หนุนเชือดนอมินีฮุบที่ดิน


ผู้จัดการรายวัน(7 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการอสังหาฯ หนุนให้เร่งตรวจสอบต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์ของประเทศ เผยการซื้อ-ขายที่ดินของต่างชาติในภูเก็ตเลี่ยงกฎหมายเพียบ แอบซื้อในนามของนิติบุคคลแทนการเช่า 30 ปี ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจเผย ไทยร่วมทุนต่างชาติลงทุนอสังหาฯมีเพียบในภูเก็ต ทุนจดทะเบียน 1-2 ล้านบาทเท่านั้น ด้านตระกูล"เนื่องจำนงค์ "เตือนอาจะเป็นเกมของรัฐสร้างภาพ หวังลบกระแสนอมินี ส่วนผู้ประกอบการอสังหาฯร้องเมืองพัทยา ร่วมไกล่เกลี่ยปัญหาการซื้อขายที่ดิน

จากคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตตรวจสอบ ที่ดินของนิติบุคคลที่เป็นชาวต่างชาติ โดยการร่วมมือกันระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างชาติหลีกเลี่ยงกฎหมายนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในจังหวัดภูเก็ต เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯของจังหวัดภูเก็ต เพราะขณะนี้มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาฯเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการที่เป็นบ้านราคาสูง จะเป็นการลงทุนโดยคนต่างชาติเกือบทั้งสิ้น

นายสุพจน์ สุวรรณโชติ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือเวียนถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดต่างๆ รวมทั้งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบการได้มาซึ่งที่ดินของนิติบุคคลสัญชาติไทยที่มีคนต่างด้าวร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมาย และป้องกันไม่ให้คนไทยเข้าไปถือครองที่ดินแทนชาวต่างชาติ

เพราะเกรงกันว่าบริษัทสัญชาติไทยที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่ ต้องถือไม่เกิน 49% และคนไทยถือ 51% และมีการซื้อที่ดินที่เป็นของนิติบุคคล โดยให้คนไทยถือครองที่ดินแทนถือว่าผิดกฎหมาย และให้ตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นภายหลังการจัดตั้งบริษัทหรือไม่ โดยจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้

" ได้ประสานงานไปยังสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต เพื่อตรวจสอบว่ามีบริษัทใดบ้างที่คนต่างชาติถือหุ้นร่วมกับคนไทย และประกอบธุรกิจซื้อ-ขายที่ดิน และบริษัทใดถือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีสั่งจำหน่ายบริษัทดังกล่าว " นายสุพจน์กล่าวและย้ำว่า

การตรวจสอบดังกล่าว อาจจะกระทบกับบรรยากาศการลงทุนด้านอสังหาฯในภูเก็ต แต่ไม่มาก เพราะบริษัทที่ทำถูกต้องตามกฎหมายจะไม่ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว และนิติบุคคลที่ทำถูกต้องตามกฎหมายสามารถที่จะถือครองที่ดินได้ แต่ที่เราจะตรวจสอบจะเป็นในส่วนของบริษัท ที่เลี่ยงกฎหมายและให้คนต่างชาติถือหุ้นแต่เป็นเพียงการพังหน้าเท่านั้น แต่เงินลงทุนจริงๆเป็นของต่างชาติทั้งหมด และรายได้ที่เกิดขึ้นก็นำออกนอกประเทศทั้งหมดโดยไม่ตกอยู่ในภูเก็ตเลย

**นักลงทุนต่างชาติฉกฉวยเดือดร้อนแน่

ด้านร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก ประธานชมรมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ตกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนชาวต่างชาติที่ดี ที่เข้ามาลงทุนแบบตรงไปตรงมา ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะการตรวจสอบดังกล่าว เป็นการตรวจสอบถามกฎหมายเดิมที่อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้น เพราะหากเป็นนิติบุคคลที่เป็นการร่วมทุน ระหว่างคนต่างชาติและคนไทยกับชาวต่างชาติในสัดส่วน 51:49% ตามที่กฎหมายกำหนดก็สามารถที่จะครอบครองที่ดินได้ ตามพ.ร.บ.ที่ดินปี 2542 ที่ออกในสมัยที่นายชวน หลีภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อนุญาตให้ถือครองที่ดินได้เป็นระยะเวลา 50ปี ต่อได้อีก 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ประธานชมรมฯกล่าวว่า ในภูเก็ตไม่ได้มีเฉพาะนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนแบบตรงไปตรงมา แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางพวกที่เข้ามาลงทุนแบบฉาบฉวย เข้ามาลงทุนแบบผิด และขนเงินที่ได้จากการลงทุนออกนอกประเทศ ซึ่งก็มีอยู่จำนวนมากในภูเก็ต น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน หลังมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และคิดว่าทางหน่วยงานราชการจะต้องเข้าไปตรวจสอบกลุ่มนี้อย่างเข้มงวด

**หนุนตรวจสอบต่างชาติเลี่ยงกฎหมาย

แหล่งข่าวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นโบรกเกอร์ขายโครงการบ้านจัดสรร ให้แก่ชาวต่างชาติรายหนึ่งกล่าวกับ"ผู้จัดการรายวัน"ว่า เห็นด้วยกับกระทรวงมหาดไทย เพราะโครงการที่อยู่อาศัยที่ขายจะมีระดับราคาที่แพง เป็นการประกอบการโดยคนต่างชาติเกือบทั้งสิ้น และที่ผ่านมาคนต่างชาติ ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในการทำธุรกิจ เพราะตามกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้คนต่างชาติถือครองที่ดินได้ แต่การซื้อขายที่ดินให้คนต่างชาติ จะใช้ในลักษณะของการให้จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นบริษัทบ้าง เป็นห้างหุ้นส่วนบาง เพื่อให้มีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินในภูเก็ต แทนการเช่าที่มีระยะเวลา 30 ปี

พฤติกรรมการจดทะเบียนซื้อที่ดินของคนต่างชาตินั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีคนต่างชาติเป็นกรรมการบริษัทเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 51% ตามกฎหมาย ซึ่งคนไทยที่ถือหุ้นจะเป็นภรรยาหรือไม่ก็คนที่ทางสำนักงานกฎหมายหามาให้ทั้งสิ้น โดยที่เงินลงทุนซื้อที่ดินเป็นของคนต่างชาติทั้งสิ้น คนไทยถือเพียงหุ้นลมเท่านั้น

**กว่าพันบริษัทที่เลี่ยงกฎหมาย

แหล่งข่าวกล่าวอย่างชัดเจนว่า การจัดตั้งบริษัทที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายในภูเก็ตมีกว่า 1,000 บริษัท มีจดทะเบียนกันทุกวันที่สำนักงานทะเบียนจังหวัดภูเก็ต เพราะหากไม่ทำในลักษณะของการจดทะเบียน เป็นนิติบุคคลจะสามารถครอบครองที่ดินได้สูงสุด 90 ปี หรือครอบครองได้เฉพาะรุ่นลูก แต่หากจัดตั้งเป็นนิติบุคคล จะสามารถครอบครองได้ตลอด และบริษัทดังกล่าวจะไม่ได้ประกอบการอะไรเลยจัดตั้งขึ้นมาเฉยๆ

"คงกระทบช่วงสั้น แต่ในระยะยาวถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเลี่ยงกฎหมายเกิดขึ้นอีก "แหล่งข่าวกล่าว

**บริษัทต่างชาติ-ไทยจดทะเบียนแค่1-2ล.

นายวีระชัย ตันติวัฒนวัลลภ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวต่างชาติที่ร่วมลุงทุนกับไทยเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยบางบริษัทคนต่างชาติถือหุ้น 30% ไปจนถึง 49% บางบริษัทมีต่างชาติถือหุ้นคนเดียว บางบริษัทก็มีต่างชาติถือหุ้นหลายคน ซึ่งทุนจดทะเบียนจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีมีการจดทะเบียนนิติบุคคลในภูเก็ตประมาณ 1,000 ราย และเท่าที่ตรวจสอบมีการประกอบการเพราะจะต้องส่งงบดุลทุกปี และที่มีการจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจอสังฯในภูเก็ตก็มีจำนวนมาก

" ทางกรมพัฒนาธุรกิจได้มีการป้องกันในเรื่องของคนไทยที่จะเข้าไปถือหุ้นเปล่าและไม่ได้มีการลงทุน โดยการออกระเบียบให้มีหนังสือรับรองว่า กรรมการทุกคนของบริษัทได้จ่ายเงินค่าหุ้นทุกคนแล้วถึงจะจดทะเบียนให้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการถือหุ้นลม แต่ไม่ได้มีการนำเงินมาลงทุนจริงๆ"นายวีระชัย กล่าว

**เชื่อรัฐฯสร้างภาพหวังลบกระแสหนุนต่างชาติ

นางสุนัทที เนื่องจำนงค์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัท ไพร์ม เนเจอร์ กรุ๊ป เจ้าของโครงการ ไพร์ม เนเจอร์ วิลล่า หัวหิน รวมถึงมีที่ดินของครอบครัวในจ.ชลบุรีถึง 20,000 ไร่ เชื่อว่าการออกกฎดังกล่าว อาจเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาล เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติในนามของคนไทย หรือ นอร์มินี จนเกิดเรื่องราวใหญ่โต ดังนั้นจึงเชื่อว่าการออกกฎดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่อชื่อเสียงของไทยต่อชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตามการออกกฎดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่า และเชื่อว่าการเข้ามาในลักษณะนอร์มินียังคงมีอยู่ เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคธุรกิจ บางรายใช้พนักงานบริษัทหรือระดับผู้บริหารทำให้ตรวจสอบได้ยาก

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าไม่มีผลกระทบอะไร เพราะหากต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริง แค่ตั้งบริษัทจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท ก็สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้แล้ว ซึ่งในส่วนของบริษัทเองมีโครงการไพร์มเมเจอร์วิลล่า ที่หัวหินซื้อเป็นที่อยู่อาศัยระดับบน นับจากที่กระทรวงออกมาตรการดังกล่าวมาก็ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และที่ผ่านมามีการโอนบ้านในกับชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังมีลูกค้าชาวต่างชาติที่รอโอนบ้านอยู่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งกลุ่มนี้ยังผ่อนชำระปกติไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

**เจ้าหน้าที่ไม่กล้าโอนที่ดิน

นายวสันต์ อุบลชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลชาติ กรุ๊ป กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการซื้อ-ขาย อสังหาฯในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งแทบจะไม่มีการโอนของที่ดินหรืออสังหาฯของชาวต่างชาติเลย เพราะทุกคนกลัวว่าจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง

"นับตั้งแต่มีการออกกฎมาเจ้าพนักงานที่ดิน แทบจะไม่ยอมรับโอนให้เลย บอกแค่ว่าผู้ว่าจังหวัดสั่งมา ต้องรอตรวจสอบทุกราย ทำให้การซื้อขายไม่เกิดขึ้น อีกทั้งเอเยนต์ หรือนายหน้าชาวต่างชาติก็มีการสอบถามเข้ามาเยอะมาก และบอกว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดังไปทั่วโลก มันเสียภาพลักษณ์ของเมือไทย ปัญหานี้น่าจะมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะกระทบโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว" นายวสันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการดังกล่าว น่าจะมีการอนุโลมสำหรับโครงการที่มีใบอนุญาตจัดสรร เพราะหากต้องการป้องกันการทำผิดกฎหมาย ดังนั้นผู้ที่ทำถูกกฎหมายน่าจะมีการยกเว้น นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการที่อยู่อาศัยประเภทลองสเตย์ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งล่าสุดบริษัทไทยลองสเตย์เตรียมเรียกผู้ประกอบการในหัวหินที่เกี่ยวข้องเข้าหารือร่วมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อหาทางออกร่วมกัน

**โครงการจัดสรรพัทยาชะงัก

วานนี้ (6 มิ.ย.) นายสง่า กิจสำเร็จ ประธานชมรมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เมืองพัทยา พร้อมด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ เดินทางเข้าพบ นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร นายกเมืองพัทยา เพื่อร้องขอความช่วยเหลือต่อคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย โดยกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการหมู่บ้านจัดสรร หรือโครงการต่างๆได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยไม่ใช่การจัดสรรหรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนต่างด้าว ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะหลังจากที่มีหนังสือคำสั่งใหม่ออกมาทำให้การซื้อขายที่พักอาศัยได้ผลกระทบเพราะไม่สามารถโอนกรรมสิทธ์ได้

" เราก็เห็นด้วยตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย มีเจตนาดีที่ไม่ต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะการกว้านซื้อที่ดินแล้วนำมาจัดสรรขาย โดยใช้คนไทยหรือว่าจ้างคนไทยมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้ที่ผ่านมามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แต่กรณีดังกล่าวหลังมีหนังสือสั่งการมายังกรมที่ดินก็ทำให้การซื้อขายอสังหาฯหรือโครงการจัดสรรทั่วไป เกิดผลกระทบไปด้วย แม้ว่าจะเป็นการมาเช่าซื้อในลักษณะอยู่อาศัยก็ตาม ทำให้ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นไปได้ยากจนทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน"

อย่างไรก็ตาม ทางนายกเมืองพัทยาได้รับเรื่องตามที่ประธานชมรมผู้ประกอบการอสังหาฯร้องเรียนมาและจะมีการประชุมหารือเร็วๆนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.