|
โซนี่ ปะทะ โตชิบาใครจะคว้าชัยในสมรภูมิ Hd DVD
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศึกชิงผู้นำมาตรฐานเทคโนโลยีดีวีดีแห่งอนาคตปะทุ โซนี่ ชูเทคโนโลยีบลู-เรย์ ปะทะ เอชดี ดีวีดี ของโตชิบา ใครจะกำชัยครั้งนี้ เมื่อโซนี่มีบทเรียนจากวิดีโอเบต้าแม็กซ์ที่ต้องพ่ายต่อ VHS ของมัตสึชิตะ ทั้งที่มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ครั้งนี้โซนี่จึงผนึกพันธมิตรเต็มอัตราศึกทั้งฮาร์แวร์และซอฟต์แวร์ ในขณะที่โตชิบาเกือบจะต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่ถอยไม่ได้แม้แต่ก้าวเดียว เพราะความปราชัยครั้งนี้สาหัสนักสำหรับผู้แพ้
จากแนวโน้มความนิยมในการรับชมทีวีจอใหญ่ที่ให้สัญญาณภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงหลายๆประเทศเริ่มมีการพัฒนาระบบส่งสัญญาณทีวีหรือบอร์ดแคสติ้งไปสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้นทำให้บรรดาเจ้าเทคโนโลยีทั้งหลายหันมาพัฒนาเทคโนโลยีดีวีดีเพื่อรองรับระบบไฮเดฟฟิเนชั่นที่ให้ความละเอียดของภาพและเสียงสูงขึ้น
เทคโนโลยีบลู-เรย์และเอชดี ดีวีดีเป็น 2 เทคโนโลยีของดีวีดีแห่งอนาคตที่ให้ความละเอียดระดับ ไฮเดฟฟิเนชั่นซึ่งละเอียดกว่าสแตนดาร์ดเดฟฟิเนชั่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 5 เท่า โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างประลองกำลังว่าใครจะสามารถยืนหยัดขึ้นมาเป็นมาตรฐานของดีวีดีแห่งอนาคตได้ เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 เทคโนโลยีไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องเล่นดีวีดีและผู้ผลิตคอนเทนต์เช่นค่ายภาพยนตร์จำเป็นต้องเลือกฝั่งว่าจะยืนอยู่ข้างเทคโนโลยีใด
ชื่อของ ดีวีดีในระดับไฮเดฟฟิเนชั่นเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในปี 2545 โดยในฟากของบลู-เรย์มีโซนี่เป็นหัวหอกร่วมกับฟิลิปส์ และมัตสึชิตะ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของพานาโซนิค ส่วนฟากของเอชดี ดีวีดีมีโตชิบาและเอ็นอีซีเป็นโต้โผ
หากจะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ บลู-เรย์และเอชดี ดีวีดีแล้วต้องยอมรับว่าบลู-เรย์มีความเหนือกว่าในหลายๆเรื่องโดยเฉพาะความจุของแผ่นบลู-เรย์ที่จุข้อมูลมากถึง 25 กิกะไบต์ และถ้าทำแบบ 2 ชั้นหรือ Dual Layer ก็จะจุมากถึง 50 กิกะไบต์ ในขณะที่เอชดี ดีวีดีของโตชิบามีความจุ 15 กิกะไบต์ ถ้าเป็น Dual Layer ก็จะจุ 30 และยังสามารถพัฒนาเป็น Triple Layer ได้ถึง 45 กิกะไบต์ แต่บลู-เรย์ก็ยังมีข้อเสียเนื่องจากการใช้เทคโนโลยีในการผลิตชั้นสูงทำให้บลู-เรย์มีต้นทุนที่สูงกว่าเอชดี ดีวีดี ในเบื้องต้นคาดว่าเครื่องเล่นบลู-เรย์จะมีราคาแพงกว่าเอชดี ดีวีดีไม่ต่ำกว่า 20% โดยราคาของเครื่องเล่นเอชดี ดีวีดีรุ่นที่ถูกที่สุดของโตชิบาซึ่งเปิดตัวที่อเมริกามีราคาประมาณ 19,900 บาท
ในขณะที่ตัวแผ่นบลู-เรย์ก็อาจมีราคาสูงถึงหลักพันบาทในส่วนแผ่นเอชดี ดีวีดีจะมีราคาแพงกว่าดีวีดีในปัจจุบันไม่มากนักเนื่องจากยืนอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเดิม ทำให้เครื่องเล่นเอชดี ดีวีดีสามารถอ่านแผ่นดีวีดี วีซีดี แบบเก่าได้ แต่บลู-เรย์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่สามารถอ่านแผ่นฟอร์แมตรุ่นเก่าได้ อย่างไรก็ดีบลู-เรย์ ฟาวเดอร์ส ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยบริษัทต่างๆเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบลู-เรย์ให้เผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางก็ออกมาระบุว่า BD ROM ซึ่งเป็นสื่อบันทึกข้อมูลของเทคโนโลยีบลู-เรย์จะมีราคาไม่แตกต่างจากดีวีดีที่วางอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน
ชื่อของเอชดี ดีวีดี ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึงดีวีดีที่มีความละเอียดในระดับไฮเดฟฟิเนชั่น ส่วนชื่อของบลู-เรย์มาจากช่วงความยาวคลื่นที่ 405 นาโนเมตรของเลเซอร์สีฟ้าจึงเรียกว่าบลู-เรย์ซึ่งเก็บข้อมูลได้มากกว่าดีวีดีในปัจจุบันที่ใช้เลเซอร์สีแดงที่ความยาวคลื่น 650 นาโนเมตร ทั้งนี้แผ่นดีวีดีที่ใช้เลเซอร์สีแดงจะมีความจุ 4.7 กิกะไบต์ หรือประมาณ 2-3 ชั่วโมง ไม่สามารถบันทึกข้อมูลระดับไฮเดฟฟิเนชั่นได้ ส่วนแผ่นที่ใช้เลเซอร์สีฟ้าจะจุได้ 25 กิกะไบต์ขึ้นไปหรือประมาณ 13 ชั่วโมงที่ความละเอียดของภาพระดับธรรมดา และ 2-3 ชั่วโมงสำหรับการบันทึกข้อมูลระดับไฮเดฟฟิเนชั่น ส่วนแผ่นที่จุ 50 กิกะไบต์จะเล่นได้ 20 ชั่วโมงที่ความละเอียดระดับธรรมดา และ 4.5 ชั่วโมงที่ความละเอียดระดับไฮเดฟฟิเนชั่น สำหรับเอชดี ดีวีดี เป็นการใช้ไดโอดเลเซอร์สีฟ้าและเทคโนโลยีอัดข้อมูลทำให้เอชดี ดีวีดี 15 กิกะไบต์บันทึกข้อมูลได้กว่า 8 ชั่วโมง
เทคโนโลยีไม่ได้ชี้ผลชนะ
นัยของการแข่งขันชิงความเป็นเจ้าแห่งมาตรฐานเทคโนโลยีดีวีดีในอนาคตไม่ได้จบลงที่ใครจะมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าใครหากยังมีองค์ประกอบเรื่องของราคาและคอนเทนต์โดยเฉพาะค่ายภาพยนตร์ว่าจะเลือกผลิตสินค้าออกมาเป็นฟอร์แมตไหน
กรณีศึกษาหนึ่งซึ่งเคยสร้างความเจ็บปวดให้กับโซนี่ก็คือประมาณ 20 ปีที่แล้วมีการชิงความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีวิดีโอซึ่งโซนี่มีเบต้าแม็กซ์ ในขณะที่มัตสึชิตะมีเทคโนโลยี VHS ซึ่งว่ากันว่า เบต้าแม็กซ์มีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือ VHS อย่างเห็นได้ชัดแต่ เบต้าแม็กซ์ก็ต้องตายไปจากตลาดเนื่องจากผู้ผลิตเครื่องเล่นวิดีโอและค่ายหนังต่างเทใจให้กับระบบ VHS ของมัตสึชิตะ ทำให้ VHS ตอบสนองความบันเทิงให้กับผู้บริโภคได้มากกว่า
ในครั้งนี้ก็เช่นกันทั้งบลู-เรย์และเอชดี ดีวีดี ต่างพยายามสร้างพันธมิตรเพื่อสร้างความแพร่หลายให้เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีของตนทั้งในแง่ของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ปัจจุบันฟากของบลู-เรย์ประกอบด้วยพันธมิตรมากมายโดยพันธมิตรที่ร่วมผลิตเครื่องเล่นบลูเรย์ประกอบไปด้วย โซนี่ พานาโซนิค ฟิลิปส์ ไพโอเนียร์ ซัมซุง แอลจี มิตซูบิชิ และชาร์ป ส่วนผู้ผลิตเครื่องบันทึกบลูเรย์ได้แก่กลุ่มที่ผลิตเครื่องเล่นบลูเรย์ และบริษัทอื่นๆเช่น ฮิตาชิ เจวีซี ซีนิท ยามาฮ่า นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ผลิตสื่อบันทึกบลู-เรย์อีกหลายบริษัทได้แก่ โซนี่ พานาโซนิค ฟิลิปส์ แอลจี เจวีซี ทีดีเค ฟูจิฟิล์ม ริโก้ แม็กเซลล์ ในขณะที่ฟากของ เอชดี ดีวีดี มีเพียงโตชิบาและเอ็นอีซีเท่านั้น ดังนั้นโตชิบาจึงแก้เกมด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศจีน โดยหวังว่าจะทำให้เครื่องเล่นเอชดี ดีวีดี มีราคาถูกลงกว่าบลูเรย์มากขึ้น แม้การกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อกำไรของโตชิบาที่ลดลงเนื่องจากเครื่องเล่นเอชดี ดีวีดีจากเมืองจีนมาแย่งตลาด แต่โตชิบาก็จำต้องยอม ทั้งนี้สงครามตลาดดีวีดีเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสินค้าราคาถูกจากจีนที่สามารถพลิกตลาดดีวีดีในอเมริกาให้กลายเป็นตลาดแมสได้ โตชิบาเองก็หวังว่าการร่วมมือกับผู้ผลิตในเมืองจีนจะช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีเอชดี ดีวีดีได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของพันธมิตรที่ผลิตซอฟต์แวร์ให้กับทั้ง 2 ค่ายเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาหลังจากที่ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตภาพยนตร์ชั้นนำจากฮอลลีวู้ดหลายค่ายต่างเทใจให้กับโตชิบาแต่ในภายหลังค่ายเหล่านั้นกลับเปลี่ยนใจหันมาอยู่กับฟากบลู-เรย์ของโซนี่เนื่องจากเทคโลยีบลู-เรย์ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมดและต้องลงทุนเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ โอกาสในการถูกก็อปปี้จึงมีน้อยกว่าเอชดี ดีวีดี ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า ทั้งนี้เรื่องลิขสิทธิ์ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาลที่บริษัทในอเมริกาต่างให้ความสำคัญมากรวมถึงผู้ผลิตภาพบนตร์ด้วย
ปัจจุบันค่ายภาพยนตร์ที่ยืนอยู่บนฟากของบลู-เรย์ ได้แก่โซนี่ พิกเจอร์ส, เอ็มจีเอ็ม (Metro-Goldwyn-Mayer) ซึ่งถูกโซนี่ควบรวมกิจการไปเมื่อปลายปี 2547 พร้อมกับประกาศเป้าหมายที่จะผลิตภาพยนตร์ฟอร์แมตบลู-เรย์กว่า 8,000 เรื่อง ,ทเว็นตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์, วอร์เนอร์ โฮม วิดีโอ, วอลท์ ดีสนีย์, ไลอ้อนส์ เกต ฟิล์ม และยูนิเวอร์แซล ส่วนพาราเมาท์ พิกเจอร์ส เลือกที่จะทำทั้ง 2 เทคโนโลยีพร้อมกัน นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อย่างเดลล์ คอมพิวเตอร์และฮิวเล็ตต์ แพกการ์ด ให้การสนับสนุน ในขณะที่โตชิบาเหลือผู้สนับสนุนไม่กี่ราย เช่น นิวไลน์ ซีเนม่า, พาราเมาท์ พิกเจอร์ส, อินเทล และไมโครซอฟท์ แต่ก็ยังดีที่มีบริษัทในญี่ปุ่นหลายรายให้การสนับสนุนโดยเฉพาะโพนี แคนยอน ผู้ผลิตแผ่นดีวีดีรายใหญ่ในญี่ปุ่น ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เอชดี ดีวีดีแจ้งเกิดในตลาดญี่ปุ่นก่อนบลู-เรย์
บลู-เรย์ & เอชดี ดีวีดี เกิดได้ต้องรอ HD TV
อย่างไรก็ดีดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าทั้งบลู-เรย์และ เอชดี ดีวีดี ต่างเป็นระบบไฮเดฟฟิเนชั่น ที่ให้ความละเอียดสูง ดังนั้นในแง่ของการรับชมก็ต้องใช้เครื่องรับสัญญาณที่รองรับระบบไฮเดฟฟิเนชั่นด้วย ซึ่งปัจจุบันในประเทศใหญ่ๆเริ่มหันมาใช้สัญญาณออกอากาศเป็นระบบดิจิตอลไฮเดฟฟิเนชั่นมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ ยุโรป ซึ่งประเทศที่ก้าวเข้าสู่ระบบไฮเดฟฟิเนชั่น ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับทีวีที่รองรับสัญญาณไฮเดฟฟิเนชั่นด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยดูเหมือนยังห่างไกลจุดดังกล่าวพอสมควร แม้ผู้บริโภคจะหันมาให้ความสนใจกับทีวีจอใหญ่อย่างพลาสม่าและแอลซีดีทีวีมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้แปลว่าทีวีจอใหญ่ทุกรุ่นจะรองรับสัญญาณไฮเดฟฟิเนชั่นได้ จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญว่าถ้ามีบลู-เรย์ มีเอชดี ดีวีดีแล้วแต่ผู้บริโภคยังไม่มีเครื่องรับทีวีที่รองรับสัญญาณไฮเดฟฟิเนชั่นได้ ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับอรรถรส ไม่เห็นถึงความคมชัดของภาพและเสียงที่มากับเทคโนโลยีดีวีดีแห่งอนาคต
ดังนั้นโซนี่จึงวางกลยุทธ์เพื่อรองรับเทคโนโลยีบลู-เรย์ด้วยการผลักดันสินค้าที่เป็นไฮเดฟฟิเนชั่นเข้าสู่ตลาดเมืองไทยภายใต้แคมเปญ HD World โดยจะไฮไลท์ไปที่สินค้ากลุ่มทีวี พร้อมกับทุ่มงบการตลาด 1,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% และเมื่อผู้บริโภคไทยหันมาใช้ไฮเดฟฟิเนชั่นทีวีมากขึ้นเมื่อนั้นก็ถึงคราวที่บลู-เรย์จะยกทัพบุกตลาดเมืองไทยอีกครั้ง ในขณะที่โตชิบาก็เลือกที่จะลอนช์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คที่มาพร้อมกับเอชดี ดีวีดี ในราคาประมาณ 120,000 บาทเนื่องจากมีหน้าจอเป็นแอลซีดีที่รับสัญญาณไฮเดฟฟิเนชั่นอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ก็มีการแนะนำไฮเดฟฟิเนชั่นทีวีเข้าสู่ตลาดมากขึ้นด้วย ล่าสุดโซนี่ก็เปิดตัวคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไวโอ้ที่มีเทคโนโลยีบลู-เรย์เข้าสู่ตลาดโลกในราคา 133,000 บาท
ค่ายหนังแผ่น มองตลาด DVDไทย ยังเตาะแตะไม่ต้องมองไกลไปไฮเอนท์
การก้าวล้ำทางเทคโนโลยีโฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ของโลกอย่าง HD DVD หรือ Blu-ray Disc ในมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและขายหนังแผ่นในเมืองไทย กลับยังไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไรนัก แม้จะเชื่อว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไป แต่ก็ยังไม่ใช่เวลาของ High Definition Disc อย่างแน่นอน จิรัฐ บวรวัฒนะ รองประธานกรรมการ สายการตลาด บริษัท โรส วิดีโอ จำกัด กล่าวว่า Blu-ray Disc และ HD DVD คือ แผ่นดีวีดีที่มีคุณภาพสูงที่ยังไม่ใช่เทรนซึ่งคนไทยจะเปิดรับวงกว้างในเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากทุกวันนี้ หนังแผ่นคุณภาพสูงที่มีอยู่ในตลาดมานานอย่าง DVD ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร มีส่วนแบ่งเพียง 10% ของธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์โดยรวม ปล่อยให้การซื้อหาส่วนใหญ่ไปอยู่ในฟาก VCD โดยคำตอบเดียวที่ทำให้แผ่น VCD ยังได้รับความนิยมอยู่จนถึงบัดนี้ คือคุณสมบัติด้าน User Friendly ในการใช้งานที่มีมากเป็นอันดับ 1
"วันนี้ดูหนังจากแผ่น DVD ทุกคนก็ยอมรับว่าชัดมากอยู่แล้ว ราคาของแผ่น DVD ที่แพงกว่านั้น ก็เพราะมีคนซื้อน้อย ราคาแผ่นจะทำให้ DVD เท่ากับ VCD ก็ทำได้ เพราะหลาย ๆ ค่ายก็เคยพยายามขาย แผ่น DVD กับ VCD ราคาเท่ากัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตลาด DVD เติบโตมากเท่าไหร่นัก คนมีความคุ้นเคย VCD มากกว่า เพราะ User Friendly เป็นอันดับที่ 1 ใส่แผ่นกดปุ่มเดียว ดูได้ทันที DVD จะเติบโตก็อยู่ได้เฉพาะกรุงเทพฯ หรือหัวเมือง ส่วนตลาดต่างจังหวัด แผ่น DVD รวมถึงบรอดแบนด์ หากคุณยังต้องกด 2-3 คลิก กว่าจะดูหนังได้ ก็ไม่มีทางที่จะได้รับการยอมรับ ต่างจังหวัดทุกบ้านแม้จะมีเครื่องเล่น DVD กันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เลือกที่จะซื้อแผ่น VCD มาเล่น"
นอกเหนือจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยที่เลือกปัจจัยการใช้งานง่าย มาก่อนคุณภาพของภาพและเสียง จิรัฐ ยังมองมาในฝั่งของผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ที่พร้อมจะเปิดรับเทคโนโลยีไฮเอนท์ของดีวีดี ว่า คุณสมบัติเดียวที่เป็นจุดขายของ HD DVD และ Blu-ray Disc คือคุณภาพที่ชัดขึ้น ระบบเสียงที่ดีขึ้น หมายถึงความเป็นพรีเมียม ดังนั้น นอกเหนือจากจะมีเครื่องเล่นที่เป็นพรีเมียมแล้ว ในส่วนของโทรทัศน์ เครื่องเสียง ที่จะมารองรับก็ต้องพรีเมียมตามด้วย รวมถึงแผ่นซึ่งผลิตจำนวนน้อยเพื่อตลาดขนาดเล็ก ย่อมทำให้ราคาต้นทุนสูงกว่าแผ่น DVD ปกติแน่นอน การลงทุนเพื่อจะรับเทคโนโลยีนี้จึงดูเป็นการลงทุนที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง
สอดคล้องกับ นฤทธิ์ ใหญ่โสมานัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ที่มองว่าไฮเอนท์ ดีวีดี มีอุปสรรคสำคัญคือการต้องลงทุนซื้อหาความบันเทิงรูปแบบนี้ด้วยเงินจำนวนมาก โดยหากราคาของเครื่องเล่น HD DVD หรือ Blu-ray Disc อยู่ในราว 20,000-30,000 บาท โทรทัศน์ที่จะสามารถรองรับเทคโนโลยี อีกราว 100,000 บาท กับชุดเครื่องเสียงที่จะถ่ายทอดเสียงจากแผ่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกราว 50,000 บาท รวมทั้งหมดต้องเสียเงินลงทุนราว 2-3 แสนบาท จึงไม่น่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่โตนัก
ชี้ VCD ยังครองตลาดอีกครึ่งทศวรรษ
นฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนเครื่องเล่นทั้ง VCD และ DVD มีอยู่ประมาณ 1.2-1.5 ล้านเครื่อง แต่แม้แนวโน้มเครื่องเล่น DVD จะเพิ่มมากขึ้น เพราะราคาจะต่ำลงเหลือ เหลือราว 1,000-2,000 บาท ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าตลาด VCD จะหายไป เพราะเครื่องเล่น DVD สามารถเล่น VCD ได้ด้วย พฤติกรรมคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเลือกซื้อแผ่น VCD มาเล่นในเครื่อง DVD เพราะถูกกว่า โดยหากจะซื้อแผ่น DVD ของเมเจอร์ฮอลลีวู้ด ต้องใช้เงินราว 400-900 บาท จึงจะซื้อได้ แต่หากซื้อแผ่น VCD มีราคาเพียงแผ่นละร้อยกว่าบาท
นอกจากนี้แผ่น VCD ในปัจจุบัน ไฟล์ภาพและเสียงถูกเขียนไว้คุณภาพสูงใกล้เคียงกับ DVD5 ไฟล์ภาพใน VCD หรือ MPEG พัฒนาขึ้นจนมีคุณภาพสูงมากยิ่งขึ้นใกล้เคียงกับ DVD5 เช่นกับในด้านเสียง ปัจจุบันเสียงใน VCD เป็นเสียงระดับ 5.1 แม้จะเป็น 5.1 เทียม แต่ก็ให้คุณภาพที่ดีกว่า VCD รุ่นก่อน ๆ ขายในราคา 100 กว่าบาท ถือว่าคุ้มค่าเงินในกระเป๋าที่มีอยู่จำกัด ซื้อ VCD ได้มากเรื่องว่า DVD
อย่างไรก็ตาม นฤทธิ์ มองแนวโน้มของเทคโนโลยีเทรนในวงการโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ว่า คาดว่าภายใน 4-5 ปี นี้ คงเป็นช่วงเวลาการเติบโตของแผ่น DVD โดยการเติบโตของส่วนแบ่งการตลาดจากข้อมูลของอีวีเอสฯ ที่ระบุว่า ตลาด DVD ที่เคยมีส่วนแบ่งเพียง 5% ของตลาดหนังแผ่น วันนี้เพิ่มเป็น 20% เป็นแนวโน้มที่มองเห็นอนาคตของ DVD ได้เป็นอย่างดี หากแต่ไม่ใช่อนาคตที่จะไปไกลถึง HD DVD หรือ Blu-ray Disc เพราะเทคโนโลยีของ DVD ที่มีอยู่ในตลาด จาก DVD5 ที่มีความจุ 4.7 กิ๊กกะไบท์ เริ่มขยับสู่ DVD9 จุได้ 8.4 กิ๊กกะไบท์ ให้ความคมชัดของภาพที่สูงมากขึ้น นอกจากนี้หากความบันเทิงที่มีรายละเอียดมากเช่น การแสดงของวงออเคสตร้าใหญ่ ๆ เครื่องเล่นร้อยชิ้น DVD10 ที่มีความจุ 9.5 กิ๊กกะไบท์ ก็เพียงพอที่จะถ่ายทอดความบันเทิงออกมาได้อย่างครบถ้วน จากเครื่องเล่น DVD ที่ทุกครอบครัวมีอยู่ในปัจจุบัน
"เวลานี้ DVD ระดับปกติยังเป็นแมสไม่ได้เลย ไม่ต้องไปมองถึงไฮเอนท์ แค่ขอให้ DVD มาแทน VCD ได้สมบูรณ์ก่อน คาดหวังว่าในอนาคตแผ่น VCD จะถูกแทนที่โดย DVD แต่ทุกวันนี้ด้วยระบบราคา ทำให้แผ่น VCD จะอยู่อีกนาน"
นฤทธิ์ กล่าวว่า ข่าวของเทคโนโลยีไฮเอนท์ดีวีดี ที่ออกมาเวลานี้อยู่ในขั้นพัฒนาจับกลุ่มกัน และตนก็ไม่ห่วงที่ค่ายหนังต่างประเทศซึ่งอีวีเอสฯ ถือลิขสิทธิ์อยู่จะเลือกจับอยู่กับเทคโนโลยีฝั่งใด เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคงไม่มีค่ายใดผูกกับฝั่งใดฝั่งเดียว จะทำให้เสียโอกาส เมื่อเทคโนโลยีพร้อมแล้ว ค่ายหนังทุกค่ายก็คงพร้อมจะผลิตสินค้าออกมารองรับเทคโนโลยีทั้ง 2 ฝั่งแน่นอน
เช่นเดียวกับโรส วิดีโอ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จากภาพยนตร์ในกลุ่มอิสระ จิรัฐ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องยากไฮเอนท์ดีวีดีจะเข้ามา เพราะเทคโนโลยีการผลิตมีความพร้อมที่จะรองรับ แต่จะแผ่น Blu-ray หรือ HD ก็เป็นแผ่นพิเศษ ที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า ตลาดนี้มีเครื่องเล่นอยู่มากน้อยเพียงไรในประเทศไทย มีตลาดไหม ถ้ามีผลิตแผ่นมาตั้งราคาแล้ว ลูกค้ายอมรับได้ไหม เหมือนในอดีต เครื่องเล่น Laser Disc เป็นเครื่องเล่นระดับไฮเอนท์ ราคาแผ่นเวลานั้นขายในระดับพันบาท กำไรมหาศาล ซึ่งเป็นเรื่องดีของตลาดเกิดใหม่ที่มักจะทำกำไรได้ดีเสมอ แต่จำนวนผู้ซื้อมักจะไม่ดีตาม จนในที่สุดเครื่องเล่นนี้ก็หายไปจากตลาด
จับตา Video on Demand เขย่าตลาดหนังแผ่น
จิรัฐกล่าวว่า ไม่เชื่อว่าไฮเอนท์ดีวีดี จะมีผลกระทบต่อธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์เท่าไรนัก หากแต่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจหนังแผ่น จะเป็นบรอดแบนด์ หรือ Video on Demand ที่จะมาสร้างเซกเมนท์ใหม่ในธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และอาจเข้าไปกินส่วนแบ่งของธุรกิจหนังแผ่น แต่เชื่อว่าหากทำให้Video on Demand มีความเป็น User Friendly ในการใช้งาน จะทำให้ธุรกิจนี้เกิดได้จริง ๆ ตลาดต้องเติบโตขึ้น
จิรัฐทำนายว่าไม่เกิน 5 ปี วิธีการบริโภค หนัง content ของเมืองไทย จะมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนทั่วโลก จะเริ่มกลายเป็นบรอดแบนด์มากขึ้น บรอดแบนด์จะต้อง friendly มากขึ้น เข้ามาทดแทน DVD ของผู้บริโภคในตลาดไฮเอนท์ ด้วยคุณภาพที่คมชัดไม่แพ้กัน ตลาด VCD DVD ยังคงเป็นฐานเดิมอยู่ ตลาด Home Entertainment ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่จะมีตลาดใหม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดบรอดแบนด์ หรือ Video on Demand
"Video on Demand เป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองมากกว่า เพราะเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาสนองความต้องการของเงื่อนเวลา เมื่อพูดถึงกระแส E-commerce เราพูดถึงเวลาที่เราเซฟได้ แทนที่จะต้องเดินทางไปศูนย์เช่า ต้องเดินทางไปคืน หรือไปโรงหนัง ไปซื้อวีซีดีต้องเสียเวลา แต่ Video On Demand ทำให้คุณอยู่ที่บ้าน เรียกดูเวลาใดก็ได้ตามที่ต้องการ รวมถึงมีผลด้านสต็อคของร้านเช่าวิดีโอ หากต้องการหนังเก่าๆหรือหนังที่ไม่มีความต้องการเช่า ร้านก็จะไม่สต็อคแผ่นไว้ เนื่องจากไม่มีชั้นวาง แต่ Video on Demand จะทำให้สามารถดูหนังทุกเรื่องใน Hollywood catalog เพียงแต่ดึงข้อมูลลงมา โอกาสในการเลือกดูมากขึ้น คุณสมบัติที่ตอบความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มากกว่านี้ จะเข้ามาสร้างเซกเมนท์ใหม่ในตลาดโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ อาจจะกินส่วนแบ่งของธุรกิจที่อยู่ในโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์เดิม เช่น หนังแผ่น แต่โดยรวมก็จะช่วยขยายธุรกิจ"
ศึกฟอร์แมท return สังเวียนใหม่กับคู่ปรับใหม่
หลังจากโซนี่เพลี่ยงพล้ำแบบหมดรูปในสงครามช่วงชิงฟอร์แมทในอุตสาหกรรมวิดีโอ อันเนื่องมาจากความล้มเหลวของระบบเบต้าแม็กซ์ ทั้งที่ค่ายโซนี่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อถูกส่งเข้ามาประลองกำลังกับระบบ VHS ของค่ายพานาโซนิค ทั้งที่หากจะเปรียบรูปมวยของทั้งคู่แล้ว โซนี่น่าจะได้เปรียบกว่าตรงเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า
แต่เอาเข้าจริงการมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าไม่ได้เป็นบทพิสูจน์ว่าจะต้องเป็นผู้ได้รับชัยชนะเสมอไป เพราะแม้เทคโนโลยี VHS จะสู้เบต้าแม็กซ์ไม่ได้ แต่เนื่องจากระบบ VHS มีซอฟต์แวร์ให้ผู้บริโภคเลือกมากมายกว่า สุดท้ายโซนี่ก็ต้องม้วนเสื่อและหันมาผลิต VHS ในที่สุด
จากวันนั้นใครต่อใครก็นึกกันว่าสงครามฟอร์แมทคงจะไม่ปรากฏให้เห็นอันอีก ที่ไหนได้เมื่อเวลาผ่านไปร่วม 20 ปี สงครามฟอร์แมทรอบสองก็อุบัติขึ้นอีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนคู่ชกใหม่จากโซนี่ กับพานาโซนิคในสังเวียนวิดีโอ มาเป็นโซนี่ กับโตชิบา ในสมรภูมิดีวีดี
โซนี่ ส่งนักมวยหมัดหนักที่มีนามกรว่า Blu-Ray เข้ามาชิงชัย ส่วนโตชิบาก็มีนักชกที่มากด้วยเทคนิค ภายใต้ชื่อ HD DVD (Hi-Definition DVD) มาเป็นคู่ชกคนใหม่
ครั้งนี้โซนี่คิดว่าตนเองจะต้องเป็นฝ่ายชนะแน่นอน และต้องไม่ใช่ชนะคะแนนแต่ต้องเป็นทีเคโอ เพราะอย่างน้อยก็มีบทเรียนในอดีตให้คอยรำลึกความเจ็บแสบ อีกทั้งครานี้ไม่ได้มาด้วยเทคโนโลยีแสงสีฟ้าที่เหนือชั้นกว่าเท่านั้น แต่โซนี่ยังได้พานาโซนิคคู่ปรับเก่า และอีก 7 ผู้ประกอบการมาร่วมเป็นพันธมิตร แถมยังมีอีก กว่า 160 บริษัทในอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่ ขณะที่โตชิบามี NEC เคียงกายอยู่เพียงแค่แบรนด์เดียว
ดูจากตรงนี้เซียนมวยทั่วสนามเห็นว่าโซนี่เป็นต่อค่อนข้างมาก แต่ที่ยังไม่ยอมฟันธงว่าชนะแน่ก็เนื่องจากต้องการดูว่าค่ายผู้ผลิตซอฟต์แวร์ให้กับโซนี่มีใครกันบ้าง เพราะจากประสบการณ์ในอดีตก็สอนให้รู้แล้วว่าปัจจัยชี้ขาดชัยชนะ หาใช่เทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่ากันไม่
ปัจจุบันโซนี่มี Sony Picture Entertainment ที่มีบริษัทโคลัมเบีย ไตรสตาร์ และ Screen Gems อยู่ในมือ เป็นยักษ์ใหญ่รายหนึ่งในอาณาจักรภาพยนตร์ ซึ่งได้ผลิตภาพยนตร์ดังทำรายได้สูงออกสู่ตลาดหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น The Da Vinci Code, Resident Evil 1-2, Hitch และ Spider-Man เป็นต้น
ด้วยความครบเครื่องและครบวงจร ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในอาณาจักรแห่งความบันเทิง ที่ทุกวันนี้ โซนี่เป็นเพียงหนึ่งเดียวที่มีขีดความสามารถเช่นนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าการรบครั้งใหม่ของโซนี่จึงยากจะปราชัยเหมือนดังอดีต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|