|

จับตาทิศทางขาลงยักษ์"แกรมมี่-อาร์เอส" การเมืองครอบงำผลงานทำกำไรคลุมเครือ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มิถุนายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หน้าตาผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ไม่ค่อยสดสวยงดงามเท่าที่ควร ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอนเทนต์โพรไวเดอร์ ซึ่งกุมธุรกิจสื่ออยู่ในมือมากมายอย่าง แกรมมี่(GMM) และ อาร์เอส(RS) เจ้าใหญ่ไม่กี่รายในตลาด เริ่มสะท้อนให้เห็นว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากภาวะรายรอบอย่างไม่มีการปราณี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง สินค้าปลอมแปลงและการดาวน์โหลดเพลงในอินเตอร์เน็ตระบาด ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ไม่มีท่าทีจะหยุดนิ่งได้ง่ายๆ ผนวกกับกำลังซื้อหดหาย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคถดถอย ผสานกับบรรยากาศการเมืองที่ค่อนข้างอึมครึมเข้าครอบงำ....
ผลประกอบการของแกรมมี่ ส่อเค้าว่าเริ่มมีสัญญาณความสามารถทำกำไรลดลงมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2548 จาก 45 ล้านบาท ลดลงมาที่ 4.75 แสนบาทในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการออกอัลบั้มเพลงลดลง ธุรกิจวิทยุแย่ลงมาก ขาดทุนจากธุรกิจภาพยนตร์ ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น และ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 20 ล้านบาท
ยอดขายเพลงมีจำนวนที่ลดลงทำให้มีการเลื่อนวางแผงอัลบั้มหลักออกไป(อาทิ อัสนี-วสัน ปาล์มมี่ เบิร์ดเสก พลพล ต่าย อรทัย ฯลฯ) โดยไตรมาสแรกปีนี้ แกรมมี่ได้ออกอัลบั้มเพียง 42 ชุด(30 อัลบั้มใหม่และ 12 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีถึง 55 ชุด( 36ใหม่และ 19 อัลบั้มรวมเพลงฮิต)
ประกอบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในวงการวิทยุทำให้ยอดขายโฆษณาลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปี 48 เพื่อที่จะฟื้นฟูกำไรส่วนนี้ จีเอ็มเอ็มมีเดีย (GMMM)บริษัทลูกที่แกรมมี่ถือหุ้นใหญ่ 79% จึงได้ตัดสินใจเลิกออกอากาศคลื่น FM88 Buzz Radio ซึ่งมีค่าเช่าสูงกว่าสถานีอื่นถึง40% รวมถึงยังได้หยุดการออกอากาศ คลื่น EFM ผ่านสัญญาณดาวเทียม เป็นกลยุทธ์ลดต้นทุนมากกว่าเพิ่มยอดขาย
นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดจากการขยายการลงทุนในธุรกิจข้างเคียง โดยหวังว่าจะมาเป็นแรงผลักดันช่วยให้บริษัทแม่มีรายได้และกำไรเติบโต แต่ด้วยความที่ไม่ถนัด และตัดสินใจ ไม่รอบคอบ ผสมโรงกับชื่อเสียงที่เข้าไปเกี่ยวโยงกับการเมืองอย่างสนิทแนบแน่น ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจบอบช้ำ
...แกรมมี่จึงเสียทั้งเงิน ชื่อเสียง บวกกับถูกต่อต้านสินค้าจากทุกสารทิศ จนกลายเป็นรอยด่างพร้อย....
ที่เห็นได้ชัดก็คือ การแต่งเพลงชาติทำนองใหม่ การรุกซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชนและโพสต์จนต้องยุติลงในทันที ภาพยนตร์เรื่อง หมากเตะ ที่มีเนื้อเรื่องล้อเลียนชาวลาว ฉีกแนวไปจากหนังที่สะท้อนชีวิตหนุ่มสาวก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น แฟนฉันหรือมหาลัยเหมืองแร่ ทำให้ต้องประกาศเลิกฉายไป
หรือแม้กระทั่งวิทยุคลื่นข่าว 94.0 Open Radio ที่ปิดฉากไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ว่ากันว่านอกจากประสบภาวะขาดทุน ก็มีการร้อยเรื่องเข้ากับเหตุผลทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะส่งผลในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะมาจากการออกอัลบั้มหลักที่เลื่อนมาจากไตรมาส 1 ประกอบกับการเป็นผู้นำในตลาดเพลงด้วยส่วนแบ่งกว่า 70% จะส่งผลให้ธุรกิจ e-business และการจัดเก็บลิขสิทธ์ต่างๆเติบโตตามไปด้วย
นอกจากนั้น ธุรกิจวิทยุก็จะมีการฟื้นตัวหลังคืนคลื่นไปแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่ธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาดที่มี อินเด็กซ์ อีเวนท์เอเยนซี่ บริษัทลูกดำเนินการอยู่ ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากส่วนหนึ่งของโครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มูลค่าราว 100 ล้าน
ถึงแม้ว่ารายได้และกำไรสุทธิจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องของ แกรมมี่ อาทิ ลิขสิทธิ์ E-Business การบริหารศิลปิน การจัดกิจรรมทางการตลาด จะช่วยเสริมรายได้และกำไร แต่รายได้ส่วนนี้ใน 6-12 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่เพียงพอจะชดเชยการชะลอตัวของผลกำไรจากธุรกิจหลัก "เพลงและวิทยุ"
"เราเชื่อว่ากำไรสุทธิของ แกรมมี่ ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลง และมีทิศทางที่ต่ำกว่าตลาดรวม แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะซื้อหุ้นตัวนี้" นักวิเคราะห์จาก บล.กิมเอ็งให้ความคิดเห็น
ในฝั่งของ อาร์เอส (RS) เร็วๆนี้ก็ได้มีการผ่าตัดใหญ่องค์กร ด้วยการ "รีแบรนดิ้ง" มุ่งสู่ธุรกิจมัลติมีเดีย โดยลดธุรกิจเพลงลง ตลอดจนได้ตั้งสำรองสินค้าคงเหลือประเภทเพลงและแผ่นวีซีดีหนังไปเกือบหมดในปีที่แล้ว
ค่ายนี้ยังได้นำคอนเทนต์ไปต่อยอดในธุรกิจหลักทั้งเพลงและสื่อ นั่นคือ นำผลงานศิลปินไปขยายทำรายได้ทั้งสินค้าเพลง ลิขสิทธ์ และคอนเสิร์ตอย่างครบวงจร
รวมถึงมีรายได้จากการรับจ้างผลิตจัดกิจกรรมทางการตลาดที่สูงถึง 146.303 ล้านบาทเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนที่มีเพียง 58.55 ล้านบาท จากอีเวนต์ขนาดใหญ่อาทิ WWE Smack Down LIVE in Bangkok 2006 คอนเสิร์ต 36 ปีช่อง 3 พัทยาอินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิก เฟสติวัล 2006 ส่งผลถึงกำไรสุทธิที่ออกมารวม 7.845 ล้านบาท หลังจากผลประกอบการในปี 2547-2548 ขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส
ส่วนธุรกิจเพลงไตรมาส 1 ปีนี้ อาร์เอสมีจำนวนการออกอัลบั้มมากขึ้น แต่รายได้ต่อชุดลดลง จากไตรมาสของปี 2548 ที่มี 51 ชุด(35 อัลบั้มใหม่และ 16 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) มียอดขายเฉลี่ยต่อชุด 3.9 ล้านบาท เป็น 58 ชุดในไตรมาสแรกของปีนี้(22 อัลบั้มใหม่และ 36 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) มียอดขายเฉลี่ย 3.3 ล้านบาทลดลง 15%
แต่ภาพรวมในส่วนเพลงก็ยังโต 13% ทั้งนี้เพราะ การทำอัลบั้มรวมฮิตมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอัลปั้มของนักร้องใหม่นอกจากนี้ยังมีกระแสตอบรับดีกว่า เห็นได้จาก อัลบั้มหนุ่มบาว-สาวปาน ที่มียอดขายเกินล้านบาทในเวลาเพียงไม่นานนัก ประกอบกับรายได้จากการจัดเก็บลิขสิทธ์มีการเติบโตขึ้นถึง 20%
นอกจากนี้ยังมีรายได้จากสื่อวิทยุที่มีทั้งจำนวนคลื่นและความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นผู้นำตลาดและกำลังจะมีการขึ้นค่าโฆษณาอีก 20% ในไตรมาสนี้ รวมถึงนสพ.บันเทิงดาราเดลี่ ที่จะช่วยให้รายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ของอาร์เอสซึ่งมีฐานรายได้เล็กโตขึ้นได้อย่างมากและกำลังจะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว
ปัจจัยบวกในช่วงไตรมาส 2 ที่จะเห็นได้คือการออกอัลบั้มของศิลปินที่มีชื่อเสียงของค่ายซึ่งเคยมียอดขายเกินล้านชุดมาแล้วออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็น แดน-บีม, โปงลางสะออน, โฟร์-มด ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง "รักจัง" ที่นำแสดงโดย ฟิล์ม รัฐภูมิ และพอลล่า ซึ่งสามารถทำกำไรได้แน่นอน
อย่างไรก็ดี ภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหญ่รวมถึงสินค้าปลอมแปลงทำให้แนวโน้มยอดขายเทปและวีซีดีมีการขยายตัวในระดับจำกัด ประกอบกับการที่ผู้บริโภคที่หันมานิยมความบันเทิงในรูปแบบ MP3 มากขึ้น ทำให้มีรูปแบบการขายในช่องทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้การขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงได้
รวมถึงปัจจัยลบจากช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านมือถือในส่วนที่เป็นนิวมีเดียที่ในช่วงนี้เครือข่ายมีปัญหาโทรติดยากทำให้มีรายได้จากส่วนนี้ลดลง 17% แต่ก็คาดว่าในช่วงไตรมาส 3เป็นต้นไปปัญหาดังกล่าวก็น่าจะแก้ไขได้และมียอดขายที่เพิ่มขึ้นตามยอดขายโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวและพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนปัจจัยลบที่จะส่งผลธุรกิจจนถึงสิ้นปีนี้คือ รายการทีวีที่ตอนนี้แม้จะมีเวลาออกอากาศถึง 1,385 นาที/สัปดาห์แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงหลัง 24.00 น.และจำนวนโฆษณาก็ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นไปในลักษณะการสนับสนุนเพลงของค่ายตัวเองมากกว่า ถือได้ว่าเป็นอุปทานส่วนเกินอยู่
รวมถึงภาพยนตร์ที่มีในไตรมาส3 และ 4 จะออกมาอีกช่วงละเรื่องเป็นแนวตลกและแนวผี มีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไรเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการดำเนินงานในธุรกิจนี้ของอาร์เอสจะขาดทุนมากกว่ากำไรไม่ว่าจะเป็น เดอะเมียไทยถีบ ผีเสื้อสมุทรฯลฯ
นอกจากนั้นในช่วงปีนี้ ก็ยังมีหนังระดับบล๊อกบลาสเตอร์เข้าฉายจำนวนมาก ทำให้ระยะเวลาการฉายหนังฟอร์มเล็กสั้นลง ส่วนโครงการรับจ้างผลิตขนาดใหญ่ที่จะเป็นข่าวดีขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา
แม้ แกรมมี่ และ อาร์เอส จะมีตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิก็ยังคงอยู่ในระดับที่ติดลบสำหรับค่ายแกรมมี่ และเพิ่มขึ้นน้อยเพียงระดับ 1%สำหรับอาร์เอส เมื่อเทียบกับสภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่โดยเฉลี่ยที่มีการเพิ่มขึ้นของกำไร 8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
เท่านี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจสื่อบันเทิงครบทุกรูปแบบได้เดินทางมาใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ลำพังการดำเนินธุรกิจนี้อย่างเดียวโดยไม่ขยายอาณาจักรออกไปก็คงยากที่จะเติบโตอย่างราบรื่น....
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|