|

“หัวเหว่ย”หวั่นภาพเสีย เร่ง CDMA เฟส 2 ให้เสร็จทันม.ค.ปี50
ผู้จัดการรายวัน(5 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“หัวเหว่ย” มั่นใจ ติดตั้งซีดีเอ็มเอ 51 จังหวัดของ “กสท” เสร็จทันกำหนดมกราคม 2550 เดินหน้าติดตั้งแล้ว 1,000 จุด พร้อมชุมสาย5แห่ง นำสื่อร่วมทดสอบบริการใช้งานพื้นที่สุราษฎ์ธานี เผยบริษัทแม่ในประเทศจีนตั้งความหวังโครงการนี้ไว้สูง ไม่อยากให้คนไทยผิดหวัง ก่อนใช้ไทยเป็นศูนย์กลางทำยอดขายในตลาดอินโดจีน ปี 48 โกยรายได้ไปแล้ว 12,500 ล้านบาท ส่วนกรณีปรับความล่าช้าเฟส1 ไม่เกิน 2 สัปดาห์ กสท สรุปผลปรับหรือไม่
นายหวัง ฮองบิน ผู้จัดการกลุ่มงานตลาดและผลิตภัณฑ์ Product manager-International marketing department บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ติดตั้งสถานีฐานพร้อมชุมสายซีดีเอ็มเอ (800MHz CDMA 2000 1X- EVDO ) ในโครงการติดตั้งซีดีเอ็มเอ ใน 51 จังหวัด ของบริษัท กสท โทรคมนาคม โดยได้คืบหน้าไปแล้ว 1,000 จุด (base station) ซึ่งดำเนินการผ่านพ้นจากการส่งมอบให้กับ กสท ในเฟส ที่ 1 จำนวน 800 จุดและชุมสาย (switching) จำนวน 5 แห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎ์ธานี พิษณุโลก นครราชสีมา หาดใหญ่ และจะสามารถติดตั้งทั้งหมดได้ครบ 1,600 จุด ได้ภายใน เดือนมกราคม 2550 ตามข้อตกลงเงื่อนไขการจ้างติดตั้ง (ทีโออาร์)
ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่ได้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยสามารถใช้งานได้จริงแล้วตามเงื่อนไขบริการของ กสท ทั้ง บริการเสียง, ข้อมูล และมัลติมีเดีย รวมถึงสัญญาณให้บริการในแต่ละพื้นที่ให้บริการ ทั้งในรูปแบบการใช้งานผ่านเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์บ้าน การเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์สำหรับใช้งานร่วมกับโน้ตบุ๊ก
“ในเฟสที่ 2 จะดำเนินการได้เร็วกว่าเฟสที่ 1 บริษัทได้ตั้งสำนักงานโครงการขึ้นมา 3 แห่ง เพื่อดูแลการติดตั้งในแต่ละภาค คือ ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎ์ธานี ให้การควบคุมงานต่างๆ สามารถคล่องตัวและติดตามแก้ไขปัญหาให้สามารถได้แล้วเสร็จทันตามกำหนด”
สำหรับโครงการซีดีเอ็มเอ 51 จังหวัด ของ กสท ทางสำนักงานใหญ่ หัวเหว่ย ในประเทศจีน ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะมีผลต่อการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและเป็นจุดเริ่มต้นต่อการเข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย โดยหัวเหว่ยเชื่อว่าตลาดประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวในด้านการลงทุนติดตั้งโครงข่ายและการเปลี่ยนแปลงตลาดให้บริการหลังจาก ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เข้ามากำกับดูแลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อีกทั้งหัวเหว่ยยังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดูแลตลาดในแถบอินโดจีนอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นตลาดอันดับที่สอง รองจากเซาท์ แอฟริกา (South Africa) โดยในปี 2548 บริษัทรับรู้รายได้รวมจากตลาดไทย 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 12,500 ล้านบาท ที่ได้จำหน่ายอุปกรณ์โครงข่ายกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส บริษัท ทรู มูฟ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น บริษัท ทีโอที รวมถึงการเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ให้กับกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น
นายหวัง กล่าวอีก เทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ หัวเหว่ยได้ ให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ร่วมกับผู้ให้บริการกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยให้บริการในฐานลูกค้ารวมกว่า 40 ล้านรายและหากแยกเฉพาะเทคโนโลยีอี-วิดีโอ ที่เปิดใช้งานแล้ว 10 โครงข่าย
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง หัวเหว่ย ได้กล่าวเสริมนายหวังว่า บริษัทได้วางจุดยืนของตัวเองในไทย คือ ให้เป็นที่ยอมรับของระบบสังคม เศรษฐกิจไทย แม้ว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยก็ตาม ซึ่งรูปแบบการแข่งขันจะเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นหลัก ในการที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีและสอดคล้องต่อการลงทุน
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเหว่ย ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมทดสอบบริการซีดีเอ็มเอพร้อมเยี่ยมชมชุมสาย ที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี จากการทดสอบพบว่าสามารถใช้งานได้แล้วทั้งบริการในรูปแบบเสียงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้งานในรูปแบบข้อมูล จากการเชื่อมต่อผ่านโน้ตบุ๊ก ที่ได้ทดสอบใช้งานเว็บไซต์ที่บริการมัลติมีเดีย อย่าง ASTV สำนักข่าวไทย ทั้งแบบคลิบวิดีโอ และสตรีมมิ่ง ซึ่งพบว่าความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ในระดับความเร็ว 230 Kb หรือมีความเร็วเทียบเท่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) ที่ให้บริการอยู่ในตลาดปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ความเร็วของจากการรับส่งข้อมูลในการทดสอบครั้งนี้ เป็นเพียงการทดสอบการใช้งานเบื้องต้น ซึ่งหากบริการนี้เปิดใช้จริงสัญญาณข้อมูลและความเร็วในการรับส่ง อาจจะมีประสิทธิภาพลดลงจากเดิมหากมีจำนวนผู้ใช้บริการมากๆ หรือมีการเชื่อมต่อใช้งานในเวลาเดียวกันและรูปแบบการใช้งาน รวมถึงความคงที่ของระดับความเร็วรับส่งข้อมูล
ด้านนายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ กสท กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาปรับบริษัท หัวเหว่ย กรณีดำเนินการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ 51 จังหวัดล่าช้ากว่ากำหนดว่า ขณะนี้คณะทำงานที่รับผิดชอบยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ถึงการปรับหัวเหว่ย ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณารายละเอียดในทีโออาร์ตามเหตุผลที่หัวเหว่ยร้องขอยืดเวลา 42 วัน แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ช้ากว่ากำหนดและไม่มีเหตุผลอันควร ก็ต้องปรับตามที่ระบุในสัญญา คือ วันละ 90 ล้านบาท โดยไม่พิจารณาแยกปรับเฉพาะสถานี
“คณะทำงานได้เร่งพิจารณาแล้ว โดยคาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปทั้งหมด เพราะเรื่องดังกล่าวนั้นได้ใช้เวลาพิจารณามานานแล้วและจะต้องให้ทันตามกำหนดก่อนสิ้นเดือนตามที่ น.พ.สุชัย ให้นำเรื่องไปรายงานสรุป”
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|