คนซื้อบ้านทิ้งดาวน์จัดสรรผวาแบงก์ปฎิเสธอนุมัติเงินกู้


ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

โบรกเกอร์ระบุยอดลูกค้าซื้อบ้านกู้แบงก์ไม่ผ่านสูงถึง 30 % เริ่มเห็นสัญญาณคนซื้อบ้านทิ้งดาวน์ ด้านผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลฯแนะผ่าทางตันยุคดอกเบี้ยขาขึ้น หลังอัตราการผ่อนรายเดือนตามดอกเบี้ยใหม่ขยับสูงขึ้น หวั่นลูกหนี้เดิมทนสภาพไม่ไหวกลายเป็นNPL เตือนคนผ่อนอย่าชะล่าใจ เจรจากับปรับโครงหนี้กับธนาคาพาณิชย์ ด้าน

นายไพโรจน์ สุขจั่น นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์และประธานกลุ่มบริษัทบัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่ยอมรับว่าปัญหาการขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ไม่ผ่านเฉลี่ย 20-30% โดยเฉพาะในเดือนที่ผ่านมา ลูกค้าขอสินเชื่อไม่ผ่านและยกเลิกการซื้อบ้านคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 60 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้องแก้ไขปัญหาด้วยการปรับลดราคาสินค้าลง

ด้านนายรังสรรค์ หวังไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาวะการขายที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหากลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการขาย รวมถึงการให้บริษัทรับบริหารงานขายเข้ามาช่วย ซึ่งบางรายต้องลดราคาบ้านลงมาเพื่อให้มียอดขาย ซึ่งบางโครงการลดมากถึง 10-20% ซึ่งยอดนี้ยังไม่รวมกับค่าบริหารงานขายอีก 6-7%

" ที่ผ่านมาการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่างวดปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในบางครั้งลูกค้าที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่เมื่อไปพิจารณายอดการผ่อนชำระแล้ว พบว่า ไม่มั่นใจจะสามารถผ่อนส่งได้ในระดับดังกล่าว จนบางรายต้องทิ้งเงินดาวน์ เพราะเกรงว่าในอนาคตไม่สามารถจะผ่อนค่างวดกับธนาคารพาณิชย์ได้ "

สำหรับยอดขายของบริษัทในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 1,120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดี่ยวกันของปีที่ผ่านมามีจำนวน 1,103 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบริษัท บัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ ยอดขายในช่วง 5 เดือนจำนวน 482 ล้านบาท, บริษัท บีที ซิตี้ สมาร์ท จำกัด จำนวน 538 ล้านบาท และบริษัท มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มีจำนวน 99 ล้านบาท

แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯกล่าวว่า จากการสำรวจลูกค้าที่เข้ามาจองโครงการในช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าตัดสินใจทิ้งจองเงินดาวน์กับเจ้าของโครงการ หลังจากที่รับทราบจากธนาคารพาณิชย์ไม่อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งส่วนหนึ่งราคาบ้านที่ธนาคารพาณิชย์จะระมัดระวังคือ บ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากไม่มั่นใจในความสามารถของคนกู้ซื้อบ้าน และรวมถึงลูกค้าบางส่วนที่ซื้อบ้านระดับที่เกิน 5 ล้านบาท เพราะส่วนนี้ ทางธนาคารอาจวิเคราะห์ถึงความเสี่ยง ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือบางรายเพียงแค่ติดปัญหากับเครดิตบูโรธนาคารจะไม่อนุมัติ

" อย่างโครงการของบริษัทปีที่ผ่านมามียอดไม่ผ่านการอนุมัติจากแบงก์ประมาณ 10% แต่เพียงเฉพาะไตรมาสแรกขยับขึ้นมา 15% แม้แต่ทางผู้บริหารธนาคารสงเคราะห์ยังออกมายอมรับว่ายอดปฎิเสธสินเชื่อในช่วง 3 เดือนแรกโตขึ้นมาเท่าตัว เทียบกับตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ปฎิเสธสินเชื่อเพียง 7 %"แหล่งข่าวกล่าว

นางลัดดาวัลย์ ธนะธนิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพในฐานะเลขาธิการสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า โดยภาพรวมดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ คงจะเดินหน้าปรับขึ้น ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในภาพรวม ซึ่งหากประเมินจากภาพรวมอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี ปีนี้คงปรับเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 0.50-1%

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอัตราเลขตัวเดียวได้ คือ ไม่เกิน 9% ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคยังคงรับได้เนื่องจากยังเพิ่มขึ้นไม่สูงเท่ายุคก่อนที่เคยสูงถึง 12-13%

นายไพโรจน์ กล่าวเสริมว่า ทางสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ เตรียมจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “จับทิศทางการตลาด ปรับศาสตร์อสังหาฯ ฟันฝ่าเศรษฐกิจ” ในวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 13.00 – 18.30 น. ณ ห้องมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจับทิศทางตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังและปรับกลยุทธ์ให้สามารถผ่าวิกฤตต่างๆ ไปด้วยดี

แนะยืดเงินค่างวดคนกู้ซื้อบ้านหวั่นบีบลูกค้าผิดนัดชำระ

นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 7 สมาคมเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้อยู่ระหว่างเตรียมการจัดงานเวิร์คช็อปภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว แต่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่มาก ซึ่งสิ่งจะช่วยกันแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน คือ ภาระการผ่อนเงินค่างวดเงินกู้ซื้อบ้าน เพื่อไม่ให้ผู้กู้แบกรับภาระจนเกินไปจากสภาพของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ทั้งสถาบันการเงิน ,ผู้ประกอบการเอกชน และรัฐบาล ควรจะมีการจับมือและช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง

โดยในส่วนของสถาบันการเงินนั้น หากจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ไม่ควรที่จะเพิ่มภาระด้วยการปรับเพิ่มค่างวดผ่อนรายเดือนที่สูงเกินไป สำหรับลูกค้าเก่าที่อยู่ในภาวะการผ่อนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่ผู้ขอกู้รายใหม่ สถาบันการเงินควรจะยืดระยะเวลาการผ่อนชำระไปให้นานที่สุด 25-30 ปี

“ ปกติแบงก์จะบวกอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนชำระเพิ่มต่องวด 1-2% อยู่แล้ว แต่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นตัวเลขสองหลัก เพื่อช่วยผู้ซื้อบ้าน แบงก์ไม่ควรที่จะบวกค่าผ่อนเพิ่มอีก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวให้เห็นถึงปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างว่า หากอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องผ่อนชำระอยู่ที่ 4% แต่ธนาคารพาณิชย์จะคิดค่างวดเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าเป็น 6% หรือจากเดิมผ่อนชำระต่องวดอยู่ที่ 8,000 บาท แต่เมื่อปรับฐานการผ่อนชำระตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ จะต้องเพิ่มยอดผ่อนต่องวดเป็น 10,000 บาทนั้น จะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคค่อนข้างมาก

พร้อมกันนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวเสนอแนะกับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย ควรจะไปเจรจากับแบงก์ถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปเป็น 30 ปี ขณะที่ในด้านของผู้ประกอบการ ควรจะให้ความร่วมมือในการไม่ปรับราคาบ้านและลดคุณภาพและลดขนาดบ้านลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.