|
สศช.หั่นเป้าจีดีพีปี”49เศรษฐกิจทรุด-ขาดดุล
ผู้จัดการรายวัน(6 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สภาพัฒน์ฯ ถอยเป้าจีดีพี ปี 49 เหลือ 4.6% ระบุชัดเศรษฐกิจชะลอตัว ขาดดุล 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบชิงส่งออกอิเล็กทรอนิกส์- ยานยนต์ กัดฟันพูดคุมเงินเฟ้ออยู่ 4.5-4.7% แต่น้ำมันไต่ระดับไม่เกิน 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนอัตราดอกเบี้ย MLR 8% เร่งมาตรการกระตุ้นศก.ช่วงไร้รัฐบาล อย่าต่างคนต่างทำ ฉุดจีดีพีเหลือ 4.2% แม้ไตรมาสแรกโชว์ 6% กินบุญเก่า ส่งออก ภาคเกษตรโต และท่องเที่ยว
วานนี้ ( 5 มิถุนายน ) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 1 ปี 49 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2549 ว่า จีดีพี ไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 6.0% สูงกว่า 4.7% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ มีปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ 1. มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สหรัฐ ในไตรมาส 1 ขยายตัว 17.9% โดยที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 14.1% และราคาเพิ่มขึ้น 3.3% ทำให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 7.6% 2. ภาคการเกษตรขยายตัวสูงถึง 7.1% จากปี 48 ที่หดตัว 2.4% และ 3. ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดี ในไตรมาส 1 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 21.7% และค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 25.2 % เปรียบเทียบกับที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% ในปี 48
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้นโดยไตรมาสที่ 1 เท่ากัน 5.7% และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 40.9% แต่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ก็ขยายตัวได้ดี เนื่องจากไตรมาสแรกปี 2549 จีดีพีขยายตัวเพียง 3.2% โดยที่การส่งออกเป็นรายการที่ปรับตัวดีขึ้นมากตามวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2548 ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมาก
นายอำพน กล่าวว่า การลงทุนเอกชนชะลอตัวลงชัดเจน ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนค่อนข้างทรงตัวในไตรมาสนี้ โดยการลงทุนในภาคเอกชนขยายตัว 7.2% เทียบกับที่ขยายตัว 11.3% ของทั้งปี 2548 ซึ่งเป็นการปรับตัวชะลอลงทั้งการลงทุนในการก่อสร้าง และการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ ในขณะที่การใช้จ่ายครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.1% เท่ากับในไตรมาสที่ผ่านมา
ปี”49 ศก.แย่ลดประมาณการณ์จีดีพี 4.6%
เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช. ได้ปรับลดการประมาณการเมื่อวันที่ 6 มี.ค.จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.5-5.5% ลงเป็น 4.2-4.9% ด้วยความน่าจะเป็นที่อัตราขยายตัวเศรษฐกิจจะอยู่ที่ช่วงนี้ประมาณ 86% และคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ 4.5-4.7% และคาดว่าจะยังคงมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.5% ของจีดีพี ที่เป็นสาเหตุหลักของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 49 ดังนั้น 1. การปรับตัวของราคาน้ำดับในตลาดโลกซึ่งยังเพิ่มขึ้น 2. สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างสูงในครึ่งปีแรก ซึ่งจะทำให้การส่งออกขยายตัวได้ประมาณ 13.15% ต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกที่ 17.5%
"เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2549 สามารถควบคุมได้ ในอัตรา 4.5 - 4.7% ถ้าราคาน้ำมันดูไบในตลาดโลกเฉลี่ยไม่สูงกว่า 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะถ้าสังเกตให้ดีเงินเฟ้อปีฐานของปีก่อนอยู่ในฐานต่ำ 2.5% ค่อยๆ ปรับขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น 4% ไตรมาส 3ขึ้นมาเป็น 4.5% ไตรมาส 4 ถ้าราคาน้ำมันไม่สูงไปกว่านี้เงินเฟ้อก็คุมได้ " นายอำพน กล่าว
ด้านปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ย ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2549 โดยเฉพาะในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ย 7.6 - 8.0% โดยเฉพาะในสินเชื่อสำหรับรายย่อย มีผลทำให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2548 ที่ 14.7% ลงเหลือ 11.7 % และสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจาก 16% ในปี 48 ลงเหลือ 9.5% ในปี 49
ส่วนในวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้นว่า ควรจะปรับลด เพิ่ม หรือคงที่อัตราดอกเบี้ยต้องมีการพิจารณาหลายปัจจัย คือ ตัวเลขที่แท้จริง เงินเฟ้อ การออม การเคลื่อนย้ายเงินทุน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในการวิเคราะห์ให้เหมาะสม ขณะที่ค่าเงินบาท 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีเสถียรภาพด้านการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ ซึ่งเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 38.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายอำพน กล่าวว่า ปัจจัยด้านความมั่นใจของผู้บริโภคและเอกชนที่ลดลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ดัชนีผู้บริโภคในเดือนเมษายน ขยายตัวได้ในอัตราที่ลดลง ไตรมาสแรกเท่ากับ 1.2% และเดือนเมษายน เท่ากับ 0.8% ในขณะที่ดัชนีด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวที่ลดลงชัดเจน ไตรมาสแรก 2.2% และเดือนเมษายน 1.5% ในภาพรวมเป็นการปรับประมาณการลงจากครั้งก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้า และบริการสุทธิ ที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมช่วยชดเชยการปรับลดการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ
" ส่วนเรื่องสถานการณ์การเมืองหลังช่วงเดือนมิ.ย.ไปแล้วจะกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ก็ต้องระมัดระวังและปรับตัวตามสถานการณ์อยู่แล้ว ในกรอบนโยบายเศรษฐกิจ ที่ดี ถ้าน้ำมันไม่สูง รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตามงบประมาณ เพื่อสร้างความมั่นใจส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับนักลงทุนให้เป็นทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่มั่วแต่ต่างคนต่างทำงานก็ผลักดันเศรษฐกิจได้แค่ 4.2% "
เร่งมาตรการกระตุ้นศก.ช่วงไร้รัฐบาล
นายอำพน กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 49 เพื่อให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังไม่ชะงักชัน และจะมีผลต่อเนื่องในปี 2550 รัฐบาลควรจะเร่งรัดมาตรการที่มีความสำคัญ คือ 1. เร่งรัดงบลงทุนส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรวมทั้งงบประมาณเหลื่อมปี เพื่อให้การลงทุนภาครัฐทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติแล้วสามารถดำเนินการต่อไปได้ และเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่าย 93% ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาครัฐสามารถขยายตัวได้อย่างน้อย 8-10% ในปี 49 ทั้งนี้จำเป็นจะต้องเร่งรัดเม็ดเงินลงทุนส่วนที่ค้างเบิกจ่ายของส่วนราการและรัฐวิสาหกิจให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 478,000 ล้านบาท
รักษาระดับการขยายตัวของภาคเกษตร ทั้งในด้านเสถียรภาพราคา และปริมาณผลผลิต รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรหมวดสินค้าแปรรูป ไก่ กุ้ง และผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าว ผัก และผลไม้ ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในฤดูการเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมากในไตรมาส 4 พร้อมกับเสริมฐานรายได้ของประเทศ ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งออก และการสร้างความเชื่อมั่นความเข้าใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ เร่งรัดการดำเนินการตามมาตราการด้านพลังงานทั้งในเรื่องการส่งเสริมการใช้พลังงาน ทางเลือก การประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของพืชพลังงานและรายได้เกษตรกร
อีกทั้งบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่สอดประสานระหว่างนโยบายการเงิน และการคลัง โดยยังคงรักษาวินัยทางการเงินการคลัง และดูแลการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้มีความสอดคล้องกับเงื่อนไขด้านเงินเฟ้อ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจต้องปรับตัวรุนแรงมากเกินไปจนเกิดเป็นภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะที่มีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอันเนื่องจากต้นทุนแรงงาน วัตถุดิบ และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|