 สีได้ก้าวล้ำไปก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งประมุททนไม่ได้ ซึ่งสบช่องพอดีที่ทางบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ต้องต่อสัญญา
ประมุทและกรรมการจึงนำเรื่องนี้เข้าไปในสัญญาด้วย
"ก่อนหน้านี้ อ.ส.ม.ท. ไม่เคยมีแผนอะไรที่เด่นชัด อาจจะมีก็เพียงแผนที่กล่าวอย่างกว้างๆ
ว่าจะทำโน่นทำนี้ แต่ไม่เคยกำหนดว่าเมื่อไรจะเริ่มดำเนินการ เสร็จเมื่อไร
เป็นไปได้ด้วยวิธีการไหน ลงทุนอย่างไร ผลตอบแทนเท่าไร ค่าโฆษณาควรจะเพิ่มแค่ไหนสอดคล้องกับการขยายงานหรือไม่
ไม่มีเลย ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ช่วงปี 2528 ซึ่งมีการเจรจากันนั้น ประมุทกับกรรมการจะต้องเป็นคนเสนอเรื่องนี้
แล้วค่อยๆ สรุปเป็นโครงการที่เป็นจริงออกมาภายหลัง" แหล่งข่าวกล่าว
กรณีนี้เป็นกรณีหนึ่งที่ประมุทจะต้องทำให้ได้ ไม่ยอมแพ้คนอื่น มีคนกล่าวว่านี่เป็นข้อดีของประมุทที่ถือว่า
อ.ส.ม.ท. เป็นของเขา ถ้าคนอื่นได้ เขาต้องได้ด้วย
ประมุทเป็นคนกล้าแสดงออกซึ่งอำนาจที่ตนถืออยู่ถืออำนาจเป็นใหญ่ เขาไม่กลัวที่จะใช้อำนาจ
แต่ไม่มีข้อระบุห้ามให้เขาทำ เช่น การเซ็นสัญญากับแปซิฟิค เมื่อครั้งเริ่มต้นเขาเซ็นอนุญาตให้แปซิฟิคเข้ามาทำได้รวดเดียว
5 ปี เมื่อคณะกรรมการรู้เข้าก็ได้แต่เพียงตำหนิว่า ที่หลังถ้าเซ็นสัญญาเกินกว่า
1 ปีต้องผ่านคณะกรรมการก่อน แต่นั่นคือ การกล้าตัดสินใจซึ่งกลายเป็นการนำรายได้สู่
อ.ส.ม.ท.
ปัญหาของประมุทก็คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ อ.ส.ม.ท. มากเกินไป มีคนกล่าวว่าที่ประมุทสู้ทุกอย่างให้
อ.ส.ม.ท. เพราะเขาตระหนักว่า เมื่อ อ.ส.ม.ท. ได้ เขาก็ย่อมได้ด้วย
"อำนาจในการให้เช่าเวลาจัดรายการ ใครจะมาเป็นผู้จัด ใครจะต้องออกอยู่ที่ตัวผู้อำนวยการคนเดียว
ที่นี้อะไรคือ หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกละ" คนในวงการโทรทัศน์กล่าว
รายได้หลักของ อ.ส.ม.ท. คือ รายได้จากการให้เช่าเวลาทั้งเวลาของสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุมีการกล่าวว่า
ผู้บริหารระดับสูงมีการ "กินหัวคิว" เป็นประจำ
"เวลาเขามาเสนอรายการ เสนอรายละเอียดของรายการ เขาก็จะเสนอตามมาด้วยว่าจะให้ครึ่งนาที
หรือ 1 นาที"
แหล่งข่าวระดังสูงใน อ.ส.ม.ท. กล่าวว่าเงินจำนวนนี้ที่เรียกว่า "ค่าหัวคิว"
เดือนหนึ่ง ไหลเข้ามาประมาณ 4 ล้านบาท และบรรดาผู้จัดรายการก็มักจะเป็นหน้าซ้ำๆ
ไม่พ้นไนท์สปอตกับแปซิฟิกของปีย์ มาลากุล
"บางรายการที่มีผู้นิยมมาก และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการโทรทัศน์
เขามีรายจ่ายตายตัวพอสมควร และอาจต้องให้ไปถึงนักการเมือง เช่น ให้ข้างในเดือนละ
1 แสน นักการเมืองที่มีอำนาจเกี่ยวข้องให้แป๊ะเจี๊ยะเลย 4 ล้านบาท"
ประมุทจะเข้าไปมีบทบาทกุมอำนาจค่อนข้างมากในฝ่ายการตลาด ซึ่งดูแลในส่วนธุรกิจการเช่าเวลา
การหาโฆษณา การวางแผนการตลาด และการทำสัญญาธุรกิจ ซึ่งทุกวันนี้หัวหน้าฝ่ายการตลาด
ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ประมุทกำลังถูกสอบเรื่องทุจริตเงินค่าเลี้ยงลูกค้า
พอผู้บริหารระดับสูงมีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวกับเรื่อง "กินหัวคิว"
ระดับรองๆ มาก็ไม่วาย เพราะมักจะมีการเรียกร้องจากผู้เช่าเวลาเสมอว่า มีการเรียกเงินพิเศษ
ถ้าไม่ได้จะไม่มีการต่อสัญญา ปรากฏการณ์ยังมีให้เห็นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
แม้ประมุทจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ อ.ส.ม.ท. เองบางคนก็ยังมีเอี่ยวในการเช่าเวลา เคยมีกรณีที่ผู้เช่าเวลามาจ่ายเงินค่าเช่า
แต่จ่ายเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งผู้เช่าโบ้ยให้ไปเอากับเจ้าหน้าที่ในฝ่ายการตลาด
เรื่องการให้เช่าเวลานี้มีการเรียกกันเสมอว่า ไม่ควรงุบงิบทำ หรือรู้กันเฉพาะผู้จัดรายการหน้าเก่าๆ
มีผู้เสนอว่า ถ้าจะให้ยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทาง อ.ส.ม.ท. ควรทำผังรายการมาเลยว่า
แต่ละวันอยากได้รายการอะไร รายการไหนจะหมดสัญญา แล้วประกาศให้ผู้จัดรายการหน้าใหม่เข้าไปเสนอตัวบ้าง
แต่ทุกวันใช้วิธีบอกต่อต้องรู้จักคนข้างในจะรู้
ตลอดทั้งอาทิตย์ อ.ส.ม.ท. มีเวลาจัดรายการทั้งหมด 75 ชั่วโมง รายการที่
อ.ส.ม.ท. จัดเอง และเป็นเจ้าของรายการมีเพียงรายการข่าว และการ์ตูนเช้าวันเสาร์
อาทิตย์เท่านั้น เวลาที่เหลือ อ.ส.ม.ท. ให้เช่าเกือบทั้งหมด ดังนั้นรายได้ของ
อ.ส.ม.ท. จึงเป็นรายได้ที่ไม่ได้ลงทุนอะไร นโยบายการจัดรายการเองผลิตรายการเองแทบไม่มี
เพราะประมุทเห็นว่ารายได้จากการเช่าเวลาเป็นรายได้ที่แน่นอน และควรทุ่มให้กับรายการข่าวมากกว่า
ซึ่งกลายเป็นนโยบายของผู้บริหารต่อๆ มา
"ถ้าจะจัดรายการเองมัปัญหามากแค่เรื่องการลงทุน ถ้าคุณจัดแล้วขาดทุน
คุณถูกสอบแน่ในแง่รัฐวิสาหกิจ แล้วใครจะไปเสี่ยง แล้วเรามีครีเอทีฟฝีมือดีๆ
อยู่กับเราหรือเปล่า เก่งๆ แต่รายได้แบบข้าราชการนะ" พนักงาน อ.ส.ม.ท.
ตัดพ้อ
ดังนั้นกิจการที่เป็นล่ำเป็นสันของ อ.ส.ม.ท.คือ การให้เช่าเวลา
มองในแง่นี้บริหารสถานีโทรทัศน์มันง่ายจะตาย!
"อ.ส.ม.ท. ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้เลย คุณคิดดู มีสินทรัพย์พันกว่าล้าน
ก็มีไว้ให้คนอื่นเช่า รายการก็ไม่ผลิตเอง เวลาลงทุนขยายงานเครือข่ายหรือตั้งสถานีวิทยุก็ให้คนอื่นเข้ามาลงทุน
แล้วตนเองให้สัมปทานเขาไป รายจ่ายของ อ.ส.ม.ท. ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการลงทุนซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมกับต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน"
เรื่องของเรื่องก็เลยไม่รู้ว่า ประมุทมีฝีมือหรือความเฮงของ อ.ส.ม.ท. กันแน่
การจัดซื้อก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ประมุทถูกเพ่งเล็งสม่ำเสมอ อุปกรณ์หลายรายการจัดซื้อในราคาแพงกว่าปกติ
และใช้งานได้ไม่ดี ซึ่งใน อ.ส.ม.ท. เองจะได้ยินพนักงานฝ่ายช่างบ่นด้วยความเหนื่อยหน่ายจนเป็นเรื่องปกติ
กรณีที่เห็นชัดมากคือ การลงทุนขยายเครือข่ายสถานีวิทยุ เอฟ.เอ็ม. ของ ท.ท.ท.
49 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยประมุท สถานีดังกล่าวมีกำลังส่ง
1 กิโลวัตต์ ค่าใช้จ่ายในส่วนอุปกรณ์ตั้งงบไว้แต่แรก 4 ล้าน เฉพาะตัวเครื่องส่งวิทยุราคาแพงที่สุดคือ
1.6 ล้านบาท แต่พอในสมัยดร.บุญเสริม วีสกุล รักษาการผู้อำนวยการ มีการสืบราคากันใหม่ราคาเครื่องส่งวิทยุลดไปเหลือแค่
6 แสนบาท งบประมาณการจัดตั้งสถานีทั้ง 49 แห่งเหลือเพียงแห่งละ 2.2 ล้านบาท
ว่ากันว่ารายการนี้มีคนหัวเราะไม่ออกหลายคนโดยเฉพาะซัพพลายเออร์อุปกรณ์
และคนใน อ.ส.ม.ท. บางคนที่รู้เรื่องนี้ดี
กรณีสถานีวิทยุ ท.ท.ท. นี้อีกเหมือนกันว่ามีรายการใต้โต๊ะกันไม่น้อย เพราะแต่เดิมนั้น
อ.ส.ม.ท. มีสถานีวิทยุในต่างจังหวัดอยู่แล้ว 4-5 สถานี อ.ส.ม.ท. ลงทุนซื้อเครื่อง
สร้างสถานีเสร็จก็หาผู้ประมูลสัมปทานไป โดย อ.ส.ม.ท. คิดค่าเช่าเป็นรายเดือน
เดือนละ 6-7 หมื่นบาท เล่ากันว่า คราวก่อนๆ มีการวิ่งเรื่องให้โดยหน้าม้าเรียกเงิน
2 ล้านสำหรับการเข้ามาจัดรายการ 1 สถานี
มาคราวนี้ 49 สถานี มีการจัดตั้งอนุกรรมการคัดเลือกผู้เข้ารับสัมปทาน โดยผู้ประมูลได้ต้องเสียค่าสัมปทานทันที
3 ล้านบาท และค่าเช่ารายเดือนอีก 1 แสนบาทต่อเดือน วิธีการนี้ทำให้ อ.ส.ม.ท.
เกือบจะมีกำไรทันทีที่สถานีสร้างเสร็จ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีคนบอกว่า "บริหาร
อ.ส.ม.ท. นี่ง่ายชะมัด"
"คนที่เขาตั้งใจทำ เขารู้วิธีไม่ให้ถูกจับได้ ที่ถูกจับสอบสวนทุกวันนี้เพราะพวกที่ทำไปมันพลาด
ผิดระเบียบนั่นแหละ" คนเก่าคนแก่ใน อ.ส.ม.ท. กล่าวเปรียบเปรย
แม้จะมีคำครหาในตัวประมุทอย่างไร แต่ประมุทก็ไม่เคยถูกกรรมการสอบสวนเลย
และอยู่ อ.ส.ม.ท. ได้นานถึงเกือบ 10 ปี บางคนกล่าวว่าเพราะประมุทมีพ่อตาชื่อพลโทจวน
วรรณรัตน์ แม่ทัพภาค 4 อีกทั้งประมุทเองเป็นคนเข้าหา "ผู้ใหญ่"
ในรัฐบาลเก่ง และรัฐมนตรีหลายคนเห็นความสามารถในการทำกำไรให้แก่ อ.ส.ม.ท.
แต่ประมุทก็พลาดเข้าจนได้
อ.ส.ม.ท. สั่งซื้อเครื่องบันทึกภาพโทรทัศน์ยี่ห้อแอมแพกซ์จำนวน 2 เครื่อง
มูลค่า 4.5 ล้านบาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดวิเชียรพัฒนา เมื่อเดือนธันวาคม 2521
ห้างวิเชียรพัฒนานำเครื่องดังกล่าวมาส่งมอบเมื่อเดือนมิถุนายน 2522 โดยยังไม่มีการชำระภาษีอากรขาเข้า
ต่อมาผู้บริหารระดับสูงของ อ.ส.ม.ท. พยายามให้ความช่วยเหลือในการขอลดภาษีอากรขาเข้า
แต่ทางศุลกากรไม่ยินยอม ต่อมามีกระแสข่าวว่าทางกระทรวงการคลังจะประกาศลดภาษีขาเข้าลง
ผู้ขายจึงอ้างว่าเครื่องบันทึกภาพดังกล่าวที่นำส่งมอบให้ อ.ส.ม.ท. ไปแล้วนั้นใช้การไม่ได้ต้องส่งคืนโรงงานที่ต่างประเทศ
ทำเสมือนหนึ่งยังไม่มีการซื้อขายกันเมื่อมีการประกาศลดภาษีแล้ว ก็ได้นำกลับมาใหม่ทำเสมือนว่า
อ.ส.ม.ท. สั่งซื้อเครื่องดังกล่าวนั้นใหม่ซึ่งทำให้รัฐขาดรายได้ประมาณ 4
ล้านบาท
ป.ป.ป. เริ่มเข้ามาสอบสวนกรณีนี้เมื่อปลายปี 2524 และสรุปว่าประมุทมีความผิดจริง
จึงส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา และส่งเรื่องให้ ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ
อ.ส.ม.ท. พิจารณาโทษทางวินัย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2526 ระหว่างรอการพิจารณา
ประมุทตอบโต้กลับด้วยการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยกับกรรมการตรวจรับเครื่องบันทึกภาพดังกล่าว
โดยมีสมจิต นพคุณ รองผู้อำนวยการ ซึ่งสนิทชิดเชื้อกับประมุทมากเป็นประธานกล่าวหาว่ากรรมการตรวจรับรับอุปกรณ์ที่บกพร่องไว้ใช้งาน
จนต้องนำเครื่องไปแก้ไขยังต่างประเทศ ในที่สุดก็มาถึงคราวซวยของกรรมการตรวจรับ
สุวรรณ เมตยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ถูกสั่งพักงาน กรรมการอีก
4 คน ซึ่งเป็นพนักงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายช่างถูกไล่ออก 4 คน
พนักงานทั้ง 4 คน อุทธรณ์และฟ้องศาลแรงงาน เรื่องดังกล่าวยืดเยื้ออยู่
3 ปี การตั้งกรรมการใน อ.ส.ม.ท. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 4 ชุดก็ยังไม่มีที่สิ้นสุด
จนกระทั่งมีนาคม 2530 คดีของพนักงานทั้ง 4 มาจบที่ศาลฎีกายืนตามศาลแรงงานให้พนักงานทั้ง
4 คนชนะคดีส่วนการพิจารณาโทษทางวินัยต่อประมุทไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน เพราะพอดีกับจิรายุ
อิศรางกูร ณ อยุธยา มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคุม อ.ส.ม.ท. แทน
ร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม
จิรายุอนุมัติให้ประมุทลาพักตั้งแต่ปลายปี 2529 แล้วให้ดร.บุญเสริม วีสกุลมารักษาการแทน
เมื่อคดีสิ้นสุด จำเลยทั้งสามคือ อ.ส.ม.ท. จำเลยที่หนึ่ง ประมุท สูตะบุตร
จำเลยที่สอง และร.ต.ท.ชาญ มนูธรรม จำเลยที่สามแพ้คดี จิรายุซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐมนตรีมือสะอาด
ก็สั่งย้ายประมุทมาช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต่อมาประมุทได้ลาออกจากราชการ
แล้วหันไปทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งต้องบินเทียวไปเทียวมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยหลังจากนั้นชนะบุญเสริมก็เตรียมขึ้นเป็นผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. คนที่สอง
2 ดร.ผู้ถูกเชือด
ดร.บุญเสริม วีสกุล รักษาการผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ตั้งแต่ปลายปี 2529 ในช่วงรักษาการ
และเป็นกรรมการ อ.ส.ม.ท. ยาวนานถึง 7 ปี เล่ากันว่าดร.บุญเสริมต้องตามไปสางเรื่องเก่าๆ
ที่สะสมมาแต่สมัยประมุทหลายเรื่อง เช่น กรณีโครงการขยายเครือข่ายสถานีวิทยุเอฟเอ็ม
กรณีการจัดซื้อรถถ่ายทอดวิทยุด้วยวิธีพิเศษจากสหรัฐอเมริการาคาคันละ 12 ล้านบาท
ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับยังไม่ยอมตรวจรับเพราะเครื่องส่งในรถใช้งานไม่ได้และราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นคือ
6 ล้านบาท
แล้วยังมีกรณีพนักงานในฝ่ายการตลาดจัดซื้อสิ่งของต่างๆ ตอบแทนลูกค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่
2530 และมีการแก้ไขตัวเลขในใบเสร็จเกินความจริงไป 162,435 บาท ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติให้ไล่พนักงานผู้นี้ออก
เพียงแต่รอดร.บุญเสริมลงนามเท่านั้น
อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ในสมัยประมุทเป็นผู้อำนวยการได้ออกระเบียบให้พนักงานระดับหัวหน้าฝ่ายผู้หนึ่งมีอำนาจเบิกจ่ายเงินได้เดือนละ
2 แสนบาทเพื่อไว้ต้อนรับลูกค้าทางด้านธุรกิจโฆษณา ซึ่งหัวหน้าฝ่ายผู้นี้ได้เบิกงบประมาณก้อนนี้ไปใช้ทุกเดือน
แต่ในช่วง 6-7 เดือนสุดท้าย หลังจากที่ประมุทพ้นตำแหน่งไปแล้ว หัวหน้าฝ่ายผู้นี้ไม่ได้นำหลักฐานใช้จ่ายเงินส่งให้กับฝ่ายบัญชี
เมื่อมีการเรียกดูหลักฐาน ปรากฏว่าหัวหน้าฝ่ายผู้นั้นนำเงินมาคืน อ.ส.ม.ท.
กว่า 1 ล้านบาทเพื่อปกปิดว่าเบิกเงินโดยไม่มีหลักฐาน ปรากฏว่าถูกจับได้เสียก่อน
จนถูกคณะกรรมการสอบสวนอยู่
กรณีนี้อาจเป็นเรื่องปกติในสถานการณ์ "เปลี่ยนศูนย์อำนาจ" ซึ่งจะต้องมีการสะสางล้างบางเรื่องเก่าอยู่บ้าง
ประกอบกับรัฐมนตรีจิรายุต้องการจะเคลียร์เรื่องที่ฉาวโฉ่ใน อ.ส.ม.ท. เพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ในฐานะที่ตนเองมาคุมอยู่ด้วย
อีกทั้งดร.บุญเสริมก็เป็นที่ยอมรับกันพอสมควรในเรื่องความซื่อสัตย์ ปมเก่าที่สะสมกันมาก็มีมากมายแตะไปตรงไหนก็ให้ได้พบทั้งนั้น
เรื่องมาพลิกล็อคเอาเมื่อ คณะกรรมการ อ.ส.ม.ท. ซึ่งมีอรุณ ภาณุพงศ์ เป็นประธานในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแทนจิรายุ
ลงมติแต่ตั้งดร.บุญเสริมเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ตัวจริงเสียทีหลังจากที่รักษาการมานานเมื่อวันที่
23 กันยายน 2530 พอวันรุ่งขึ้น 24 กันยายน ดร.บุญเสริมก็ตัดสินใจลาออกทันทีเมื่อเจอทีเด็ดพนักงาน
อ.ส.ม.ท. เองเอาเทปเสียงของดร.บุญเสริมที่พูดต่อหน้าผู้บริหารระดับสูงของ
อ.ส.ม.ท. ซึ่งมีข้อความบางตอนเกี่ยวโยงกับสถาบันระดับสูง ผู้เขียนใบปลิวและนำเทปออกมาระบุอย่างรวบรัดว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีการสอบสวนในเวลาต่อมาปรากฏว่าไม่ผิด
หัวหอกที่นำเรื่องนี้มาเดินเครื่องคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมวลชน
ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เฉลิมกล่าวในภายหลังว่า เขายอมรับว่าเป็นเครื่องมือ
แต่เป็นเครื่องมือของความถูกต้อง
แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวว่า คนที่นำเทปออกมาจากที่ประชุมสัมมนานั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่เป็นคนที่ทำงานใกล้ชิดกับดร.บุญเสริมมาก เป็นผู้บริหารระดับสูงใน อ.ส.ม.ท.
นั่นแหละ แล้วส่งต่อไปยัง "กลุ่มอำนาจเก่า" อีกทอดหนึ่ง
อย่างน้อยๆ มันก็แสดงถึงพลังของ "อำนาจเก่า" ที่ยังคงเหลืออยู่
และประกาศว่าอย่ามาแตะต้อง!
ดร.บุญเสริมลาออกอย่างกระทันหันกลับไปเป็นอาจารย์ที่นิด้า และที่สำคัญดร.บุญเสริมยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจของบริษัทในเครือเฉลิมพันธ์
ศรีวิกรม์ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะที่ดร.บุญเสริมมีความสนิทสนมเป็นเพื่อนกับคุณหญิงศศิมา
และเฉลิมพันธ์มาเก่าแก่ และต่อมาภายหลังเฉลิมพันธ์นี่เองก็ส่งเรื่องให้ป.ป.ป.
สอบราชันย์ ฮูเซ็น เรื่อง "ลิตเติลดั๊ก" ในเวลาต่อมา
หลังการลาออกของดร.บุญเสริม มานิต วรินทรเวช รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มารักาษการผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. ในระยะเวลาอันสั้น จนเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ดร.มนตรี เจนวิทย์การ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็เข้ามาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เชื่อกันว่าเป็นไปตามประสงค์ของ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และประสงค์ สุ่นศิริ เพื่อเข้ามาควบคุม อ.ส.ม.ท. อย่างใกล้ชิดด้วยคนที่ไว้ใจได้อีกครั้งหนึ่ง
"ผู้จัดการ" เคยมีโอกาสสนทนากับดร.มนตรีครั้งหนึ่งในช่วงดำรงตำแหน่ง
ดร.มนตรีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" เหมือนทุอย่างเงียบสงบ เรียบร้อยดี
พนักงานก็ให้ความช่วยเหลือแก่เขาเป็นอย่างดี เรื่องการอนุมัติให้เช่าเวลา
ซึ่งเคยมีปัญหามาก ดร.มนตรีก็เอาพิจารณาคนเดียว โดยย้ำว่าทุกอย่างต้องทำด้วยความซื่อสัตย์
พิจารณาคุณภาพของรายการเป็นสำคัญ"
การบริหารในองค์กรดร.มนตรีกล่าวว่าเขาใช้หลัก Management by Result คือ
หวังผลงานที่ดีเป็นหลัก ลักษณะเช่นนี้เข้าใจว่าเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับพนักงานที่ยังถือครองผลประโยชน์อยู่เพราะในตอนท้ายดร.มนตรีกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ลอยๆ ว่า "อย่าไปบีบจนคนอื่นเขาอดตายกันหมด"
ไม่ถึง 8 เดือนดี ดร.มนตรีถูกปลดจากตำแหน่ง หลังจากที่เฉลิม อยู่บำรุง
ระบุว่าการบริหารของผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. มีข้อผิดพลาดโดยเฉพาะในเรื่องการเสนอข่าวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจมีข้อผิดพลาดถึง
4 ครั้ง
แหล่งข่าวกล่าวว่าเรื่องนี้มีการ "ยัดไส้ข่าว" กันเพื่อกลั่นแกล้ง
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่เฉลิมในการดำเนินการเรื่องอื่นๆ เพราะข่าวที่ผิดพลาดนั้น
เป็นข่าวที่เก็บไว้ในสต็อกหมดแล้วไม่มีทางจะหยิบฟิล์มข่าวผิดพลาดแน่ แต่เป็นเช่นนั้นเพราะ
"คนในระดับสูง" จับยัดเข้าไป
แม้สาเหตุแท้จริงของการถูกปลดของมนตรีจะด้วยเหตุทางการเมือง แต่เหตุการณ์ข้างต้นเป็นไปได้สูงมาก
เพราะเป็นความผิดพลายที่เกิดขึ้นในยามที่สถานการณ์ต้องการและติดต่อถึง 4
ครั้ง และเป็นเหตุการณ์ที่เป็นใบเบิกทางให้แก่เฉลิมได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่ามนตรีจะรู้เรื่องนี้หรือไม่ก็ตาม มันก็สายเกินไปสำหรับมนตรีที่จะกลับมาล้างบาง
อ.ส.ม.ท.!
คนเก่าๆ ผู้สืบทอด
สมจิต นพคุณเป็นรองผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ตั้งแต่สมัยประมุท ครองอำนาจ โดยธรรมชาติสมจิตเป็นคนดี
เงียบๆ ก่อนหน้านั้นสมจิตประจำสถานีวิทยุ ท.ท.ท. แล้วประมุทดึงขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการ
เล่ากันว่าประมุทรีบดึงสมจิตมาอย่างฉับพลันและข้ามมาอย่างรวดเร็วมาก เพราะต้องการกันประสิทธิ์
หิตะนันท์ ซึ่งจะมาเป็นรองผู้อำนวยการอีกคนออกไป เนื่องจากช่วงนั้นตำแหน่งรองผู้อำนวยการซึ่งมีได้ตำแหน่งเดียวว่างอยู่
ชาญ มนูธรรม ประธาน อ.ส.ม.ท. ต้องการเอาประสิทธิ์เข้ามาแต่ประมุทไม่ต้องการ
จึงรีบดันสมจิตขึ้นมากันเสียก่อนในขณะนั้นตำแหน่งของประสิทธิ์จึงต้องคอยการอนุมัติจากกระทรวงการคลังในภายหลัง
สมจิตจัดว่าเป็นลูกหม้อของ อ.ส.ม.ท. และประมุทไว้ใจให้ทำงานหลายอย่าง เพราะสมจิตมักชอบทำงานตามสั่งมากกว่าที่จะคิดเอง
จนดูกลายเป็นคนเฉื่อยเนือย มักต้องพกสมุดติดตัวเล่มหนึ่งคอยจดเรื่องต่างๆ
ที่ได้รับคำสั่งหรือในที่ประชุม เพราะกลังลืมจนในสมัยเฉลิมมาเป็นประธานเล่ากันว่า
กรรมการท่านหนึ่งรำคาญสมจิตมากถึงกับดุว่า "มัวแต่จดอยู่นั่นแหละ ทำอะไรเสียบ้างซิ"
แต่ภายใต้ความเฉื่อยเนือย มีบางคนเชื่อว่า สมจิตมี "คมใน" อยู่ไม่น้อย
ในช่วงผลัดเปลี่ยนผู้อำนวยการหลายคน กล่าวกันว่าสมจิตถูกแขวนไว้เฉยๆ แต่ก็มีเสียงกระซิบว่าอำนาจแฝงจากหลายแห่งส่งผ่านมาทางสมจิต
ซึ่งดูจะสอดคล้องกับบุคลิกกับสมจิตดี
เป็นที่รู้กันดีว่า สมจิตมีความสนิทสนมกับกลุ่มธุรกิจที่มาร่วมงานกับ อ.ส.ม.ท.
ตั้งแต่สมัยประมุทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่ไนท์สปอต สมจิตมีลูกชายทำงานอยู่ด้วย
ประสิทธิ์ หิตะนันท์เป็นรองผู้อำนวยการด้วยแรงผลักดันจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่
"ไทยรัฐ" ผ่านทางรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประจวบ สุนทรางกูร และรัฐมนตรีชาญ
มนูธรรม ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์การต่อสัญญาช่อง 3 ที่ไทยรัฐต้องการร่วมประมูลได้
ประสิทธิ์เป็นคนเก่งเคยเป็นรองผู้จัดการแอร์อินเดีย เมื่อเข้าไป อ.ส.ม.ท.
ประมุทหวาดระแวงประสิทธิ์มากเอาการ เพราะรู้กิตติศัพท์ความเด็ดขาดแบบใจนักเลงของประสิทธิ์
และกองหนุนของประสิทธิ์ก็ใหญ่ไม่ใช่เล่น ตำแหน่งผู้อำนวยการอาจจะคลอนแคลนได้
ภายหลังประมุทกับประสิทธิ์ขัดกันรุนแรงมาก ประมุทถึงกับต้องมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคุ้มหน้าคุ้มหลัง
แต่ประสิทธิ์ก็ยังมีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าสหภาพแรงงาน อ.ส.ม.ท. โดยเฉพาะช่วงที่ประมุทมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อเครื่องบันทึกภาพ
ด้วยความที่ประสิทธ์เคยอยู่บริษัทการบินมาก่อน ประสิทธิ์จึงมีลักษณะชอบบริการและประนีประนอมกับผู้อื่นได้ดีโดยเฉพาะกับกลุ่มภายนอก
ในฐานะที่ประสิทธิ์เคยเป็นรองผู้อำนวยการข่าวโทรทัศน์ ประสิทธิ์ก็พาบรรยงค์
สุวรรณผ่อง มาอ่านข่าวเศรษฐกิจ จังหวะเดียวกับที่มนตรีมีท่าทีขัดง้างกับแปซิฟิค
เป็นที่รู้กันว่าบรรยงค์เป็นบรรณาธิการของนิตยสารฉบับหนึ่ง และเป็นคู่ซี้กับ
"ใต้ฝุ่น" ของไทยรัฐ เมื่อดร.มนตรีมาถึง ดร.มนตรีก็หักประสิทธิ์โดยการเอารายการช่วงบรรยงค์ออก
เป็นที่รู้กันใน อ.ส.ม.ท. ว่าดร.มนตรีมักหักหน้าประสิทธิ์บ่อยๆ เช่น ยกชื่อออกจากจอโทรทัศน์ว่าเป็นรองผู้อำนวยการข่าว
นัยว่าเพื่อให้บารมีของประสิทธิ์น้อยลงตัดทอนอำนาจการรับสมัครคนโดยไม่ผ่านดร.มนตรีหรือการไปทำข่าวต่างประเทศ
เช่น ข่าวโอลิมปิก ข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ขนนักข่าวไปกันมากมาย
โดยมีประสิทธิ์นำทีมดร.มนตรีก็อนุญาตให้ไปไม่กี่คน
"มนตรีเขาชอบคนมีความรู้ มีดีกรี เพราะตัวแกเองก็เป็นถึงดอกเตอร์
ทั้ง อ.ส.ม.ท. มีเอ็มบีเอแค่ 2 คน ซึ่งไม่ใช่รองประสิทธิ์ มนตรีก็ชอบเอางานยากๆ
ใช้เทคนิคสูงมาให้รองประสิทธิ์ ซึ่งรองประสิทธิ์แกไม่สันทัด แล้วมนตรีก็รู้สึกว่ารองประสิทธิ์ชอบโอ๋ไทยรัฐอยู่เรื่อย
ประชุมอะไรไทยรัฐรู้ทุกที ทั้งคู่เลยเหม็นหน้ากันไปพอสมควร" แหล่งข่าวกล่าว
ประสิทธิ์ถูกโยกไปดูแลงานด้านขยายเครือข่าย ซึ่งต้องออกไปต่างจังหวัดสม่ำเสมอ
แต่ปรากฏว่าดร.มนตรีเด้งไปก่อนประสิทธิ์ในเวลาต่อมาไม่กี่เดือน
ในระดับตำแหน่ง "ผู้ช่วยผู้อำนวยการ" มีอยู่ด้วยกัน 6 ตำแหน่ง
และแต่ละคนก็มีเรื่องมีราวโยกย้ายสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งกันไปมา สุวรรณ เมตยานุวัฒน์
เคยเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ กรณีซื้อเครื่องบันทึกภาพทำให้เขาถูกพักงานถึง
3 ปี โดยไม่มีความผิด และประมุทยังฟ้องเขาเป็นจำเลยในข้อหาให้การเท็จในกรณีเดียวกัน
และที่สำคัญหลักฐานที่ประมุทอ้างว่าสุวรรณให้การเท็จนั้นมาจากคำให้การต่อ
ป.ป.ป. ซึ่งไม่น่าจะหลุดออกมาได้
สุวรรณกลับ อ.ส.ม.ท. อีกครั้งเมื่อคดีของประมุทจบลงด้วยตำแหน่งเดิม แต่ก็ถูกย้ายอีกครั้งไปเป็นผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม
เมื่อเฉลิม อยู่บำรุงมาเป็นประธาน
บางคนได้ยินสุวรรณบ่นด้วยความเหนื่อยหน่ายถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่รู้จักจบสิ้นขององค์การและชีวิตของตน
อรสา คุณาวัฒน์เป็นลูกหม้อขนานแท้ของ อ.ส.ม.ท. มาแต่แรก รู้จักมักคุ้นกับประมุทดี
แต่ในภายหลังก็ถูกประมุทฟ้องว่าให้การเท็จพร้อมกับสุวรรณ อรสาเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารในช่วงดร.มนตรีเป็นผู้อำนวยการ
เธอรักษาการผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยด้วย แต่ก็ในระยะเวลาอันสั้น
ถวัลย์ศักดิ์ สุขะวรรณ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ในอดีตเคยเป็นกลุ่มเดียวกับประมุท
แต่ภายหลังแตกคอกันเรื่องการจัดซื้อ ถวัลย์ศักดิ์ถูกจับไปแขวนเป็นที่ปรึกษาเสียหลายปี
จนกลับมาอีกครั้งในตำแหน่งเดิม ถูกย้ายอีกครั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยเมื่อเฉลิม
อยู่บำรุงเป็นประธาน
พนักงานระดับหัวหน้าฝ่ายอีก 16 คน บางคนก็ได้ดีในสมัยประมุท บางคนถูกดองซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาขององค์กร
หัวหน้าฝ่ายการตลาดมีอาการป่วยเสมอๆ เมื่อถูกสอบเรื่องทุจริตเงินเลี้ยงลูกค้า
ตำแหน่งบางตำแหน่งไม่สอดคล้องกับคุณวุฒิ หรือบางตำแหน่งได้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องและไม่เรียนรู้งาน
และหลายคนยังระลึกถึงความสุขในอดีตสมัยประมุทยังครองอำนาจ แต่อีกหลายๆ คนอยากทำงานใน
อ.ส.ม.ท. อย่างเต็มที่และด้วยใจรัก ถ้าเขามีโอกาสและองค์กรสนับสนุนเขา...
"คุณจะไปว่าว่าพนักงาน อ.ส.ม.ท. แตกแยกกันก็ไม่ถูก ผู้ใหญ่มันแตกก่อน
แล้วมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเหลือเกิน พนักงานเขาก็ต้องหาที่หลบภัยเป็นธรรมดา"
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าว
เฉลิมและเพื่อนพ้อง
ราชันย์ ฮูเซ็น มาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ตามเส้นทางการเมืองของเฉลิม
อยู่บำรุง ที่มาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคุม อ.ส.ม.ท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ในสายตาทั่วไปภาพของเฉลิม อยู่บำรุงกับราชันย์มิได้แยกห่างจากกันเลย และยิ่งเฉลิมพยายามที่จะสร้างบทบาทของตนเองในฐานะนักการเมืองผ่านสื่อสารมวลชนอย่าง
อ.ส.ม.ท. มากเท่าไร บางคนอาจจะนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. คนปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไร
จะว่าไปแล้วองค์กรระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับการไฟฟ้านั้น การไฟฟ้ามีความสำคัญและมีผลประโยชน์มหาศาลกว่า
อ.ส.ม.ท. หลายสิบเท่านัก แต่เงื่อนไขที่ทำให้เฉลิมเข้าไปก้าวก่ายงานนั้นแตกต่างกัน
อ.ส.ม.ท. มีปมเงื่อนที่เปราะบางในตัวอยู่มาก ตัวคณะกรรมการที่ต้องเปลี่ยนพอดี
ประธานคณะกรรมการก็เป็นตัวรัฐมนตรีเอง และภายในองค์กรก็มีความแตกแยกกันสูง
มีอำนาจแฝงแทรกตัวอยู่ ขณะที่การไฟฟ้ามีนักบริหารที่มีบารมีอย่างเกษม จาติกวณิชเป็นประธาน
คณะกรรมการ กำธน สินธุวานนท์ เป็นผู้ว่าการ พนักงานและสหภาพแรงงานยังเหนียวแน่นและแข็งแกร่งพอสมควร
ไปๆ มาๆ องค์กรอย่าง อ.ส.ม.ท. ก็ดูจะเหมาะสมดีสำหรับนักการเมืองที่ชอบท้าคนอภิปรายกลางท้องสนามหลวง
ออกโทรทัศน์อย่างเฉลิม อยู่บำรุง
เฉลิมแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่โดยยังคงผู้แทนกระทรวงการคลังคือ กมล จันทิมา
ซึ่งเป็นกรรมการมาหลายสมัยกับผู้แทนกองทัพบกคือ พ.อ.อภิชัย วารุณประภาไว้
ส่วนกรรมการคนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงซึ่งจะมองว่าเป็นผู้แทนจากหน่วยราชการหรือธุรกิจเอกชนก็ย่อมได้
แต่ขณะเดียวกันจะมองว่าบุคคลเหล่านี้สนิทสนมกับเฉลิมมาก่อน ทั้งในฐานะร่วมงานกันในที่ลับ
หรือเป็นฐานคะแนนเสียงมาก่อนก็ย่อมได้ เพราะดูหลายคนจะห่างไกลกับวงการโทรทัศน์เอาเสียจริงๆ
คนที่เคยเป็นคณะกรรมการอย่างพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร แล้วลาออกเคยบ่นว่า
คณะกรรมการคือ บอร์ด ซึ่งมันก็ "บอด" จริงๆ เพราะเฉลิมมักทำงานฉับไว
ไวมากจนบางทีข้ามหน้าข้ามตากรรมการไปอย่างช่วยไม่ได้ เช่น การแต่งตั้งคนของพรรคมวลชนเข้าไปบริหาร
อ.ส.ม.ท. และราชันย์ เป็นผู้อำนวยการที่มีการออกข่าวไปก่อนจนไม่ต้องฟังเสียงหรือความเห็นของกรรมการเลย
ตั้งแต่เฉลิมและราชันย์เข้ามามี 2 กรณีที่สะท้อนถึงวิธีคิด วิธีทำงานของคน
อ.ส.ม.ท. ได้เป็นอย่างดี กรณีแรกคือ การยกเลิกสัญญาแบแปซิฟิค กรณีที่สองคือ
กรณีลิตเติ้ลดั๊ก
กรณียกเลิกสัญญากับแปซิฟิค อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น อ.ส.ม.ท. ในสมัยประมุทได้ทำสัญญากับแปซิฟิคในการจ้างเหมาให้คำปรึกษาปรับปรุงและผลิตรายการข่าวโทรทัศน์ตั้งแต่
12 พฤศจิกายน 2528 สัญญาสิ้นสุด 15 พฤศจิกายน 2533 แต่มายกเลิกกลางคัน ประเด็นความเป็นมารายละเอียดของสัญญา
"ผู้จัดการ" จะไม่กล่าวถึง เพราะเป็นที่กล่าวกันมามากแล้ว แต่ประด็นที่ยกเลิกสัญญานั้นสรุปจากคำแถลงของรองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีและรายงานของราชันต์
ฮูเซ็น ซึ่งเฉลิม อยู่บำรุงนำมาอ้างในที่ประชุมครม. สรุปได้ว่า ประการแรก
แปซิฟิคเสนอข่าวที่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล สร้างความขัดแย้งกับรัฐบาล
ข้อต่อศีลธรรม เสนอข่าวแอบแฝงธุรกิจ แสวงผลประโยชน์ในข่าว ประการที่สอง แปซิฟิคไม่ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมพนักงานและตัวกรรมการผู้จัดการคือ
สมเกียรติ อ่อนวิมล ยังกระทำตนกระทบต่อภาพพจน์ของ อ.ส.ม.ท. ประการที่สาม
ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดจากันมาก่อนหน้านั้นคือ การที่แปซิฟิคได้รับผลประโยชน์จากรายการข่าวมากเกิน
อ.ส.ม.ท. ควรจะได้มากกว่าที่เป็นอยู่
คำถามคือว่า แปซิฟิคเป็นเอกชนที่เลวร้ายมาก จ้องแต่จะขูดรีดผลประโยชน์จน
อ.ส.ม.ท. จะต้องรีบเขี่ยทิ้งทันทีกระนั้นหรือ?
เฉลิมเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนนี้สรุปได้แล้วว่าแปซิฟิคได้เปรียบ อ.ส.ม.ท.
จริงๆ โดยเฉพาะตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป อัตราค่าโฆษณาของข่าว อ.ส.ม.ท.
จะปรับสูงขึ้น ถ้ายังทำธุรกิจร่วมกันอยู่ บริษัทแปซิฟิคจะได้รับผลประโยชน์มหาศาล
ถ้ามีอำนาจในการยกเลิกสัญญาจะเซ็นเลิกเดี๋ยวนี้ทันที"
ดร.บุญเสริมเคยให้สัมภาษณ์ "ไทยรัฐ" ว่า "ในเรื่องนี้เมื่อตอนที่รู้ว่าจะขยายเครือข่ายก็ได้เตือนคุณปีย์
มาลากุล ให้เตรียมแก้สัญญา ขณะนั้นตั้งใจไว้ว่าเวลา 5 นาทีครึ่งของแปซิฟิคนั้นจะให้ราคาต่อนาทีไว้สูงสุด
30,000 บาทเท่านั้น หากขายได้เกินนี้ ส่วนเกินให้ผลักกลับเป็นรายได้ของ อ.ส.ม.ท.
หลักการนี้ก็ยอมรับกันแล้วระหว่างคุณปีย์กับผม แต่ยังไม่ทันได้แกไข"
ดร.มนตรีเคยกล่าวไว้กับ "ผู้จัดการ" ว่า "คุณปีย์เขาบอกอยู่เสมอว่า
จะแก้สัญญาอย่างไรก็ได้" อีกทั้งสัญญาฉบับนี้ก็เคยมีประวัติแก้ไขมากแล้วเป็นการแก้ไขครั้งที่
1 เมื่อ 11 กันยายน 2529
นอกจากนั้น ลักษณะข่าวที่ออกไปนั้น ใครเป็นบรรณาธิการข่าวกันแน่ เพราะสถานะของแปซิฟิคเป็นเพียงผู้รับจ้างทำข่าวเพียง
16 ข่าวต่อวันเท่านั้น สมัยดร.มนตรีกล่าวกันว่า ดร.มนตรีเคร่งเครียดมากกับการตรวจข่าว
อีกทั้งบรรณาธิการข่าวที่ปรากฏบนไตเติ้ลก็มีแต่พนักงานในฝ่ายข่าวของ อ.ส.ม.ท.
ทั้งสิ้นก่อนที่ข่าวจะปรากฏบนจอ ก็ต้องผ่านการตรวจสอบและยอมรับจาก อ.ส.ม.ท.
ทั้งสิ้น ถ้าข่าวชิ้นไหนที่ อ.ส.ม.ท. เห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐขัดแย้งศีลธรรม
แล้วละก็ คำถามคือ อ.ส.ม.ท. ละเลยการตรวจข่าวแล้วปล่อยมาจัดการรวบยอดหรืออย่างไร
จริงๆ แล้วกรณีแปซิฟิคก็คล้ายคลึงกับการปลดดร.มนตรีออกจากผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.
เฉลิมไม่ไว้ใจแปซิฟิค แม้ว่าในอดีตแปซิฟิคจะเคยเสนอข่าวที่เปรมไม่พอใจมาแล้ว
แต่บางทีก็เสนอข่าวเปรมยาวนานเป็นพิเศษ แม้เปรมจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว และสมเกียรติก็เป็นคนที่หัวแข็งพอสมควรในแง่หลักการในการเสนอข่าว
บางทีทิศทางในการทำข่าวก็เป็นสิ่งที่เฉลิมไม่เคยคาดคิด
"ตอนนี้เฉลิมต้องเอียงข้างชาติชายเต็มที่ อะไรที่เห็นว่าเป็นพวกเปรม
แกฟาดหมด อีกอย่างเฉลิมเป็นคนเดาใจยาก เฉลิมเป็นคนเจ้าอารมณ์ ใจร้อน เป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครขัดใจสั่งแล้วต้องทำตาม
เฉลิมกับสมเกียรติเลยยิ่งไปด้วยกันไม่ได้ใหญ่" แหล่งข่าวกล่าว
นอกเหนือจากปลดดร.มนตรี ขจัดแปซิฟิค กรณีสั่งปิด "พาเลซ" ที่ลุยโดยเฉลิม
และข่าวช่อ 9 อ.ส.ม.ท. โดยการนำทีมของราชันย์เองก็เสนอข่าวอย่างฉับไวก็กลายเป็นปมที่เจ้าของพาเลซและหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ขุ่นเคืองใจมาก
ไทยรัฐและสมเกียรติจึงเป็นพันธมิตรกันโดยปริยาย ทั้งที่เมื่อก่อนเจ้าของหน้าสีไทยรัฐบางคนอัดสมเกียรติไม่เว้นแต่ละวัน
แหล่งข่าวลึกๆ กล่าวว่า บางทีเงินที่เคยตกอยู่ใต้โต๊ะ อ.ส.ม.ท. ที่เคยตกเดือนละ
1 แสน มีเสียงขอให้เพิ่มเป็น 3 แสนพร้อมแป๊ะเจี้ยอีก 8 ล้าน สนนราคานี้ตกลงกันไม่ได้เรื่องมันเลยวุ่นวายใหญ่
สหภาพแรงงาน อ.ส.ม.ท. เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกโรงมาแต่ไหนแต่ไรว่าสัญญาระหว่าง
อ.ส.ม.ท. กับแปซิฟิคไม่เป็นธรรมโดยระบุว่า ประมุทและพนักงาน อ.ส.ม.ท. บางคนทำสัญญาเอื้ออำนวยประโยชน์แก่แปซิฟิคโดยไม่มีอำนาจ
"บริษัทแปซิฟิคได้รับผลประโยชน์จาก อ.ส.ม.ท. เป็นเงินวันละประมาณ
176,000 บาท หรือเดือนละ 5.3 ล้านบาท หรือปีละ 63.3 ล้านบาท แลกกับการทำข่าวให้วันละประมาณ
8-12 ข่าว และการจัดผู้ประกาศข่ายอีกวันละ 5 คน...ทั้งๆ ที่ข่าวส่วนใหญ่ของช่อง
9 ประมาณร้อยละ 70 ของข่าวทั้งหมดผลิตโดยพนักงานของ อ.ส.ม.ท." สหภาพระบุ
สัมพันธภาพระหว่างสมเกียรติกับพนักงาน อ.ส.ม.ท. ค่อนข้างแย่มาก เพราะตั้งแต่ที่สมเกียรติมาทำงานที่
อ.ส.ม.ท. พนักงานก็งงกันว่าสมเกียรติมาในฐานะอะไร ตอนนั้นสมเกียรติยังวิ่งรอกระหว่างจุฬาฯกับ
อ.ส.ม.ท. ไม่ใช่พนักงาน อ.ส.ม.ท. แต่มีอำนาจในการสั่งงานในฝ่ายข่าว แล้ก็มาได้เพราะประมุททำสัญญาจ้างมา
ความไม่พอใจจึงสะสมมาเรื่อย
"สมเกียรติเป็นคนเก่ง มีอุดมการณ์ แต่เป็นคนดื้อ ถ้ารู้สึกว่าอะไรดีจะต้องทำไม่แคร์ว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร
แล้วก็มักทำทีเหมือนดูหมิ่นดูแคลนพนักงาน อ.ส.ม.ท. ว่าไม่มีคุณภาพ พูดจาไม่ค่อยเข้าหูพนักงานเขา"
แหล่งข่าวใน อ.ส.ม.ท. กล่าว
กรณีที่สมเกียรติอ้าวว่า เรื่องเทรนคน ฝึกพนักงานนั้นก็ได้ทำแล้ว เช่น
ฝึกลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ แต่ฝึกแล้ว เขาขอกลับไป อ.ส.ม.ท. กลับไม่รับเขา
เรื่องนี้พนักงาน อ.ส.ม.ท. ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า
"สมเกียรติพูดขี้โกง เอาแต่ได้ เขาก็รู้ว่าลัดดาวัลย์เป็นคนอย่างไร
ที่ลดาวัลย์ไปอยู่แปซิฟิคไม่ใช่เรื่องโครงการเทรนคน แต่เขาลาไปอยู่ เพราะแปซิฟิคให้เขาช่วยทำข่าวมาตั้งแต่เป็นพนักงาน
อ.ส.ม.ท. แล้วที่เขาลาออกจากแปซิฟิค สมเกียรติก็รู้ว่าเพราะอะไร ที่เขาขอกลับมาอีกสมัยมนตรี
แต่ไม่รับเพราะทุกคนรู้ดีว่า ลดาวัลย์เคยทำข่าวมาอย่างไร พนักงานในนี้ก็ต่อต้านโดยเฉพาะฝ่ายข่าว"
ถ้าจะมองว่าแปซิฟิคได้ประโยชน์มากก็มองได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าดูตัวเลขรายรับของ
อ.ส.ม.ท. ในช่วงข่าวก็ไม่น้อยเช่นกัน และถ้ามองว่าแปซิฟิคผิดระเบียบ ก็ย่อมได้อีก
และในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งเฉลิม ราชันย์ และสหภาพแรงงานจึงเป็น "มิตรร่วมรบ"
ได้เป็นอย่างดี
เมื่อแปซิฟิคออกไป ภาระการทำข่าวทั้งหมดก็ตรงกับฝ่ายข่าว อ.ส.ม.ท. ซึ่งก็เป็นความประสงค์ของพนักงานมานานแล้ว
เพราะที่ผ่านมาถูกเอาเครดิตไปเสียหมด
"แน่นอนที่เขาต้องมีปัญหาแน่ เพราะที่ผ่านมาเขาเหมือนพวกเด็กดอง มีปัญหาตั้งแต่นโยบายที่เฉลิม
และราชันย์ไม่ประกาศมาให้ชัด การคิดประเด็นข่าวที่ยังหาคนที่เฉียบคม ทำให้น่าสนใจได้ระดับหัวหน้าส่วนก็ไม่กระตือรือร้นอะไร
เพราะต้องคอยดูทิศทางลม เดี๋ยวเล่นข่าวเด่นเกินไปก็ถูกเฉ่งแบบสมเกียรติจะเดินทางไปต่างประเทศที่ทำเรื่องเป็นเดือน
ไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจให้ลุยข่าวกันไม่หยุด แล้วข่าว 9 ก็มีข่าวฝากจากผู้ใหญ่เยอะเหลือเกิน
ผู้ใหญ่เขาก็อยากได้อย่างโน้นอย่างนี้ ต้องให้เวลาพวกเขานานทีเดียว"
แหล่งข่าวกล่าวถึงฝ่ายข่าว อ.ส.ม.ท. ด้วยความห่วงใย แม้แต่พนักงาน อ.ส.ม.ท.
เองก็ยังรู้สึกผิดหวังว่า มันไม่มีอะไรดีขึ้น
"ที่มีคนหมิ่นว่าคนเราไม่มีคุณภาพมันไม่จริง แต่ผู้ใหญ่ให้โอกาสเราหรือเปล่า
พอเราทำผิด ทำพลาด เสนอข่าวดี แต่มีคนไม่พอใจ ผู้ใหญ่จะกล้าแอ่นอกมารับแทนเราไหม"
พนักงานคนหนึ่งกล่าวตัดพ้อ
แปซิฟิคเป็นกรณีอันหนึ่งของธุรกิจเอกชนที่มาทำธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐอย่าง
อ.ส.ม.ท. แล้วถูกแรงกดดันจนต้องหอบข้าวหอบของกลับไป ถ้าในแง่ของรัฐ รัฐอาจมองว่าตนเองเสียเปรียบทุกอย่างต้องได้รับเพื่อความเป็นธรรม
แต่สำหรับเอกชน ขนาดมีสัญญาการว่าจ้างที่ถูกต้องยังไม่วายถูกเบี้ยวจนได้
แล้วก็ยังถูกเหวี่ยงกลิ้งไปกลิ้งมาตามแรงลมการเมือง "สัญญา" อาจมองว่าเป็นธรรมในแง่ผู้บริหารคนหนึ่ง
แต่กลับไม่เป็นธรรมจะต้องขยี้ทิ้งทันทีเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร
"อ.ส.ม.ท. ทำหน้าที่ควบคุมสื่อสารมวลชน เช่น เราคุม ช่อง 3 คุมแปซิฟิค
แต่ลักษณะการควบคุมจะเป็นการควบคุมภายใต้ขอบเขตจำกัด มีลักษณะกฎเกณฑ์ให้ชัดแจ้ง
เพราะถ้าเราไปคุมเขาเกินกว่าเหตุ เอกชนเขาก็จะเกิดความไม่คล่องตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดรายได้น้อยลง
แต่ถ้าเราจะยกเลิกสัญญาใดๆ เรื่องแบบนั้นมันพูดกันง่าย แต่ผลทำนองนี้มันควรจะหลีกเลี่ยงได้
มันเป็นภาพที่รัฐจะต้องสร้างให้เอกชนเห็นว่า อะไรที่รัฐลงนามไปแล้ว รัฐถือตามข้อผูกพันนั้นคือ
เราจะต้องมีขอบเขตที่จะเล่น เอกชนเขาก็มีกฎที่จะเล่น ถ้าเราเล่นขอบเขตของเราเหมาะสม
แต่ถ้าเขาไม่จ่ายเงินเราตามสัญญา ไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันอย่างชัดแจ้ง อันนั้นเราเลิกได้
แต่ไม่ใช่ว่าเราไปบีบเขาจนผิดสัญญา ไม่ใช่ไปควบคุมเขามากเกินไป เขาก็เกิดความไม่คล่องตัว
แล้วจะมีปัญหา" อดีตกรรมการ อ.ส.ม.ท. ให้ความเห็น
อีกกรณีที่คล้ายกับแปซิฟิคคือ กรณีบริษัท แบลงค์ อินเตอร์เนชั่นแนลถูกยกเลิกสัญญา
แบลงค์ได้ทำสัญญาเช่าเวลาสถานีวิทยุ ท.ท.ท.107 เมกะเฮิรตซ์มาตั้งแต่ 30 มิถุนายน
2524 และต่อสัญญาเรื่อยมา พอเดือนตุลาคม 2531 อ.ส.ม.ท. ทำหนังสือมาทางแบลงค์ว่าจะต่อสัญญาหรือไม่
ซึ่งแบลงค์ก็ตอบตกลงไป แต่เรื่องก็เงียบ ไม่ได้รับคำยืนยันจาก อ.ส.ม.ท. จน
15 ธันวาคมก็ถึงได้รู้ว่าไนท์สปอตได้เช่าเวลาของ 107 เมกะเฮิรตซ์ไปแล้วเจอเข้าไม้นี้
แบลงค์ก็ต้องถอยทั้งที่มีสัญญาโฆษณาจากลูกค้าอยู่ในมือแล้วกว่าล้านบาท
แต่ทั้งนี้ในสัญญาข้อ 10.3 ระบุว่า "อ.ส.ม.ท. ขอสงวนสิทธิ์ที่จะเป็นผู้พิจารณาในการอนุมัติให้ต่อสัญญาฉบับนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว
โดยผู้จ้างโฆษณาไม่มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์หรือนำไปฟ้องร้อง หรือร้องเรียนใดๆ
ทั้งสิ้น และไม่ถือว่าการพิจารณาของ อ.ส.ม.ท. เป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้จ้าง"
เข้ารูปนี้ ผู้จัดรายการที่เหมาะสำหรับ อ.ส.ม.ท. ก็คือ เอกชนรายเล็กๆ ที่ไม่พยายามลงทุนสูงหวังทำรายการแบบปีต่อปีเท่านั้น
ขืนลงทุนมากๆ เกิดเลิกสัญญาดื้อๆ ย่อมต้องพบกับความขาดทุนอย่างแน่นอน
ตอนที่แปซิฟิคออกไป บรรดาเอเยนซีโฆษณาถอนตัวออกไปเยอะ ขายโฆษณาได้น้อยมา
ซึ่งผิดวิสัยที่เคยเป็นมาที่ช่วงข่าวนั้น อ.ส.ม.ท. ไม่เคยต้องออกไปหาโฆษณาเลย
เพราะเอเยนซีมาจองจนล้น สนสถานการณ์เช่นนั้น ราชันย์ตัดสินใจเอาบริษัทลิตเติ้ลดักแทรเวิล
เอเยนซีเข้ามา 16 นาทีครึ่งทั้งหมดของ อ.ส.ม.ท. ส่วนช่วง 5 นาทีครึ่งของแปซิฟิค
แปซิฟิคก็ยังดำเนินต่อไป แต่ลิตเติ้ลดักมาทำไม่ได้ถึงเดือนก็โบกมืออำลา เพราะโฆษณาไม่เข้าเลย
ขายได้น้อยมาก ปรากฏว่าเรื่องนี้ราชันย์ใช้อำนาจบอกเลิกสัญญาเอง จนมีข้อครหาว่าเฉลิมและราชันย์ช่วยพวกพ้อง
เพราะลิตเติ้ลดักเป็นหลุ่มของทนง ศิริปรีชาพงษ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเคยช่วยเหลือเฉลิมโดยเฉพาะช่วงตั้งพรรคใหม่ๆ
ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของ อ.ส.ม.ท. จนพรรคฝ่ายค้านนำข้อมูลเรื่องนี้ให้
ป.ป.ป. สอบสวนราชันย์
เรื่องนี้อาจจะผ่านไปอย่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะโดยตัวสัญญามีช่องที่จะให้ผู้อำนวยการกระทำเช่นนั้นได้
และถ้า ป.ป.ป. จะดำเนินการจริงก็จะผ่านขั้นตอนมากมาย แค่สืบว่าคดีมีมูลหรือไม่ก็ยาวนานมาก
และถ้าจะรอให้เรื่องจบก็อาจจะกินเวลาถึง 2 ปี เรื่องนี้เป็นเพียงกระแสของฝ่ายค้านที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของเฉลิม
โดยมีราชันย์เป็นเบี้ย
แต่มันก็เป็นบทเรียนสำหรับราชันย์ไปว่า หากจะทำสัญญาหรือยกเลิกสัญญากับใครในช่วงเป็นผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. ก็ไม่น่าจะรีบร้อน หรือเต้นไปตามใครขนาดนั้น เพราะมันจะเดือดร้อน...
หลังจากนั้นบรรดาผู้บริหารของ อ.ส.ม.ท. ตั้งแต่เฉลิมเป็นต้นมา ก็ต้องออกไปช่วยหาโฆษณาเอง
แต่ก็ยังหาได้น้อยมากขนาดให้ส่วนลดแก่เอเยนซีถึง 30 % ด้านหนึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงรายการข่าวอย่างกะทันหัน
เอเยซีต้องการดูผลความนิยมของคนดูสักระยะ และโดยฝ่ายการตลาดเองก็ไม่พร้อม
เพราะความเคยชินกับระบบเดิมที่รายการข่าวเป็นรายการซื้อง่ายขายคล่อง และเมื่อเร็วๆ
นี้ก็มีการโยกย้ายพนักงานบางคนซึ่งเคยเป็นแกนสำคัญไปอยู่ฝ่ายวิชาการ แหล่งข่าวอ้างว่าเพราะระดับสูงไม่ไว้ใจ
เข้าใจว่าเป็นคนให้ข่าวแก่เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ส่วนหัวหน้าฝ่ายกำลังมีภาระเรื่องถูกสอบว่าทุจริตอยู่
แต่แหล่งข่าวอีกด้านพยายามจะบอกว่าที่โฆษณาไม่เข้าเลยในช่วงนี้เป็นเพราะอิทธิพลจากเรื่องสั่งปิด
"เดอะพาเลซ" และอ้างว่ามีตัวอย่างเช่นนี้จริงๆ เพราะเมื่อติดต่อไปยังเจ้าของสินค้าก็รับปากว่าจะลงให้
แต่พอมาผ่านที่เอเยนซี เอเยนซีกลับบอกว่าลงไม่ได้เพราะมีบางคนขอไว้
เรื่องแบบนี้ก็คงต้องฟังหูไว้หู เพราะต่างก็พยายามหาเหตุผลที่เป็นเงื่อนไขแห่งความล้มเหลวมาได้ต่างๆ
นานา เพราะอย่างน้อยคนก็แทบไม่เชื่อว่า คนที่มีอิทธิพลนั้นอาจมีได้ แต่ไม่น่าจะมีได้มากมายมหาศาลถึงขนาดนั้น
แต่อย่างน้อยมันสะท้อนถึงกลิ่นไอของกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่ปัดแข้งปัดขากันอยู่โดยมี
อ.ส.ม.ท. เป็นเดิมพัน
"เรื่องรายการข่าวและโฆษณานี่มันเป็น Miss Management คือ ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงมันอาจมีความเจ็บปวดบ้าง
รายได้อาจลดลงบ้าน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องทำด้วยความรอบคอบ ไม่ใจร้อน
เมื่อไปสักพักจะต้องแสดงให้เห็นว่าที่เปลี่ยนแปลงนั้นดีกว่าเดิม มีรายได้เข้ามากกว่าเดิม
ปัญหาของ อ.ส.ม.ท. ตอนนี้คือ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงใหม่ไม่ได้ทำให้ประชาชนที่ติดตามรู้สึกว่ามันดีขึ้น
รายได้ที่ลดลงก็ไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้น นอกจากออกข่าวว่าจะหามาจากทางอื่น
ซึ่งมันคนละเรื่อง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ"
อดีตคน อ.ส.ม.ท. ให้ความเห็น
เมื่อตอนที่ "ผู้จัดการ" ได้สนทนากับราชันย์ เขากล่าวถึงโครงการปรับปรุงรายการข่าว
และการหารายได้ทางอื่นมาเพิ่มเติมซึ่งจะต้องคอยดูกันต่อไป
ถ้าเราแยกราชันย์ ฮูเซ็นออกมาจากเฉลิม บางทีอาจจะเห็นอีกมิติหนึ่งของราชันย์
ราชันย์ทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาตลอดทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ช่วงที่ไปเรียนที่สหรัฐฯ
ก็ร่วมทำหนังสือพิมพ์ไทยในสหรัฐฯ หลายฉบับ เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกปลดคราวเดียวกับที่สรรพสิริถูกปลดออกจากไทยโทรทัศน์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
แล้วต้องหนีแทบหัวซุกหัวซุนจากอันธพาลทางการเมืองช่วงนั้น เขาจึงมักบอกใครต่อใครเสมอว่าที่เขามาอยู่
อ.ส.ม.ท. เหมือนกับได้กลับถิ่นเก่ามากกว่า
ราชันย์เคยอยู่พรรคกิจสังคม เคยอยู่หนังสือพิมพ์ "ข่าวสด" ของเผด็จ
ภูริปฏิภาน หรือ "พญาไม้" ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในวงการเมือง การทหารอย่างมาก
จนต่อมาถึงได้มาอยู่กับพรรคมวลชนของเฉลิม
ในวงการเพื่อนฝูงยอมรับว่าราชันย์เป็นคนมีอุดมการณ์ ต้องการสร้างสังคมให้ดีขึ้น
แต่เมื่อการเมืองเล่นเขา เขาก็ต้องหวนกลับมาตามวิถีทางการเมือง แต่ข้อเด่นของราชันย์ก็คือ
เป็นคนขี้ในน้อยมาก ไม่หนักแน่นในเวลาที่มีปัญหาความขัดแย้งหรือเมื่อบทบาทของเขาไม่เป็นที่ยอมรับ
จนบางทีทำให้ต้องเปลี่ยนงานง่ายๆ
ราชันย์ไม่ได้เข้า อ.ส.ม.ท. มาอย่างปุ๊บปั๊บ ก่อนหน้าเขามีตัวเก็งที่เต็งจ๋าอยู่คนหนึ่งชื่อ
พันตำรวจโทดอกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อนอีกคนของเฉลิม
เป็นที่รู้กันว่าช่วงที่สมจิต พนคุณรักษาการผู้อำนวยการหลังสมัยมนตรี ทักษิณมาที่
อ.ส.ม.ท. บ่อยมาก เหมือนจะมาเตรียมตัวนั่งเก้าอี้ล่วงหน้า บางทีก็อยู่ประชุมกับผู้บริหารของ
อ.ส.ม.ท. ด้วยซ้ำ แต่ยกสุดท้ายทักษิณก็ไม่เป็นผู้อำนวยการ วิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะธุรกิจของทักษิณเองที่เหมาะสำหรับการอยู่เบื้องหลังมากกว่า
แต่ทุกวันนี้คน อ.ส.ม.ท. ก็รู้กันทั่วไปว่าเฉลิมปรึกษาหารือกับทักษิณอย่างสม่ำเสมอในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เฉลิมยอมรับเป็นพิเศษ
จนมีคำกล่าวที่ร่ำลือกันว่า"เฉลิมเป็นผู้อำนวยการตัวจริง ทักษิณเป็นผู้อำนวยการแฝง
ส่วนราชันย์เป็นเพียงร่างทรงของเฉลิม"
เป็นที่รู้กันว่าแม้ทักษิณจะไม่มีชื่ออยู่ในบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง
เจ้าของโครงการเคเบิ้ลทีวีที่เฉลิมพยายามผลักดันให้ได้ ก็เป็นที่รู้กันว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทนี้กันแน่
กรณี 107 เมกะเฮิรตซ์ที่แบลงค์ไม่ได้รับการต่อสัญญารนั้น ผู้ได้รับช่วงต่อไปแท้จริงคือ
บริษัทบัสซาวน์โปรโมชั่น ซึ่งทักษิณก็มีความสัมพันธ์กันแนบแน่น และถ้าถามไนท์สปอต
ผู้รับช่วงต่อจากบัสซาวน์มาอีกทีก็จะได้รับคำตอบว่า เวลาของสถานีแห่งนี้ติดต่อผ่านทักษิณ
ล่าสุดที่เป็นข่าวคือ สถานีเอฟ เอ็ม สเตอริโอ มัลติเพล็กซ์ 105.5 ซึ่งสถานีโทรทัศน์ช่อง
3 ดูแลอยู่ทักษิณก็มีส่วนในการเอาเอกชนเข้าไปเช่าช่วงเวลาที่เหลือนอกจากการถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ
แต่ช่อง 3ไม่ยอม
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 เป็นวันแรกที่ราชันย์เดินเข้าไปในฐานะผู้อำนวยการ
อ.ส.ม.ท. ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สมจิต นพคุณ รักษาการผู้อำนวยการเซ็นทิ้งทวนอนุมัติให้ผู้จัดรายการต่างเช่าเวลาไปได้
ซึ่งคราวนั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ผู้จัดรายการอย่างลิตเติลดัก "พญาไม้"
ปิยะ อังกินันท์ เดินพาเหรดมาคว้าเวลาของ อ.ส.ม.ท. ไปไม่น้อย แล้วรายการก็มีแต่รายการเพลง
มิวสิควิดีโอเป็นส่วนใหญ่
มูลเหตุนี้เป็นอีกด้านหนึ่งของราชันย์ที่ย้ำกับสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตตนจะนำเรื่องการอนุมัติให้เช่าเวลาและการเปลี่ยนแปลงรายการทุกรายการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อให้รับรู้ร่วมกัน
แม้ตัวผู้อำนวยการจะมีอำนาจก็ตาม นั่นก็คือ ด้านหนึ่งป้องกันทุจริตโดยผู้อำนวยการ
แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการป้องกันอันตราย เพราะไม่รู้ว่ารายการไหนเป็นของใคร
การถอนรายการที่ไม่มีคุณภาพอาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะที่มาของรายการแต่ละรายการก็อาจจะมาเพราะ
"เส้น"
กรณีสถานีวิทยุ ท.ท.ท. 107 เมกะเฮิรตซ์อีกเหมือนกันที่มีข่าวว่าราชันย์อึดอัดใจมากๆ
เพราะไนท์สปอตได้สิทธิ์ดำเนินรายการสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 107.75 ที่พัทยาอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งดำเนินรายการเป็นภาษาอังกฤษ พอไนท์สปอตมาดำเนินรายการที่สถานี 107 ที่กรุงเทพฯ
ซึ่งบัสซาวน์เป็นผู้ให้ช่วงมา ซึ่งเป็นสถานีที่ระบุให้เป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน
ไนท์สปอตก็จัดการยุบรายการที่ 107.75 พัทยา แล้วรับรายการจาก 107 กรุงเทพฯ
ไปเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวลดค่าใช้จ่ายในส่วนของไนท์สปอตเอง ทั้งด้านพนักงาน
การผลิตรายการ เพิ่มอัตราค่าโฆษณา แต่เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถานีวิทยุที่พัทยาขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีว่า
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และพัฒนาเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก
รายการที่จัดขึ้นต้องรองรับท้องถิ่นเป็นหลักราชันย์จึงสั่งเบรกเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ให้จัดรายการดั้งเดิมเหมือนก่อนหน้าที่มารวมกัน
เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เผอิญมี "ผู้ใหญ่" มาเอี่ยว
และแหล่งข่าวก็ยืนยันว่าราชันย์ไม่สบายใจมากๆ
"ผู้จัดการ" มีโอกาสได้สนทนากับราชันย์ครั้งหนึ่ง เขายืนยันว่าพนักงานที่นี่ให้ความร่วมมือกับเขาดีมาก
อาจจะมีความเฉื่อยเนือยบ้างก็เป็นส่วนน้อย และเขากับพนักงานอยากจะเริ่มโครงการผลิตรายการเองบ้าง
ซึ่งพนักงานก็มีความกระตือรือร้นมาก ส่วนด้านรัฐมนตรีเฉลิมนั้น ราชันย์กล่าวว่า
ท่านเป็นคนขยันมาก และทำอะไรด้วยความรวดเร็ว และไม่เคยมาก้าวล่วงในรายละเอียดของงานใน
อ.ส.ม.ท. เช่นที่ทุกคนกล่าวหา
"เพียงแต่ท่านเป็นห่วงผมมากเท่านั้น" ราชันย์กล่าวอย่างชื่นชม
คำกล่าวของราชันย์ในตำแหน่ง "ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท." คนล่าสุด
ทำให้ "ผู้จัดการ" นึกถึงผู้อำนวยการคนก่อนๆ ช่างคล้ายกันเสียนี่กระไร!
ทางออกที่อึดอัด
อ.ส.ม.ท. เป็นสื่อสารมวลชนของรัฐที่มีข่าวอื้อฉาว ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เคยหลุดพ้นวัฏจักรแห่งแดนสนธยามาได้เลยตลอด
30 กว่าปี เรื่องราวทั้งหมดถูกสะสมกันมาจนเป็นทางตันที่ยากจะหาทางออก ผู้บริหารคนใหม่
แทนที่จะเข้ามาสะสางปัญหา แต่ยิ่งสางก็ยิ่งเป็นปมเงื่อนรัดคอแน่นขึ้นทุกขณะ
ปัญหาใหญ่ขององค์กรแห่งนี้คงจะไม่พ้นไปจากการที่มีกลุ่มอำนาจทางการเมืองเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป
ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นปรัชญาในการก่อตั้งแต่เริ่มที่รัฐบาลต้องการควบคุมอย่างใกล้ชิด
ปัญหาก็คือว่าผู้ได้รับอำนาจนั้น ใช้อำนาจเป็นธรรมเพียงไร อีกทั้งกลุ่มผลประโยชน์อื่นที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงกิจการก็ยังมีอีกหลายหลุ่ม
ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นไม่รู้จบ
ถ้ามองในธุรกิจ คุณภาพของรายการก็เป็นสิ่นที่ต้องพิจารณาโดยด่วน อ.ส.ม.ท.
มีปัญหาในการผลิตรายการเองเป็นอย่างมาก ทั้งรายการข่าวและรายการสารคดี บันเทิง
อื่นๆ ที่ อ.ส.ม.ท. คิดจะสร้างขึ้นมาเอง ตั้งแต่เรื่องคุณภาพของคนที่อยู่กับระบบรายการมากเกินไป
และระเบียบราชการก็เป็นตัวฉุดรั้งในการสร้างรายการเพื่อธุรกิจที่ต้องการความฉับไว
และไม่มีกฎเกณฑ์มากมาย และที่สำคัญนโยบายของรัฐโดยเฉพาะด้านข่าว และ "ผู้ใหญ่"
ที่กล้ารับผิดชอบอย่างแท้จริง และชัดเจน เป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานต้องการ
นอกจากนั้นการให้เอกชนเช่าเวลาเพื่อจัดรายการก็ควรจะมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนเป็นที่เปิดเผย
และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพราะการมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม ด้านหนึ่งมันได้ช่วยสร้างสรรค์วงการโทรทัศน์
และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ด้วย
ผู้คร่ำหวอดในวงการกล่าวถึงตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่น่าจะเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงรายการ
และพิจารณาผู้ผลิตรายการใหม่ๆ ควรทำอย่างเปิดเผย การยกเลิกควรแจ้งล่วงหน้า
การประกาศประมูลเช่าเวลาในช่วงไพรมไทม์อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ อ.ส.ม.ท.
มีโอกาสเลือกรายการที่มีคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้แก่ อ.ส.ม.ท.
ด้วย
ปัญหาในการให้เช่าเวลาของ อ.ส.ม.ท. ทุกวันนี้คือ การไม่รู้ราคาที่เป็นจริง
เพราะหลายรายการถูกเปลี่ยนมือผู้จัดหลายทอด มีการขายช่วงให้ ทำให้ราคาค่าเวลาสูงกว่าที่เป็นจริง
หรือผู้เช่าหน้าเก่าก็มักได้เช่าในราคาเดิมอยู่เสมอ มีกรณีหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ
รายการ "ข่าวสังคมธุรกิจ" แต่เดิมผู้เช่าเวลาจ่ายค่าตอบแทนแก่
อ.ส.ม.ท. เป็นเงิน 1 แสนบาท พอจะหมดสัญญา มีการวิ่งเต้นกันภายใน คนในที่อยากดึงคนนอกเพื่อนพ้องเข้ามาก็เสนอให้
2.3 แสนบาท จนเกิดมีการต่อรองประมูลเวลา และเสนอรายละเอียดของรายการกันขึ้นจาก
2.3 แสน มาที 3 แสน และ 4 แสน จนมาหยุดที่ 4.8 แสนบาท เพิ่มขึ้นเกือบห้าเท่าตัว
กล่าวกันว่าถ้ามีการประมูลเวลา หรือถ้าหลีกเลี่ยงการประมูล แต่มีการเสนอรายการในช่วงเวลาเดียวกันที่เปิดเผยจากหลายๆ
ราย อ.ส.ม.ท. จะได้รายการที่มีคุณภาพกว่าที่เป็นอยู่นี้ และเปิดโอกาสให้แก่ผู้จัดรายการรายอื่นบ้าง
แทนที่จะผูกขาดอยู่ไม่กี่เจ้าในช่วงเวลาไพรมไทม์ อีกทั้งอัตราค่าเช่าเวลามีทางที่จะขึ้นไปได้อีกถึง
50% เพราะราคาในท้องตลาดที่มีการเปลี่ยนมือกันทุกวันนี้ก็อยู่ในราคานั้น
เคยมีอนุกรรมการชุดหนึ่งของ อ.ส.ม.ท. พิจารณาเรื่องการร่วมทุนกับเอกชนในการผลิตรายการ
ซึ่งเป็นทางออกประเภทหนึ่งของปัญหาเรื่องเงินและระเบียบ และคุณภาพของคน กล่าวคือ
อ.ส.ม.ท. ไปตั้งบริษัทลูกมีหุ้นประมาณ 49% และเอกชนอีก 49% ที่เหลืออีก 2%
อาจเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่ผลิตรายการทั้งข่าว และรายการอื่นป้อนช่อง
9 แต่เป็นองค์กรที่มีอิสระและมืออาชีพกว่า และไม่เป็นราชการ แหล่งข่าวกล่าวว่า
โครงการนี้เกือบผ่านหมดแล้ว เพราะทางทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตอนนั้นจิรายุเข้าไปแล้วเห็นชอบเป็นการส่วนตัว
แต่พอจะดำเนินการต่อ ก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลและกรรมการ อ.ส.ม.ท. พอดี
ถ้าโครงการนี้ บริษัทนี้เป็นรูปเป็นร่างเราอาจเห็นโฉมหน้าใหม่ของ อ.ส.ม.ท.
ที่สามารถผลิตรายการได้เอง สร้างงานที่คุณภาพเป็นของตนเอง และเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีศักดิ์ศรี
ไม่ต้องพึ่งพาแต่เอกชน ที่มาเช่ารายการ และ อ.ส.ม.ท. กินค่าเช่าอย่างเดียวก็เป็นได้
ในส่วนพนักงานของ อ.ส.ม.ท. เองนั้น แหล่งข่าวที่เคยอยู่ อ.ส.ม.ท. กล่าวว่า
โดยทั่วไปพนักงานไม่ค่อยมีขวัญกำลังใจในการทำงานนัก คอยดูว่าเมื่อไรจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกตามทิศทางการเมือง
ขาดการร่วมศูนย์ทางความคิดและการทำงาน ขาดผู้นำในแต่ละส่วน ไม่มีใครกล้าแตะใคร
เพราะแต่ละคนก็มีโอกาสที่จะข้าหากลุ่มอำนาจอื่นได้ทั้งนั้น และไม่มีใครกล้าตัดสินใจที่จะทำอะไรเด่นชัดออกมาร
ซึ่งทำให้คุณภาพที่แต่ละคนมีถูกเก็บซ่อนงำไว้โดยเปล่าประโยชน์
สภาพเช่นนี้ อดีตผู้บริหารคนหนึ่งกล่าวว่าต้องให้เวลาแก่ผู้บริหารที่มีฝีมือ
และซื่อสัตย์ และให้โอกาสในการแก้ไขปัญหาต้องจัดระเบียบต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอย
การเปลี่ยนแปลงที่บ่อยเกินไป ไม่ได้เป็นผลดีแก่ อ.ส.ม.ท. ดังที่เห็นมา
"ต้องให้โอกาสเขา แล้วข้างนอกอย่ามายุ่ง" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
แต่ดูเหมือนเป็นคำเรียกร้องที่ห่างไกลจากเสียงสะท้อนตอบรับไกลแสนไกล และโอกาสจะเป็นจริงน้อยเต็มที
แต่เรื่องราวและปัญหาทั้งหมดที่สะสมอยู่ใน อ.ส.ม.ท. อาจจะไม่มีวันสะสางได้ตราบใดที่
อ.ส.ม.ท. ยังคงดำรงสภาพรัฐวิสาหกิจเช่นทุกวันนี้ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีก
สภาพภายในและประสิทธิภาพในฐานะสื่อมวลชนแขนงหนึ่งก็จะต้องวกกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่
ไม่ว่ารัฐมนตรีจะเป็นเฉลิม หรือเป็นใครทุกอย่างก็จะวนเวียนซ้ำซากอยู่ เพราะโครงสร้างโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงจริงอยู่ที่กำไรของ
อ.ส.ม.ท. นั้นดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่เพราะการที่เราหลงอยู่กับ
"ตัวเลข" กำไรนี่เองที่ทำให้เราไม่สามารถใช้สื่อประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งที่โดยแท้จริงโทรทัศน์ควรเป็นสื่อเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาจิตสำนึก การรับรู้เพื่อการพัฒนาประเทศมิใช่จัดรายการเพื่อมอมเมาประชาชน
รายได้และกำไรควรเป็นเรื่องอันดับรองลงไป
เลิกเสียทีกับความคิดที่ว่า รัฐวิสาหกิจมีกำไรแล้วบอกว่า "ไม่มีปัญหา"!
ถ้ารัฐบาลจะใจกว้างขึ้น ยอมเสียสละบางด้านเพื่อที่จะสร้าง อ.ส.ม.ท. ให้แข็งแกร่งขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพที่ทัดเทียมกับคู่แข่งรัฐบาลอาจต้องยอมเสียสละในแง่การบริหาร
และเลิกวิตกกังวลว่า จะไม่มีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงให้รัฐ เพราะย่อมไม่มีสื่อมวลชนในประเทศนี้กล้าหาญชาญชัยด่ารัฐบาล
เพราะโดยรวมสื่อมวลชนในประเทศโดยเฉพาะโทรทัศน์ก็ย่อมเกรงกลัวรัฐบาลเป็นธรรมดา
แต่สิ่งที่ อ.ส.ม.ท. ควรจะได้ในวันนี้คือ ความมีอิสระในการบริหารซึ่งเป็นความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาทั้งมวลซึ่งทั้งหมดน่าจะมีทางเลือก
3 ประการ
ทางเลือกที่หนึ่ง โครงสร้าง อ.ส.ม.ท. ยังคงเดิมคือ เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่แก้ไขพรบ.
จัดตั้ง อ.ส.ม.ท. ประธานคณะกรรมการไม่ต้องมาจากรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
แต่เป็น "นักบริหารมืออาชีพ" ที่คนในวงการยอมรับ อีกทั้งตำแหน่ง
"ผู้อำนวยการ" ก็ต้องมาจากคณะกรรมการ เป็นนักบริหารด้านสื่อสารมวลชนที่ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อนพ้อง
และมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในตำแหน่ง
รูปแบบนี้รัฐยังควบคุมอย่างใกล้ชิด แต่ต้องมีหลักประกันว่าตำแหน่งต่างๆ
จะต้องมีวาระที่ชัดเจเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงที่กะทันหันโดยรัฐมนตรี อย่างที่
NHK ของญี่ปุ่นเป็นอยู่ ซึ่งว่าไปแล้ว NHK เป็นหน่วยงานสื่อมวลชนของรัฐที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านการสื่อสาร
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทีวีชั้นนำของโลกแห่งหนึ่ง
ทางเลือกที่สองเอา อ.ส.ม.ท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้โอกาสเอกชนที่มีความสามารถเข้ามาบริหารร่วมกับภาครัฐบาลซึ่งทั้งรัฐและเอกชนจะมีโอกาสและเรียนรู้การบริหารกันและกัน
อีกทั้งมีระบบตรวจสอบจากคนภายนอกที่มีคุณภาพ ซึ่งแน่นอนที่ธุรกิจประเภทนี้มีเอกชนจำนวนมากอยากเข้ามีบทบาทสร้างผลประโยชน์ให้แก่องค์กรด้วยการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ยังมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการ
ทางเลือกที่สาม เวลาส่วนใหญ่ของช่อง 9 ก็ให้เอกชนเช่าอยู่ ดังนั้นจะแปลกอะไรที่รัฐจะให้เอกชนมาเช่าทั้งหมด
ดังเช่นที่ อ.ส.ม.ท. ให้ช่อง 3 เช่าแก่บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ช่อง 9 ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ให้เอกชนเช่าแล้วได้รับค่าสัมปทานตอบแทนไป แลกกับความยุ่งเหยิงและด้อยประสิทธิภาพที่เกิดทุกวันนี้ของ
อ.ส.ม.ท.
ทางเลือกทั้งสามแบบ รัฐต้องใจกว้าง และรู้จักที่จะใช้สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์โดยไม่ต้องเข้าไปควบคุมอย่างใกล้ชิด
ซึ่งในระยะยาวจะเป็นสิ่งดีแก่วงการสื่อสารมวลชน และประชาชน
บทสรุปที่เป็น "น้ำนิ่ง"
สรรพสิริ วิรยศิริ เคยได้รับบทเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งจากบริษัทไทยโทรทัศน์เมื่อเกือบ
13 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นคนที่ได้รับผลพวงเหมือนเขา แต่อยู่กันคนละสถานะก็เช่นราชันย์
ฮูเซ็น มาวันนี้ราชันย์มาเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ราชันย์ กลับไปหาสรรพสิริอีกครั้ง
ก่อนรับตำแหน่งเป็นทางการ ครั้งนั้นสรรพสิริกล่าวกับราชันย์ว่า
"คุณราชันย์ คุณเป็นคนที่มีความสามารถสูง และหวังว่าคุณคงจะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยเป็น
ผมขอให้คุณราชันย์เป็นตัวของตัวเอง ครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีของคุณแล้วที่คุณจะได้แสดงฝีมือ
เป็นโอกาสที่คุณได้แต่ผมไม่ได้ คุณคงทราบว่าที่ผ่านมาทำไมผมถึงทำไม่ได้ เพราะเหตุใดคุณรู้ความรู้สึกนึกคิดของผมทุกอย่าง
คราวนี้คุณมีโอกาส คุณต้องทำให้ได้ นี่เป็นโอกาสของคุณแล้ว"
แต่สำหรับราชันย์ ฮูเซ็น หลังจากรับตำแหน่งได้ 5 เดือนเขาอาจจะบอกกับสรรพสิริว่า
โอกาสของเขาในวันนี้มันช่างไม่แตกต่างไปจากช่วงคืนวันของสรรพสิริในบริษัทไทยโทรทัศน์เลยก็อาจเป็นได้!