“จีเอ็มเอ็ม”เดี้ยงวิทยุทยอยคืนคลื่นกู้วิกฤติ


ผู้จัดการรายวัน(7 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

“จีเอ็มเอ็มแกรมมี่” ปรับตัวรับเศรษฐกิจพ่นพิษอุตสาหกรรมมีเดีย ลดคลื่นวิทยุครึ่งปีแรกไปแล้ว 2 คลื่นรวด เพื่อรักษากำไรเท่าปีที่แล้ว ระบุคืน 2 คลื่นช่วยลดต้นทุนแพงหูฉี่ 120 ล้านบาทต่อปี ล่าสุดคืนคลื่น 93.5 ให้ทางกรมประชาสัมพันธ์ แจงเพราะค่าเช่าแพงขึ้นปีละ 10-15% - สถานีปิดเร็ว พร้อมเตรียมโยกคอนเซปต์ อีเอฟเอ็ม มาสู่คลื่น 94 ที่เดิมเป็นโอเพ่น เรดิโอ แทนสถานีข่าวไทยไทม์ปิดตัว

นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่กรุ๊ป เปิดเผยถึงสาเหตุการคืนคลื่น 93.5 EFM ให้กับทางกรมประชาสัมพันธ์ว่า การทำเช่นนี้ถือเป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งขณะนี้ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลื่นวิทยุในรูปแบบเอนเตอร์เทนเมนต์ หรือสถานีข่าวโดยรายได้จากพื้นที่โฆษณาลดลง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจีเอ็มเอ็มมีเดียหรือเอไทม์มีเดียหรือบริษัทบริหารคลื่นวิทยุในเครือแกรมมี่เท่านั้น โดยขณะนี้ดูสภาพเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโต

ดังนั้นการลดคลื่นของแกรมมี่ในครั้งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่สองในรอบปี หลังจากก่อนหน้านี้แกรมมี่ได้คืนคลื่น 88 ให้กับทางกรมประชาสัมพันธ์ ก็เพื่อรักษากำไรปีนี้เท่ากับปีที่ผ่านคือราว 23% โดยการคืนทั้งสองคลื่น ส่งผลให้บริษัทฯลดต้นทุนได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนผลประกอบการปีนี้คาดว่าจะลดลงอย่างแน่นอน จากในปีที่ผ่านมาในรายได้จากการบริหารคลื่นวิทยุ 900 ล้านบาท จากการมีคลื่นทั้งหมด 5 คลื่น

ปัจจุบันแกรมมี่มีคลื่นวิทยุเหลือ 4 คลื่น จากเดิมที่มี 6 คลื่นในช่วงต้นปีเป็นต้นมา ประกอบด้วย คลื่น 106.5 กรีนเวฟ สร้างรายได้สูงสุด 350 ล้านบาท, คลื่น 89 บานาน่า กว่า 100 ล้านบาท, คลื่น 91.5 ฮอตเวฟ รายได้กว่า 100 ล้านบาท และคลื่น 94 โอเพ่น เรดิโอ ซึ่งการลดจาก 6 คลื่นเหลือ 4 คลื่น ถือว่าเพียงพอกับในยุคเศรษฐกิจอย่างนี้แล้ว อีกทั้งแต่ละคลื่นก็พอดีกับการวางเซกเมนต์ เช่น กรีนเวฟเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ บานาน่าเจาะเริ่มทำงาน ฮอตเวฟเจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น และอีเอฟเอ็มเจาะกลุ่มแมสที่สนใจบันเทิง

ล่าสุดบริษัทฯได้เตรียมโยกคอนเซปต์คลื่น 93.5 EFM มาสู่คลื่น 94 โอเพ่น เรดิโอ แทน โดยจะเริ่มรายการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยสาเหตุที่บริษัทฯเลือกลดคลื่น 93.5 EFM ทั้งนี้เป็นเพราะราคาค่าเช่าที่สูง เนื่องจากเป็นคลื่นที่ประมูลจากกรมประชาสัมพันธ์ หากหมดสัญญาก็จะมีการเจรจาเพื่อขอขึ้นค่าเช่าอย่างน้อย 10-15% ต่อปี ซึ่งบริษัทฯเช่าสัญญาคลื่นกรมประชาสัมพันธ์มานาน 14-15 ปี ในขณะที่ค่าโฆษณาบริษัทฯไม่ได้ขึ้นคือ 2,900 บาทต่อสปอต ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารคลื่นนี้สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการโยกคลื่น 93.5 EFM มาเป็นคลื่น 94 โอเพ่น เรดิโอ แทน เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าถูกกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน โดยคลื่น 94 โอเพ่นเรดิโอเดิม ซึ่งเป็นคลื่นของกองทัพบกต้นทุนราว 4 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่คลื่น 93.5 EFM ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ 5 ล้านบาทต่อเดือน ค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นของกรมประชาสัมพันธ์นี้เอง ส่งผลให้ในขณะนี้แกรมมี่ไม่มีคลื่นวิทยุภายใต้กรมประชาสัมพันธ์เลย นอกจากนี้การลดคลื่น 93.5 EFM มาเป็น คลื่น 94 โอเพ่นเรดิโอแทน เป็นเพราะคลื่น 94 โอเพ่น เรดิโอ สถานีเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับคลื่น 93 EFM ปิดสถานีในช่วง 02.00 น. ทำให้มีความคุ้มค่าด้านการบริหารเวลาที่มากกว่า อย่างไรก็ตามบริษัทฯมั่นใจว่าการโยกคลื่นจะไม่ส่งผลกระทบด้านรายได้จากพื้นที่โฆษณา

สำหรับการขอคืนคลื่น 93 .5 EFM ทางบริษัทฯได้แจ้งหนังสือกับกรมประชาสัมพันธ์ไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งกรณีการขอคืนคลื่นถือว่าไม่ผิดสัญญากับทางกรมประชาสัมพันธ์ เพราะตามเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถคืนคลื่นได้แต่ต้องแจ้งก่อน 1 เดือน อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการรอให้ทางกรมประชาสัมพันธ์พิจารณาก่อน ทั้งนี้การโยกคลื่นในครั้งนี้ บริษัทฯคงจะต้องเตรียมแผนในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งผังรายการดีเจใหม่อีกครั้ง ส่วนเรื่องการแจ้งรูปแบบรายการใหม่ทางคลื่น 94 โอเพ่น เรดิโอ กับทางกองทัพบกได้รับการตอบรับแล้ว โดยทางผู้ใหญ่ไม่มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรูปแบบรายการ

นายสายทิพย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การบริหารจัดการของแกรมมี่ทำทั้งเครือ ไม่ได้เป็นเฉพาะของวิทยุเท่านั้น แกรมมี่เป็นบริษัทใหญ่การปรับตัวที่เร็วก็เพื่อรักษาตัวเอง ก่อนที่จะเกิดอะไร ส่วนเรื่องงบการตลาดบริหารคลื่นวิทยุบริษัทฯคงจะไม่ปรับลดลง โดยในแต่ละปีวางไว้ที่ 100 -120 ล้านบาท ทั้งนี้เพราะมองว่าการจัดกิจกรรมยังเป็นส่วนที่ต้องทำ เพราะทำให้ขายพื้นที่โฆษณาได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 คลื่น ไม่ว่าจะเป็น กรีนเวฟ, ฮอตเวฟ และบานาน่าก็มีการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไป โดยปัจจุบันคลื่นวิทยุของแกรมมี่เป็นผู้นำตลาดครองส่วนแบ่ง16% จากมูลค่าตลาด 6,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.