หม่อมอุ๋ยเล็งปรับดอกเบี้ย ตีกันการเมืองแทรกแซง


ผู้จัดการรายวัน(7 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวโน้มคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับขึ้นดอกเบี้ย "หม่อมอุ๋ย" ระบุชัดเรื่องดอกเบี้ยเป็นหน้าที่แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญเงินเฟ้อ ชี้เป็นเรื่องปกติที่คลังเห็นแตกต่างจากแบงก์ชาติ ยอมรับเงินทุนไหลเข้าออกผันผวนเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในขณะนี้ ด้านประธานเฟดล่าสุดก็ส่งสัญญาณทำนองเดียวกันว่า ห่วงเงินเฟ้อในสหรัฐฯและน่าจะต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยอีก

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ในวันนี้ (7 มิ.ย.)ว่า รัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับ ธปท.ในการกำหนดนโยบายการเงิน

สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องปกติ เพราะกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของทั่วโลกมีความเห็นแตกต่างกันอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องนโยบายดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องดูแล ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.เชื่อว่าคณะกรรมการมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันนัก และธปท.จะไม่โน้มน้าวคณะกรรมการทั้ง 7 คน

"หากความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นเอกฉันท์ก็โอเค แต่ถ้าความคิดเห็นแบ่งแยก จะเริ่มอธิบายและเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่จะไม่ใช่การโหวต ยังไงเชื่อว่าจะชักจูงได้ โดยมีปัจจัยสำคัญเรื่องการคาดการณ์และการดูแลอัตราเงินเฟ้อในอนาคต"

ผู้ว่าฯ ธปท.มั่นใจอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวกในเดือนก.ย.นี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไม่ต่างกับที่ประมาณการณ์ไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะชะลอตัวลงในช่วงเดือนก.ค.นี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ในฐานที่สูง ทั้งนี้ ธปท.จะรักษาประโยชน์ทุกด้าน ยกเว้นผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับนักการเมือง อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไหน ธปท.มีนโยบายการเงินที่พร้อมจะรับมือไว้ทุกด้าน

สำหรับผลกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจในขณะนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มีทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าออกไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับปัจจัยและมีการขยายตัวต่อไปได้

ทั้งนี้ แม้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไงก็ไม่สูงไปกว่านี้แล้ว การส่งออกไม่ได้มากกว่านี้เท่าไร หรืองบประมาณแค่นี้ เพราะมีแต่งบการใช้จ่าย แต่การลงทุนไม่มี ส่วนการขยายตัวของจีดีพีก็คงตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้คือในระดับ 4.25-4.50 % เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ปัจจัยน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้รวมอยู่ด้วย

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า กังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะเข้า-ออก อย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้ามามากทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้เตรียมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง เพื่อรองรับความผันผวนเงินทุนดังกล่าว รวมทั้งได้มีการประสานงานกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการติดตามการเคลื่อนไหวเงินทุนตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากการเมืองจะมีความชัดเจนจะมีเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

**ประธานเฟดชี้ต้องจับตาเงินเฟ้อต่อ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5)นายเบน เบอร์นานกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เผยต่อที่ประชุมด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันว่า เศรษฐกิจอเมริกาในขณะนี้กำลังชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ภาวะเงินเฟ้อในประเทศกลับสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่ "ไม่น่าพอใจ" ซึ่งเฟดจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป

เขาอธิบายว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ "กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน"สู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทว่าขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับทะยานสูงขึ้น สืบเนื่องจากภาวะน้ำมันแพง

ระดับราคาในปัจจุบันได้ไต่ระดับขึ้นมาสูงมาก ซึ่งหากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆระดับภาวะเงินเฟ้อก็อาจจะไปถึง "ระดับเท่ากับหรือมากกว่าขีดจำกัดสูงสุด" ที่เฟดกำหนดไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหาร ได้พุ่งขึ้น 3.2 %

"แนวโน้มเหล่านี้จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่น่าพึงประสงค์" นายเบอร์นานกี กล่าว และย้ำต่อว่า ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้กำหนดนโยบายของเฟดจึงจำเป็นต้อง "เฝ้าระแวดระวังต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า ทิศทางของระดับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ จะไม่ดำเนินต่อไปเช่นนี้อีก"

นายเบอร์นานกี ยังกล่าวอีกว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงลิบลิ่ว ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่ม "ชะลอความความร้อนแรง"ลงแล้ว หลังจากขยายตัวอย่างดุเดือดมานานหลายปี ขณะที่อัตราการจ้างงานก็อ่อนแรงลง โดยจำนวนผู้มาขอรับสวัสดิการคนว่างงานกลับเพิ่มสูงขึ้น

หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายตัวในสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ ได้ปรากฏสัญญาณถึงภาวะการอ่อนกำลังลงทางเศรษฐกิจ แต่ระดับราคาก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางรายวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังประสบกับภาวะ "stagflation" (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูง) ดังเช่นในช่วงทศวรรษ 1970

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์มากขึ้นว่า เฟดน่าจะดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 28-29 เดือนนี้

"เบอร์นานกีระบุชัดเจนมากว่า แม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่หน้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของเฟดคือ การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้" นายมาร์ก ปาโด นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของแคนเตอร์ ฟิตซ์เจอราลด์กล่าว

ด้านนายจอห์น ซิลเวีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของวาโชเวียเสริมว่า "เบอร์นานกีเน้นย้ำให้เห็นถึงมุมมองเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เขาได้เผยแนวทางต่อตลาดอย่างชัดแจ้ง" จึงไม่น่าประหลาดใจที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.