|
บอลโลกฟีเวอร์จ่อทำลายสถิติเรตติ้ง
ผู้จัดการรายวัน(7 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งแฟนฟุตบอลทั่วโลกกำลังอดใจรอคอยเสียงนกหวีด นัดเปิดสนามในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.นี้ กำลังจะกลายเป็นเวิลด์คัพครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำลายสถิติหลายต่อหลายอย่าง นับตั้งแต่มหกรรมลูกหนังซึ่งถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ที่อุรุกวัย
ดอยช์ลันด์ 2006 นอกจากจะทำรายได้ให้กับประเทศเจ้าภาพหลายพันล้านยูโรแล้ว ฟีฟ่าซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการแข่งขันกำลังดีดลูกคิดรางแก้ว นับเม็ดเงินที่เกิดจากการขายสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับสถานีโทรทัศน์ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท จากสถิติผู้ชมทางจอแก้วที่คาดว่าน่าจะทำสถิติสูงสุดในเที่ยวนี้
ตัวเลขรายรับจำนวนมหาศาลคงไม่เกิดขึ้น หากขาดความสนใจจากแฟนลูกหนังทั่วโลกแม้ว่าฟุตบอลโลกจะมีอายุการแข่งขันถึง 76 ปีแล้ว แต่ฟุตบอลโลกที่เริ่มประสบความสำเร็จใน ระดับเวิลด์ไวด์ จากตัวเลขการสำรวจยอดผู้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางโทรทัศน์ของฟีฟ่านั้น เห็นจะหนีไม่พ้นฟุตบอลโลกครั้งที่ 13 ในปี 1986 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งในรายงานระบุว่าจำนวนของแฟนลูกหนังที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมกันทุกนัดสูงถึง 1.35 หมื่นล้านคน
เมื่อถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1994 ซึ่งเจ้าภาพได้แก่สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดชาติหนึ่งในโลกและเรียกฟุตบอลว่า "ซอคเกอร์" ไม่น่าแปลกใจที่ฟุตบอลโลกปี 1994 จะมีผู้ชมในสนามไม่หนาตาเหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลโลกทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเจ้าภาพสหรัฐฯ จะรู้จุดอ่อนของตนเองก่อนหน้าแล้วและได้ใช้กลยุทธ์การตลาดโปรโมตมาสคอตและสินค้าที่ระลึกทำเงินได้อย่างน่าชื่นใจ
นอกจากนั้น แล้วการเลือกช่วงเวลาการแข่งขันที่จะสามารถถ่ายทอดสดกลับไปทางฝั่งยุโรปได้ในช่วงไพรม์ไทม์ สร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ให้กับทั้งฟีฟ่าและตนเองชนิดเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ตัวเลขของผู้ชมการถ่ายทอดสดหน้าจอโทรทัศน์ในฟุตบอลโลกครั้งนั้นตลอดทัวร์นาเมนต์พุ่งสูงขึ้นแตะที่ 3.21 หมื่นล้านคน
เมื่อถึงการแข่งขันในปี 2002 ฟุตบอลโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในสองประเทศบนทวีปเอเชีย นับเป็นการเปิดตลาดลูกหนังแห่งใหม่ของฟีฟ่า และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเกินคาดเพราะยอดผู้ชมของการแข่งขันในครั้งนี้เมื่อรวมการแข่งขันตลอดทุกนัดมีผู้เฝ้ามหากาพย์ลูกหนังจากทั่วโลกรวมแล้วสูงถึง 4.92 หมื่นล้านคน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ฟีฟ่าจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกขึ้นมา
คำกล่าวที่ว่า "ถิติมีไว้เพื่อทำลาย" ยังคงใช้ได้อยู่เสมอเพราะการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 โดยเควิน อลาวีย์ นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งบริษัท "อินิชิเอทีฟ ฟิวเจอร์" ได้ทำการวิจัยถึงทิศทางการรับชมของผู้คนผ่านสื่อโทรทัศน์มีการคาดหมายกันว่าจะมีแฟนลูกหนังทั่วโลกชมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีก 5 พันล้านคน
หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ "ดอยช์ลันด์ 2006 กลายเป็นฟุตบอลโลกที่มีผู้ชมผ่านทางโทรทัศน์ทุกนัดรวมกันสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดการแข่งขันขึ้นมาแตะที่ตัวเลข 5.42 หมื่นล้านคนเลยทีเดียว"
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังได้ทำนายว่าจะมีแฟนลูกหนังสาวๆเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย โดยการคาดหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะฟุตบอลโลก 2006 มีปัจจัยอันได้เปรียบในเรื่องของเวลาถ่ายทอดสดซึ่งส่งสัญญาณ มาจากยุโรป รวมไปถึงกระแสลูกหนังฟีเวอร์ในเอเชีย หลังจาก เกาหลี และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปี 2002
"จากการสำรวจของบริษัทฯ การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาที่มีผู้รับชมทางโทรทัศน์มากที่สุด ถ้าธุรกิจชนิดใดที่ต้องการเพิ่มยอดขาย หรือสร้างแบรนด์ของตนเองให้เป็นที่รู้จัก วิธีการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ ในช่วงฟุตบอลโลกนับว่าใช้ได้ผลมากที่สุด เพราะการแข่งขันฟุตบอลโลก นับเป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องชนชาติหรือวัฒนธรรม" เควิน อลาวีย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในรายงานยังกล่าวถึงทีมชาติบราซิลว่า เป็นทีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยสไตล์การเล่นของทีมแซมบ้าที่สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับผู้ชม รวมไปถึงเหล่านักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ในยุโรปก็เป็นขวัญใจแฟนลูกหนังทั่วทั้งโลก นอกจากนี้ยังระบุว่า "บรรดานักฟุตบอล ชื่อดังระดับโลกนั้นจะถูกจับตามองเป็นพิเศษในการแข่งขันฟุตบอลโลก แฟนบอลจำนวนกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกจะพากันเชียร์ และให้กำลังใจ นักฟุตบอลที่พวกเขาโปรดปรานไม่ว่าจะเป็นโรนัลดินโญ่ หรือโรนัลโด้"
เมื่อนำเอาตัวเลขของผู้ชมฟุตบอลโลกผ่านการถ่ายทอดสดไป เปรียบเทียบกับตัวเลขของมหกรรมกีฬารายการอื่น จะมีเพียงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเท่านั้นที่พอจะเป็นคู่ต่อสู้ที่สูสีกับฟุตบอลโลก แต่ก็ยากที่จะนำเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบ เพราะในการแข่งขันโอลิมปิกนั้น มีการแบ่งประเภทกีฬาเพื่อทำการเผยแพร่ในหลายรายการ ในขณะที่ฟุตบอลโลก เป็นรายการแข่งขันฟุตบอลเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นกีฬาประเภทที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทำให้ผู้ผลิตสินค้าตัดสินใจได้ง่ายที่จะลงโฆษณา
สำหรับในเมืองไทยเที่ยวนี้ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เคยมีการวิจัย "Star Capture" โดยบริษัทสตาร์คอมเผยว่า คนไทยทั้งประเทศกว่า 44 ล้านคนจะร่วมดูบอลโลกในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าครั้งที่แล้วถึง 26.6% ซึ่งกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มคนโสด จะให้ความสนใจมากที่สุด
ผลการวิจัยดังกล่าวยังชี้ว่ามี 5 ปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พิษเศรษฐกิจ" จะส่งผลให้คนไทยหันมาประหยัดและลุ้นฟุตบอลโลก 2006 ทางหน้าจอโทรทัศน์มากเป็นประวัติการณ์
จำนวนผู้ชมบอลโลกทางโทรทัศน์ในแต่ละปี ตลอดทัวร์นาเมนต์ (หมื่นล้านคน)
- 1986 1.35
- 1990 2.67
- 1994 3.21
- 1998 3.34
- 2002 4.92
- 2006 5.24*
* จำนวนผุ้ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2006 คาดว่าจะเพิ่มจากเดิมอีก 5 พันล้านคน (ตลอดทัวร์นาเมนต์)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|